ญาณวิทยาการศึกษาไทย


ญาณวิทยาใหม่สำหรับการศึกษาไทยจึงควรเป็นญาณวิทยาของการมองสรรพสิ่งอย่างเป็นองค์รวมหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกส่วนในการมองสรรพสิ่ง

ทุกวันนี้สังคมไทยเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบปัญญาและความรู้ของคนในสังคม อ่อนด้อยลงทุกขณะอีกทั้งระบบศีลธรรมของศาสนาที่เคยค้ำชูสังคมก็ดูเหมือนจะเข้าตาจนเช่นกัน เหตุใดจึงว่าทั้งระบบปัญญาความรู้ในทางโลก และปัญญาในทางธรรมของสังคมไทยกำลังย่ำแย่ นั้นคงพิจารณาได้จากความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนที่นอกจากได้เข้าไปทำลาย เบียดขับบรรดาความรู้ดั้งเดิมของคน/ชุมชนให้ “ด้อยค่า”  “ไร้ค่า”  “ไร้เหตุผล” เชื่อถือไม่ได้ แล้วยังทำให้ผู้คนต้องหันมาเสพ รับ ลอกเลียนความรู้จากภายนอกชุมชน ภายนอกวัฒนธรรมวิถีชีวิต ในลักษณะรับเละแบบไม่เลือก กลายเป็นว่าอะไรที่เป็นความรู้จากข้างนอกดีไปหมด ของเดิมที่ปู่ย่าสั่งสมไว้คือของโบราณ เมื่อเป็นเช่นนี้ภาวะชะงักงันทางปัญญาก็สะดุดลง ประกอบกับการที่เราหันไปเชื่อในระบบเหตุผลที่แยกตัวออกมาโดดเดี่ยวจากระบบคุณค่าทางศาสนาบรรดาปัญญาอันจะก่อกำเนิดจากการเรียนรู้วิถีชีวิตทางวัตถุอย่างเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตทางจิตวิญญาณ ก็ถูกลดทอนให้เป็นความเชื่อ ความงมงาย
   จากการที่ได้อ่านบทวิเคราะห์ว่าด้วยการศึกษากับปัญหาสภาวะความรู้มนุษย์ ของอาจารย์เสน่ห์ จามริก ผู้เขียนเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ได้ไขปริศนาความพลาดพลั้งของการศึกษาไทยที่มิได้พลาดกันที่ระดับกระบวนการหรือวิธีการสอนวิธีการจัดการศึกษา แต่ว่ามันเกิดความผิดพลาด/สำคัญผิดกันตั้งแต่ระดับญาณวิทยา ซึ่งเสน่ห์ได้เสนอทางออกไว้อย่างน่าสนใจ
   ต่อคำถามที่ว่าอาจารย์เสน่ห์มองญาณวิทยาของการศึกษาไทยไว้อย่างไร ผู้เขียนพบว่าในหนังสือเล่มนี้ได้มองในมุมวิพากษ์ที่ว่า ทั้ง ๆ ที่การศึกษาไทยแต่ดั้งเดิมของเราก็มีวิถีทางเป้นของตนเองมาเนิ่นนานผ่านการสั่งสมและสร้างสรรค์องค์ความรู้และการปรับตัวเข้ากับสภาวการณ์ทั้งภายในภายนอกได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อการศึกษาแบบตะวันตกได้แผ่เข้ามาพร้อมอิทธิพลของการล่าอาณานิคมการศึกษาไทยก็ไปรับเอา แนวความคิดแบบแยกส่วน ที่เป็นรากฐานของปรัชญาวิทยาศาสตร์มาใช้ ความเชื่อในความเป็นกลางของความรู้ที่ปราศจากค่านิยมใด ๆทำให้ความรู้ที่รับเข่ามาสู่ระบบการศึกษาไทยเป็นความรู้แบบวิทยาศาสตร์ แยกส่วน และมองจักรวาลวิทยาแบบกลไก ทุกสิ่งจึงศึกษาได้ คำนวณได้และควบคุมได้ ซึ่งความรู้แบบนี้ได้นำเราเข้าสู่ความพยายามที่จะควบคุมธรรมชาติ เอาชนะธรรมชาติไปจนถึงความพยายามที่จะควบคุมมนุษย์ด้วยกัน ทำให้คนในสังคมไทยมองไม่เห็นความเป็นองค์รวมระหว่างคนกับธรรมชาติระหว่าสรรพสิ่งในธรรมชาติ
   อันว่าการมองความรู้ในระดับญาณวิทยาเช่นที่ว่านี้อาจารย์เสน่ห์เชื่อว่ามันได้นำไปสู่การศึกษาที่มีความผิดพลาดในสังคมไทย เพราะเมื่อความรู้วิทยาศาสตร์ และบรรดาศาสตร์ที่เป็นกลางไร้เดียงสาทั้งหลายได้ถูกนำมารับใช้ลัทธิทุนนิยม การศึกษาหาความรู้ในสังคมไทยจึงแปรสภาพไปตามสิ่งที่ “ศาสตรไร้เดียงสา”เหล่านี้ทำหน้าที่รับใช้อยู่กล่าวคือการศึกษาได้กลายมาเป็นความต้องการจากภายนอกที่จะเข้าไปพัฒนาคนให้ไปพัฒนาประเทศตามแนวทางทุนนิยมเพื่อที่จะสร้างความมั่งคั่งผ่านตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรมภายในประเทศ (GDP)และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GNP)โดยไม่สนใจว่าบัดนี้ศาสตร์ที่เราเชื่อว่าเป็นกลางการศึกษาที่ปลอดค่านิยมนี้รับใช้ใครแต่การศึกษาในระบบของไทยก็รับมันมาพร่ำสอนกันโดยดุษณี เพื่อผลิตพลเมืองดีเข้าสู่ระบบอุสาหกรรมทุนนิยมกลไกตลาดเสรี บัดนี้การศึกษาได้รับใช้สิ่งภายนอกคือการพัฒนาทางเสรษฐกิจและสังคม ทั้ง ๆที่การศึกษาควรจะรับใช้ภายในตัวตนมนุษย์อันเป้นเสียงเพรียกสู่การศึกษาเสรี ที่คนมีอิสรภาพที่จะเลือกเรียนเลือกรู้ได้ด้วยตนเองมิใช่ข้อเรียกร้องจากนายทุน รัฐบาล หรือระบบเศรษฐกิจ
   อาจารย์เสน่ห์ จึงให้ข้อเสนอว่า ญาณวิทยาใหม่สำหรับการศึกษาไทยจึงควรเป็นญาณวิทยาของการมองสรรพสิ่งอย่างเป็นองค์รวมหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกส่วนในการมองสรรพสิ่ง มนุษย์และสรรพสิ่งเป็นเพื่อนร่วมชีวิตกัน ซึ่งเสน่มีความเชื่อมั่นว่า “ความรู้ อิสรภาพ การศึกษา และคุณค่าทางศาสนา”ควรจะเป็นองค์รวมของญาณวิทยาใหม่สำหรับการศึกษาไทยที่จะเปิดมิติใหม่ของการเชื่อมโยงจิตใจมนุษย์เข้ากับระบบนิเวศ ในอีกนัยหนึ่งญาณวิทยาเช่นที่ว่านี้จะฟื้นฟูภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่เคยถูกละเลยทอดทิ้งให้กลับมามีคุณค่าเพื่อเป็นฐานสำหรับการก้าวย่างต่อไปของสังคมไทยนั่นเอง
คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 362801เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2010 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท