เอาเรื่องที่เคยรับรู้รากแก้วกตัญญู ที่ไชยปราการมาเล่าสู่กันฟัง


สังคมไทยแต่โบราณกาลมาเรามีความเชื่อกันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์ หรือสิ่งของ ล้วนแต่มีจิต มีวิญญาณแม้กระทั่งเทพ เทวดา สถิตอยู่ ไม่ว่าคน สัตว์หรือสิ่งของใดที่เอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เรา ๆก็จะต้องให้ความเคารพ กราบไหว้รู้คุณต่อทุกสิ่งที่เกื้อกูลชีวิตเรา โครงการรากแก้วกตัญญูของโรงเรียนไชยปราการ แม้จะไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเลือกมุมมองอย่างหลังแต่สิ่งที่แสดงออกมาในกิจกรรมของโครงการ ชี้ให้เห็นถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนมุมมองใหม่ของคำว่า “ความกตัญญู” ให้มีขอบข่ายกว้างไกลออกไปถึงความกตัญญูต่อตนเอง บิดามารดา ครูอาจารย์ โรงเรียน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าใครก็ตามที่มีความกตัญญูต่อสรรพสิ่งทั้งมวลเขาผู้นั้นย่อมต้องกระทำต่อสิ่งนั้นด้วยความเคารพนอบน้อม และแน่นอนว่าสิงที่แสดงออกมาทั้งกายกรรมวจีกรรม มโนกรรมย่อมเป็นการแสดงออกด้วยความดีงามทั้งสิ้น

ไม่ต่างอะไรกับการถอดบทเรียนของแม่จ๊าง เพราะรายละเอียดส่วนนี้ ถูกตัดทิ้ง แต่อยากเอามาเล่าในนี้ครับ

ไชยปราการ : จากความสามัคคีของครูสู่ความกตัญญูของนักเรียน

 

โรงเรียนไชยปราการเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม รวมถึงกิจกรรมป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดมาเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน  ในปีงบประมาณ 2551 ทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์คุณธรรมเพื่อจัดทำโครงการ “รากแก้วกตัญญู” ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนและเยาวชนมีความตระหนักและเห็นความสำคัญของความกตัญญูอันจะเป็นบ่อเกิดของคุณธรรมในด้านอื่น ๆ ตามมา  พฤติกรรมการแสดงออกเกี่ยวกับความกตัญญูคือ ความกตัญญูต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อโรงเรียน และต่อชุมชน

                ระยะเวลาเพียง 5 เดือน หลังจากที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากศูนย์คุณธรรมไม่ได้เป็นผลให้กิจกรรมของทางโรงเรียนต้องทำด้วยความรีบเร่งแต่ประการใด ทั้งนี้เพราะงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเป็นงานประจำที่ปฏิบัติมาต่อเนื่องอยู่แล้ว โครงการรากแก้วกตัญญู จึงดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติของกิจกรรมและยิ่งมีความเข้มข้นน่าสนใจเมื่อมีการบูรณาการความรู้ความคิดของคณะครูที่ได้เข้ารับการอบรมจากโรงเรียนผู้นำของพลตรีจำลอง และในที่สุดผลที่เห็นได้เป็นรูปธรรมจากโครงการคือความสำเร็จที่เกิดกับทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน กำลังขยายผลแผ่ประโยชน์ไปเต็มพื้นที่อำเภอไชยปราการ

โรงเรียนผู้นำกับการขยายผลสู่นักเรียนและชุมชน

                หลังจากคณะผู้บริหารและครูจำนวน 15 คนได้เข้ารับการอบรมจากโรงเรียนผู้นำพลตรีจำลอง ที่จังหวัดกาญจนบุรี ผลที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงจากข้างในจิตสำนึก ทำให้พฤติกรรมความประพฤติต่าง ๆ เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องการกิน-อยู่ การพูดจาและความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ นั่นเป็นเหตุของการที่ท่านผู้อำนวยการคิดที่จะขยายผลการรับรู้ไปสู่คณะครูทุกคน และเมื่อครูทั้งโรงเรียนได้รับการขยายผลแล้วจากนั้นก็เป็นกระบวนการสร้างแกนนำนักเรียนขึ้น เพื่อจะนำไปสู่การขยายผลในระดับนักเรียนต่อไป

                สิ่งที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ความมุ่งมั่นและความพยายามที่จะขยายผล สิ่งดี ๆที่คณะครูได้เข้ารับการอบรมนั้นนำไปสู่นักเรียนและชุมชน แต่หากขาดซึ่ง“ความสามัคคีของครู”ทุกคนในโรงเรียน การขยายผลเช่นนี้คงมิอาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ความสามัคคีที่สัมผัสได้

                จากการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆของทางโรงเรียนแม้จะเพียงไม่กี่ครั้งแต่สิ่งที่เราสามารถสัมผัสได้จากคณะครูของโรงเรียนไชยปราการก็คือ ความร่วมแรงร่วมใจ ความสามัคคี และความตั้งใจจริงในการทำงานร่วมกัน อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นรากฐานอันสำคัญของโรงเรียนไชยปราการที่ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจเสมอมา ความสามัคคีของคณะครูที่สัมผัสได้ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เห็นได้จากการที่

ครูโรงเรียนไชยปรากการนั้นพูดแต่สิ่งที่ดีงาม พูดกันด้วยความรักความปรารถนาดี รู้จักการพูดให้กำลังใจกันและกัน ไม่นินทาว่าร้ายทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทักทาย ยิ้มแย้มแจ่มใจเมื่อได้พบหน้ากัน พูดแนะนำในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อกัน สนับสนุนช่วยเหลือกันทางด้านกำลังกาย มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่เอารัดเอาเปรียบ และมีความเสมอภาคต่อกัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันอยู่เสมอ การปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับหรือวินัยต่างๆอย่างเดียวกัน  ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน ไม่อ้างอำนาจบาตรใหญ่ ไม่ถืออภิสิทธิ์ใดๆทั้งปวง มีความคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน คิดในสิ่งที่ตรงกัน มีการปรับมุมมองให้ตรงกัน รู้จักแสวงหาจุดร่วมและสงวนไว้ซึ่งจุดต่างของกันและกัน ไม่ยึดถือความคิดของตนเป็นใหญ่ รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอยู่เสมอ แม้กระทั่งความคิดเห็นของทีมนักวิจัยที่เสนอแนะข้อมูลบางอย่างเพื่อการปรับปรุงโครงการ ก็พบว่าคณะครูในโรงเรียนมีความตั้งใจและน้อมรับปรับปรุงเป็นอย่างดี

นี่อาจเป็นเครื่องชี้และแสดงให้เห็นชัดเจนว่าความสามัคคีเป็นบ่อเกิดของพลังในทุกๆ สิ่งทุกอย่าง ความสำเร็จที่จะกล่าวต่อไปนี้มีรากฐานมาจากความสามัคคี ของคณะครูทั้งสิ้น

ความกตัญญูในความหมายใหม่ที่หยั่งรากเข้าสู่เรือนใจของนักเรียน

                การสร้างสรรค์โครงการส่งเสริมคุณธรรมของโรงเรียนไชยปราการอาจกล่าวได้ว่ามีรากฐานมาจากการได้รับการอบรมจาก โรงเรียนผู้นำประการหนึ่งและจากความสามัคคีของคณะครูอีกประการหนึ่ง  ซึ่งได้นำไปสู่การจัดกิจกรรมที่มีการบ่มเพาะความกตัญญูรู้สำนึกคุณให้กับนักเรียนภายใต้โครงการชื่อรากแก้วกตัญญู ซึ่งความกตัญญูที่เราต่างพร่ำสอนกันส่วนใหญ่เป็นความกตัญญูต่อตัวบุคคลผู้มีพระคุณต่อเรา หากแต่ความแตกต่างของโครงการรากแก้วกตัญญูนี้กลับอยู่ที่มุมมองของความกตัญญูที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน อาจเป็นการสร้างความหมายใหม่ให้กับคำว่า “กตัญญู” ในยุคสมัยนี้ก็เป็นได้

                ในสังคมวิทยาศาสตร์ที่เราเชื่อและแยกชัดเจนระหว่างวัตถุกับจิต เราจึงเชื่อกันว่าผู้มีพระคุณนั้นเป็นได้แต่คนเท่านั้น ความกตัญญู จึงมักพร่ำสอนกันเพื่อให้แสดงต่อบุคคลผู้มีพระคุณไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ แต่สำหรับสังคมไทยแต่โบราณกาลมาเรามีความเชื่อกันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์ หรือสิ่งของ ล้วนแต่มีจิต มีวิญญาณแม้กระทั่งเทพ เทวดา สถิตอยู่ ไม่ว่าคน สัตว์หรือสิ่งของใดที่เอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เรา ๆก็จะต้องให้ความเคารพ กราบไหว้รู้คุณต่อทุกสิ่งที่เกื้อกูลชีวิตเรา โครงการรากแก้วกตัญญูของโรงเรียนไชยปราการ แม้จะไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเลือกมุมมองอย่างหลังแต่สิ่งที่แสดงออกมาในกิจกรรมของโครงการ  ชี้ให้เห็นถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนมุมมองใหม่ของคำว่า “ความกตัญญู” ให้มีขอบข่ายกว้างไกลออกไปถึงความกตัญญูต่อตนเอง บิดามารดา ครูอาจารย์ โรงเรียน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าใครก็ตามที่มีความกตัญญูต่อสรรพสิ่งทั้งมวลเขาผู้นั้นย่อมต้องกระทำต่อสิ่งนั้นด้วยความเคารพนอบน้อม และแน่นอนว่าสิงที่แสดงออกมาทั้งกายกรรมวจีกรรม มโนกรรมย่อมเป็นการแสดงออกด้วยความดีงามทั้งสิ้น

                อย่างไรก็ตามในโครงการรากแก้วกตัญญูนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือการนำสื่อวิดีทัศน์ เรื่องความล่มสลายของอาเจนตินามาเป็นสื่อการอบรมที่สำคัญ ถือได้ว่าเป็นอีกความพยายามในการที่จะบูรณาการโครงการเข้าสูการต่อสู้และต่อต้านวัฒนธรรมการบริโภคที่บ้าคลั่งและต้านทานการรุกคืบของทุนนิยมข้ามชาติที่สำคัญอีกประการหนึ่งด้วย

บทสรุป

ย่อมเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า อันความสามัคคีนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งพลัง การที่ผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนไชยปราการมีความสมัครสมานสามัคคี เป็นแบบอย่างที่ดีของนักเรียนและชุมชน นำไปสู่ความร่วมแรงร่วมใจความเห็นพ้องต้องกันในอันที่จะสรรค์สร้างกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและชุมชน หลักสูตรการอบรมของโรงเรียนผู้นำ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของผู้คนมากมายที่ผ่านการอบรมคนแล้วคนเล่า แต่เมื่อมันมาผนวกเข้ากับพลังของความสามัคคีของครูโรงเรียนไชยปราการจึงทำให้ผลิดอกอกผลกลายเป็นโครงการรากแก้วกตัญญู โครงการซึ่งขยายขอบเขตความหมายของความกตัญญูให้กว้างขวางออกไป และเป็นรากแก้วที่หยั่งสู่เรือนใจของครู นักเรียนและชาวบ้านในชุมชนทุกคน

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ไชยปราการ
หมายเลขบันทึก: 364832เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2010 00:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท