การส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย


วันนี้ได้สอนเรื่องการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รู้สึกว่าเด็กนักเรียนได้ตั้งใจเรียนในสิ่งที่ครูได้ให้ความรู้และมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้เด็กแต่ละคนได้มีความรู้และได้แสดงความคิดเห็นยอมรับฟัง มีเหตุมีผลไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินปัญหาต่างๆแสดงว่าการเรียนการสอนในครั้งนี้ทำให้เด็กได้รู้จักกับคำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมาบ้าง

วันนี้เลยอยากให้ผู้อ่านได้มีความรู้เกี่ยวกับความหมายของคำว่าประชาธิปไตยนะค่ะ

ความหมายของประชาธิปไตย

 

                คำว่า ประชาธิปไตย หมายถึงระบอบการปกครองประเทศระบอบหนึ่ง ซึ่งเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน คำว่า “ประชาชน” ในที่นี้มิได้หมายความแต่เฉพาะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น คนร่ำรวย คนยากจน เจ้าของที่ดิน คนงาน หรือชาวนา เท่านั้น แต่หมายถึง ปวงชนทั้งชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนยากดีมีจนอย่างไร หรือประกอบอาชีพใดก็ตาม ปวงชนเหล่านี้ย่อมมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ในการปกครองประเทศร่วมกันและอย่างเสมอภาคกัน

                ในระบอบประชาธิปไตย ถือความเห็นของปวงชนฝ่ายข้างมากเป็นเกณฑ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ในขณะเดียวกันสิทธิของปวงชนฝ่ายข้างน้อย ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทั้งความเห็นฝ่ายข้างมากนั้น จะต้องเป็นความเห็นที่กอปรด้วยเหตุผล และเป็นธรรมด้วย

                เมื่อพิจารณาในแง่ของศีลธรรมแล้ว จะเห็นได้แจ่มแจ้งว่า ระบอบประชาธิปไตยนี้ มีหลักการที่มีรากฐานสืบเนื่องมาจากศีลธรรมอย่างแท้จริง กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตยเคารพในความเป็นธรรม (Justice) เหตุผล (reason) เมตตาธรรม (compassion) ความศรัทธาในมนุษยชาติ (faith in man) และความเคารพในเกียรติภูมิแห่งมนุษยชน (human dignity)

                เหตุผลสำคัญในเชิงการเมือง ของการจัดให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีสองประการคือ

                ประการแรก : ระบอบการปกครองนี้ส่งเสริมให้ประชาชน มีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศโดยทั่วหน้ากัน บุคคลเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลประเภทใด เมื่อร่วมกันทั้งชาติ ย่อมตัดสินใจได้ดีกว่าบุคคลเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเดียวเท่านั้น และ

                ประการที่สอง : ปวงชนทั้งชาตินั้นเอง ควรจะมีสิทธิที่จะเลือกผู้ที่จะมาปกครองตน และมาบริหารราชการแผ่นดินเพื่อผลประโยชน์ของปวงชน ไม่มีผู้อื่นใดเหมาะสม ที่จะเลือกผู้บริหารได้ดีกว่าปวงชนนั้นๆเอง

                นอกเหนือจากรูปแบบของการใช้อำนาจโดยตรงและผ่านผู้แทนของประชาชนแล้ว สิ่งที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยได้แก่ปรัชญาของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมองไปที่ธรรมชาติของมนุษย์ กฎแห่งธรรมชาติ และ สภาวะธรรมชาติ โดยปรัชญารากฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยนั้นสามารถรวบรวมได้ดังนี้

                ธรรมชาติของมนุษย์ (Human Nature): มนุษย์เป็นผู้ที่มีเหตุผล สามารถเรียนรู้ทำความเข้าใจต่อโลกภายนอกได้ มีความสามารถในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีสำหรับตน ถึงแม้ดุลยพินิจของมนุษย์จะไม่ได้ถูกต้องเสมอไป แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะกระทำแต่สิ่งที่ดีสำหรับตนมากกว่าผู้ปกครองตัดสินใจให้ นอกจากนี้มนุษย์ยังมีการใช้มโนธรรมส่วนบุคคลประกอบการตัดสินใจร่วมกับเหตุผล แต่มโนธรรมที่แตกต่างกันทำให้ประชาคมทางการเมืองต้องอาศัยการวินิจฉัยร่วมกันของคนส่วนใหญ่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรากฐานแนวคิดของเสียงส่วนใหญ่ (Majority Rule) ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

 

               เสรีภาพของมนุษย์ (Liberty): การเกิดขึ้นมาของมนุษย์นั้นสามารถถือได้ว่าเกิดมาพร้อมกับเสรีภาพ และการที่มนุษย์รวมตัวกันกันจัดตั้งรัฐก็เพื่อดำรงรักษาเสรีภาพของมนุษย์ และรัฐก็มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ อย่างไรก็ดีเสรีภาพของมนุษย์จะมีขอบเขต และมนุษย์แต่ละคนต้องไม่ละเมิดขอบเขตนี้ ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีความเสมอภาคในเสรีภาพที่ตนมี และจะต้องไม่ละเมิดเสรีภาพของใคร เสรีภาพของมนุษย์จึงถือได้ว่าเป็นรากความคิดของระบอบประชาธิปไตย

                ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ (Equality): ถึงแม้มนุษย์จะเกิดมามีความแตกต่างกัน แต่ความแตกต่างดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีความได้เปรียบอีกบุคคลหรือกลุ่มอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นความเท่าเทียมกันของมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์แต่ละคนพึงจะได้รับโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมกันในโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีในสังคม ซึ่งถือได้ว่าเป็นรากฐานแนวคิดของความเท่าเทียมกันในสังคมของระบอบประชาธิปไตย

                อำนาจอธิปไตยของประชาชน (Popular Sovereignty): เมื่อประชาชนมีเสรีภาพและความเท่าเทียมกันในสังคมแล้ว ในระบอบประชาธิปไตยอำนาจจะตกเป็นของประชาชน โดยประชาชนได้ตกลงร่วมกันจะมอบอำนาจให้กับผู้ปกครองหรือผู้แทน ซึ่งเมื่อได้มอบอำนาจให้กับผู้ปกครองหรือผู้แทนแล้ว การมีหลักประกันว่าทำอย่างไรจะให้ผู้ปกครองหรือผู้แทนของตนไม่กระทำการใด ๆ ก็ตามที่อาจจะละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะควบคุมให้ผู้ปกครองหรือผู้แทนทำการปกครองด้วยความเป็นธรรมและเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งถ้าผู้ปกครองหรือผู้แทนละเมิด ประชาชนก็มีสิทธิที่ถอดถอนผู้ปกครองหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจไป ดังนั้นในระบอบประชาธิปไตย นั้นอำนาจอธิปไตยจึงเป็นของประชาชน

                การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น หากจำแนกตามลักษณะการเข้าไปมีส่วนมีเสียงในการบริหารราชการแผนดินของประชาชนแล้ว พอจำแนกได้ 3 ประการ คือ

  1. 1.                   การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนมีส่วนมีเสียงในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง (direct democracy)

                ในระบอบประชาธิปไตยแบบนี้ ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนวจอธิปไตยในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินโดยตนเองโดยตรง ไม่จำต้องมีผู้แทน เช่นการปกครองในกรีกสมัยใกล้พุทธกาลและรัฐเล็กๆ บางรัฐในสวิสเซอร์แลนด์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แม้การปกครองแบบนี้จะตรงกับความหมายของ “ประชาธิปไตย” มากที่สุด ประเทศต่างๆในโลกก็ไม่นิยมใช้การปกครองแบบนี้อีกต่อไป เพราะประเทศต่างๆมีพลเมืองมากขึ้นตามลำดับ การจัดการประชุมประชาชนทั้งหมดย่อมจะลำบากในการสถานที่ เวลา ตลอดจนการควบคุมการประชุม ทั้งในปัจจุบันการบริหารราชการแผ่นดินมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ยากแก่การทำความเข้าใจ หากปล่อยให้ประชาชนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงตัดสินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผลเสียก็จะเกิดแก่ประเทศชาติมากกว่าผลดี

  1. 2.                   การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนมีส่วนมีเสียง ในการบริหารราชการแผ่นโดยทางผู้แทน (indirect democracy หรือ representative democracy)

                การปกครองแบบนี้ ประชาชนจะเลือกตั้งผู้แทนของตน ไปมีส่วนมีเสียงในการบริหารราชการแผ่นดินแทนตน และปวงชนทั้งชาติ อันเป็นการปกครองโดยอาศัยเสียงข้างมากของบรรดาผู้แทน ซึ่งประชาชนทั้งประเทศเลือก รวมกันเป็นรัฐสภานั่นเอง ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีการปกครองแบบนี้

  1. 3.                   การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนมีส่วนมีเสียงในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยทางกึ่งผู้แทน

                การปกครองแบบนี้ มีหลักการเช่นเดียวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนเลือกตั้งผู้แทนของตน เข้าไปบริหารราชการแผ่นดิน เพียงแต่ในการปกครองแบบนี้ได้นำเอาวิธีการ ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยตรงมาผสมเข้าด้วย ทำให้ประชาชนมีส่วนมีเสียง ในการบริหารราชการแผ่นดินมากกว่าแบบที่สอง กล่าวคือ แม้ประชาชนจะมีผู้แทนเข้าไปควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินแล้วก็ตาม แต่ประชาชนก็ยังทรงไว้ซึ่งสิทธิ 3 ประการ อันได้แก่

1)      สิทธิยับยั้งร่างกฎหมาย (veto) ซึ่งประชาชนจำนวนหนึ่งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดมีสิทธิที่จะเข้าชื่อกัน เสนอให้รัฐบาลหาประชามติยับยั้งร่างกฎหมาย ที่ผ่านรัฐสภามาแล้ว ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญ

2)      สิทธิคะแนนเสียงประชามติ (referendum) ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชน ในกรณีที่รัฐบาลขอความเห็นชอบจากประชาชนทั้งประเทศว่า (สมควรจะบริหารราชการแผ่นดิน ในเรื่องสำคัญบางเรื่องอย่างไร จึงจะเหมาะสมถูกต้อง เช่น ร่างกฎหมายใดควรจะใช้ได้หรือไม่ ร่างรัฐธรรมนูญควรประกาศใช้ได้หรือไม่

3)      สิทธิเสนอข้อริเริ่ม (initiative) ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ประชาชนจำนวนหนึ่ง เข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณา แต่อำนาจในการพิจารณาว่า สมควรตราร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เป็นสิทธิ์ขาดของรัฐสภา

 

ปัจจุบันนี้ ประเทศส่วนใหญ่ในโลก มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนมีส่วนมีเสียงในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยทางผู้แทนเกือบทั้งสิ้น แต่บางประเทศก็ได้นำหลักการของระบอบการปกครอง ซึ่งประชาชนมีส่วนมีเสียงในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยทางกึ่งผู้แทน เช่น การลงคะแนนเสียงประชามติไปใช้ด้วย สำหรับประเทศไทยเรานั้นตั้งแต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยเป็นต้นมา รัฐธรรมนูญทุกฉบับ ถือหลักการปกครอง ซึ่งประชาชนมีเสียงในการบริหารราชการแผ่นดินโดยทางผู้แทน ซึ่งหากอยู่ในภาวะปกติ ผู้แทนนั้นก็มาจากการเลือกตั้ง และนำเรื่องการลงคะแนนเสียงประชามติมารวมเข้าไว้ด้วย แต่ถ้าอยู่ในภาวะวิกฤติ ผู้แทนก็จะมาจากการแต่งตั้งดังเช่นในปัจจุบัน

การปกครองแบบใดดีที่สุดนั้น ย่อมจะต้องพิจารณาเป็นประเทศๆ และในแต่ละยุคไป ดังจะเห็นได้ว่า การปกครองแบบที่เหมาะสม และดีที่สุด สำหรับประเทศหนึ่ง ในยุคหนึ่งอาจจะไม่เหมาะสม และไม่ดีที่สุด สำหรับอีกประเทศหนึ่งในยุคเดียวกัน หรือต่างยุคกันก็เป็นได้ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ สภาพแวดล้อมของบ้านเมือง แนวความคิดเห็น และชีวิตจิตใดของประชาชน ในแต่ประเทศ ในแต่ละสมัย เป็นสำคัญ ข้อวินิจฉัยว่าการปกครองแบบใดดีที่สุดนั้น ย่อมอยู่ที่ว่าการปกครองแบบนั้น ยังให้ประชาชนได้รับความผาสุกได้มากที่สุดหรือไม่

ยอดปรารถนาของการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็คือ ให้ประชาชนจำนวนมากที่สุดได้รับความผาสุก โดยที่ประชาชนในกลุ่มน้อยทั้งหลายได้รับความคุ้มครอง และได้รับความทุกข์ร้อนน้อยที่สุด

 

หลักการของประชาธิปไตย

โดยหลักการของประชาธิปไตยนั้น ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้แบ่งออกเป็น 5 ประการ คือ

  1. หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (Popular Sovereignty): ในหลักการข้อนี้จะเป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยที่จะต้องเป็นของประชาชน เพื่อให้การปกครองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยประชาชนมีอำนาจในการเลือกผู้แทนที่จะเข้าไปปกครอง และรวมไปถึงอำนาจในการถอดถอนผู้แทนที่ตนเองเลือกเข้าไปอีกด้วย
  2. หลักเสรีภาพ (Liberty): ในหลักการข้อนี้จะเป็นการให้ความสำคัญกับเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเสรีภาพเหล่านี้จะต้องมีการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความเสมอภาคของประชาชน
  3. หลักความเสมอภาค (Equality): หลักการในข้อนี้ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค ถึงแม้ว่ามนุษย์เราจะเกิดมามีความแตกต่างกัน แต่ความแตกต่างเหล่านี้เป็นเพียงความแตกต่างกันทางกายภาพ สำหรับความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางโอกาส ซึ่งหมายถึงประชาชนจะมีโอกาสที่เท่ากันในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา
  4. หลักกฎหมาย (Rule of Law): หลักการในข้อนี้จะให้ความสำคัญกับการบัญญัติกฎหมายที่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน โดยมีความชอบธรรม บังคับใช้กับประชาชนอย่างยุติธรรมมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าจะใช้กับบุคคลใดหรือชนชั้นใด
  5. หลักเสียงข้างมาก (Majority Rules): ปัจจุบันประชากรของรัฐแต่ละรัฐนั้นมีจำนวนมาก ซึ่งคงเป็นการยากที่จะให้ทุกคนในรัฐมีความคิดเห็นเหมือนกัน ดังนั้นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยหลักการเสียงข้างมาก เพราะเสียงเอกฉันท์คงจะเป็นไปได้ยาก ส่วนการใช้เสียงข้างมากแค่ไหนเป็นเกณฑ์นั้นขึ้นอยู่กับความสำคัญของปัญหา ถ้าสำคัญมากคงต้องใช้เสียงข้างมากที่มากกว่าครึ่งหนึ่ง อย่างก็ดีหลักการเสียงข้างมากนั้นก็ไม่อาจจะละเลยสิทธิของเสียงข้างน้อย (Minority Rights)ได้ ทั้งนี้จะต้องมีหลักประกันที่ให้ความคุ้มครองกับเสียงข้างน้อย เพื่อป้องให้ไม่ให้เสียงส่วนใหญ่กดขี่ข่มเหงเสียงส่วนน้อย

อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า ความเสมอภาคกันในระบอบประชาธิปไตยนี้ ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานต่อพลเมืองแล้ว ทุกคนย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายโดยเสมอกัน แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ทุกคนจะมีสิทธิหน้าที่เท่าเทียมกันทุกประการไม่ผิดเพี้ยน เพราะบุคคลย่อมมีฐานะตำแหน่งหน้าที่แตกต่างกัน บ้างก็อยู่ฐานะผู้บังคับบัญชา บ้างก็เป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ดังนี้ สิทธิ หน้าที่ และความคุ้มครองตามกฎหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ จึงแตกต่างกันออกไปตามฐานะ บทบาท และความรับผิดชอบของแต่ละคน แต่ในฐานะซึ่งเป็นพลเมืองไทยด้วยกันแล้ว ทุกคนย่อมเสมอภาคกันตามกฎหมายทุกประการ ด้วยเหตุนี้ ในตำแหน่งหน้าที่นั้น รัฐมนตรี หรืออธิบดี ย่อมเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการในกระทรวงทบวงกรม เพราะมีความรับผิดชอบและหน้าที่สูงกว่า แต่ในฐานะพลเมือง รัฐมนตรีก็ดี ประชาชนธรรมดาก็ดี ย่อมเสมอกัน กล่าวคือทุกคนต้องเสียภาษีเหมือนกัน ต้องเคารพกฎหมายเช่นเดียวกัน และเมื่อกระทำความผิด ก็ต้องได้รับโทษตามแต่โทษานุโทษเท่าเทียมกันทุกประการ

ระบอบประชาธิไตยจะต้องประกอบด้วยองค์กรแห่งรัฐที่สำคัญ 3 องค์กรด้วยกัน คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ

แต่เดิม อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศอยู่ในมืองคนเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเดียว ในภาวะเช่นนั้น บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นก็เป็นทั้งผู้ออกกฎหมาย ผู้บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย และผู้ตีความกฎหมาย สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ถูกจำกัด เพราะอำนาจทั้ง 3 อย่าง อยู่ที่คนเพียงคนเดียว หรือคณะเดียว จะใช้อย่างใดก็ได้ และธรรมดาที่เมื่อบุคคลมีอำนาจบุคคลมักจะใช้อำนาจเกินเลยไปเสมอ ด้วยเหตุนี้ เมื่อระบอบประชาธิปไตยเจริญขึ้น จึงได้มีการแบ่งหน้าที่ (Function) ของอำนาจทั้งสามในการตรากฎหมาย ในการบังคับใช้กฎหมาย และในการตีความกฎหมาย ให้แต่ละองค์กรซึ่งเป็นอิสระแก่กันเป็นผู้รับผิดชอบ โดยแต่ละฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์และควบคุมกำกับซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ให้รัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย ให้คณะรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดี ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้ศาลซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการ เป็นผู้ดีความกฏหมาย และพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

องค์การทั้ง 3 ฝ่ายนี้ ต่างดุลและคานซึ่งกันและกัน (checks and balances) ไม่มีใครเหนือใคร กล่าวคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่รัฐสภามีอำนาจตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ ขณะเดียวกัน ก็มีอำนาจควบคุมรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สุขของมวลชนอย่างทั่วหน้ากัน หากฝ่ายบริหารละเลยต่อหน้าที่ รัฐสภาก็มีอำนาจจะลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีผลให้รัฐบาลต้องลาออก ส่วนฝ่ายบริหารก็ควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติให้ตรากฎหมายออกใช้บังคับแก่ประชาชน อย่างเหมาะสมแก่สภาพการณ์ของบ้านเมือง ชอบด้วยเหตุผลและความเป็นธรรม ถ่าฝ่ายนิติบัญญัติละเลยต่อหน้าที่ หรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินไปในทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมือง ฝ่ายบริหารก็มีอำนาจที่จะยุบรัฐสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ นอกจากนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจควบคุมฝ่ายตุลาการในแง่ที่ว่า บรรดากฎหมายทั้งหลายที่ศาลยุติธรรมใช้ รวมตลอดถึงการจัดองค์กรตุลาการนั้น ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสิ้น และในบางประเทศ ฝ่ายตุลาการเองก็มีส่วนควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติด้วย ในแง่ที่มีอำนาจวินัจฉัยว่ากฎหมายฉบับใดใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ สำหรับฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการนั้นต่างควบคุมซึ่งกันและกันโดยฝ่ายบริหารเป็นผู้รับชอบในการจัดตั้งศาลยุติธรรม และมีส่วนช่วยให้ศาลยุติธรรมพิจารณาคดีให้เสร็จไปโดยรวดเร็ว ส่วนศาลยุติธรรมมีอำนาจวินัจฉัยข้อพิพาท ที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายบริหาร กับเอกชนในคดีที่ฝ่ายบริหารมีฐานะอย่างเดียวกับเอกชน

ในระบอบการปกครองแบบเผด็จการนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบเผด็จการชาตินิยม (Fascism) หรือคอมมิวนิสต์ (Communism) อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศอยู่แก่ผู้เผด็จการเพียงคนเดียว หรือคณะเดียว อำนาจนี้จึงเป็นอำนาจอันเด็ดขาดซึ่งผู้ใช้อาจใช้ในในทางที่ดีก็ได้ ในทางที่ชั่วก็ได้ ถ้าเป็นในทางที่ชั่วก็ไม่มีใครจะควบคุมได้ ผู้รับเคราะห์ก็คือประชาชน ส่วนในระบอบประชาธิปไตยนี้ ย่อมเห็นกันแล้วว่าไม่มีใครเหลือใคร ต่างฝ่ายต่างควบคุมซึ่งกันและกัน เพื่อให้ใช้อำนาจไปในทางที่ถูกต้อง ด้วยระบบดุลและคานกันนี้แหละผู้ที่จะได้รับประโยชน์ก็คือประชาชน

ประการที่สาม หลักสำคัญอีกประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ก็คือ “หลักนิติธรรม” (the rule of law) ซึ่งหมายถึงการปกครองโดยกฎหมาย กล่าวคือ บุคคลทุกคนเสมอกันในกฎหมาย บุคคลจะต้องรับโทษเพื่อการกระทำผิดอันใด ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า การกระทำนั้นเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ และจะต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีจากศาลยุติธรรม ที่มีความเป็นอิสระในการชี้ขาดตัดสินคดี ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพากษาที่เกิดขึ้นระว่างเอกชนด้วยกันเองก็ดี หรือระหว่างเอกชนกับรัฐก็ดี

การที่จะบรรลุถึงยอดปรารถนาของระบอบประชาธิปไตย อันได้แก่ความผาสุกของประชาชนนั้น ประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศโดยตรง และจะต้องสนใจในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ตลอดจนรู้ซึ้งถึงองค์ประกอบและบทบาทขององค์กรสำคัญทั้งสามแห่งรัฐในระบอบนี้ คือ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลยุติธรรม และประชาชนจักต้องตระหนักว่า ระบอบประชาธิปไตยมีหลักการที่สำคัญอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสมอภาคระหว่างบุคคลนั้น ก็มีความหมายแต่เพียงว่า บุคคลทุกคนมีโอกาสที่จะอยู่ดีกินดีเท่าเทียมกัน โดยรัฐเป็นผู้ควบคุมและกำหนดขอบเขตของโอกาสที่ให้นั้นด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้บังเกิดขึ้นในสังคม ส่วนในเรื่องสิทธิและเสรีภาพนั้น ประชาชนจะถือว่าตนมีสิทธิเสรีภาพแต่เพียงอย่างเดียว และคิดว่าจะทำอะไรก็ทำได้ตามอำเภอใจนั้นหาได้ไม่ หากแต่จะต้องมีหน้าที่และควบรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งต้องเคารพต่อกฎหมายของบ้านเมืองด้วย มิฉะนั้นระบอบประชาธิปไตยก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #บุรีรัมย์6
หมายเลขบันทึก: 363519เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2010 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท