ความเป็นมาและความสำคัญของงานช่างแกะหนัง


ประวัติของงานช่างแกะหนัง เครื่องมือและการใช้เครื่องมือ

สัปดาห์ที่ 2 วันที่ 14 พฤษภาคม 2553

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

  1. มีความรู้ความเข้าใจประวัติความเป็นมาและความสำคัญของงานช่างแกะหนัง

  2. บอกชื่อเครื่องมือและการใช้เครื่องมือสำหรับใช้ในงานแกะหนัง

  3. ทดลองการใช้เครื่องมือแกะลวดลายบนกระดาษ

เนื้อหาสาระ 

การแกะหนัง เป็นงานหัตถศิลป์ไทยแขนงหนึ่ง ที่พบได้หลายแหล่งในประเทศไทย โดยเฉพาะงานแกะหนังตะลุงภาคใต้สำหรับการเชิดหนังตะลุง  เป็นการบันทึกการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของภาคใต้  เช่น การแต่งกาย  ทรงผมและอาวุธประจำกาย เป็นต้น เมื่อสมัยโบราณหนังตะลุงของไทยแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ตัวหนังเป็นรูปมนุษย์และยักษ์ เครื่องแต่งกายเป็นเครื่องทรงโบราณ สวมมงกุฎเหยียบนาค มีอาวุธประจำกายคือ พระขรรค์และคันศร ตามความเชื่อในศาสนาฮินดู  ต่อมาสังคมมีการเปลี่ยนแปลง จึงความนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ลดลง  หนังตะลุงได้เปลี่ยนแปลงเป็นภาพตามสมัยนิยมด้วย  เช่น เจ้าเมือง-นางเมือง (ราชา-ราชินี) สวมมงกุฎไม่เหยียดนาค  ส่วนพระเอก-นางเอก ไว้ผมมวย เป็นต้น 

การแกะหนังเป็นการตอกตุ๊ดตู่ลงบนหนังให้เป็นรูเล็กๆ ให้เกิดลวดลายตามแบบที่เขียนบนหนังหรือร่างบนกระดาษ จนเกิดเป็นภาพบนหนังหรือกระดาษ ลงสีให้สวยงาม แต่เดิมการแกะหนังทำขึ้นเพื่อการแสดง  ปัจจุบันงานแกะหนังใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ใช้เป็นชิ้นงานประดับอาคารบ้านเรือนและเครื่องใช้อื่นๆ เช่น พัดและพวงกุญแจ  งานแกะหนังมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับตามความต้องการของผู้บริโภคและการสร้างสรรค์ผลงานของช่างแกะหนังด้วย  การแกะลายเป็นเส้นตรง  ลายดอกไม้  การแกะลวดลายจึงมีส่วนที่ต้องแกะออกและส่วนที่ไม่ต้องการแกะออก

ขั้นตอนการแกะหนัง เริ่มจากการเขียน/ร่างภาพและแกะด้วยเครื่องมือ

เครื่องมือที่ใช้ในการแกะหนัง ประกอบด้วย

  1. กระดานเขียง ต้องใช้สองแผ่น แผ่นหนึ่งเนื้อแข็ง อีกแผ่นหนึ่งเนื้ออ่อน เขียงเนื้อแข็งใช้สำหรับตอกลายด้วยตุ๊ดตู่นิยมใช้ไม้หยี ส่วนเขียงเนื้ออ่อนใช้รองมีดตัดหนัง นิยมใช้ไม้ทังเพราะเนื้อนิ่ม ปลายมีดตัดหนังจะไม่ค่อยหัก
  2. มีดแกะ นิยมใช้มีดปลายเล็กเล่มหนึ่ง ปลายใหญ่เล่มหนึ่ง เพื่อให้เหมาะกับงาน และหยาบตามลำดับ
  3. ตุ๊ดตู่ นิยมใช้เบอร์ 10 - 17 มีจำนวนหนึ่งชุด เพื่อใช้ตอกตามลวดลายให้เหมาะสมกับขนาดของลาย
  4. ค้อน นิยมใช้ฆ้องช่างทอง เพราะน้ำหนักพอดีกับงานแกะ
  5. เหล็กเขียนลาย เป็นเหล็กเนื้อแข็ง ปลายแหลม มีด้ามจับขนาดเท่ากับปากกา หรือดินสอ
  6. สีผึ้ง มีไว้เพื่อชุบปลายมีด หรือปลายตุ๊ดตู่ เพื่อให้เกิดความลื่น ทำงานได้เร็วขึ้น

การแกะหนังให้สวยงามต้องอาศัยความชำนาญในการแกะลายที่เกิดจากการฝึกฝนบ่อยๆ

สื่อการสอน

              1. หนังวัว   2. ตุ๊ดตู่   3. เขียงไม้เนื้อแข็ง   4. ค้อนเล็ก  5. ใบมีด 6.กระดาษ A4  7. กระดาษที่มีภาพลาย

บทบาทของนักเรียน นักเรียนเรียนรู้ประวัติการแกะหนัง  เครื่องมือที่ใช้ในการแกะหนังและเริ่มใช้เครื่องมือแกะลวดลายบนกระดาษ

พฤติกรรมของนักเรียน นักเรียนสนใจฟังและซักถามวิทยากร รับเครื่องมือและทดลองใช้ค้อม ตุ๊ดตู่ทั้ง 3 เบอร์    เจาะกระดาษตามที่ครูสอนและเริ่มแกะลวดลายตัวละครตามแบบที่ครูเขียนให้แล้ว ซึ่งที่มีส่วนที่ต้องแกะออกไม่มาก แกะบนกระดาษ A4 ด้วยความตั้งใจมากและคนที่ไม่เสร็จในวันนี้ ขอนำทำต่อที่บ้านและจะได้นำส่งในสัปดาห์ต่อไป

บทบาทครู  ดูแลให้ความช่วยเหลือนักเรียน สังเกต บันทึกผล วัดและประเมินผลการเรียนรู้

บทบาทวิทยากร สอนโดยการบรรยายและการปฏิบัติ วัดและประเมินผลงาน

ข้อมูลสะท้อนกลับ (บรรยากาศ/ข้อเสนอแนะ/ปัญหา) นักเรียนมีความรู้และเข้าใจประวัติและความสำคัญ รู้จักเครื่องมือและสามารถใช้เครื่องมือแกะกระดาษเป็นลายเส้น ลายดอกได้ ทำการแกะลายภาพเขียนบนกระดาษที่มีวิทยากรแจกให้ นักเรียนจำนวน 6 คน สามารถทำเสร็จในเวลาเรียน ส่วนที่เหลือทำต่อที่บ้านและนำส่งในสัปดาห์ต่อไป  ผลการตรวจงานนักเรียนสามารถเจาะลวดลายได้บ้าง แต่ยังให้น้ำหนักของเส้นยังไม่เรียบตรงสม่ำเสมอ ควรต้องฝึกฝนการใช้เครื่องมือบ่อยๆ การลงน้ำหนักค้อน จึงควรแกะลายบนกระดาษซ้ำอีกครั้งในคราวต่อไป เพื่อให้ได้ผลงานที่สม่ำเสมอสวยงามยิ่งขึ้น ดังรูป

 

หมายเลขบันทึก: 364003เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2010 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท