การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 (กรณีทั่วไป)


ข้อสังเกต 1. มีการนิยามคำว่า คนเข้าเมือง ซึ่งหมายถึงคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาในราชอาณาจักร เพื่อมีถิ่นที่อยู่เป็นประจำ (มีสิทธิอาศัยถาวร) … 2. พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้แยกคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ คนเข้าเมือง (Immigration) และคนที่ไม่ใช่คนเข้าเมือง (Non-Immigration) ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ “คนเข้าเมือง” หมายถึง คนต่างด้าวเข้าเมืองเพื่ออาศัยอยู่ถาวร ส่วน “คนที่ไม่ใช่คนเข้าเมือง” หมายถึง คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาในราชอาณาจักร แต่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 18 สำหรับสิทธิอาศัยของคนที่ไม่ใช่คนเข้าเมืองเป็นไปตามมาตรา 19 … 3. พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ไม่มีการออกใบสำคัญแสดงรูปพรรณแล้ว … 4. พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับแรกที่ปรากฏคำว่า“คนไร้สัญชาติ” … 5. มีบทบัญญัติในการอนุญาตรัฐมนตรีให้เข้าเมืองเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องตามมาตรา 45 ซึ่งการเข้าเมืองโดยวิธีนี้คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองมีอำนาจที่จะเป็นผู้อนุญาต และกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งต่างจากพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับอื่น ๆ ที่อำนาจในการพิจารณาและกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจะอยู่ที่รัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตามการอนุญาตของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองก็ยังต้องอยู่ภายใต้ของการอนุมัติของรัฐมนตรีอีกทีหนึ่ง … 6. การเข้าเมืองของคนต่างด้าวที่มีสถานภาพพิเศษเนื่องจากมีเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ใด ๆ ที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ เพียงแต่ต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบถามหรือขอดูหลักฐานเพื่อสอบสวนว่าเป็นบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรนั้น เป็นผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 51 … 7. นับแต่ใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงครั้งเดียว โดยพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 โดยเพิ่มความในวรรคสามและวรรคสี่ของมาตรา 15 เพื่อให้รัฐมนตรีมีอำนาจผ่อนผันเป็นการเฉพาะรายให้คนต่างด้าวเข้าเมืองโดยไม่มีหนังสือเดินทาง ทั้งนี้เนื่องจากในขณะนั้น มีคนต่างด้าวบางจำพวกได้ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยกระทันหัน จึงจำเป็นต้องให้อำนาจรัฐมนตรีผ่อนผันให้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเป็นการอุปการะแก่คนต่างด้าวดังกล่าว

การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493[1]

 

           พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 ได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ซึ่งทำให้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2482 ถูกยกเลิก และตามมมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2494 ดังนั้น คนที่เข้าเมืองตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2494 นั้นจะต้องตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2493 ซึ่งมีทั้งหมด 66 มาตรา

            พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการนิยามความหมายของคำว่า “คนต่างด้าว” ไว้ในมาตรา 4 ว่า “คนต่างด้าว หมายความว่า บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ” นอกจากนี้พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังได้ให้นิยามของคำว่า “คนเข้าเมือง” ดังนี้ “คนเข้าเมือง หมายความว่า คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อมีถิ่นที่อยู่เป็นประจำ”

           สำหรับสิทธิการเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 นั้น มี 2 กรณี แบ่งออกได้เป็น 5 วิธี ดังนี้

  1. เข้าเมืองกรณีทั่วไป
  2. การเข้าเมืองกรณีพิเศษเฉพาะราย

 

            1. การเข้าเมืองกรณีทั่วไป

 

            พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 กำหนดให้คนต่างด้าวที่ต้องการเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ซึ่งมาตราหลักอยู่ที่มาตรา 15[2] ดังนั้น คนต่างด้าวที่เข้าเมืองตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2494 ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จึงตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย หากมิได้ขออนุญาตเข้าเมือง และมีลักษณะต้องห้าม หรือมีคุณสมบัติที่ไม่ครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนี้  

 

            (1) คนต่างด้าวนั้นจะต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนต่างด้าวนั้น

            มาตรา 15 (1) ได้กำหนดไว้ว่า คนต่างด้าวที่จะสามารถเข้ามาในราชอาณาจักร[3]นั้นจะต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลผู้นั้น กล่าวคือ คนต่างด้าวผู้นั้นจะต้องมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้อง ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ได้อธิบายถึงลักษณะของหนังสือเดินทางที่สมบูรณ์ดังเช่นพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 อาจเป็นเพราะว่าเริ่มมีความเข้าในเรื่องของเอกสารต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าหนังสือเดินทางนั้นจะต้องยังมีอายุใช้ได้อยู่ ในกรณีที่ต้องมีการตรวจลงตรานั้นก็จะต้องได้รับการตรวจลงตราจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศแล้วจึงจะสมบูรณ์

 

            (2) คนต่างด้าวนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐเจ้าของดินแดนให้เข้าเมือง

            ในกรณีทั่วไปคนต่างด้าวที่จะเข้าเมืองไทยมาได้นั้น จะต้องมีการขออนุญาตเข้าเมือง และได้รับความยินยอมจากรัฐไทยในการให้เข้าเมือง กล่าวคือ หนังสือเดินทางนั้นจะต้องได้รับการตรวจลงตราจากสถานทูตหรือสถานกงไทยในต่างประเทศ แต่มีข้อยกเว้นในบางกรณีที่คนต่างด้าวไม่ต้องขออนุญาตเข้าเมือง ซึ่งเป็นกรณีการเข้าเมืองแบบพิเศษ ซึ่งก็ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการตรวลลงตราในหนังสือเดินทาง

 

            (3) คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจของรัฐเจ้าของดินแดน 

            บุคคลที่จะเข้ามาราชอาณาจักรภายใต้พระราชบัญญัตคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 นั้น ตามมาตรา 15 (2), (3), (5) และ(10) กล่าวคือ จะต้องมีปัจจัยในการยังชีพ มีเงินมามากพอหรือมีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง มีความสามารถที่จะเสียเงินค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ขาดไร้อุปกระจากผู้อื่น และต้องไม่เป็นบุคคลที่วิกลจริต หรือไม่สามารถประกอบการหาเลี้ยงชีพได้ เพราะจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ มีร่างกายพิการ หรือเป็นโรค และเป็นบุคคลที่ไม่มีเงินติดตัวมาตามจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 28[4] ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้คนต่างด้าวคนหนึ่ง ๆ มีเงินประจำตัวมาตามจำนวนที่กำหนดไว้ในประกาศ และถ้าหากว่าไม่มีเงินจำนวนตามที่กำหนด ก็ห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร แต่มีข้อยกเว้นว่าไม่ให้ใช้บังคับกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี สำหรับสาเหตุนั้นก็เพราะว่าเป็นการป้องกันมิให้คนต่างด้าวเข้าเมืองมาแล้วเป็นภาระทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณจำนวนมากในการดูแลกลุ่มคนที่ลักษณะต้องห้ามเช่นนี้ หรือมีอาชีพเป็นขอทาน หรือเข้ามาแย่งงานบางประเภทของคนชาติทำ

            แต่ในวรรคที่ 3 ของมาตรา 15 ได้บัญญัติยกเว้นหลักเกณฑ์ใน (2) และ (5) ไม่ให้ใช้บังคับกับคนต่างด้าวผู้ซึ่งเป็นบิดา, มารดา, สามี, ภริยา, หรือบุตรของบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร และมีฐานะที่จะเลี้ยงดูบุคคลดังที่ได้กล่าวมาแล้วได้

 

            (4) คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางสาธารณสุขของรัฐเจ้าของดินแดน

            กรณีนี้ได้กำหนดไว้ใน มาตรา 15 (4) และ(6) ซึ่งได้บัญญัติไว้ถึงลักษณะต้องห้ามของคนเข้าเมืองที่เป็นโรคไว้ ดังนี้

                    (4) มีโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งกำหนดไว้ในกฏกระทรวง[5]    

                    (6) ยังมิได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ หรือฉีดวัคซีน หรือปฏิบัติการอย่างอื่น ตามวิชาการแพทย์   เพื่อป้องกันโรคและไม่ยอมให้กระทำเช่นว่านี้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

            เหตุผลก็คือว่ารัฐไทยมีความหวาดกลัวการเสี่ยงภัยต่อโรคภัยและโรคติดต่อที่อาจะเข้ามาในประเทศโดยมีคนต่างด้าวเป็นพาหะนำโรค อันจะส่งผลเป็นอันตรายต่อคนในประเทศ และไม่ต้องการที่จะรับภาระเมื่อคนต่างด้าวเจ็บป่วย

 

           (5) คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคมของรัฐเจ้าของดินแดน

            ตามมาตรา 15 (7), (8), (9) กำหนดลักษณะบุคคลที่สามารถมีสิทธิเข้าเมืองได้นั้นจะต้องไม่เป็นบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อถือว่าเป็นคนอันธพาล หรือเป็นคนที่น่าจะก่อเหตุร้ายหรืออันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชนหรือราชอาณาจักร อีกทั้งต้องไม่มีมีพฤติการณ์เป็นที่หน้าเชื่อถือว่าเข้ามาเพื่อค้าประเวณีเพื่อประกอบกิจการที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อการค้าหญิงหรือเด็ก และเป็นบุคคลที่รัฐมนตรีไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชการอาณาจักรตามความในมาตรา 16[6] ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าคนต่างด้าวผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่ทำให้ขัดต่อเพื่อประโยชน์แก่ประเทศ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือผาสุกของประชาชน

 

            (6) คนต่างด้าวนั้นจะต้องเข้ามาในอัตราตามที่รัฐมนตรีกำหนดจำนวนไว้[7]

            เมื่อพิจารณาจากมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 นั้น สามารถพิเคราะห์ได้ว่าบทบัญญัติมาตรานี้ถือว่าเป็นเงื่อนไขในการเข้าเมืองด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากในมาตรานี้ได้บัญญัติให้         อำนาจรัฐมนตรีประกาศในราชกิจานุเบกษาในการกำหนดจำนวนคนเข้าเมืองเป็นรายปี แต่ไม่ให้เกินประเทศละสองร้อยคนต่อปี และคนไร้สัญาติก็ไม่ให้เกินสองร้อยคนต่อปีเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าหากว่าคนเข้าเมืองมาเกินจำนวนที่กำหนดไว้แล้วก็จะไม่มีสิทธิในการเข้าเมือง

            สำหรับคนต่างด้าวที่จะตกอยู่ในเงื่อนไขการกำหนดจำนวนคนเข้าเมืองมาตรา 29 นี้นั้นจะต้องเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อมีถิ่นที่อยู่เป็นประจำ หรือคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร สำหรับกรณีนี้จะไม่ใช้บังคับกับคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรในกรณีที่ไม่นับเป็นคนเข้าเมืองตามมาตรา 18[8]

            และพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับแรกที่ปรากฏคำว่า“คนไร้สัญชาติ”

 

 


[1] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 67 ตอนที่ 71 หน้า 1208 วันที่ 26 ธันวาคม 2493

[2] มาตรา 15 ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ เข้ามาในราชอาณาจักร คือ

   (1) ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้อง และในกรณีที่ต้องมีการตรวจลงตรา ไม่ได้รับการตรวจลงตราจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศเช่นว่านั้น

  (2) ไม่มีปัจจัยในการยังชีพ

 (3) ไม่สามารถเสียเงินค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้

 (4) มีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกำหนดในกฎกระทรวง

 (5) วิกลจริต หรือไม่สามารถประกอบการหาเลี้ยงชีพได้เพราะจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ร่างการพิการ หรือมีโรค

  (6) ยังมิได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ หรือฉีดวัคซีน หรือปฏิบัติการอย่างอื่นตามวิชาการแพทย์เพื่อป้องกันโรค และไม่ยอมให้กระทำเช่นว่านี้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

  (7) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อถือว่าเป็นคนอันธพาล หรือเป็นคนที่น่าจะก่อเหตุร้าย หรืออันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชน หรือราชอาณาจักร

  (8) มีพฤติการณ์เป็นที่หน้าเชื่อถือว่าเข้ามาเพื่อค้าประเวณี เพื่อประกอบกิจการที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อการค้าหญิงหรือเด็ก

(9) เป็นบุคคลที่รัฐมนตรีไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชการอาณาจักร ตามความในมาตรา 16

  (10) เป็นบุคคลที่ไม่มีเงินติดตัวมาตามจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศ ตามความในมาตรา 28

การตรวจโรค ร่างกาย หรือจิต ให้ใช้แพทย์ตรวจคนเข้าเมือง

          บทบัญญัติใน (2) และ (5) มิให้ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวผู้เป็นบิดา มารดา สามี ภริยา หรือบุตร ของบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร และมีฐานะที่จะเลี้ยงดูบุคคลเช่นว่านั้นได้

[3] พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้คำว่า “ราชอาณาจักร” ซึ่งแตกต่างจากพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 ที่ใช้คำว่า “ราชอาณาจักรสยาม”  และแตกต่างจากพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 ซึ่งใช้คำว่า “ประเทศสยาม”

[4] มาตรา 28 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้คนต่างด้าวคนหนึ่ง ๆ ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรมีเงินติดตัวมาตามจำนวนที่รฐมนตรีเห็นสมควร

ประกาศของรัฐมนตรีตามความในวรรคก่อนมิให้ใช้บังคับแก่เด็กอายุต่ำกว่าสิบสองปี

[5]  กฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๔๙๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๔๙๓

[6] มาตรา 16 ในกรณีที่มีพฤติการณ์ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าเพื่อประโยชน์แก่ประเทศหรือเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือผาสุกของประชาชน ไม่สมควรอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาในราชอาณาจักร รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวผู้นั้นเข้ามาในราชอาณาจักรได้

[7] มาตรา 29 ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดจำนวนคนเข้าเมืองเป็นรายปี แต่มิให้เกินประเทศละสองร้อยคนต่อปี และสำหรับคนไร้สัญชาติก็มิให้เกินสองร้อยคนต่อปีเช่นเดียวกัน

เพื่อประโยชน์แห่งความในวรรคก่อน บรรดาอาณานิคมของประเทศหนึ่งรวมกัน หรือแต่ละอาณาจักรซึ่งมีการปกครองตนเอง ให้ถือเป็นประเทศหนึ่ง

[8] มาตรา 18 คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งต่อไปนี้ ไม่นับเป็นคนเข้าเมือง

(1)   ผู้ที่เข้ามาเพื่อธุรกิจ ความสำราญ อนามัยหรืออื่น ๆ เป็นการชั่วคราว

(2)   ผู้ที่เดินทางผ่านราชอาณาจักร

(3)   ผู้ควบคุมพาหนะและคนประจำพาหนะที่เข้ามายังท่า สถานี หรือตำบลในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

(4)   นักเรียนซึ่งมีปัจจัยเพียงพอแก่การศึกษาและการเลี้ยงตัวเองในราชอาณาจักรประสงค์จะเข้ามาศึกษา ณ สถานศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้เพื่อการนี้ และอยู่ชั่วระยะเวลาที่ศึกษา

(5)   ผู้ที่เป็นนักท่องเที่ยวหรือนักกีฬาที่เข้ามาเป็นหมู่คณะ

หมายเลขบันทึก: 362418เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2010 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ.แหววเสนอให้ทำตารางเทียบคุณสมบัติอันเป็นเงื่อนไขการต้องห้ามเข้าเมืองของคนต่างด้าวในแต่ละประเภทนะคะ โดยเทียบภายใต้กฎหมายเข้าเมืองแต่ละฉบับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท