สรุปการอบรมหลักสูตรการบริหารอุดมศึกษาระดับกลาง รุ่น 1 มข. (4)


สรุปการบรรยายในโครงการฝึกอบรม

หลักสูตร MCore 201 การบริหารสถาบันอุดมศึกษาระดับกลาง

โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น  รุ่นที่ 1

ระหว่างวันที่ 19 เมษายน – 23 กรกฎาคม 2553

ณ  ห้องประชุมราชาวดี  ชั้น  5  อาคารศูนย์วิชาการ

 

1.  กลุ่มวิชาที่  2:  ทักษะการบริหารจัดการงานอุดมศึกษา

                                   2.2 ภาวะผู้นำและการบริหารทีมงาน

2.  เรื่อง :  ภาวะผู้นำและการบริหารทีมงาน : การบริหารความขัดแย้ง และจิตวิทยาในการบริหารทีมงาน

3.  วิทยากร : รองศาสตราจารย์  ดร. ชัญญา  อภิปาลกุล 

4.  วันที่/เวลา : วันที่  28  เมษายน  2553  เวลา  09.00 – 16.30 น.

5.  บันทึกโดย : นางสมพิศ  นาเมปือย

6.  สรุปสาระสำคัญ :

          วิทยากรได้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมชมภาพยนตร์  2  เรื่อง  ได้แก่  Air Force One  และ Hotel Lawanda โดยได้วิเคราะห์ความรู้ที่ได้รับเกี่ยวกับภาวะผู้นำ และการบริหารทีมงาน : การบริหารความขัดแย้ง และจิตวิทยาในการบริหารทีมงาน  ดังนี้

 

ภาวะผู้นำ                   

ภาวะผู้นำเป็นความสามารถของบุคคลในกลุ่มที่จะนำผู้อื่น  โดยการใช้กระบวนการหรือกรรมวิธีในการใช้อิทธิพลหรืออำนาจในการจูงใจให้สมาชิกในกลุ่ม หรือในองค์กรยอมปฏิบัติตาม  ทั้งนี้  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์   เป้าหมายที่ตั้งไว้  โดยผู้นำที่ดีต้องมีทักษะ (Skill) เฉพาะ  3  ระดับ  คือ

- Operational Skill ไม่จำเป็นต้องมีมากแต่สามารถทำตามคำแนะนำ  หรือคู่มือการใช้งานของเครื่องมือได้

-  Human Skill ทักษะการเป็นมนุษย์และมีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน  เห็นทุกคนมีคุณค่าทำให้ผู้ร่วมงานให้ความร่วมมือร่วมใจในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย

-  Concept ional Skill ผู้นำต้องมีความคิดรวบยอดมองรอบด้าน  ทักษะนี้ต้องมีมากที่สุด ต้องแสดงภาวะผู้นำในภาวะวิกฤตอย่างชัดเจน  สามารถตัดสินใจในเชิงสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม  และไม่ทอดทิ้งผู้ร่วมงานในภาวะวิกฤตหรือภาวะอันตราย

นอกจากนี้บทบาทของผู้นำที่ดีควรมีลักษณะเป็นตัวแทนในทุกสถานการณ์  ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ  เป็นนักพูดที่ดี เป็นนักเจรจาต่อรอง ซึ่งสามารถเจรจาต่อรองกับผู้ที่เหนือกว่าในองค์กรรวมทั้งบุคคลอื่น  เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้  รวมทั้งผู้นำต้องมีความสามารถสอนทีมงานและสร้างทีมงานได้  เพื่อเป็นแรงกระตุ้นหรือการสร้างขวัญกำลังใจ ให้ทีมงานมุ่งมั่นที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จ  ตลอดจนสามารถแก้ปัญหาด้านเทคนิคได้  โดยผู้นำต้องมีความรู้มีความคิดเชิงวิเคราะห์  หาวิธีการที่จะปรับปรุงการปฏิบัติงานของหน่วยงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  อย่างมีคุณภาพ

การบริหารทีมงาน

การสร้างทีมงานนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะผู้ร่วมงานทุกคนย่อมมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายของหน่วยงาน  ซึ่งการทำงานเป็นทีม  หมายถึง  การประสานงานที่ดีและสามารถผสมกลมกลืนกันอย่างมีประสิทธิภาพในการทำงาน  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการทำงานร่วมกัน  แต่ทั้งนี้พฤติกรรมการทำงานของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน  จึงถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องสร้างและพัฒนาการทำงานของทีมอยู่เสมอ  เพื่อให้แต่ละคนเห็นความสำคัญของงาน และผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่า  ความสำคัญของบุคคล  บรรยากาศในการทำงาน  สภาพแวดล้อมในการทำงานผลตอบแทนที่ได้รับ  ความยุติธรรม  ความเสมอภาค  การสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงาน  ซึ่งสิ่งเหล่านี้  มีส่วนเสริมการทำงานเป็นทีม  การตัดสินใจอาจจะกระทำโดยผู้บริหารคนเดียว แต่ในการปฏิบัติงานนั้นไม่สามารถจะกระทำโดยผู้บริหารเพียงคนเดียว   ดังนั้น  ทีมงานที่ดีเปรียบเสมือนพลังในการปฏิบัติงานที่ดีของผู้บริหาร

  

การบริหารความขัดแย้ง    

                ความขัดแย้งเป็นภาวะความไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือไม่เข้าใจกันของคนและกลุ่มคน  ก่อให้เกิดความตึงเครียด  กดดัน  และความคับข้องใจที่จะปฏิบัติงาน  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลขององค์กร   ดังนั้น  หน้าที่ของผู้นำ คือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ให้ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่สกัดกั้นการบรรลุเป้าหมายขององค์กร และทำลายองค์กร  ความขัดแย้งมี 5 ประเภท  ได้แก่  ความขัดแย้งด้านค่านิยม  ด้านข้อมูล  ด้านสัมพันธภาพ  ด้านผลประโยชน์  และด้านโครงสร้าง ซึ่งแนวคิดการบริหารความขัดแย้ง  ได้แก่

1. การแพ้ – ชนะ  เป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้แพ้  ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในการแก้ปัญหาที่ง่าย  แต่อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคตได้

                2. การประนีประนอม  เป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยที่ต่างฝ่ายต่างได้เพียงบางส่วนที่ต้องการเท่านั้น  ไม่มีฝ่ายใดได้ทั้งหมด  เป็นการใช้การเจรจาต่อรอง  ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมใช้

                3. การประสานประโยชน์  เป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เป็นความพอใจของทั้งสองฝ่ายมากที่สุด  โดยไม่มีการแพ้ – ชนะหรือไม่ต้องเสียบางส่วนแต่จะได้ตามความต้องการของทั้งสองฝ่าย 

การแก้ปัญหาความขัดแย้งมี 5 ลักษณะ  โดยใช้สัญลักษณ์สัตว์เป็นตัวแทนของพฤติกรรมการแสดงออก  5 ชนิดได้แก่ 

1. เต่า (No Way)  เป็นตัวแทนการหลีกเลี่ยงไม่เผชิญปัญหา  การแก้ปัญหาของงานและความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานต่ำ

2. หมี   (Your  Way)  เป็นตัวแทนความน่ารัก ขี้เกรงใจ ถูกเอาเปรียบได้ง่าย  แก้ปัญหาโดยเน้นความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานมากกว่าเป้าหมายของงาน

3. นกฮูก  (Our  Way)  เป็นตัวแทนความสุขุม  มีความสุขุมรอบคอบในการแก้ปัญหา  พยายามสนองความต้องการของผู้ร่วมงานและได้ผลงานตามเป้าหมายมากที่สุด

4.  ปลาฉลาม (My Way) เป็นตัวแทนการชอบใช้กำลังในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  โดยใช้อำนาจตามตำแหน่ง (นายรัก  งานเสร็จ แต่คนไม่ชอบ) คำนึงถึงเป้าหมายของงานมากกว่าความสัมพันธ์ กับผู้ร่วมงาน 

5.  สุนัขจิ้งจอก (Half Way) เป็นตัวแทนการแก้ปัญหาโดยเน้นทางสายกลาง (semi win win , semi lose lose) 

                การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในองค์กร  จะสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จหรือไม่นั้น  ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการทำงาน และเทคนิคของผู้บริหาร  ซึ่งผู้บริหารที่มีประสบการณ์มากจะสามารถวิเคราะห์สภาพของความขัดแย้ง  สถานการณ์  เวลา  และวิธีการที่เหมาะสมในการดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ดี  แต่การแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตามจะต้องไม่ใช้อารมณ์ และต้องคำนึงถึงความพอใจ  หรือความต้องการของทุกฝ่ายให้มากที่สุด

7. วิทยากร  เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ  เปลี่ยนรูปแบบการอบรมโดยให้ชมภาพยนตร์  แล้วจึงวิเคราะห์สรุปบทเรียนซึ่งทำให้ผู้อบรมมองเห็นภาพองค์ความรู้ที่ชัดเจน  สนุกสนาน  เสมือนได้รับประสบการณ์ตรง     

 

 8. ประโยชน์ต่อตนเอง

          1) สามารถวิเคราะห์ปัญหา  อุปสรรค และเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารความขัดแย้งได้

                2) มีความรู้ความเข้าใจและวิธีการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น

                3) มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการบริหารทีมงานมากขึ้น 

 

 9. ประโยชน์ต่อหน่วยงาน

          1) สามารถนำความรู้ไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในหน่วยงานได้  ทำให้ปัญหาความขัดแย้งของ

                  หน่วยงานลดลง

                2) การทำงานของทีมงานในหน่วยงานมีความเข้มแข็งขึ้น

 

คำสำคัญ (Tags): #mcor 201 รุ่น 1 มข.
หมายเลขบันทึก: 363661เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2010 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท