กรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษา


ดิฉันได้อ่านหนังสือ "ฐานคิดทางการบริหารและการปฏิรูปการศึกษาไทย ในทศวรรษที่ 2" โดย สมาคมพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทยแล้ว ได้ความรู้ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ดังนี้

กรอบการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มี 4 ด้าน
1. พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่
    คนไทยยุคใหม่ ควรมีนิสัยใฝ่รู้ตั้งแต่ปฐมวัย สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง และแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต มีความสามารถในการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ทำงานเป็นกลุ่มได้ มีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม จิตสำนึก และความภูมิใจในความเป็นไทย ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รังเกียจการทุจริต ต่อต้านการซื้อ-ขายเสียง สามารถก้าวทันโลก มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่สมบูรณ์ แข็งแรง เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพ มีทักษะ ความรู้ที่จำเป็น มีสมรรถนะ ความรู้ความสามารถ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีโอกาสการเรียนรู้เท่าเทียมกันและเสมอภาค
2. พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่
     ครูยุคใหม่ ควรเป็นบุคคลผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า มีระบบและกระบวนการผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานเหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง สามารถดึงดูดคนเก่ง คนดี มีใจรักในวิชาชีพครูมาเป็นครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา มีครูครบตามเกณฑ์และสามารถสอนได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน มีการพัฒนาตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง มีสภาวิชาชีพที่เข้มแข็ง มีการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในอาชีพ มีขวัญกำลังใจ อยู่ได้อย่างยั่งยืน
3. พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่
    สถานศึกษายุคใหม่ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และขณะเดียวกันก็พัฒนาแหล่งเรียนรู้อื่น เช่น ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ สำหรับการศึกษาและเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและมีคุณภาพ
4. พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่
    พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ โดยมุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีระบบการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล นำระบบและวิธีการบริหารแนวใหม่มาใช้ควบคู่ไปกับการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีการบริหารจัดการการเงินและงบประมาณตามความต้องการของผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนเลือกรับบริการได้ และเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน เอกชน และทุกภาคส่วน

จากกรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า มีคำสำคัญอยู่ 2 คำ คือคำว่า "พัฒนา" และ "ใหม่" นั่นหมายความว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกคนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานไปในทางที่ดีขึ้น(มีการพัฒนา) และการทำงานจะต้องไม่เหมือนเดิม ๆ ที่เคยทำ (ใหม่) ในฐานะที่ดิฉันก็เป็นบุคลากรทางการศึกษาคนหนึ่ง เมื่อได้อ่านแนวทางฯ นี้แล้วก็ทำให้มีความรู้สึกว่า ตัวเองจะต้องไม่อยู่นิ่งเฉย ไม่อยู่กับที่ ต้องมีการทำงานที่สอดคล้องกับแนวทางฯ คือ ทำงานเชิงรุก ให้มีคุณภาพ และทันสมัยมากขึ้น นอกจากนั้นยังต้องพัฒนาตนองก่อน เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ เชิงวิชาการมากขึ้น นั่นคือ การได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้มีโลกทัศน์กว้างขึ้น ได้นำความรู้ที่ได้รับมาใช้กับการปฏิบัติงานจริง มีแนวคิดที่จะพัฒนางานตนให้ดีขึ้น โดยใช้การวิจัยที่เรียนมา ทำให้ตนเองมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น งานก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงสรุปได้ว่า การทำงานในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์

คำสำคัญ (Tags): #บุรีรัมย์6
หมายเลขบันทึก: 365064เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2010 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท