KM @ ศูนย์การเงินและการลงทุน : F.I.C.
โชคธำรงค์ KM @ ศูนย์การเงินและการลงทุน : F.I.C. จงจอหอ

องค์ประกอบของความรู้ทางการเงิน


เงินนับได้ว่าเป็นทรัพยากรที่หายาก (Scare resource) อย่างหนึ่ง

เงินเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจหรือบุคคลธรรมดา เนื่องจากมนุษย์ใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน นำมาซึ่งสินทรัพย์ทุกประเภท องค์กรธุรกิจต้องการเงินไปเพื่อการดำเนินธุรกิจแสวงหากำไร บุคคลธรรมดาต้องการเงินไปเพื่อการจับจ่ายใช้สอยดำรงชีวิต ทั้งนี้ เงินนับได้ว่าเป็นทรัพยากรที่หายาก (Scare resource) อย่างหนึ่ง จึงต้องมีการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ (efficient allocation) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้สอยเสมอ

 

หากพิจารณาเอาเงินเป็นที่ตั้ง อาจจะนับได้ว่า บริษัทหรือองค์กรธุรกิจเป็นบุคคลที่ต้องการเอาเงินไปใช้ในการลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจในโครงการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรธุรกิจ ซึ่งกระบวนการในการดำเนินการธุรกิจจำเป็นที่ต้องมีการจัดการทางการเงิน (Financial management) จึงนับได้ว่าองค์กรธุรกิจอยู่ในฝ่ายของอุปสงค์ในเงินทุน (demand for capital) ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งขององค์ประกอบในระบบรวม บุคคลธรรมดาก็ประกอบอาชีพ เมื่อได้เงินมาก็มีการจัดสรรเงินนั้นเป็นส่วนต่าง ๆ ทั้งเพื่อการบริโภคในปัจจุบัน (current consumption) การลงทุน (investment) เพื่อการบริโภคในอนาคต โดยการลงทุนนั้น ทางหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ การนำเงินส่วนนั้นไปให้กับองค์กรธุรกิจเพื่อดำเนินกิจการต่อไป อาจจะนับได้ว่าบุคคลธรรมดาอยู่ในฝ่ายของอุปทานในเงินทุน (supply of capital) ในการศึกษาวิชาการเงินโดยส่วนใหญ่นั้น จึงมีการศึกษาวิชาหลัก ๆ ทั้งด้านของ การจัดการทางการเงิน (financial management) หรือวิชาทางด้านการเงินสำหรับองค์กรธุรกิจ (corporate finance) และยั้งต้องศึกษาในด้านการลงทุน (investment) ซึ่งก็คือการศึกษาทั้งด้านของอุปสงค์ และอุปทาน ในเงินทุนนั่นเอง เพื่อให้ครบทั้งกระบวนการของระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงิน

ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาการเงินสำหรับองค์กรธุรกิจ หรือศึกษาการลงทุนของบุคคลก็ตาม ในที่สุดแล้วก็ต้องกลับไปพิจารณาพื้นฐานที่ตัว “คน” เพราะนับได้ว่า “คน” เป็นจุดเริ่มต้นของแนวความคิดทุกอย่าง แม้ว่าจะพยายามแยกการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจออกจาก “คน” ที่เป็นเจ้าของ (separation of management and ownership) แต่การดำเนินงานหรือการจัดการองค์กรนั้น ก็ยังเป็นการกระทำของ “คน” อยู่นั่นเอง วิชาการทางการเงินตระหนักในความเป็นจริงเช่นนี้จึงเป็นวิชาที่โดยส่วนใหญ่แล้วมีความหมายในการศึกษาถึงพฤติกรรมของ “คน” ในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยมีการศึกษาอย่างเป็นระบบ การคำนวณใด ๆ ในวิชาการทางการเงินนั้น ก็เป็นการคำนวณที่มีหลักเกณฑ์ แนวคิด และเหตุผลที่ชัดเจน การใช้ความจำในสูตรการคำนวณต่าง ๆ ไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้องในการศึกษาวิชาทางการเงิน เพราะสามารถที่จะทำความเข้าใจพฤติกรรมต่าง ๆ ด้วยแนวคิดพื้นฐานสำคัญ ๆ ของ “คน” แล้วนำไปสร้างเป็นความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในรูปของวิธีการคำนวณ หรือ ความสำคัญของปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความหลงผิดว่าเป็นสูตรในการคำนวณต่าง ๆ และนำความยุ่งและยากมาสู่การศึกษาวิชาการเงินโดยไม่มีความจำเป็นและไม่ถูกต้อง

แนวคิดหลัก

1. แนวทางการศึกษาในวิชาการทางด้านการเงิน เพื่อประโยชน์ในการศึกษา อาจแบ่งแนวทางการศึกษาออกเป็น 2 ด้าน คือ
     1.1.  ด้านอุปสงค์ของเงินทุน (Demand for capital) ซึ่งหมายถึง ความต้องการนำเงินทุนไปใช้เพื่อประกอบกิจการแสวงหากำไรขององค์กรที่ดำเนินธุรกิจ (Corporate)
     1.2.  ด้านอุปทานของเงินทุน (Supply of capital) ซึ่งหมายถึง การตอบสนองของนักลงทุน (Investor) ในการนำเงินทุนที่มีไปลงทุน ผ่านตราสารทางการเงิน เช่น หุ้นสามัญ หุ้นกู้ โดยอาศัยกลไกตลาดการเงิน

2. วัตถุประสงค์ทางการเงิน อาจจะแบ่งวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน โดยพิจารณาถึง 2 ด้านขององค์ประกอบในวิชาการทางการเงิน
     2.1.  วัตถุประสงค์เพื่อการบริหารการเงินขององค์กรที่ดำเนินธุรกิจ คือ การสร้างมูลค่าสูงสุดให้เจ้าของ (Maximization of shareholder’s wealth) ซึ่งโดยรูปธรรมก็คือ การทำให้มูลค่าตลาดของหุ้นสามัญมีมูลค่าที่สูงที่สุด
     2.2.  วัตถุประสงค์เพื่อการจัดการการลงทุนของนักลงทุน คือ การบรรลุถึงความพึงพอใจสูงสุด (Utility maximization) โดยความพยายามทำให้ทางเลือกในการลงทุนนั้น มีอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่สูงสุด (Maximization of expected return) และความเสี่ยงต่ำสุด (minimization of risk)

3. ความแตกต่างระหว่างแนวคิดทางบัญชี กับแนวคิดสำคัญทางการเงิน ประเด็นสำคัญคือ แนวคิดทางบัญชีเป็นการรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้ว โดยคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมของรายการต่าง ๆ นั้น ตามระยะเวลาที่สอดคล้องกับการเกิดขึ้น เช่น การรับรู้รายได้ และการรับรู้ค้าใช้จ่าย ไม่ว่ารายการเหล่านั้นจะมีการเคลื่อนไหวของกระแสเงินสดหรือไม่ก็ตาม ในขณะที่แนวคิดทางการเงินที่สำคัญ ก็คือ ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของกระแสเงินสด มากกว่า การคำนึงถึงระยะเวลาของการเกิดรายการต่าง ๆ ทั้งนี้ รายการที่ก่อให้เกิดความแตกต่างของตัวเลขทางบัญชี กับตัวเลขทางการเงินที่เป็นรายการหลัก ได้แก่
     3.1.1. รายการคงค้าง (Accrual transaction) เช่น ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย รายได้ค้างรับ
     3.1.2. รายการล่วงหน้า (Deferral transaction) เช่น ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า รายได้รับล่วงหน้า
     3.1.3. รายการค่าใช้จ่ายสม่ำเสมอ (Smoothing expresses) โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทย่อย
        3.1.3.1.  ค่าเสื่อมราคา (Depreciation)
        3.1.3.2.  ค่าหมดเปลือง (Depletion)
        3.1.3.3.  ค่าตัดจำหน่าย (Amortization)


4. สมติฐานที่สำคัญทางการเงิน ซึ่งมีบทบาทในการวิเคราะห์ปัญหาทางการเงินต่าง ๆ ได้แก่
     4.1.  บุคคลทั่วไปเป็นผู้ที่มีเหตุผล  (Rationality) หมายถึง บุคคลทางการเงิน มีความสามารถในการที่จะพิจารณาถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลสามารถเปรียบเทียบทางเลือกต่าง ๆ ภายใต้กฎเกณฑ์การตัดสินใจที่ถูกต้อง และมีความสามารถเช่นนั้นทัดเทียมกันระหว่างบุคคลต่าง ๆ
     4.2.  บุคคลเป็นผู้ที่ไม่รู้จักเพียงพอ (Insatiability) หมายถึง บุคคลย่อมแสวงหาความมั่งคั่งเพิ่มเติมอย่างไม่หยุดยั้ง ทางเลือกใดก็ตามที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับความมั่งคั่ง (Wealth) ของตนเอง นักลงทุนย่อมต้องการทางเลือกนั้น เพราะทำให้ความพึงพอใจสูงขึ้น โดยที่คำนึงถึงความพึงพอในสูงสุด (Utility maximization)
     4.3.  บุคคลทั่วไปเป็นผู้ที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk aversion) หมายถึง บุคคลย่อมเป็นผู้ที่ไม่ชอบความเสี่ยง ถ้าต้องเผชิญกับความเสี่ยง นักลงทุนจะพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนั้น อย่างไรก็ดี หากนักลงทุนมีความจำเป็นที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยง นักลงทุนย่อมต้องเรียกร้องหรือคาดหวังอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากปรกติ เพื่อเป็นการชดเชยความเสี่ยง (Risk premium)

เอกสารอ้างอิง

สันติ กีระนันทน์. “องค์ประกอบความรู้ทางการเงิน” ใน ความรู้พื้นฐานการเงิน: หลักการ เหตุผล แนวคิด และการวิเคราะห์. กรุงเทพฯ: เฟื้องฟ้า พริ้นติ้ง. 2546.

หมายเลขบันทึก: 364517เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2010 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นึกว่าคราย พี่กอล์ฟนี่เอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท