การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 (กรณีพิเศษเฉพาะราย)


            2. การเข้าเมืองกรณีพิเศษเฉพาะราย

 

            กฎหมายได้รับรองให้คนต่างด้าวบางประเภทสามารถเข้ามาในราชอาณาจักรสยามได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์คุณสมบัติบางประการตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 เนื่องจากมีสถานภาพพิเศษ ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 4 วิธี[1] คือ

 

            2.1 การเข้าเมืองของคนต่างด้าวที่มีสถานภาพพิเศษเนื่องจากมีเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

บุคคลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง

 

(1)   พนักงานสถานทูตต่างประเทศประจำราชอาณาจักรไทย

(2)   พนักงานสถานกงสุลต่างประเทศประจำราชอาณาจักรไทย

(3)   คนต่างด้าวซึ่งรัฐบาลต่างประเทศได้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่าเข้ามาในราชการ

(4)   คนต่างด้าวซึ่งองค์การสหประชาชาติได้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่าเข้ามาในกิจการของสหประชาชาติ

(5)   ครอบครัวของพนักงานสถานทูตต่างประเทศประจำราชอาณาจักรไทย

(6)   ครอบครัวของพนักงานสถานกงสุลต่างประเทศประจำราชอาณาจักรไทย

(7)   ครอบครัวของคนต่างด้าวซึ่งรัฐบาลต่างประเทศได้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่าเข้ามาในราชการ

(8)   ครอบครัวของคนต่างด้าวซึ่งองค์การสหประชาชาติได้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่าเข้ามาในกิจการของสหประชาชาติ

 

            เงื่อนไข

            บุคคลกลุ่มนี้จะได้รับเอกสิทธิ์ และความคุ้มกันทางการทูตตามกฎหมายระหว่างประเทศ และในมาตรา 51[2] ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเมือพิจารณาจากบทบัญญัติในมาตรานี้ทำให้ดีความได้ว่าบุคคลในกลุ่มนี้ไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทั่วไปของคนเข้าตามมาตรา 15  และในมาตราอื่น ๆ เช่น ตามมาตรา 30 (1) และ (2) คนกลุ่มนี้จะถูกยกเว้นในการถูกกำหนดจำนวนเงินประจำตัวมาตามมาตรา 28 และไม่ตกอยู่ในการประกาศราชกิจจานุเบกษากำหนดจำนวนคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยรัฐมนตรีตามมาตรา 29 

           แต่มีเงื่อนไขว่าบุคคลกลุ่มนี้จะต้องเข้ามาเพื่อปฏิบัติหน้าที่เท่านั้นมิได้เข้ามาเป็นการส่วนตัว ซึ่งจะต้องมีการแจ้งกับทางรัฐบาลไทยก่อน และคนกลุ่มนี้ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบถามหรือขอดูหลักฐานเพื่อสอบสวนว่าเป็นบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรนั้น เป็นผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 51 

 

            2.2 การเข้าเมืองของคนต่างด้าวที่มีสถานภาพพิเศษเนื่องจากเป็นบุคคลผู้โดยสารพาหนะผ่านแดนหรือผู้ที่เข้าออกประเทศเป็นประจำ

 

บุคคลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง

(1)   ผู้ควบคุมพาหนะทางน้ำซึ่งเพียงแต่แวะเข้ามายังท่า สถานี หรือตำบลในราชอาณาจักรแล้วจะกลับออกไป

(2)   ผู้ควบคุมพาหนะทางอากาศซึ่งเพียงแต่แวะเข้ามายังท่า สถานี หรือตำบลในราชอาณาจักรแล้วจะกลับออกไป

(3)   คนประจำพาหนะทางน้ำซึ่งเพียงแต่แวะเข้ามายังท่า สถานี หรือตำบลในราชอาณาจักรแล้วจะกลับออกไป

(4)   คนประจำพาหนะทางอากาศซึ่งเพียงแต่แวะเข้ามายังท่า สถานี หรือตำบลในราชอาณาจักรแล้วจะกลับออกไป

(5)   ผู้ควบคุมรถไฟผ่านแดน เพียงแต่ผ่านอาณาเขตประเทศไทยไปนอกราชอาณาจักรตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศนั้น ๆ

(6)   คนประจำพาหนะแห่งรถไฟผ่านแดน เพียงแต่ผ่านอาณาเขตประเทศไทยไปนอกราชอาณาจักรตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศนั้น ๆ

(7)   คนโดยสารรถไฟผ่านแดนถือตั๋วโดยสารทอดเดียวตลอด เพียงแต่ผ่านอาณาเขตประเทศไทยไปนอกราชอาณาจักรตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศนั้น ๆ

(8)   คนสัญชาติของประเทศที่อยู่ใกล้เคียงติดต่อกันเดินทางข้ามพรมแดนอันเป็นการผ่านไปมาชั่วคราว ซึ่งได้ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศซึ่งมีพรมแดนติดประเทศไทย

 

            เงื่อนไข

            เนื่องจากว่าบุคคลกลุ่มนี้นั้นจะมีการเดินทางเข้าออกเป็นประจำ มีการข้ามพรมแดนไปมาชั่วคราวแล้วกลับออกไป หรือไม่ก็เป็นกรณีของการเพียงแค่การเดินทางผ่านแดนประเทศสยามแล้วก็ออกไปนอกประเทศ ไม่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ถาวร หรือเป็นกรณีที่รัฐบาลไทยได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลแห่งประเทศซึ่งมีพรมแดนติดประเทศไทย หรือเป็นกรณีของรัฐบาลไทยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับการเดินรถไฟผ่านแดนไทยเข้ามาแล้วออกไปกับประเทศรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ ซึ่งตามมาตรา 17[3] ได้บัญญัติไว้ให้บุคคลกลุ่มนี้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 15 (1) ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนต่างด้าวนั้น ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และไม่ต้องขออนุญาตเข้าเมือง นอกจากนี้ในมาตรา 30 (7) ยังได้ยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 28 และมาตรา 29  ซึ่งคนกลุ่มนี้จะถูกยกเว้นในการถูกกำหนดจำนวนเงินประจำตัวมาตามมาตรา 28 และไม่ตกอยู่ในการประกาศราชกิจจานุเบกษากำหนดจำนวนคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยรัฐมนตรีตามมาตรา 29

          แต่ว่ายังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 15 (2), (3), (4), (5), (6), (7), (8), (9) และ(10) กล่าวคือ คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางสาธารณสุข อีกทั้งจะต้องไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคม และไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจของรัฐเจ้าของดินแดน

 

           2.3 การเข้าเมืองกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องซึ่งได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองโดยการอนุมัติของรัฐมนตรี

 

บุคคลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง

คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาคมเข้าเมือง โดยการอนุมัติของรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง

 

              เงื่อนไข

              กรณีนี้เป็นไปตามมาตรา 45[4] แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนี้

              (1) คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองเป็นผู้ที่มีอำนาจในการอนุญาตให้คนต่างด้าวคนหนึ่งคนใดเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง

               การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามมาตรา 45 นี้เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้เป็นอำนาจดุลยพินิจของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง ที่จะอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้หนึ่งผู้ใดมีสิทธิเข้าเมืองมาในราชอาณาจักรสยามได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง ซึ่งเป็นการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมาย

               สำหรับคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองนั้นประกอบด้วย อธิบดีกรมอัยการหรือผู้แทนอธิบดีกรมมหาดไทยหรือผู้แทน และอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้แทน และมีพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นเลขานุการ[5]

               (2) คนต่างด้าวผู้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองกำหนด

                สำหรับการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การเข้าเมืองตามมาตรานี้นั้น คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองเป็นผู้อนุญาตโดยกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของคนเข้าเมืองใด ๆ ก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร หรือจะยกเว้นให้คนต่างด้าวผู้นั้นไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการเข้าเมืองแบบกรณีคนต่างด้าวทั่วไปที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ได้ ในมาตรานี้นอกจากจะให้สิทธิเข้าเมืองแล้ว ยังให้สิทธิอาศัยแก่คนต่างด้าวกลุ่มนี้ด้วย

            (3) การอนุญาตของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองจะต้องได้รับการอนุมัติโดยรัฐมนตรี

            เมื่อคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองได้อนุญาตให้คนต่างด้าวคนใดคนหนึ่งเข้าเมือง และให้สิทธิอาศัยแก่คนต่างด้าว โดยกำหนดเงื่อนไขใด ๆ หรือยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ในกรณีใด ก็จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และมีข้อสังเกตว่าการเข้าเมืองโดยวิธีนี้คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองมีอำนาจที่จะอนุญาต ซึ่งต่างจากพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับอื่น ๆ ซึ่งอำนาจในการพิจารณาและกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจะอยู่ที่รัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตามการอนุญาตของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองก็ยังต้องอยู่ภายใต้ของการอนุมัติของรัฐมนตรีอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ ยังให้อำนาจรัฐมนตรีในการยกเว้นค่าธรรมเนียมอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ในเขตใดก็ได้

            รัฐมนตรีตามมาตรานี้นั้น ในมาตรา 4 หมายความถึง รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งในมาตรา 67 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น รัฐมนตรีผู้ที่จะทำหน้าที่ในการอนุมัติให้คนต่างด้าวเข้าเมืองมาเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องนั้นจะต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

            (3) การอนุมัติของรัฐมนตรีให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

            เมื่อรัฐมนตรีมีคำสั่งอนุมัติแล้ว และเห็นสมควรจะยกเว้นค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญัตินี้ ก็ให้รัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

           

            2.4 การเข้าเมืองกรณีพิเศษเฉพาะรายโดยการพิจารณาผ่อนผันจากรัฐมนตรี

 

            เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2497 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497[6] ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 และมีผลใช้บังคับในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2497 ดังนั้น คนต่างด้าวที่เข้าเมืองตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2497 จึงตกอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ทั้ง 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497

            เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือ เนื่องจากสถาการณ์รอบ ๆ ประเทศทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องรับภาระให้คนต่างด้าวบางจำพวก ซึ่งเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยกระทันหัน เพื่อพักอาศัย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เหมาะสมแก่การควบคุม และอุปการะคนต่างด้าวดังกล่าวนั้นยิ่งขึ้น[7]

            สำหรับบทบัญญัติที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ได้แก่ มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 โดยมาตรา 3[8] แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ซึ่งได้เพิ่มเติมความในวรรคสาม และวรรคสี่ของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 เพื่อให้รัฐมนตรีมีอำนาจผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายให้คนต่างด้าวเข้าเมืองโดยไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 15 (1) ซึ่งทำให้บุคคลกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนต่างด้าวนั้น ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้อง และไม่ต้องขออนุญาตเข้าเมือง ไม่ต้องได้รับการตรวจลงตราจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากในขณะนั้น มีคนต่างด้าวบางจำพวกได้ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยกระทันหัน หรือมิอาจจะถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยรัฐเจ้าของสัญชาติได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐเจ้าของสัญชาติ หรือรัฐดังกล่าวไม่ยอมให้การรับรองดูแล จึงจำเป็นต้องให้อำนาจรัฐมนตรีผ่อนผันให้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเป็นการควบคุม และอุปการะแก่คนต่างด้าวดังกล่าว และไม่ตกอยู่ในการประกาศราชกิจจานุเบกษากำหนดจำนวนคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยรัฐมนตรีตามมาตรา 29

            แต่ว่ายังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 15 (2), (3), (4), (5), (6), (7), (8), (9) และ(10) กล่าวคือ คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางสาธารณสุข อีกทั้งจะต้องไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคม และไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจของรัฐเจ้าของดินแดน และมีหน้าที่ตามวรรคสาม คือ เสียค่าธรรมเนียมรายปี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงได้ ไม่เกินกว่าคนละสองร้อยบาท แต่เด็กอายุต่ำกว่าสิบสองปีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

 

บุคคลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง

คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

 

            เงื่อนไข

            (1) คนต่างด้าวนั้นจะต้องเป็นผู้อพยพหนีภัยความตายมาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย เนื่องจากว่า สถาการณ์บ้านเมืองของประเทศเพื่อนบ้านของไทยในขณะนั้นมีการสู้รบภายในประเทศ จึงได้มีผู้หนีภัยความตายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จากพิเคราะห์แล้วบุคคลกลุ่มนี้น่าจะต้องเป็นผู้อพยพหนีภัยความตายมาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย 

            (2) รัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจ

             การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามมาตรามาตรา 15 วรรคสาม และวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 นี้เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้เป็นอำนาจดุลยพินิจของรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว ที่จะพิจารณาผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายให้คนต่างด้าวผู้หนึ่งผู้ใดมีสิทธิเข้าเมืองมาในราชอาณาจักร และอาศัยอยู่ได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ซึ่งเป็นการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าเมือง และอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย

             รัฐมนตรีตามมาตรานี้นั้น  ในมาตรา 4 หมายความถึง รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งในมาตรา 67 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น รัฐมนตรีผู้ที่จะทำหน้าที่ในการที่จะพิจารณาผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายให้คนต่างด้าวผู้หนึ่งผู้ใดมีสิทธิเข้าเมืองมาในราชอาณาจักร และอาศัยอยู่ได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

            (3) รัฐมนตรีจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการต่าง ๆ เกี่ยวกับการเข้าเมืองด้วยวิธีนี้ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ไว้ในกฎกระทรวง และคนต่างด้าวผู้นั้นจะต้งได้รับ “หนังสือสำคัญผ่อนผันให้คนต่างด้าวพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย”

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้ออกกฎกระทรวงในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ รวมถึงค่าธรรมเนียมในการเข้าเมืองโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 ซึ่งกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรานี้ คือ “กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 ว่าด้วยการผ่อนผันให้คนต่างด้าวพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย[9]” ซึ่งได้กำหนดวิธีการต่าง ๆ ไว้ดังนี้

            (3.1) คนต่างด้าวผู้ใดซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้อง และกรณีที่ต้องมีการตรวจลงตราไม่ได้รับการตรวจลงตราจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศมีความประสงค์จะพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ให้ผู้นั้นยื่นคำขอพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และถ้ามีเด็กอายุต่ำกว่าสิบสองปีเข้ามาด้วยและอยู่ในความปกครองของคนต่างด้าวนั้นก็ให้แจ้งไว้ด้วย

            (3.2) เมื่อได้รับคำขอพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรตามข้อ 1 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนแล้วเสนอรัฐมนตรีพิจารณาสั่ง

            (3.3) เมื่อรัฐมนตรีสั่งผ่อนผันให้คนต่างด้าวผู้ใดพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออก “หนังสือสำคัญผ่อนผันให้คนต่างด้าวพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย” แก่ผู้นั้น สำหรับเด็กอายุต่ำกว่าสิบสองปี ซึ่งเข้ามาด้วยและอยู่ในปกครองของคนต่างด้าวนั้น ให้ยกเว้นไม่ต้องมีหนังสือสำคัญ แต่ให้ลงรายการไว้ในหนังสือสำคัญของผู้ปกครองเด็กนั้น

            (3.4) เด็กซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องมีหนังสือสำคัญ ถ้าในภายหลังมีอายุสิบสองปีบริบูรณ์แล้ว และมีความประสงค์จะพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปอีก ให้ยื่นคำขอตามข้อ (3.1)

            (3.5) คนต่างด้าวซึ่งได้รับหนังสือสำคัญผ่อนผันให้คนต่างด้าวพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย และเด็กที่มีอายุต่ำกว่าอายุต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งระบุไว้ในหนังสือสำคัญนั้น ผู้ใดย้ายที่พักอาศัยให้รายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นเป็นการสมควรโดยอนุมัติรัฐมนตรีจะกำหนดให้พักอาศัยอยู่ ณ ที่ใดก็ได้ และจะให้รายงานตัวภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ก็ได้ หรือจะสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญนั้นเสียก็ได้ เมื่อได้รับการกำหนดให้พักอาศัยแล้ว ห้ามออกนอกพื้นที่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

 


[1] วิธีสุดท้ายนั้นเกิดจากการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 โดยพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497

[2] มาตรา 51 พนักงานสถานทูตและพนักงานสถานกงสุลต่างประเทศประจำราชอาณาจักรไทย และคนต่างด้าวซึ่งรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การสหประชาชาติได้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่า เข้ามาในราชการหรือในกิจการของสหประชาชาติ และครอบครัวของบุคคลเช่นว่า ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

          ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะสอบถามหรือขอดูหลักฐานเพื่อสอบสวนว่า บุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรนั้น เป็นผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในวรรคก่อน

 

[3] มาตรา 17 บุคคลดั่งต่อไปนี้ให้ได้รับความยกเว้นไม่จำต้องมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง

 (1) ผู้ควบคุมพาหนะและคนประจำพาหนะทางน้ำหรือทางอากาศซึ่งเพียงแต่แวะเข้ามายังท่า สถานี หรือตำบลในราชอาณาจักรแล้วจะกลับออกไป

 (2) คนสัญชาติของประเทศที่อยู่ใกล้เคียงติดต่อกันเดินทางข้ามพรมแดนอันเป็นการผ่านไปมาชั่วคราว ซึ่งได้ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศซึ่งมีพรมแดนติดประเทศไทย

 (3) คนโดยสารรถไฟผ่านแดนถือตั๋วโดยสารทอดเดียวตลอด เพียงแต่ผ่านอาณาเขตประเทศไทยไปนอกราชอาณาจักรตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศนั้น ๆ และรวมตลอดถึงผู้ควบคุมพาหนะและคนประจำพาหนะแห่งรถไฟเช่นว่านั้นด้วย

[4] มาตรา 45 ในกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองจะอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรภายในเงื่อนไขใด ๆ หรือจะยกเว้นไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ในกรณีใดโดยอนุมัติของรัฐมนตรีก็ได้

          ในเขตใดรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรที่จะยกเว้นค่าธรรมเนียมอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกระทำได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

[5] มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493

[6] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 71 ตอนที่ 15 หน้า 387 วันที่ 2 มีนาคม 2497  

[7] หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2479

[8] มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

             “มาตรา 15 ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดั่งต่อไปนี้ เข้ามาในราชอาณาจักร คือ

   (1) ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้อง และในกรณีที่ต้องมีการตรวจลงตรา ไม่ได้รับการตรวจลงตราจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศเช่นว่านั้น

   (2) ไม่มีปัจจัยในการยังชีพ

   (3) ไม่สามารถเสียเงินค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้

   (4) มีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกำหนดในกฎกระทรวง

     (5) วิกลจริต หรือไม่สามารถประกอบการหาเลี้ยงชีพได้เพราะจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ร่างการพิการ หรือมีโรค

   (6) ยังมิได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ หรือฉีดวัคซีน หรือปฏิบัติการอย่างอื่นตามวิชาการแพทย์เพื่อป้องกันโรค และไม่ยอมให้กระทำเช่นว่านี้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

   (7) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อถือว่าเป็นคนอันธพาล หรือเป็นคนที่น่าจะก่อเหตุร้าย หรืออันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชน หรือราชอาณาจักร

   (8) มีพฤติการณ์เป็นที่หน้าเชื่อถือว่าเข้ามาเพื่อค้าประเวณี เพื่อประกอบกิจการที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อการค้าหญิงหรือเด็ก

   (9) เป็นบุคคลที่รัฐมนตรีไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชการอาณาจักร ตามความในมาตรา 16

   (10) เป็นบุคคลที่ไม่มีเงินติดตัวมาตามจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศ ตามความในมาตรา 28

   การตรวจโรค ร่างกาย หรือจิต ให้ใช้แพทย์ตรวจคนเข้าเมือง

   บทบัญญัติใน (1) มิให้ใช้บังคับในเมื่อรัฐมนตรีได้พิจารณาผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงได้ ไม่เกินกว่าคนละสองร้อยบาท แต่เด็กอายุต่ำกว่าสิบสองปีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

   ในการผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษดังกล่าวนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือสำคัญให้ถือไว้ ตามแบบที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

   บทบัญญัติใน (2) และ (5) มิให้ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวผู้เป็นบิดา มารดา สามี ภริยา หรือบุตร ของบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร และมีฐานะที่จะเลี้ยงดูบุคคลเช่นว่านั้นได้

[9]  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 71 ตอนที่ 45 หน้า 985 วันที่ 20 กรกฎาคม 2497

หมายเลขบันทึก: 362436เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2010 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การจำแนกสิทธิตามกฎหมายคนเข้าเมืองอาจทำได้หลายลักษณะนะคะ

ถ้าใช้มาตราเป็นตัวแบ่ง ก็ต้องมี ๓ มาตรานะคะ เพราะอันที่ ๔ ก็มาจากมาตรา ๑๕ เช่นกัน

แต่ถ้าเราแบ่งจากธรรมชาติคน ก็อาจเป็น ๔ ประเภท แต่คำถาม ก็คือ มาตรา ๔๕ และ มาตรา ๑๕ ๒ วรรคท้าย แตกต่างกันอย่างไร ในแง่มุมธรรมชาติของคน ลองคิด โดยการตีตารางดูนะคะ Comparative Study จะทำให้สมองเห็นอะไรได้ชัดขึ้น

อีกอันที่น่าจะเริ่มสังเกต ก็คือ จำนวนเอกสารที่ออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายคนเข้าเมืองในยุคต่างๆ อาทิ "หนังสือสำคัญผ่อนผันให้คนต่างด้าวพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย” ยังมีอยู่ไหมในปัจจุบัน เราจะสังเกตเห็นเอกสารที่เคยออก และไม่มีแล้ว และเอกสารที่ยังออกให้อยู่ อันนี้พัฒนาได้เป็นบทหนึ่งเลยนะคะ ลองพัฒนาสักบันทึกหนึ่งเลยนะคะ มีรายละเอียด (๑) มีพื้นฐานมาจากมาตราไหน (๒) ใครออก ? (๓) ใครทรงสิทธิ ? (๔) มีคุณสมบัติอะไรบ้าง ? (๕) สิทธิที่ได้รับการรับรองคืออะไร ?(๖) กรณีศึกษามีในความเป็นจริงไหม ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท