ความรู้เรื่องการวิจัยทางการศึกษา


วิจัยทางการศึกษา

ความรู้เรื่องการวิจัยทางการศึกษา

 

คำถามชุดที่1  

1. จงนิยามความหมายของการวิจัยโดยใช้ประกอบด้วยคำหลักต่อไปนี้

         (ก) ความรู้ใหม่    (ข) วิธีวิทยาศาสตร์     (ค) ความรู้ที่เชื่อถือได้

ตอบ  การวิจัยเป็นกระบวนการ แสวงหาความรู้ใหม่ที่ใช้ระเบียบวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ และต้องให้ความรู้ที่เชื่อถือได้

2. จงกำหนดลักษณะของการวิจัยมาเป็นข้อๆ อย่างน้อย 5 ข้อ

ตอบ    1. ต้องมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน เพื่อสร้างกฎเกณฑ์ อธิบายหรือคาดคะเนทำนายสาเหตุของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

           2. ต้องมีลักษณะของการกระทำอย่างมีระบบ สามารถวางแผนได้ล่วงหน้า มีเหตุมีผลและนำข้อสรุปที่เชื่อถือได้

           3. ต้องเป็นการแก้ปัญหาหรือตรวจสอบปัญหา เพื่อแสวงหาคำตอบที่นำไปสู่การแก้ปัญหานั้น

           4. ต้องการผู้รอบรู้ในเรื่องนั้นๆเพื่อจะได้สามารถออกแบบการวิจัยได้อย่างรอบคอบและรัดกุม

           5. ต้องมีการรวบรวมข้อมูลเพื่อตอบวัตถุประสงค์การวิจัยที่ต้องการค้นหา

           6. ต้องอาศัยข้อมูลที่เที่ยงตรงและเชื่อถือได้ จากการใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพเชื่อถือได้สูง

           7. ต้องอาศัยวิธีการเชิงเหตุผล ทุกขั้นตอนของการวิจัยต้องอธิบายได้ในเชิงของความเป็นเหตุเป็นผลทั้งหมดทั้งสิ้น

           8. ต้องมีการบันทึกและรายงานเพื่อสื่อสาร และสร้างสรรค์ความก้าวหน้า ทางวิชาการ

          9. ต้องใช้ความอดทน ใช้ความพากเพียรอย่างสูงในการออกแบบ เก็บรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ผลและเขียนรายงานผลการวิจัยจนสำเร็จ

        10. ต้องใช้ความกล้าหาญทางวิชาการในการรายงานข้อค้นพบอย่างตรงไปตรงมา ไม่สร้างอคติหรือรายงานผลการวิจัยผิดไปจากข้อเท็จจริง

 

3. การวิจัยทางวิทยาศาสตร์กับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สังคมแตกต่างกันอย่างไร

ตอบ               การวิจัยเป็นวิธีการแสวงหาความรู้  วิทยาการสาขาต่างๆได้ใช้วิธีการวิจัยแสวงหาความรู้เหมือนกันแต่องค์ความรู้ที่แต่ละสาขาวิทยาการต้องการแสวงหานั้นแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของศาสตร์สาขานั้น ซึ่งการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นการวิจัยที่แสวงหาความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหลาย ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ส่วนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สังคม เป็นการวิจัยทางสังคมศาสตร์และมนุศาสตร์ที่แสวงหาความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในสภาพสังคม

4. จงอธิบายถึงประโยชน์ของการวิจัยในประเด็นต่อไปนี้ โดยสังเขป

         (ก) การพรรณนา    (ข) การอธิบาย      และ (ค) การคาดคะเน

ตอบ   (ก) การพรรณนา    ทำให้รู้ความจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์หรือพฤติกรรมในแง่ “อะไร” เพื่อให้ได้รู้ คุณลักษณะ  ส่วนประกอบ

           (ข) การอธิบาย      ทำให้รู้ความจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์หรือพฤติกรรมในแง่ “ทำไม”  เพื่ออธิบายให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นๆกับปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

           (ค) การคาดคะเน   ทำให้รู้ความจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์หรือพฤติกรรมในแง่ “อย่างไร” เพื่อควบคุมผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นโดยการจัดปัจจัยเป็นสาเหตุให้เหมาะสม 

 

5. วิธีการวิจัยเกี่ยวข้องกับการอนุมาน การอุปมาน วิธีวิทยาศาสตร์อย่างไร

ตอบ   การอนุมาน  เป็นวิธีการแสวงหาความรู้จากการใช้เหตุผล

          การอุปมาน เป็นวิธีการแสวงหาความรู้จากข้อมูลเชิงประจักษ์

          วิธีวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีการแสวงหาความรู้ที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้นขึ้นมาเพื่อแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่เป็นระบบ  

ซึ่ง การอนุมาน การอุปมาน นี้เป็นวิธีการแสวงหาความรู้ที่นำมาใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาวิธีวิทยาศาสตร์ และกลายเป็นระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ในที่สุด

 

 

คำถามชุดที่2  

1. จงอธิบายว่า ปรัชญาวิทยาศาสตร์ คืออะไร มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยอย่างไร

ตอบ  ปรัชญาวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาการสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายและปรากฏการณ์ทั้งหลาย และเป็นความรู้ที่ได้จากการสังเกตค้นคว้ายึดหลักเหตุผล โดยการนำเหตุและผลมากำหนดขั้นตอนเพื่อพัฒนาระเบียบการวิจัย  

 

 2. จงอธิบายว่า ปรัชญาบริสุทธิ์ กับ ปรัชญาวิทยาศาสตร์ มีความเชื่อเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้แตกต่างกันอย่างไร

ตอบ   ปรัชญาบริสุทธิ์ เป็นการหาความจริงเกี่ยวกับความเป็นไปธรรมชาติ พระเจ้า จักรวาล  โลกชีวิตและจิตโดยวิธีการวิพากษ์ พยายามค้นหาคำตอบในสิ่งที่สงสัยโดยใช้หลักเหตุผล

           ปรัชญาวิทยาศาสตร์ เป็นการศึกษาหาความจริงของสิ่งทั้งหลายและปรากฏการณ์ทั้งหลายในธรรมชาติ โดยการสังเกต  การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประจักษ์และความรู้ที่ได้จะเป็นรูปธรรม

 

3. จงกล่าวถึงแนวคิดของลัทธิสังคมปฏิฐาน (Positivism) ที่มีต่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์

ตอบ  สังคมปฏิฐาน (Positivism) เป็นการศึกษาปรากฏการทางสังคมที่สามารถศึกษาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้กำหนดเป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์ได้

 

4. คำว่า วิธีทางวิทยาศาสตร์ คืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร จงอธิบาย

ตอบ    วิธีทางวิทยาศาสตร์ คือ การสังเกตอย่างมีระบบและยึดหลักของเหตุผล มีการค้นคว้าในเชิงประจักษ์ พิสูจน์และตรวจสอบได้ชัดเจน  มีขั้นตอนดังนี้

1.   ขั้นการกำหนดปัญหา (Define the Problem) การกำหนดปัญหาเป็นการแยกปรากฏการณ์มาศึกษาในเชิงวัตถุวิสัย โดยกำหนดแนวคิดขึ้น

2.     ขั้นตั้งสมมุติฐาน (Formulate the Hypothesis) การตั้งสมมุติฐานเป็นการเสนอคำตอบของปัญหาในเชิงทฤษฎี

3.     ขั้นรวบรวมข้อมูล (Collect Data) การเก็บข้อมูลเป็นการนำข้อมูลเชิงประจักษ์มายืนยันความคิดเชิงทฤษฎี

4.     ขั้นทดสอบสมมุติฐาน (Analyze Data) การตรวจสอบสมมุติฐานด้วยข้อมูลที่ได้จากการสังเกตข้อมูลและสร้างข้อสรุป

5.   ขั้นสรุปผล (Develop the Conclusion) นำข้อสรุปที่นำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ทั่วไปในเรื่องนั้นกรณีอื่น 

 

5. คำว่า วิธีวิทยาการวิจัย คืออะไร  เกี่ยวข้องกับการวิจัยอย่างไร

ตอบ    วิธีวิทยาการวิจัย หมายถึง การศึกษาวิเคราะห์ กระบวนการที่นักวิจัยนำมาใช้ในการบรรยาย อธิบายและทำนายปรากฏการณ์อย่างเป็นระบบตามหลักการทางศาสตร์ ตลอดจนการใช้เทคนิคมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องและความเชื่อถือได้   เกี่ยวข้องการการวิจัย คือเป็นการวิเคราะห์และจัดระบบหลักการและกระบวนการในการแสวงหาความรู้และความจริงเกี่ยวกับการวิจัย ซึ่งการศึกษาวิธีวิทยาการวิจัยจะช่วยให้นักวิจัยเกิดความเข้าใจ สามารถทำวิจัยได้รัดกุดมากขึ้นสามารถวิเคราะห์วิธีการทำการวิจัยของผู้อื่นได้อย่างมีเหตุผล

 

คำถามชุดที่3   

 

1. จงอธิบายความแตกต่างของวิธีวิทยาศาสตร์กับวิธีวิจัย

ตอบ    วิธีวิทยาศาสตร์   มุ่งศึกษาข้อมูลในลักษณะที่เป็นตัวเลขและอาศัยวิธีทางสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสรุปผล ใช้วิธีอนุมานนำมาต่อเนื่องกับวิธีอุปมาน โดยมีกระบวนการวิจัย 5 ขั้นคือ ขั้นปัญหา ขั้นตั้งสมมุติฐาน ขั้นรวบรวมข้อมูล ขั้นทดสอบสมมุติฐาน และขั้นสรุปผล 

            วิธีวิจัย     เป็นกระบวนการศึกษาค้นคว้าหาข้อความจริง โดยดำเนินการตามระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เหมาะสมกับการวิจัย

 

2. คำว่า  ‘ทฤษฎี’  เกี่ยวข้องกับการอนุมานและอุปมานอย่างไร

ตอบ    “ทฤษฎี” เกี่ยวข้องกับการอนุมาน  คือ นักวิจัย ต้องอนุมานการหาคำตอบของการวิจัยจากทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง  คำตอบที่ได้จากการอนุมานนักวิจัยจะนำมาตั้งสมมุติฐานการวิจัยเพื่อตรวจสอบยืนยันด้วยข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการณ์  

           “ทฤษฎี” เกี่ยวข้องกับการอุปมาน  คือ   การอุปมานเป็นขั้นตอนการนำข้อสรุปของการวิจัยอ้างอิงไปสู่ทฤษฎีใหม่

3. คำว่า “ทฤษฎี”  กับ  “สมมุติฐาน” เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ตอบ     ต่างกัน 

ทฤษฎี เป็นข้อความที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันมาแล้วว่าเป็นความจริง การอนุมานคำตอบของปัญหาการวิจัยที่ศึกษา โดยทฤษฎีจึงถือว่ามีน้ำหนัก มีเหตุผลและเชื่อถือได้             

สมมุติฐาน   เป็นข้อความที่แสดงการคาดคะเนความสัมพันธ์ที่ปรากฏระหว่างตัวแปร เป็นการคาดคะเนคำตอบของปัญหาการวิจัยอย่างสมเหตุสมผลจากทฤษฎี

4. การนิยามปฏิบัติการ (operation) คืออะไร นำมาใช้ในการวิจัยได้อย่างไร

ตอบ  การนิยามปฏิบัติการ (operation) คือ การนิยามตัวแปรในสมมุติฐานให้อยู่ในรูปของคุณลักษณะที่สามารถสังเกตและประเมินได้อย่างเป็นปรนัย   การนำมาใช้ในการวิจัยนั้นต้องนำตัวแปรในสมมุติฐานทั้งหมดทุกตัวไปวัดค่าจากหน่วยตัวอย่างที่ให้ข้อมูลได้ และนำค่ามาตรวจสอบความสัมพันธ์ตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

5. การให้ค่าคะแนน (scoring) คืออะไร นำมาใช้ในการวิจัยได้อย่างไร

ตอบ    การให้คะแนน  เป็นขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ และสร้างข้อสรุปใหม่ เมื่อแปลคำตอบมาเป็นคะแนนก็จะวิเคราะห์หาค่าสถิติ เพื่อใช้ในในการตัดสินใจเกี่ยวกับสมมุติฐานได้ 

 

คำถามชุดที่4   

 

1. จงแสดงให้เห็นว่า ระเบียบวิธีวิจัย กับ กระบวนการวิจัย เกี่ยวข้องกันอย่างไร

ตอบ    กระบวนการวิจัยเป็นขั้นตอนที่นักวิจัยใช้ในการแสวงหาคำตอบของปัญหาการวิจัยซึ่งขั้นตอนการวิจัยนี้พัฒนาจากองค์ประกอบหลักและกิจกรรมหลักตามระเบียบวิธีการวิจัย

 

2. จงแสดงให้เห็นว่า กระบวนการวิจัยทางสังคมศาสตร์เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างไร

ตอบ     กระบวนการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ได้นำกระบวนการวิจัยตามระเบียบวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาดำเนินการใน 7 ขั้นตอนวิจัย คือ การกำหนดปัญหา การทบทวนวรรณกรรม การตั้งสมมติฐาน การออกแบบการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การสรุปผล และการเขียนรายงานการวิจัย ซึ่งเป็นการพัฒนามาจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้เหมาะสมกับการวิจัยทางสังคมศาสตร์

 

3. จงแสดงให้เห็นว่า ขั้นตอนการวิจัยทางสังคมศาสตร์เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิจัยทางสังคมศาสตร์

ตอบ  กระบวนการวิจัยทางสังคมศาสตร์ จำแนกออกเป็น 7 ขั้นตอน คือ

         - การกำหนดปัญหา

         -  การทบทวนทฤษฎี

         -  การตั้งสมมุติฐาน

         -  การออกแบบการวิจัย

         -  การเก็บรวบรวมข้อมูล

         -   การวิเคราะห์ข้อมูล การสรุปผล

         -   การเขียนรายงานการวิจัย               

ขั้นตอนการวิจัยแบ่งกระบวนการวิจัยออกเป็น 3 ระยะคือ

1.การเสนอเค้าโครงการวิจัย เป็นขั้นตอนการเสนอกรอบความคิดของการวิจัยและปฏิบัติงานวิจัยภาคทฤษฎี ประกอบด้วยกิจกรรม การกำหนดปัญหา การทบทวนทฤษฎี การตั้งสมมุติฐาน การออกแบบการวิจัย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อวางแผนการวิจัยให้ได้คำตอบและมีความน่าเชื่อถือ

2.การปฏิบัติงานวิจัย เป็นขั้นตอนการวิจัยภาคสนาม ประกอบด้วยกิจกรรม  การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการแปลผล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อดำเนินการตามแผนที่วางไว้

3.การเสนอรายงานผล เป็นขั้นตอนการวิจัยภาคเอกสาร ประกอบด้วย กิจกรรมการสรุปผล และการเขียนรายงานการวิจัย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรายงานผลการปฏิบัติการวิจัยและข้อค้นพบที่ได้

 

 

4. คำว่า ‘สมมติฐานการวิจัย’ หมายถึงอะไร

ตอบ  สมมติฐานการวิจัย เป็นการนำหลักทฤษฎีที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมมาใช้ในการอนุมานคำตอบปัญหาการวิจัย เป็นการคาดคะเนคำตอบของการวิจัยอย่างสมเหตุสมผล

 

  1. คำว่า การทดสอบสมมติฐานการวิจัย หมายถึงอะไร

 ตอบ   การทดสอบสมมติฐานการวิจัย หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูล มาวิเคราะห์ผลเพื่อสรุปผลยืนยันเป็นไปตามสมมติฐานหรือไม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #วิจัยการศึกษา
หมายเลขบันทึก: 363814เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2010 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 01:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท