การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522(กรณีพิเศษเฉพาะราย)


กฎหมายได้รับรองให้คนต่างด้าวบางประเภทสามารถเข้ามาในราชอาณาจักรสยามได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์คุณสมบัติบางประการตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เนื่องจากมีสถานภาพพิเศษ ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 วิธี คือ

             2. การเข้าเมืองกรณีพิเศษเฉพาะราย

             กฎหมายได้รับรองให้คนต่างด้าวบางประเภทสามารถเข้ามาในราชอาณาจักรสยามได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์คุณสมบัติบางประการตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เนื่องจากมีสถานภาพพิเศษ ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 วิธี คือ

             2.1 การเข้าเมืองของคนต่างด้าวที่มีสถานภาพพิเศษเนื่องจากมีเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 บุคคลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง

 (1)   บุคคลในคณะผู้แทนทางทูตซึ่งรัฐบาลต่างประเทศส่งเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในราชอาณาจักร หรือซึ่งเดินทางผ่านราชอาณาจักร เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศอื่น

(2)   พนักงานฝ่ายกงสุลและลูกจ้างฝ่ายกงสุลซึ่งรัฐบาลต่างประเทศส่งเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในราชอาณาจักร หรือซึ่งเดินทางผ่านราชอาณาจักรเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศอื่น

(3)   บุคคลซึ่งรัฐบาลต่างประเทศให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจในราชอาณาจักร โดยความเห็นชอบของรัฐบาลไทยให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจในราชาณาจักร

(4)   บุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจในราชอาณาจักร เพื่อรัฐบาลไทยตามความตกลงที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ

(5)   หัวหน้าสำนักงานขององค์การหรือทบวงการระหว่างประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทย หรือซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว และรวมถึงพนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญหรือบุคคลอื่นซึ่งองค์การหรือทบวงการเช่นว่านั้น แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจในราชอาณาจักร เพื่อองค์การหรือทบวงการดังกล่าว หรือเพื่อรัฐบาลไทยตามความตกลงที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับองค์การหรือทบวงการระหว่างประเทศนั้น

(6)   คู่สมรส หรือบุตร ซึ่งอยู่ในความอุปการะและเป็นส่วนแห่งครัวเรือนของบุคคลตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5)

(7)   คนรับใช้ส่วนตัวซึ่งเดินทางจากต่างประเทศเพื่อมาทำงานประจำเป็นปกติ ณ ที่พักอาศัยของบุคคลตาม (1) หรือบุคคลซึ่งได้รับเอกสิทธิเท่าเทียมกันกับบุคคลซึ่งมีตำแหน่งทางทูตตามความตกลงที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศหรือกับองค์การหรือทบวงการระหว่างประเทศ

            เงื่อนไข

            บุคคลกลุ่มนี้จะได้รับเอกสิทธิ์ และความคุ้มกันทางการทูตตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในมาตรา 15 ได้บัญญัติยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 12 ในบางประการ กล่าวคือ ไม่ตกอยู่ในกฎเกณฑ์การเข้าเมืองแบบกรณีทั่วไป ใน (2), (3), (6), (7), (8), (9), (10) และ (11) กล่าวคือ ไม่ต้องขออนุญาตเข้าเมือง อีกทั้งไม่ต้องพิสูจน์หลักเกณฑ์ในการไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจของรัฐเจ้าของดินแดน และไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคมของรัฐเจ้าของดินแดน 

            แต่ว่ายังต้องตกอยู่ภายใต้มาตรา 12 (1), (4) และ (5) กล่าวคือ จะต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนต่างด้าวนั้น และจะต้องไม่เป็นภาระทางสาธารณสุขของรัฐเจ้าของดินแดน นอกจากนี้ยังจะต้องปฏิบัติตาม มาตรา 18 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เพื่อการนี้ บุคคลซึ่งเดินทางเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องยื่นรายการตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และผ่านการตรวจอนุญาตของพนักงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ของด่านตรวจคนเข้าเมืองประจำเส้นทางนั้น”

            และในมาตรา 15 วรรค 2 ก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเข้าเมืองในกรณีของบุคคลตามมาตรา 15 (1), (2), (6) หรือ (7) ให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศและหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน

            ส่วนเงื่อนไขสุดท้ายนั้นก็คือ บุคคลกลุ่มนี้จะต้องเข้ามาเพื่อปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น มิได้เข้ามาเป็นการส่วนตัว ซึ่งจะต้องมีการแจ้งกับทางรัฐบาลไทยก่อน และบุคคลกลุ่มนี้ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบถามหรือขอดูหลักฐานเพื่อสอบสวนว่าเป็นบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรนั้น เป็นผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรานี้         

 

            2.2 การเข้าเมืองของคนต่างด้าวที่มีสถานภาพพิเศษเนื่องจากเป็นบุคคลผู้โดยสารพาหนะผ่านแดนหรือผู้ที่เข้าออกประเทศเป็นประจำ

บุคคลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง

(1)    ผู้ควบคุมพาหนะและคนประจำพาหนะทางน้ำหรือทางอากาศซึ่งเพียงแต่แวะเข้ามายังท่า สถานี หรือท้องที่ ในราชอาณาจักรแล้วกลับออกไป

(2)   คนสัญชาติของประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยเดินทางข้ามพรมแดนไปมาชั่วคราว โดยปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศนั้น

(3)   คนโดยสารรถไฟผ่านแดนซึ่งถือตั๋วโดยสารทอดเดียวตลอดเพียงแต่ผ่านอาณาเขตประเทศไทยไปนอกราชอาณาจักรตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศนั้น ๆ และรวมตลอดถึงผู้ควบคุมพาหนะและคนประจำพาหนะแห่งรถไฟเช่นว่านั้นด้วย

             เงื่อนไข

             เนื่องจากว่าบุคคลกลุ่มนี้นั้นจะมีการเดินทางเข้าออกเป็นประจำ มีการข้ามพรมแดนไปมาชั่วคราวแล้วกลับออกไป หรือไม่ก็เป็นกรณีของการเพียงแค่การเดินทางผ่านแดนแล้วก็ออกไปนอกประเทศ ไม่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ถาวร หรือเป็นกรณีที่รัฐบาลไทยได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลแห่งประเทศซึ่งมีพรมแดนติดประเทศไทย หรือเป็นกรณีของรัฐบาลไทยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับการเดินรถไฟผ่านแดนไทยเข้ามาแล้วออกไปกับประเทศรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ ซึ่งตามมาตรา 13[1] ได้บัญญัติไว้ให้บุคคลกลุ่มนี้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 12 (1) ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนต่างด้าวนั้น ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง

            แต่ว่ายังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 12 (2), (3), (4), (5), (6), (7), (8), (9), (10) และ (11) กล่าวคือ คนต่างด้าวนั้นจะต้องขอได้รับความยินยอมจากรัฐเจ้าของดินแดนให้เข้าเมือง ประการต่อมาคนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางสาธารณสุข อีกทั้งจะต้องไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคม และไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจของรัฐเจ้าของดินแดน

            และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมผู้ควบคุมพาหนะและคนประจำพาหนะทางน้ำหรือทางอากาศซึ่งเพียงแต่แวะเข้ามายังท่า สถานี หรือท้องที่ ในราชอาณาจักรแล้วกลับออกไป พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกหนังสือสำคัญตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อให้ถือไว้ก็ได้

 

              2.3 การเข้าเมืองกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

 บุคคลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง

 คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง

              เงื่อนไข

              กรณีนี้เป็นไปตามมาตรา 17[2] แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไข ดังนี้

              

              (1) คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ที่มีอำนาจในการอนุมัติให้คนต่างด้าวคนหนึ่งคนใดเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง

              การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามมาตรา 17 นี้เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้เป็นอำนาจดุลยพินิจของรัฐมนตรี[3]ที่จะนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในการอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้หนึ่งผู้ใดมีสิทธิเข้าเมืองมาในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง ซึ่งเป็นการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และนอกจากจะให้สิทธิเข้าเมืองแล้ว ยังให้สิทธิอาศัยแก่คนต่างด้าวด้วย เพราะว่าในมาตรา 17 ได้ใช้คำว่า "เข้ามาอยู่" เนื่องจากว่าจะต้องแยกสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยหรือการอาศัยอยู่ออกจากกัน แต่ทว่าการเข้ามาอยู่ตามมาตรา 17 นั้น หมายถึงการเข้ามาและอาศัยอยู่รวมกันเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้นำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ถ้าหากว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติก็ทำเป็นมติคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็จะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป

            (2) คนต่างด้าวผู้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในมติคณะรัฐมนตรี

            สำหรับการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การเข้าเมืองตามมาตรานี้นั้น คณะรัฐมนตรีจะมีมติกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณสมบัติของคนเข้าเมืองใด ๆ ก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร หรือจะยกเว้นให้คนต่างด้าวผู้นั้นไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการเข้าเมืองแบบกรณีคนต่างด้าวทั่วไปที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ได้ แม้ไม่มีหนังสือเดินทาง จะเป็นภัยต่อรัฐก็เข้ามาได้ เป็นไปตามดุลพินิจของฝ่ายปกครองไม่สนใจเลยว่าจะเข้าหรือผ่าน ม.12 ,13 ,15 หรือไม่ เพราะถ้าเป็นกรณีนี้จะเข้ามาโดยอาศัย ม.17 เลย

            (3) รัฐมนตรีจะต้องมีคำสั่งอนุญาตให้เข้าเมือง

            เมื่อคนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนดให้เข้าเมืองมาแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็จะดำเนินการอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้นั้นเข้าเมืองและอาศัยอยู่ในประเทศไทย อาจจะโดยการออกกฎกระทรวงมหาดไทย หรือทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย

 




[1] มาตรา 13 คนต่างด้าวดังต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง

             (1) ผู้ควบคุมพาหนะและคนประจำพาหนะทางน้ำหรือทางอากาศซึ่งเพียงแต่แวะเข้ามายังท่า สถานี หรือท้องที่ ในราชอาณาจักรแล้วกลับออกไป

   เพื่อประโยชน์ในการควบคุมบุคคลดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกหนังสือสำคัญตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อให้ถือไว้ก็ได้

             (2) คนสัญชาติของประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยเดินทางข้ามพรมแดนไปมาชั่วคราว โดยปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศนั้น

               (3) คนโดยสารรถไฟผ่านแดนซึ่งถือตั๋วโดยสารทอดเดียวตลอดเพียงแต่ผ่านอาณาเขตประเทศไทยไปนอกราชอาณาจักรตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศนั้น ๆ และรวมตลอดถึงผู้ควบคุมพาหนะและคนประจำพาหนะแห่งรถไฟเช่นว่านั้นด้วย

[2] มาตรา 17 ในกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจะอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้ใดหรือจำพวกใดเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรภายใต้เงื่อนไขใดๆ หรือจะยกเว้นไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีใดๆ ก็ได้

[3] รัฐมนตรีตามมาตรานี้นั้น ในมาตรา 4 หมายความถึง รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งในมาตรา 5 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น รัฐมนตรีผู้ที่จะทำหน้าที่ในการอนุมัติให้คนต่างด้าวเข้าเมืองมาเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องนั้นจะต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

หมายเลขบันทึก: 365041เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2010 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Dear Sir/madam,

I write this because i like to know the information about, for example if i am hill tribe and my families are live here in Thailand,since i born and they not go to inform government to get my birth certificate,let say now i am 15 years old or you can give me please difference information, The question is what can i will do if i would like to get my ID and became Thai citizen? I will appreciate it if you can answers my questions.

Kind regards,

Muan

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท