การฟอกหนังและการใช้เครื่องมือ


การฟอกหนังและการใช้เครื่องมือ

สัปดาห์ที่ 3 วันที่ 4 มิถุนายน 2553

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง นักเรียนสามารถแกะลายได้สม่ำเสมอสวยงามขึ้น

เนื้อหาสาระ  

หนังสัตว์ที่นิยมนำมาแกะ 2 ชนิด คือ หนังวัวและหนังควาย เพราะหนังมีความหนาพอเหมาะ เหนียวทนทาน เมื่อฟอกแล้วจะโปร่งแสง ครั้นระบายสีและนำออกเชิดบนจอ (สำหรับหนังตะลุง) จะให้สีสันสวยงาม ดูโปร่ง ไม่มืดทึบ อีกอย่างหนึ่งหนังวัว หนังควายไม่บิดงอหรือพับง่ายๆ เมื่อออกเชิดจึงบังคับการเคลื่อนไหวให้ ตัวหนังแสดงอิริยาบถได้ดีและสมจริง

สำหรับหนังสัตว์อื่นๆ เช่นหนังค่าง หนังอีเก้ง หนังหมีและหนังเสือ ฯลฯ ก็ใช้แกะรูปหนังได้แต่หนังสัตว์พวกนี้ค่อนข้างจะทึบแสง ช่างจึงใช้แกะรูปที่ไม่ต้องการโชว์ลายแกะฉลุและสีสันของตัวหนัง เช่น รูปตลกและรูปกาก

วิธีฟอกหนังวัวและหนังควายใช้หลักการหมักหนังด้วยกรด เพื่อกัดหนังให้ขาวและนิ่มแล้วจึงนำหนังมาล้างขูดขนออก เต่เดิมหนังวัวหรือหนังควายถูกนำมาผ่านการหมักใช้เวลาประมาณ 3 - 4 วัน เพื่อให้เกิดกรดจากน้ำหมัก  หรือใช้สับปะรดหมักหนังวัวหรือหนังควาย ซึ่งใช้ต้นทุนสูงกว่า แต่สะดวกและรวดเร็ว เพราะเนื้อเยื่อและขนจะหลุดออกจากหนังได้ง่าย  ปัจจุบันการฟอกหนัง โดยแช่หนังที่ตากแห้งแล้วในน้ำส้มสายชูเจือจางประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงสะดวกและรวดเร็วขึ้น

การขูดขนต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะมีดอาจเฉือนหนังให้เกิดรอยตำหนิได้หรือไม่ก็ทำให้หนังหนาบางไม่เท่ากัน การขูดหนังโดยวางหนังบนแผ่นไม้หรือใช้ไม้กลมรองจะสามารถขูดขนออกได้หมดจดยิ่งขึ้น ล้างทำความสะอาดแล้วขึงกับกรอบไม้สี่เหลี่ยม เพื่อผึ่งลมหรือแดดอ่อนๆ ให้หนังแห้งอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้หนังเกิดการบิดตัวโค้งงอ เมื่อหนังแห้งสนิทแกะออกจากกรอบ ตัดหนังรอบนอกซึ่งมีรอยตำหนิทิ้งก็จะได้หนังที่จะใช้แกะฉลุตามต้องการ ปัจจุบันนิยมแกะหนังที่ยังมีขนติดอยู่จึงไม่ต้องขูดขนออกไปทั้งหมด

การแกะลายควรลงน้ำหนักค้อนให้สม่ำเสมอ  วางตุ๊ดตู่ให้ตรงแนวและต่อเนื่องกันลวดลายจึงจะสม่ำเสมอสวยงามขึ้น

สื่อการเรียนรู้ 1. ภาพเขียนบนกระดาษ A4  2. ตุ๊ดตู่  3. ค้อน 4. เขียง

กิจกรรมการเรียนรู้

บทบาทของนักเรียน รับภาพที่วิทยากรแจกให้คนละ 1 แผ่น  เริ่มแกะลายไปเรื่อยๆ

พฤติกรรมของนักเรียน นักเรียนทุกคนมีความตั้งใจทำงาน แต่นักเรียนชั้น ม. 3-6 จะมีสมาธิที่ยาวนานกว่านักเรียนชั้น ม.1-2 เด็กโตทำงานได้สำเร็จเร็วกว่าเด็กเล็กกว่า ส่วนผลงานมีความสวยงามพอๆกัน

บทบาทของครู สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนและการให้ความรู้ของวิทยากร ให้ความช่วยเหลือนักเรียนและอำนวยความสะดวกแก่วิทยากรตามสมควร

บทบาทของวิทยากร ให้ความรู้และแนะนำวิธีการแกะลายให้เป็นเส้นตรงสม่ำเสมอ ซึ่งวิทยากรได้ให้คำแนะนำแก้ไขนักเรียนเป็นรายบุคคลทั่วถึงทุกคน

การประเมินผล นักเรียนแกะลายเป็นเส้นตรงได้สม่ำเสมอสวยงามขึ้นทุกคน

ข้อสรุป นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี ดังภาพ

   

ขอเสนอแนะ ในสัปดาห์ต่อไป ควรให้นักเรียนฝึกแกะลายบนหนังวัวขนาดเล็กสำหรับทำพวงกุญแจ

หมายเลขบันทึก: 364154เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2010 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท