สรุปการอบรมหลักสูตรการบริหารอุดมศึกษาระดับกลาง รุ่น 1 มข. (1)


สรุปการบรรยายในโครงการฝึกอบรม

หลักสูตร MCore 201 การบริหารสถาบันอุดมศึกษาระดับกลาง

โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น  รุ่นที่ 1

ระหว่างวันที่ 19 เมษายน – 23 กรกฎาคม 2553

 

1.  กลุ่มวิชาที่ 1:  บริบทการบริหารอุดมศึกษา

2.  เรื่อง :  “นโยบายและแผนการบริหารอุดมศึกษา”

3.  วิทยากร : นายสมศักดิ์  ตันติแพทยางกูล

4.  วันที่/เวลา : วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553    เวลา 13.45-17.57 น.

5.  บันทึกโดย : นางสมพิศ นามเปือย

6.  สรุปสาระสำคัญ :

                การกำหนดนโยบายและการวางแผนในองค์กร  ต้องอาศัยข้อมูลจากภายนอก  และภายใน ที่เกี่ยวข้องมาช่วยกำหนดกรอบแนวคิด  ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกันเป็นทอด ๆ จากระดับบนลงสู่ระดับล่าง  เพื่อแปลงนโยบายและแผน ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่ดี ซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบริบทโลกและบริบทภายในประเทศ  หรือด้านเศรษฐกิจ   สังคม  การเมือง  รวมถึงสิ่งแวดล้อมมาวิเคราะห์   สังเคราะห์  เพื่อสนับสนุนในการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงแผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่ แผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการ   4  ปี ของกระทรวงศึกษาธิการแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษา

ทั้งนี้  สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา  ได้ทำร่างนโยบายอุดมศึกษาเพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางในการดำเนินการปฏิรูปอุดมศึกษา และจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา  ฉบับที่  11  ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญ  9 ประเด็น  ได้แก่

ประเด็นที่ 1 คุณภาพและมาตรฐานอุดมศึกษา

                ดำเนินการพัฒนาอุดมศึกษาไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล รองรับการเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) จัดทำตัวชี้วัดเพื่อแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยเป็น 4 กลุ่ม จัดทำกลไกการถ่ายโอนหน่วยกิต มาตรฐานคุณวุฒิรายสาขาวิชาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) แสวงหาบทเรียนที่ดี (Best Practice) เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพอุดมศึกษา จัดทำฐานข้อมูล แนวทาง และเกณฑ์การส่งเสริมการจัดการศึกษานอกที่ตั้งให้ได้มาตรฐานเดียวกับสถาบันแม่ ที่สำคัญคือการยกระดับมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย และส่งเสริมให้มีองค์กรกลางทำหน้าที่พัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank)

                ประเด็นที่ 2 การปฏิรูประบบการผลิตครู

                มีการกำหนดกรอบแนวทางการผลิตและพัฒนาครูเพื่อพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา มีระบบการคัดเลือกคนดีคนเก่งให้เข้ามาเรียนวิชาชีพครู (ดำเนินการเชิงรุก) สร้างกลไกจูงใจคนเก่ง คนดี ให้เรียนครู

 

-2-

พัฒนาหลักสูตรการผลิตครู 5 ปี หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู 1 ปี ให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาได้เข้าเรียน

ประเด็นที่ 3 การผลิตและพัฒนากำลังคน

                การผลิตและพัฒนากำลังคนเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงต้องผลิตและพัฒนากำลังคนให้สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการใช้บัณฑิต ส่งเสริมสนับสนุนให้มีระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ศึกษาวิจัยผลการประกอบอาชีพของบัณฑิตและนำผลการวิจัยมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพ มีระบบพัฒนาผู้มีศักยภาพให้ได้ใช้ความสามารถเต็มตามศักยภาพ

                ประเด็นที่ 4 โครงสร้างและการบริหารจัดการอุดมศึกษา

                การกำหนดโครงสร้างและการบริหารจัดการอุดมศึกษาจะพัฒนาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยอาจแยกเป็นกลุ่ม ระดับ แยก สกอ. ออกจาก ศธ. เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ พัฒนาให้ระบบอุดมศึกษาเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) มากขึ้น ปรับระบบธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ สร้างวัฒนธรรมอุดมศึกษาให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มีระบบเครือข่ายวิจัย และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น

                ประเด็นที่ 5 การพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรอุดมศึกษา

                การพัฒนาอาจารย์ ก็จะเร่งยกระดับคุณวุฒิของอาจารย์โดยเฉพาะสัดส่วนปริญญาเอกให้เพิ่มมากขึ้น จัดทำแผนการผลิตและพัฒนาอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาเพื่อทดแทนการเกษียณอายุ มีระบบดึงดูดคนดี คนเก่งเข้าเป็นอาจารย์โดยกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกที่เหมาะสม เร่งพัฒนาอาจารย์ให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น และปรับปรุงหลักเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

                ประเด็นที่ 6 การพัฒนาระบบการเงินอุดมศึกษา

                พัฒนาระบบการประเมินเพื่อให้นำมาใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ เสนอระบบการจัดสรรงบประมาณสำหรับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  สร้างกลไกให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น เพื่อการแข่งขันกับระดับนานาชาติ ให้รัฐบาลมีบทบาทกำกับดูแล และปรับระบบการจัดสรรงบประมาณตามความต้องการของตลาด (Demand Side Financing)

                ประเด็นที่ 7  การวิจัยและพัฒนา

                มีการกำหนดกรอบทิศทางการวิจัยอุดมศึกษาในระยะยาว ใช้ระบบ Research Assessment Exercise (RAE) ในการประเมินความสามารถในการวิจัยและจัดสรรทรัพยากรเพื่อการวิจัยสำหรับสถาบันการศึกษา พัฒนานักวิจัยและนวัตกรรม สร้างกลไกส่งเสริมสนับสนุนมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนทำงานวิจัย รวมถึงการร่วมมือกับเอกชนเพื่อการวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ นำผลการวิจัยมาใช้กำหนดนโยบาย/ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาที่เหมาะสม

                ประเด็นที่ 8 การเชื่อมรอยต่อกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

                ส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือในหลายระดับ ทั้งระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และระดับึโรงเรียน เพื่อส่งเสริมผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น มีระบบเครือข่ายส่งเสริมและร่วมมือพัฒนาการศึกษาทุกระดับ ส่งเสริมการศึกษาระดับอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น และสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนใน

- 3 –

เขตพื้นที่การศึกษาและ สพฐ. เพื่อใช้ความดีเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ปฏิรูประบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในทุกระดับ

                ประเด็นที่ 9 การพัฒนาข้อมูลสารสนเทศอุดมศึกษา

                พัฒนาข้อมูลสารสนเทศอุดมศึกษาโดยจัดตั้งศูนย์สถิติข้อมูลอุดมศึกษาเพื่อเป็นหน่วยงานกลางจัดเก็บข้อมูล สร้างแรงจูงใจให้สถาบันอุดมศึกษาให้ความร่วมมือในการจัดเก็บข้อมูลให้ทันสมัย ใช้ระบบการให้บริการขอมูลสารสนเทศเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

 7.   วิทยากรเป็นผู้ที่มีความรู้กว้าง สามารถถ่ายทอดให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจได้เป็นอย่างดี

 8. แก่นสาระวิชา : การจัดทำนโยบายและแผน ต้องมองในภาพกว้างถึงปัญหาและความต้องการ มีฐานข้อมูลสนับสนุนจากแหล่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลมาศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ ก่อนที่จะนำส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริบทของตัวเองมากำหนดเป็นนโยบายและแผนงาน ซึ่งสามารถตอบวัตถุประสงค์/ภารกิจหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ

9.  ประโยชน์ต่อตนเอง :

      1) ได้รับทราบนโยบายระดับประเทศในการบริหารอุดมศึกษา      

      2) ได้รับทราบนโยบายและกรอบแนวคิดในการจัดทำแผนการบริหารอุดมศึกษา

      3)  ได้แนวคิดในการกำหนดแผนการปฏิบัติงานของตนเองให้สอดคล้องกับแผนหลัก

              ของมหาวิทยาลัย

10.  ประโยชน์ต่อหน่วยงาน :

      1)  การดำเนินงานของหน่วยงานสามารถดำเนินไปตามนโยบายและแผนขององค์กรย่างมี ประสิทธิภาพ

      2)   สามารถนำความรู้ไปใช้เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานได้เพิ่มมากขึ้น

สมพิศ  นามเปือย

ผู้บันทึก

คำสำคัญ (Tags): #mcor 201 รุ่น 1 มข.
หมายเลขบันทึก: 363657เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2010 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท