กว่าจะรู้ซึ้งถึงความหวังดีแบบ ดุๆ ของ อ.ชุติมา หาญจวณิช


อาจารย์ที่ขี้บ่นคนหนึ่ง แต่หากได้รู้จักท่านมากขึ้น จะรู้ว่า ท่านทุ่มเทสั่งสอน ดูแล ให้คำแนะนำนักศึกษามากขนาดไหน



            ได้คุยกับเพื่อนที่เป็นครู หลายคนบ่นให้ฟังว่า เด็กๆยุคนี้สอนยากจริงๆ เหนื่อยทั้งวัน ต้องคอยสอน คอยเตือน เด็กก็ไม่ค่อยสนใจเรียน เราทุ่มเท อยากให้เด็กได้ความรู้  ก็ถูกตั้งฉายาว่า ครูขี้บ่น , จอมดุ, นึกถึงสมัยเรียน Bio  อาจารย์พยายามสอน จ้ำจี้จ้ำไช ตอนนั้นเราก็รำคาญ เบื่อเหมือนกัน พอมาเป็นครูเอง....ซึ้งเลย

            ช่วงปี 2537-38-39 นายบอนได้เรียนกับ ท่าน อ.ชุติมา หาญจวณิช หลายวิชา ท่านจะมีเอกลักษณ์ คือ ท่านจะคอยจ้ำจี้ ย้ำเตือน สอน ทั้งบ่น และดุอยู่เสมอ เมื่อนักศึกษาทำ Lab ผิดขั้นตอน หรือกำลังจะทำไม่ถูกขั้นตอน ท่านจะบ่นว่า แล้วสอน แนะนำตามวิธีการของท่าน

            ได้ยินรุ่นพี่ Bio20 หลายคน รู้สึกอึดอัดกับวิธีการต่างๆที่ อ.ชุติมาใช้สอน บางคน ไม่ชอบ ไม่อยากเจอ ไม่อยากเรียนด้วย ถ้าวิชาเลือกวิชาไหน อ.ชุติมาเป็นคนสอน ก็จะไม่เลือก ไม่ลงทะเบียนเรียน ไปลงเรียนกับอาจารย์คนอื่นๆที่พูดดี .... แต่ก็มีนักศึกษาที่ทำโครงงานวิจัยกับ อ.ชุติมา ท่านจะคอยดูแลเป็นอย่างดี แม้จะบ่น ว่า จ้ำจี้จ้ำไชตามสไตล์ แต่นักศึกษาในความดูแลของท่าน จะทำ lab ได้ถูกต้อง ทำงานเป็นขั้นตอน เพราะถูกท่าน คอยจี้ให้ขยัน ตื่นตัว ใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา

            ครั้งหนึ่ง มีนักศึกษาคนหนึ่ง เข้ามาทำ lab ใช้กล้องจุลทรรศน์ อ.ชุติมาเดินเข้ามาในห้อง มองเห็นนักศึกษาวางแผ่นสไลด์ไม่ถูกต้อง แถมวางกล้องจุลทรรศน์บนฐานที่ไม่มั่นคงนัก วางกระเป๋าหนังสือกองเต็มไปหมด  ขวดใส่สารเคมี วางเกะกะ มืออาจจะเผลอไปปิดขวดตกแตกได้ทุกเวลา อ.ชุติมา เข้าไปยืนใกล้ๆแล้วพูดสอนเลยว่า กล้องควรใช้ยังคง วางของบนโต๊ะควรวางยังไง ถึงจะนั่งทำงาน ดูสไลด์อ่านผลได้สะดวก แล้วก็ถามนักศึกษาเรื่องการใช้กล้องจุลทรรศน์ที่ถูกต้อง ต้องทำยังไง ในขณะที่นักศึกษากำลังอึ้ง คิดหาคำตอบอยู่ หรืออาจจะกลัวถูกดุ อ.ชุติมาจะพูดสอนทันที บอกเป็นขั้นตอนเลย 1. ต้องทำอย่างนี้ 2. จับตรงนี้ 3. ปรับโฟกัสอย่างนี้ 4-5-6  แล้วดูนักศึกษาทำตามขั้นตอน ทั้งๆที่ นักศึกษาคนนั้น ไม่ได้มาทำ lab วิชาของ อ.ชุติมา แต่ท่านก็สละเวลาให้คำแนะนำที่ถูกต้อง เพราะเป็นนักศึกษาชีววิทยา

            แม้แต่ในระดับปริญญาโท มีนักศึกษาเตรียมอุปกรณ์การทดลอง เมื่อ อ.ชุติมา เข้ามาเห็น ว่าเตรียมไม่ค่อยเป็น หาแต่ละอย่าง ดูสับสนวุ่นวายไปหมด ท่านเลยยืนแนะนำว่า ควรจะทำยังไง เตรียมสิ่งนั้นก่อน เปิดตู้นั้นซิ หาดูอุปกรณ์นั้น เอาออกมา เป็นการสอนให้นักศึกษาได้ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องไปด้วย

            อ.ชุติมา มักจะมีบุคลิกเป็นคนดุ แต่เพราะความหวังดีในการเคี่ยวเข็ญเพื่อให้นักศึกษาทำ lab ถูกต้องตามขั้นตอน ลูกศิษย์หลายคนที่ท่านเคี่ยวเข็ญมาตลอด เมื่อเข้าใจท่าน จะสนิทสนมกับท่าน ท่านก็เปลี่ยนไป พูดคุยเป็นกันเอง กับลูกศิษย์ของท่าน เพราะได้แนะนำสั่งสอน เคี่ยวเข็ญจนทำงานได้ถูกต้องตามมาตรฐานของท่านแล้ว

            ช่วงหนึ่งที่นายบอนไปช่วยทำเวบไซต์ฐานข้อมูลกล้วยไม้ให้ อ.อำภา เหลืองภิรมย์ ที่ห้องพักอาจารย์ชั้น 3 ตึก Bio หลังจากที่เรียนจบแล้ว ก็ได้เจอ อ.ชุติมาบ่อยครั้ง เพราะห้องทำงานของท่านอยู่ที่ชั้น 3 ท่านมักจะเล่าให้ฟังว่า สอนนักศึกษาก็เหนื่อยเหมือนกันนะ  คอยบ่น ว่าก็แล้ว นักศึกษาบางคนยังไม่ตั้งใจ เป็นครูก็เหนื่อยยังงี้แหละ  แต่ท่านยังคงมุ่งมั่นสอนในแบบของท่านต่อไป  ...ช่วงนั้น ท่านมีสอนหลายชั่วโมงต่อกัน พอช่วงพัก ระหว่างรอไปคุม lab ในชั่วโมงถัดไป นายบอนผ่านหน้าห้องพักอาจารย์ เห็นท่าน อ.ชุติมา นอนหลับอยู่ เอาเสื้อกาวน์คุมตัวแทนผ้าห่ม นอนงีบเอาแรง บนโต๊ะมีกองหนังสือที่เตรียมจะถือไปสอนวางอยู่ เห็นท่านนอนหลับในสภาพที่เหน็ดเหนื่อยจริงๆ

            ไม่ถึงชั่วโมง พอถึงเวลาที่ท่านต้องไปคุม lab อ.ชุติมาเดินถือหนังสือมา บุคลิกหน้าตาเหมือนปกติ เดินเข้าไปคุม lab พูด - สอน เหมือนที่เคยเป็นมา ทั้งๆที่เมื่อครึ่งชั่วโมงก่อนหน้า ท่านนอนหลับสนิท เหมือนไม่ได้นอนมานาน  พอถึงเวลาปุ๊บ ก็ลุกขึ้นมาสอนปั๊บ ได้ทันที

            แม้จะมีบุคลิกขี้บ่น หลายคนอาจไม่ชอบท่าน แต่ท่านก็มีวิธีการสอนให้เข้าใจและจดจำได้นาน นอกจากการคุม lab การสอนการทำงานแบบอธิบายขั้นตอนตามลำดับ แล้วยืนมองว่า ทำถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ ถ้าไม่ถูกจะถูกว่าทันที พร้อมแนะนำให้ทำให้ถูกต้องในตอนนั้นเลย ซึ่งทำให้นักศึกษาจดจำขั้นตอนทำ lab ได้ขึ้นใจ

            แม้แต่การเขียนบรรณานุกรมอ้างอิง ท่านมีวิธีการสอนให้จำได้ คือ ให้ฝึกเขียนจนคล่อง ให้ตัดกระดาษแข็งประมาณ 20 แผ่น แล้วให้เขียนบรรณานุกรมตามรูปแบบ แจกบทคัดย่อภาษาอังกฤษให้นักศึกษาเขียนบรรนาณุกรมมาส่ง ต้องคัดลายมือกันเลย เขียนมาตามโครงสร้าง ชื่อผู้วิจัย-ชื่องานวิจัย ชื่อวารสาร ฉบับที่ ปี คศ. มีจุด ต้องเว้นกี่เคาะๆ ให้เขียนส่งมา นึกว่าง่ายๆ เพราะแค่คัดลายมือ เปิดหนังสือดูตามรูปแบบ แต่ อ.ชุติมาก็นั่งตรวจดูทุกแผ่น เอาปากกาสีแดง วงตำแหน่งที่ผิดไว้ เขียนผิดตรงไหนมั่ง การให้ลองทำ เขียนกับมือแบบนี้ ทำให้นักศึกษาจำรูปแบบการเขียนบรรณานุกรมได้แม่นยำ

            มีอีกหลายเรื่องที่ อ.ชุติมา สอน แต่ที่น่าสนใจคือ นักศึกษาที่ท่านดูแลในระดับปริญญาโท ท่านช่วยเหลือ ผลักดันให้นักศึกษาเหล่านั้นได้เรียนเต็มที่ เรียนอย่างถึงที่สุด เป็นธุระติดต่อให้ลูกศิษย์ได้ไปเรียนรู้หาประสบการณ์ในต่างประเทศ ช่วยดูเรื่องแหล่งทุน ให้คำแนะนำ จนลุกศิษย์ไปเรียนต่อต่างประเทศ จบมาเป็นอาจารย์, นักวิชาการที่เก่งหลายคนทีเดียว

            ชาว Bio หลายคน มีโอกาสได้เรียนแค่ระดับปริญญาตรีเท่านั้น หลายคนเลือกไปเรียนต่อหาประสบการณ์ที่สถาบันอื่น บ้างออกไปทำงาน  ในความรับรู้ ความทรงจำของศิษย์เก่าหลายคน อาจไม่มีความทรงจำกับอาจารย์ผู้สอนมากนัก เมื่อนึกถึงอดีตหลังจากจบมาแล้ว เกิน 10 ปี มักมีแต่ภาพ การใช้ชีวิต กับเพื่อนในรุ่น จำได้แต่เรื่องราวของอาจารย์ที่สนิทสนมคุ้นเคยกับบางท่านเท่านั้น เมื่อพูดถึงชื่ออาจารย์บางท่าน ก็นึกได้แค่ว่า เป็นอาจารย์ที่ขี้บ่นคนหนึ่ง  แต่หากได้รู้จักท่านมากขึ้น จะรู้ว่า ท่านทุ่มเทสั่งสอน ดูแล ให้คำแนะนำนักศึกษามากขนาดไหน






หมายเลขบันทึก: 362606เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2010 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท