นปส.55 (3): ก้าวย่างทางฝัน


ผอ.สถาบันดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า "ไม่มีใครบังคับให้ท่านมาเข้าอบรม ทุกคนมาด้วยความสมัครใจ จึงขอให้ท่านใช้โอกาสในการพัฒนาสมอง พัมนากาย พัฒนาใจและพัฒนาความสัมพันธ์"

๓.ก้าวย่างทางฝัน

ผมตื่นเช้าอย่างสดชื่นและตื่นเต้นเหมือนเด็กนักเรียนเปิดเทอมใหม่ แต่งชุดเครื่องแบบข้าราชการปกติสีกากีคอพับแขนยาว ขับรถไปที่วิทยาลัยมหาดไทยที่อยู่ห่างพัทยาราว 10 กิโลเมตร ย้อนกลับไปทางบางละมุง เข้าไปจอดรถและติดต่อเคาน์เตอร์ที่พัก รับกุญแจเข้าห้องพักก่อน ขนของสัมภาระไปเก็บในห้องพักที่จัดไว้ให้พักสองคน ไม่มีพักเดี่ยว มีการเขียนชื่อผู้เข้าพักติดไว้ที่ประตูหน้าห้องเลย

ผมสังเกตดูแล้ว วิทยาลัยมหาดไทย มีความสงบร่มรื่นดีมาก มีต้นไม้ อาคาร สนามหญ้า มีคลองขนาบโดบรอบและมองออกไปเห็นทะเลทางด้านหลัง อาคารที่พัก เป็นตึกสูง 5 ชั้น มีลิฟท์ขึ้นลง ห้องพักปูพรม เตียงคู่พักห้องละ 2 คน ติดเครื่องปรับอากาศ โทรศัพท์ภายใน เครื่องรับโทรทัศน์ โต๊ะเขียนหนังสือ โคมไฟฟ้า ตู้ใส่เสื้อผ้าและห้องน้ำภายในห้อง มีไวร์เลสอินเตอร์เน็ต แต่ไม่มีตู้เย็นให้ มีผู้ดูแลห้องพักเหมือนโรงแรมทั่วไป 

อาคารเรียน มี 3 ชั้น ชั้น 1 ห้องบริหารงานทั่วไป ห้องสมุด ห้องจัดรายการเพลงสำหรับปลุกตอนเช้า  ห้องออกกำลังกายพร้อมอุปกรณ์ 1 ห้อง ห้องอาหาร 2 ห้อง ชั้น 2 เป็นห้องเธียเตอร์ 1 ห้องและห้องเรียน 1 ห้อง (ห้องพรมแดง) ชั้น 3 มีห้องเรียน 2 ห้อง ห้องแบ่งกลุ่มย่อย 4 ห้อง ห้องคอมพิวเตอร์ 1 ห้อง ห้องแลบภาษาอังกฤษ 1 ห้อง ห้องคาราโอเกะ 1 ห้อง ห้องอบซาวน่า 2 ห้อง (ชาย-หญิง)

มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวิชาการเช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องรับส่งโทรสาร มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านนันทนาการเช่น สนามเทนนิส สนามตระกร้อ สนามเปตอง โต๊ะปิงปอง สนามฟุตบอล ห้องฟิตเนสและห้องคาราโอเกะ มีสิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไปเช่นเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ บริการรับซักรีดเสื้อผ้าโดยเอกชน ห้องรีดผ้า หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์สาธารณะ โดยรอบวิทยาลัยเป็นทางเดิน/วิ่ง ติดกับคลองและชายทะเล บรรยากาศดี ลมพัดเย็นสบาย

กำหนดการศึกษาอบรมในวันจันทร์ที่ 19 เมษายน วันแรกของหลักสูตร จัดให้มีการรายงานตัวที่ห้องชลบุรี (ห้องเธียเตอร์) อาคารสัมมนาชั้น 2 โดยกำหนดการ กำหนดไว้ดังนี้

เวลา  08.00 น. -  รายงานตัว/ลงทะเบียนเข้าที่พัก  และลงทะเบียนปฐมนิเทศ ณ ห้องชลบุรี อาคารสัมมนา วิทยาลัยมหาดไทย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

09.00 น.             - กล่าวต้อนรับและชี้แจงโครงการโดยผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ

09.15 น.             - ชี้แจงหลักสูตร นปส. รุ่นที่ 55 โดยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

09.45 - 10.00  น. -  รับประทานอาหารว่าง

10.00 น.            -  ชี้แจงหลักสูตร  นปส.  รุ่นที่  55  (ต่อ)

12.00 -13.00  น.  -  รับประทานอาหารกลางวัน

13.30  น.           -  พิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 55 และให้โอวาทโดยปลัดกระทรวงมหาดไทย   

                        -  ผู้อำนวยการวิทยาลัยมหาดไทย กล่าวต้อนรับ และชี้แจงระเบียบและแนวทางการปฏิบัติตนระหว่างการศึกษาอบรมและพักค้าง ณ วมท.บางละมุง

                        -  พักผ่อนตามอัธยาศัย

18.00  น.           -  รับประทานอาหารเย็น (ห้องสัตหีบ)

         กำหนดการที่แจ้งไว้เดิม จะเหมือนของรุ่น 54 คือพิธีเปิดจะจัดขึ้นที่กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพฯ แล้วค่อยเดินทางต่อมาที่วิทยาลัยมหาดไทย แต่คาดว่าจากความวุ่นวายทางการเมืองจึงให้รวบมาอยู่ที่เดียวกันเลย และในที่สุดท่านปลัดกระทรวงฯก็ติดภารกิจเร่งด่วน ไม่สามารถมาเป็นประธานในพิธีเปิดได้

คุณศุภโชค เลาหะพันธุ์ ผอ.สถาบันดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวต้อนรับและชีแจงโครงการฯ ซึ่งรุ่น 54 กับ รุ่น 55 จะมีช่วงเวลาเรียนที่ทับซ้อนกันราว 2 เดือนกว่าๆ แต่ทีมผู้บริหารการฝึกอบรมและผู้รับผิดชอบโครงการเป็นคนละชุดกัน ของรุ่น 54 เป็นทีมคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนของรุ่น 55 เป็นทีมของสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ผอ.สถาบันดำรงฯกล่าวว่า "ไม่มีใครบังคับให้ท่านมาเข้าอบรม ทุกคนมาด้วยความสมัครใจ จึงขอให้ท่านใช้โอกาสในการพัฒนาสมอง พัมนากาย พัฒนาใจและพัฒนาความสัมพันธ์" และขอให้ใช้เวลานี้อย่างคุ้มค่า

อาจารย์ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการฝึกอบรมและผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ตอนนี้ท่านหมดวาระแล้ว ผอ.ท่านใหม่คืออาจารย์ไชยา ยิ้มวิไล แต่อาจารย์ชาติชายยังคงเป็น ผอ.หลักสูตรอยู่) และก็เป็นอาจารย์ของนิด้าด้วย เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดของหลักสูตรในภาพรวมทั้งหมด ท่านได้กล่าวว่า ระบบราชการไทยกำลังเผชิญกับบริบทที่ท้าทาย 3 ประเด็นคือ

1. สมรรถนะ (Capability)

2. ความน่าเชื่อถือไว้วางใจ (Trustworthiness)

3. ความชอบธรรม (Legitimacy)

และประเทศไทยกำลังเผชิญกับ 4 เรื่องสำคัญคือ

1. Stronger world โลกที่ประชาชนเข้มแข็งมากขึ้น

2. Liquid โลกที่อยู่ในสภาวะไหลเคลื่อนเหลว ไม่คงที่ มไสมารถอธิบายได้ เลื่อนไหลตลอดเวลา

3. Pleuralistic society ลักษณะของสังคมพหุนิยม

4. Fiscal crisis ความอ่อนแอทางการคลัง

สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การพยายามจัดทำหลักสูตรนักปกครองระดับสูง ซึ่งจะออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้นำหรือผู้บริหารระดับสูงในส่วนภูมิภาค ให้สามารถปรับตัว เตรียมพร้อม รับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้

เมื่อปี 2550 ก่อนผมไปเรียนต่อที่เบลเยียม ผมได้รับเชิญจากสถาบันส่งเสริมกิจการฯให้ไปบรรยายในหลักสูตรนักปกครองระดับสูง น่าจะเป็นรุ่น 51 หรือ 52 จำไม่ได้ชัดในหัวข้อ "การบริหารความเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยมในระบบราชการ" เนื่องจากโรงพยาบาลบ้านตาก ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 6 ต้นแบบภาคราชการ แต่ผมก็ยังไม่ได้พบและรู้จักอาจารย์ชาติชายโดยตรง

ผมได้มีโอกาสรู้จักและพูดคุยกับอาจารย์ชาติชาย เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2553 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานรับรางวัลนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดีเด่น ประจำปี 2552 ที่อาจารย์ชาติชายได้รับในสาขานักวิชาการ ส่วนผมได้รับในสาขาบริการสังคม และได้พบกับท่านมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ท่านได้รับรางวัลในสาขาบริหารราชการ และมีศิษย์เก่าอีก 5 คน รวมทั้งหมด 8 คนคือคุณชมเดือน ศตวุฒิ(สาขาบริหารธุรกิจ) รศ. นพ.นิเวศน์ นันทจิต(สาขาบริหารองค์กรการศึกษา) คุณพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล(สาขาบริหารราชการ)  คุณสมชัย สมัยสุต(สาขาบริการสังคม)  คุณจรัล จึงยิ่งรุ่งเรือง(สาขาบริหารธุรกิจ) คุณผ่องศรี ปิยะยาตัง (สาขาบริการสังคม) รศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ (สาขาส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม)

หมายเลขบันทึก: 362214เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2010 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท