นปส.55 (7): พิสูจน์ความฟิต


สมรรถภาพของร่างกายคนเราดูได้จากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หัวใจและปอด โดยยาอายุวัฒนะจากธรรมชาติคือการเคลื่อนไหว

๗. พิสูจน์ความฟิต

ตามที่ได้เขียนเล่ามาในช่วง 6 ตอนแรกเพื่อเกริ่นเล่าให้เห็นภาพรวมของหลักสูตรนักปกครองระดับสูง ของวิทยาลัยมหาดไทย สถาบันดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทยและภาพรวมของกิจกรรมการฝึกอบรม ในตอนนี้จะเล่าลงในรายละเอียดการฝึกอบรมในช่วงสัปดาห์ที่ 1 ของการฝึกอบรมของรุ่นที่ 55 ช่วงวันที่ 19 เมษายน-25 เมษายน ซึ่งคาบเกี่ยวไปจนถึงวันอาทิตย์ แต่ปกติจะหยุดพักช่วงเสาร์-อาทิตย์

สัปดาห์แรกของการฝึกอบรม เริ่มต้นในวันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2553 ช่วงเช้าเป็นการแนะนำวิทยาลัยมหาดไทยและการปฏิบัติตนโดยผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพและผู้อำนวยการวิทยาลัยมหาดไทย ต่อด้วยการชี้แจงหลักสูตรโดยอาจารย์ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการหลักสูตรของรุ่นที่ 55 ซึ่งได้เขียนเล่าไปแล้ว

ช่วงบ่าย (13.00-16.00 น.) เป็นการพบอาจารย์ที่ปรึกษาทำการศึกษาอิสระ (IS) เป็นหัวข้อในหมวดวิชา (Module) ที่ 9 ที่แบ่งกลุ่มนักศึกษาเป็น 7 กลุ่ม มีอาจารย์ที่ปรึกษา 7 ท่าน ของกลุ่มผม (กป.4) อยู่กับ ผศ. ดร.จรัญญา ปานเจริญ ซึ่งแต่ละคนได้นำเสนอหัวข้อไอเอสและรายละเอียดการจัดทำให้อาจารย์ที่ปรึกษาได้ช่วยวิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะ ของผมเสนอเรื่องยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรมนุษย์ด้านสุขภาพในบริบทพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก โดยใช้กระบวนการศึกษาเชิงคุณภาพ สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องราว 40 คน

ช่วง 16.00-18.00 น. เป็นการสอบประมวลความรู้ในภาพรวมก่อนเข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งเป็นหัวข้อในหมวดวิชาที่ 9 การนำความรู้และประสบการณ์สู่การปฏิบัติ ข้อสอบเป็นแบบเขียนบรรยาย 3 ข้อ คำถามค่อนข้างยาวและตอบยากพอสมควร

หลังจากนั้นก็ทานอาหารเย็นมื้อแรกที่วิทยาลัยที่มีอาหารให้เลือกหลากหลาย ผมยังไม่ค่อยรู้จักใคร ก็เลยดูเงียบๆเหงาๆไปเหมือนกัน

วันอังคารที่ 20 เมษายน 2553 วันที่สองของการฝึกอบรม พวกเราถูกปลุกตั้งแต่ 05.30 น. พร้อมเปิดเพลงให้ฟัง ในขณะที่เราแต่งตัวเป็นชุดกีฬา มารวมกันที่ลานหน้าหอพักในเวลา 6 โมงเช้า อาจารย์ของวิทยาลัยมาแนะนำกิจกรรมที่เราต้องจัดเวรกันมาทำหน้าที่ปลุก จัดรายการตอนเช้า นำออกกำลังกาย นำเดิน นำวิ่งและปฏิบัติภารกิจต่างๆตามกลุ่ม กป.ที่รับผิดชอบ ติดต่อกันครั้งละ 2 วัน หลังจากนั้นก็สอนการทำกายบริหาร 10 ท่าพญายม ให้ทำตามทั้งหมด 10 ท่า ผมทำตามไปก็หาวไปเพราะไม่เคยชินกับการตื่นนอนตอนเช้าตรู่อย่างนี้

เสร็จจาก 10 ท่าพญายม อาจารย์ก็พาเดินออกนอกวิทยาลัยไปไหว้พระที่วัดบางละมุงที่อยู่ติดๆกัน มีไม้ตะเคียนต้นใหญ่และโครงกระดูกปลาวาฬขนาดใหญ่ที่ทางวัดเก็บอนุรักษ์ไว้ ราว 7 โมงเช้าก็กลับวิทยาลัย มาทานอาหารเช้าหรืออาบน้ำอาบท่าเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย และเข้าแถวเคารพธงชาติตอน 8.30 น. พร้อมกับสวดมนตร์

ช่วง 9.00-12.00 น. เป็นหัวข้อบรรยาย "สุขภาพและสมรรถภาพสำหรับนักบริหาร" โดย ผศ.เอนก สูตรมงคล อาจารย์คณบดีวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา ได้มาพูดให้ฟังเกี่ยวกับสุขภาพ สมรรถภาพ และประโยชน์ของการออกกำลังกาย ราว 1 ชั่วโมง อาจารย์กล่าวว่า "สุขภาพ" แค่ "อยู่ได้" แต่จะ "อยู่ดี" ต้องมีสมรรถภาพ ซึ่งเราต้องออกกำลังกายเพื่อสร้างความเข้มแข็งหรือความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หัวใจ และปอด ซึ่งสามส่วนนี้มีความสำคัญโดยมียาอายุวัฒนะจากธรรมชาติมาให้คือ "การเคลื่อนไหว"

หลังจากบรรยายก็มีการตรวจสมรรถภาพทางกายให้ด้วยทีมของอาจารย์และคณะจากมหาวิทยาลัยบูรพา แต่เนื่องจากนักศึกษาเยอะ เจ้าหน้าที่มีน้อย จึงต้องรอคิวนาน มีการตรวจดดยเครื่องชั่งน้ำหนักเพื่อดูความอ้วนผอมและเปอร์เซนต์ไขมันในร่างกาย การวัดขนาดรอบข้อมือเพื่อคำนวณหาขนาดของโครงกระดูก การวัดความดันโลหิตและชีพจร การวัดความจุปอด และการวัดแรงบีบมือเพื่อดูความแข้งแรงของกล้ามเนื้อมือและแขน แล้วนำข้อมูลไปเข้าโปรแกรมให้อ่านผลการทดสอบสมรรถภาพทางกายออกมา ซึ่งการตรวจในลักษณะนี้จะได้ผลแค่คร่าวๆหรือหยาบๆเท่านั้น การแปลผลก็ว่าไปตามข้อมุลที่โปรแกรมไว้แล้ว และไม่ได้วัดการทำงานหรือการใช้อ๊อกซิเจนของกล้ามเนื้อ (O2 consumption)

การชั่งน้ำหนัก ผมหนัก 70 ก.ก. ซึ่งผลออกมาว่าเกินมาตรฐาน (สูงแค่ 165 ซ.ม.) ที่กำหนดไว้ 55-66 ก.ก. ผมเองก็ตั้งใจว่ามาอบรมจะลดน้ำหนักสัก 5 ก.ก. ก็น่าจะพอดี คำอธิบายที่ได้จากเครื่องก็ดูธรรมดาๆจะเกินมากเกินน้อยเครื่องก็อ่านเกินเหมือนกัน ซึ่งการดูว่าอ้วนผอมง่ายๆ สามารถดูได้จากการวัดค่าดัชนีมวลกายโดยใช้น้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ถ้าน้อยกว่า 20 ก็ผม ถ้ามากกว่า 25 ก็เริ่มอ้วน ถ้ามากกว่า 30 ก็ถือว่าอ้วน เครื่องชั่งเครื่องนี้สามารถคำนวณปริมาณไขมันในร่างกาย ของผม 22.5% ก็อยุ่ในเกณฑ์ปกติ (22-27%) ซึ่งไขมันในร่างกายนี้ ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นไขมันในเลือดหรือส่วนต่างๆ เป็นการบอกโดยรวมๆ

ส่วนความดันโลหิตและชีพจรวัดได้ปกติ แต่การวัดชีพจรขณะพักได้ 70 ครั้งต่อนาที (ค่าปกติ 70-75 ครั้งต่อนาที) ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานจะแปรไปตามอายุ แต่ถ้าฟิตจริงๆค่าควรต่ำกว่า 60ครั้งต่อนาที เวลาจะออกกำลังกายพัฒนาปอดและหัวใจให้คิดง่ายๆ ออกกำลังกายให้หัวใจเต้น 70-85% ของชีพจรสูงสุด (ชีพจรสุงสุดคิดจาก 220-อายุปัจจุบัน) และออกกำลังกายต่อเนื่องกันราว 40 นาที

การวัดความแข็งแรงของแขน ได้ 42.5 ก.ก. คิดเป็น 0.61 ของ น้ำหนักตัว อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง (ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.56-0.66 กก.ต่อ นน.ตัว) การวัดความจุปอดที่ผมเคยวัดมามักได้ค่าต่ำแทบทุกครั้ง แม้จะเคยเป็นนักกีฬาว่ายน้ำก็ตาม คราวนี้ก็วัดได้แค่ 2,400 ลบ.เซนติเมตร คิดเป็น 34.3 ลบ.ซม.ต่อ นน.ตัว ผลคือต่ำมาก ค่ามาตรฐานคือ 51-50 ลบ.ซม.ต่อ นน.ตัว ซึ่งผมคิดแบบเข้าข้างตัวเองว่า เราอาจจะเป่าไม่ค่อยดีด้วย

วิธีการตรวจ ค่าคำนวณและค่ามาตรฐานอาจแตกต่างกันไปในแต่ละโปรแกรมที่นำมาใช้ในแต่ละแห่ง การตรวจสมรรถภาพนี้อยู่ในหมวดวิชาที่ 9 รวมทั้งการออกกำลังกายยามเช้าด้วย

ช่วงบ่าย 13.00-16.00 น. เป็นการปฐมนิเทศการฝึกอบรมลูกเสือ โดยอาจารย์สนั่น พาหอม ผู้อำนวยการส่วนกิจการค่ายลูกเสือ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าค่ายลูกเสือวชิราวุธ ศรีราชา หลังจากนั้นก็เป็นเวลาอิสระของแต่ละคน มีหลายคนที่ออกกำลังกายตอนเย็นต่ออีก

กิจกรรมการฝึกอบรมลูกเสือจึงกำหนดไว้ตั้งแต่ 20-25 เมษายน 2553 กำหนด 6 วัน 5 คืน แต่คืนแรกให้นอนที่วิทยาลัยก่อนโดยจัดปฐมนิเทศในวิทยาลัยเลย วันพรุ่งนี้จึงจะเข้าค่ายลูกเสือจริง กำหนดการฝึกอบรมลูกเสือหลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับผู้นำขั้นความรู้ชั้นสูงโครงการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.)  รุ่นที่ 55 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ณ  ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

วันอังคารที่ 20 เมษายน 2553

เวลา  16.00  น.      - ผู้เข้ารับการฝึกอบรมรายงานตัว/ลงทะเบียนเข้าหมู่ ณ วิทยาลัยมหาดไทย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

       16.30  น.          - ปฐมนิเทศชี้แจง

วันพุธที่ 21 เมษายน 2553

เวลา 08.00  น.          - ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพร้อมเพรียงกัน ณ ที่ประชุมค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

       08.30  น.          -  ซักซ้อมพิธีเปิด

       09.30  น.          - พิธีเปิดการฝึกอบรม

                              - ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย

                              - ประธานถวายบังคัมพระบรมรูป รัชกาลที่ 6 แล้วถวายราชสดุดี

                              - ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ กล่าวรายงาน

                              - ประธานกล่าวปราศรัยและกล่าวเปิดการฝึกอบรม

                              - ถ่ายภาพ

         11.00  น.        - ผู้อำนวยการฝึกอบรม กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์วิธีการฝึกอบรม

       12.00  น.           - รับประทานอาหารกลางวัน

       13.00 - 21.00 น. - ฝึกอบรมวิชาลูกเสือ

วันพฤหัสบดีที่ 22 - วันเสาร์ที่ 24 เมษายน 2553

เวลา 05.30 - 21.00 น.  - ฝึกอบรมวิชาลูกเสือ

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2553

เวลา 05.30  น. - ฝึกอบรมวิชาลูกเสือ

       10.30  น. - พิธีปิดการฝึกอบรม

       12.00  น. - รับประทานอาหารกลางวัน

       13.00  น. - ผู้เข้ารับการฝึกอบรมออกเดินทางจากค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรี ไป วิทยาลัยมหาดไทย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 

ภาพกิจกรรมการฝึกอบรมของ นปส. รุ่นที่ 55 ดูได้ที่ http://www.interior.ac.th/icmoi/index.php?option=com_content&view=article&id=114:activitynps55&catid=50:2009-12-29-16-24-09&Itemid=76 ครับ

การฟิตร่างกาย เป็นเรื่องที่ต้องลงแรง "สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง" ถ้าใครมาบอกว่าใช้เงินซื้อสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วแข็งแรงก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องเกินจริงหรือโกหกได้เลย การออกกำลังกายต้องอาศัยความต่อเนื่อง ต้องอดใจและอดทน ค่อยเป็นค่อยไป ตรงกับภาษิตฝรั่งว่า "Roam wasn't built in a day" หรือ "กรุงโรมไม่ได้สร้างในวันเดียว"

หมายเลขบันทึก: 364808เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท