การสอนแบบโครงงานระดับปฐมวัย


การสอนแบบโครงงานระดับปฐมวัย 

 

          การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ หรือการค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่ผู้เรียนอยากรู้หรือสงสัยด้วยวิธีการต่างๆ เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เลือกศึกษาตามความสนใจของตนเองหรือของกลุ่ม เป็นการตัดสินใจร่วมกัน จนได้ชิ้นงานที่สามารถนำผลการศึกษาไปใช้ได้ในชีวิตจริง
          การเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นการเรียนรู้ที่ใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบนำมาผสมผสานกัน ได้แก่ กระบวนการกลุ่ม การฝึกคิด การแก้ปัญหา การเน้นกระบวนการ การสอนแบบปริศนาความคิด และการสอนแบบร่วมกันคิด ทั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งจากความสนใจอยากรู้อยากเรียนของผู้เรียนเอง โดยใช้กระบวนการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ เพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงกับแหล่งความรู้เบื้องต้น ผู้เรียนสามารถสรุปความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งความรู้ที่ผู้เรียนได้มาไม่จำเป็นต้องตรงกับตำรา แต่ผู้สอนจะสนับสนุนให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งการเรียนรู้และปรับปรุงความรู้ที่ได้ให้สมบูรณ์
          และยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในทุกขั้นตอนของการเรียนรู้ ตั้งแต่การวางแผนการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ประยุกต์ใช้ผลผลิต และการประเมินผลงาน โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้จัดการเรียนรู้

 

ความหมายของโครงงาน

                โครงงาน  เป็นกระบวนการแก้ปัญหา หรือตอบข้อสงสัยในเรื่องที่อยากรู้โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการเขียนโครงงาน มีดังนี้

                1. เมื่อนักเรียนเกิดปัญหา

                2. นักเรียนก็ตอบปัญหาชั่วคราว ( ตั้งสมมติฐาน)

                3. นักเรียนจะต้องออกแบบทดลอง เพื่อพิสูจน์ปัญหาว่าจริงหรือไม่

                4. นักเรียนทำการทดลอง หรือศึกษาค้นคว้า เพื่อสรุปผลโดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

                                4.1 ถ้าคำตอบไม่ตรงกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ก็ตั้งสมมุติฐานใหม่ และออกแบบการทดลอง เพื่อพิสูจน์ปัญหา และการทดลอง หรือศึกษาค้นคว้าเพื่อสรุปผลใหม่

                                4.2 เมื่อคำตอบตรงสมมุติฐาน ก็จะทำให้ได้ความรู้ใหม่ และเกิดคำถามใหม่

                5. นำผลที่ได้ไปใช้ประโยชน์

 

ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

  • สังเกต
  • จำแนก
  • วิเคราะห์
  • สังเคราะห์
  • ลงความเห็น
  • ทำงานเป็นทีม
  • นำเสนอข้อมูล/สื่อสารข้อมูล
  • รับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูล
  • สร้างคำอธิบายโดยใช้ประจักษ์พยาน

 

ลักษณะสำคัญของกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัย

  • ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการตั้งคำถามเชิงวิทยาศาสตร์อย่างง่ายๆ
  •  ผู้เรียนทำการสำรวจตรวจสอบเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต สำรวจ

 สืบค้น หรือทดลอง และบันทึกผลการสำรวจตรวจสอบด้วยวิธีที่เหมาะสมกับวัย

  •  ผู้เรียนตอบคำถามที่ตั้งขึ้นโดยใช้ผลจากการสำรวจตรวจสอบมาสร้าง

คำอธิบายที่มีเหตุผล

  •  การนำเสนอผลการสำรวจตรวจสอบให้กับผู้อื่นด้วยวิธีที่เหมาะสมกับวัยและ

ความสามารถ

 

ประโยชน์ของการทำโครงงาน

                1. ฝึกให้นักเรียนมีความรู้ ความชำนาญ และมีความมั่นใจ ในการนำเอาวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการแก้ปัญหา หรือค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ ด้วยตนเอง

                2. รู้จักตอบปัญหาโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผล

                3. เป็นการฝึกฝนให้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองในเรื่องที่ตนสนใจได้อย่างลึกซึ้ง

                4. ทำให้ได้แสดงความสามารถพิเศษของตนเอง

                5. ทำให้นักเรียนสนใจในรายวิชานั้นๆ มากยิ่งขึ้น

                6. เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

 

ประเภทของโครงงาน

                โครงงานแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

                1. โครงงานประเภทการสำรวจและรวบรวมข้อมูล

                2.โครงงานประเภททดลอง

                3. โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์   

                4. โครงการประเภททฤษฎี เป็นการใช้จินตนาการของตนเองมาอธิบายหลักการหรือแนวคิดใหม่ๆ

 

1. โครงงานประเภทการสำรวจและรวบรวมข้อมูล โครงงานประเภทนี้ผู้ทำโครงงานเพียงต้องการสำรวจ และรวบรวมข้อมูล แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาจำแนกเป็นหมวดหมู่ และนำเสนอในรูปแบบต่างๆเพื่อให้เห็นในลักษณะหรือความสัมพันธ์ในเรื่องที่ต้องการศึกษาให้ชัดเจน

โครงงานประเภทสำรวจข้อมูล ไม่จำเป็นต้องมีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้อง นักเรียนเพียงสำรวจรวบรวมข้อมูล แล้วนำข้อมูลที่ได้มาจัดให้เป็นหมวดหมู่และนำเสนอ ก็ถือว่าเป็นการโครงงานประเภทสำรวจรวบรวมข้อมูลแล้ว

 

2.โครงงานประเภททดลอง

                                ในการทำโครงงานการประเภททดลอง จะต้องจัดการกับตัวแปรที่มีผลต่อการทดลอง จะต้องจัดการกับตัวแปรที่มีผลต่อการทดลอง คือ

           1) ตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ หมายคือเหตุของการทดลอง หรือข้อสงสัย

           2) ตัวแปรตาม คือ ผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต้น หรือผลจากข้อสงสัย

          3) ตัวแปรควบคุม หมายถึง สิ่งที่ต้องควบคุมให้เหมือนๆกัน มิฉะนั้นจะมีผลทำให้ตัวแปรตามเปลี่ยนไป

         4) ตัวแปรแทรกซ้อน คือตัวแรควบคุมที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจะมีผลแทรก

ซ้อน ทำให้ผลการทดลองผิดไป

ตัวอย่าง  นักเรียนต้องการศึกษาว่าใบไม้ชนิดใดห่ออาหารและขนมได้ดีที่สุด

                                ตัวแปรต้น คือ ชนิดของใบไม้

                                ตัวแปรตาม คือใบไม้ที่มีความเหนียวนุ่ม

                                ตัวแปรควบคุม คือ ชนิดของอาหารและขนม ปริมาณอาหารและขนม

                                ตัวแปรแทรกซ้อน คือ ความชื้นแฉะของอาหารหรือขนม

               

ตัวอย่าง โครงงานเพาะถั่วงอก

                                จุดประสงค์ ต้องการศึกษาว่าวัสดุประเภทใดใช้เพาะถั่วงอกแล้วงอกดีที่สุด

                                ตัวแปรต้น  วัสดุหลายๆ ประเภท

                                ตัวแปรตาม ปริมาณถั่วงอก

 

3. โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์   เป็นการนำเอาความรู้ที่มีอยู่มาประดิษฐ์หรือสร้างสิ่งใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงการเขียนหนังสืออ่านประกอบหรือหนังสืออ่านเพิ่มเติม การแต่งคำประพันธ์ การแต่งเพลง การแต่งบทละครอื่นๆ

                ตัวอย่าง โครงงานการประดิษฐ์กระทง

                            โครงงานแต่งหนังสือนิทาน

 

4. โครงการประเภททฤษฎี เป็นการใช้จินตนาการของตนเองมาอธิบายหลักการหรือแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งอธิบายในรูปสูตร หรือสมการ หรืออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่สามารถอธิบายได้โดยใช้หลักการเดิม

 

แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน

           การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานสามารถจัดได้หลายแนวทางแนวทาง แต่โดยทั่วไปแล้วการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานมี 2 แนวทาง ดังนี้

1. การจัดกิจกรรมตามความสนใจ

           เป็นการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเลือกศึกษาโครงงานจากสิ่งที่สนใจอยากรู้ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อมในสังคม หรือจากประสบการณ์ต่างๆ ที่ยังต้องการคำตอบ ข้อสรุป ซึ่งอาจจะอยู่นอกเหนือจากสาระการเรียนรู้ในบทเรียนของหลักสูตร

 

2.  การจัดกิจกรรมตามสาระการเรียนรู้

             เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยยึดเนื้อหาสาระตามที่หลักสูตรกำหนด ผู้เรียนเลือกทำ
โครงงานตามสาระการเรียนรู้ จากหน่วยเนื้อหาที่เรียนในชั้นเรียน นำมาเป็นหัวข้อโครงงาน

 

กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน

กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานมีขั้นตอนที่ผู้สอนดำเนินการดังต่อไปนี้
                                1) เริ่มจากศึกษาเอกสารหลักสูตร คู่มือครู
                                2) วิเคราะห์หลักสูตร   จุดประสงค์การเรียนรู้
                                3) จัดทำกำหนดการสอน
                                4) จัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยกระบวนการของกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
          ระยะที่ 1 การเริ่มต้นโครงงาน
                                เป็นระยะที่ผู้สอนต้องสังเกต/สร้างความสนใจให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน จากนั้นตกลงร่วมกัน เลือกเรื่องที่ต้องการศึกษาอย่างละเอียด ผู้สอนสร้างความสนใจให้เกิดกับผู้เรียนซึ่งมีหลายวิธี โดยอาจศึกษาเรื่องจากการบอกเล่าของผู้ใหญ่หรือผู้รู้ จากประสบการณ์ของผู้เรียน/ผู้สอน จากเอกสารสิ่งพิมพ์ หรือสื่อต่างๆ จากการเล่นของผู้เรียน จากความคิดที่เกิดขึ้น จากวัตถุสิ่งของที่ผู้สอนนำมาในห้องเรียน หรือจากตัวอย่างโครงงานที่ผู้อื่นทำไว้แล้ว เป็นต้น เมื่อเกิดความสนใจแล้วก็จะถึงการกำหนดหัวข้อโครงงาน โดยนำเรื่องที่ผู้เรียนสนใจมาอภิปรายร่วมกัน แล้วกำหนดเรื่องนั้นเป็นหัวข้อโครงงาน

การเลือกเรื่องควรเน้นให้นักเรียนเลือกเรื่องที่นักเรียนสนใจบางครั้งครูก็สามารถเลือกเรื่องที่จะให้นักเรียนทำโครงงาน  เช่น

                                -    รวบรวมคำศัพท์ที่มีใช้ในหนังสือพิมพ์

                                -    รวบรวมชื่อดอกไม้ในโรงเรียน

                                -    รวบรวมคำที่เป็นภาษาถิ่นในท้องถิ่น

                                -    รวบรวมการละเล่นพื้นบ้านของเด็กในท้องถิ่น

                                -    รวบรวมปริศนาคำทายในท้องถิ่น

                                -    รวบรวมนิทานในท้องถิ่น

เมื่อได้หัวข้อเรื่องแล้วครูนำหัวข้อเรื่องดังกล่าวมาเขียนแผนการจัดประสบการณ์
           ระยะที่ 2 ขั้นพัฒนาโครงงาน
                                เป็นขั้นที่ผู้เรียนกำหนดหัวข้อคำถาม หรือประเด็นปัญหา ที่ผู้เรียนสนใจอยากรู้ แล้วตั้งสมมติฐานมาตอบคำถามเหล่านั้น ทดสอบสมมติฐานด้วยการลงมือปฏิบัติ จนค้นพบคำตอบด้วยตนเอง           ในกรณีที่ผลการตรวจสอบไม่เป็นไปตามสมมติฐาน ผู้สอนควรให้กำลังใจผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติม สิ่งที่ไม่ควรกระทำคือการตำหนิหรือกล่าวโทษ ผู้สอนควรกระตุ้นให้ผู้เรียนมีกำลังใจจนสามารถตั้งสมมติฐานใหม่ได้ ในกรณีที่ผลการตรวจสอบเป็นไปตามสมมติฐาน ให้ผู้เรียนสรุปองค์ความรู้จากการค้นพบด้วยการลงมือปฏิบัติของผู้เรียนเองเมื่อได้องค์ความรู้ใหม่แล้ว ผู้เรียนจะนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ในการทำกิจกรรมตามความสนใจต่อไปได้ ผู้เรียนอาจใช้ความรู้ที่ค้นพบเป็นพื้นฐานของการกำหนดประเด็น ปัญหาขึ้นมาใหม่เพื่อกำหนดเป็นโครงงานย่อย ศึกษารายละเอียดในเรื่องนั้นต่อไปอีก
           ระยะที่ 3 ขั้นสรุป
                                เป็นระยะสุดท้ายของโครงงานที่ผู้เรียนค้นพบคำตอบของปัญหาแล้ว และได้แสดงให้ผู้สอนเห็นว่าได้สิ้นสุดความสนใจในหัวข้อโครงงานเดิม และเริ่มหันเหความสนใจไปสู่เรื่องใหม่ ระยะนี้เป็นระยะที่ผู้สอนและผู้เรียนจะได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานและแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการทำงานตลอดโครงงานแก่คนอื่นๆ มีกิจกรรมที่ผู้สอนให้ผู้เรียนดำเนินการในขั้นตอนนี้ ดังนี้
                                1. ผู้เรียนเขียนรายงานเป็นรูปแบบงานวิจัยเล็กๆ
                                2. ผู้เรียนนำเสนอผลงาน (แสดงเป็นแผงโครงงาน) ให้ผู้สนใจรับรู้ สรุปและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
           

การเขียนรายงานโครงงาน

รูปแบบของการเขียนรายงานโครงงานมีหลากหลายรูปแบบ สำหรับเด็กปฐมวัยรูปแบบของการเขียนรายงานโครงงานอาจไม่จำเป็นต้องมีครบทุกหัวข้อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพการทำโครงงานของเด็ก  ดังนี้

                                1) ชื่อโครงงาน

                                2) ชื่อผู้ทำโครงงาน

                                3) ระดับชั้น

                                4) ชื่อครูที่ปรึกษา

                                5) โรงเรียน

                                6) วัน เดือน ปี ที่ทำโครงงาน

                                7)ที่มาและความสำคัญของโครงงาน/ ปัญหาหรือเหตุจูงใจในการทำโครงงาน

                                8) กิจกรรมระยะที่ 1

                                9) กิจกรรมระยะที่ 2

                                10) WEB ย่อย กิจกรรมการเรียนรู้แต่ละวัน

                                11) กิจกรรมระยะที่ 3

                                12) ประเมินผล

 

หมายเลขบันทึก: 364276เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2010 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่ะ แอบมาศึกษาหาความรู้บ้านนี้ :)

ล่ะจะแวะมาแอบดูอีกนะค่ะ

ขอบคุณมากคะ สำหรับความรู้เรื่องโครงงานอนุบาล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท