จากบทเรียนแบบโปรแกรม, คอมพิวเตอร์ช่วยสอน, WBI และมาเป็น e-Learning


การเรียนการสอนแบบเอกัตบุคคล

จากบทเรียนแบบโปรแกรม, คอมพิวเตอร์ช่วยสอน, WBI และมาเป็น e-Learning

รองศาสตราจารย์ทวีศักดิ์ ทิพย์รอด เรียบเรียง

              ศตวรรษที่ 21 ถือว่าเป็นยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายๆ ด้านอันนำไปสู่การปรับตัวเพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางกระแส โลกาภิวัฒน์ ทุกประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งสู่กระแสใหม่ของการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า สังคมความรู้ (Knowledge society) เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่นับว่ามีบทบาทอย่างยิ่งได้แก่ คอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวงการ โดยเฉพาะวงการศึกษาก็ได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหาร การบริการ และการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะการเรียนแบบเอกัตบุคคลนับว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ปฐมบทของหลักการพื้นฐานของ e- Learning
การเรียนการสอนแบบโปรแกรม (Program Instruction)

          
การเรียนการสอนแบบโปรแกรม (Program Instruction)เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาเพื่อสนองการเรียนแบบเอกัตบุคคล ที่อยู่ภายใต้แนวคิดเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล(Individual Differences) ซึ่งเรายอมรับกันว่า คนเราเกิดมาไม่เหมือนกันแตกต่างกันในด้านรูปร่าง สติปัญญา ความคิด ความรู้สึก ฯลฯ ในการจัดการเรียนการสอนอาจจะให้เรียนตามความสามารถ ตามความชอบ หรือทัศนคติ ตามวัยหรืออายุ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนไปตามขีดความสามารถของตนที่มีอยู่ (capacity)ในอัตราการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน คนที่สามารถเรียนได้เร็วก็ไม่ต้องเสียเวลารอคอยคนที่เรียนช้า และคนที่เรียนช้าก็ไม่เกิดปมด้อย แนวคิดเรื่องความพร้อม (Readiness) จากผลการวิจัยทางจิตวิทยาการเรียนรู้ชี้ให้เห็นว่า ความพร้อมในการเรียนเป็นสิ่งที่สร้างได้ ถ้าเราสามารถจัดบทเรียนให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้เรียน โดยอาจจะต้องคำนึงถึงการจัดลำดับเนื้อหา การใช้เวลาให้เหมาะสมกับวัยหรือระดับผู้เรียน การใช้สื่อการเรียนการสอนมาช่วยส่งเสริมการเรียนรู้เป็นต้น แนวคิดเรื่องการใช้เวลาในการศึกษา เพื่อให้สัมพันธ์และเหมาะสมกับวิชาแต่ละวิชา และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้เวลาในการเรียนให้เป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละคนในเวลาใดก็ได้ (Anytime) และแนวคิดในเรื่องการขยายตัวทางวิชาการ และการเพิ่มประชากร เพื่อให้การเรียนการสอนได้ทันกับความก้าวหน้าทางวิชาการ และความเสมอภาคทางการศึกษาของประชาชน

หลักการพื้นฐานของการเรียนการสอนแบบโปรแกรม มีดังนี้
              1. การแบ่งขั้นเนื้อหา (Information) ออกเป็นหน่วยย่อยๆ และเรียงลำดับจากง่ายไปสู่ยาก (Gradual approximation) จัดความรู้หรือเนื้อหาให้ผู้เรียนไปทีละขั้นทีละตอน และแต่ละขั้นย่อยๆ นั้นได้มีการลำดับจากสิ่งที่ง่ายไปหาสิ่งที่ยากขึ้นทีละน้อยอย่างต่อเนื่องกัน ไม่สับสน และไม่เป็นการยัดเยียดความรู้ให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ง่าย
              2. เปิดโอกาสให้มีการโต้ตอบระหว่างผู้เรียนกับบทเรียนได้(interactive) และมีส่วนร่วมในการเรียนอย่างกระฉับกระเฉง (Active participation) โดย ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการกระทำด้วยตนเอง อาจจะจัดในรูปการซักถาม เพื่อให้ผู้เรียนได้ตอบคำถาม การทดสอบ การอภิปราย หรือวิธีการใดก็ตามที่อาศัยหลักการทางจิตวิทยาในเรื่องการเสนอสิ่งเร้าเพื่อ ให้ผู้เรียนมีการตอบสนอง (S-R Theory) การเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมและเป็นไปอย่าง ทั่วถึงทุกคน มิใช่ว่าตอบสนองเพียงบางคน การเรียนการสอนในลักษณะนี้ก็ทำให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ไม่เบื่อหน่ายต่อบท เรียน
              3. ให้ผู้เรียนได้ทราบผลการเรียนของตนอย่างทันทีทันใด (Immediate feed back) ภายหลังที่นักเรียนได้ตอบสนองสิ่งเร้าแล้ว ควรแจ้งหรือเฉลยคำตอบที่ถูกต้องให้ผู้เรียนทราบผลทันที ซึ่งเน้นในเรื่องความฉับพลัน มิฉะนั้นแล้วผู้เรียนจะเกิดความเบื่อหน่ายและทำให้การเรียนรู้ไม่ต่อเนื่องกัน
              4. ให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนเป็นระยะๆ (Successful experience) เนื่องจากการแบ่งขั้นการเรียนออกเป็นหน่วยย่อยๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้และยังแจ้งผลการตอบสนองของผู้เรียนอย่างฉับพลัน ทำให้ผู้เรียนได้รับความพอใจในความสำเร็จของตนเสมือนเป็นการให้รางวัล ซึ่งจัดว่าเป็นการเสริมแรงอย่างหนึ่ง (Reinforcement) ทำให้ผู้เรียนอยากเรียนต่อไป
              การสอนแบบโปรแกรม(Program Instruction) อาจจะอยู่ในรูปหนังสือโปรแกรม สไลด์โปรแกรม หรือการเรียนการสอนใช้สื่อประสม ได้รับการพัฒนาไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร เนื่องจากลักษณะของบทเรียนมีแต่ข้อความ (Text)และถ้าจะมีสื่อประกอบก็มีแต่รูปภาพ สื่ออื่นที่มาประกอบเนื้อหามีน้อยหรือแทบไม่มีเลย ทำให้ความน่าสนใจบทเรียนมีน้อย อีกทั้งกระบวนการผลิตบทเรียนโปรแกรมแต่ละเรื่องหรือ หนังสือโปรแกรมแต่ละเล่ม จะต้องผ่านการทดลองหาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ก่อนที่จะนำไปใช้ เรียกง่ายๆ คือจะต้องมีการวิจัยพัฒนาบทเรียนให้ได้คุณภาพเสียก่อนจึงจะนำไปใช้ได้ ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้การนำหนังสือโปรแกรมที่มีคุณภาพจริงๆ มีน้อย และก็ซบเซาลงในที่สุด

การเรียนการสอนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI : Computer Assisted Instruction)
          
กระแสสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information society) นับเป็นกระแสที่มาแรงมาก ประเทศส่วนมากในโลกทั้งที่พัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนากิจกรรมต่างๆ ของประเทศ การศึกษานับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาร่วมผสมผสาน นับตั้งแต่การนำคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน จนก้าวสู่การใช้คอมพิวเตอร์พัฒนาสื่อช่วยเสริมการเรียนการสอนที่เรียกว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI : Computer Assisted Instruction)
              เมื่อบทเรียนโปรแกรมที่อยู่ในลักษณะของหนังสือได้รับความนิยมน้อยลง ก็มีผู้พัฒนาบทเรียนโปรแกรมที่นำเสนอเนื้อหา สื่อ กิจกรรม การประเมินผล และกระบวนการเรียนรู้อื่นๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ โดยนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ได้อย่างสมบูรณ์ลงตัวที่สุด แต่ก็ยังคงยึดหลักการพื้นฐานของการเรียนแบบโปรแกรมมาใช้ เพียงแต่ปรับปรุงให้เหมาะกับการใช้คอมพิวเตอร์ลักษณะการเรียนด้วย คอมพิวเตอร์จะประกอบด้วยองค์ประกอบที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ของผู้เรียนต่อ สิ่งที่นำเสนอผ่านประสาทสัมผัสได้แก่
              1.ข้อความ(Text)สื่อที่ใช้นำเสนอเนื้อหาจะประกอบด้วยข้อความที่แสดงผลทางจอคอมพิวเตอร์ ผู้เรียนจะใช้สายตามองที่จอภาพเพื่ออ่านข้อความ ตัวอักษร ตัวเลข หรือสัญลักษณ์พิเศษอื่นๆ ข้อความจะนำเสนอที่ต่อเนื่องลักษณะของการเสนอทีละกรอบ (frame by frame)
              2. กราฟิก (Graphics)โดยมากใช้เพื่อดึงดูดความสนใจ และเพื่อเป็นตัวชี้แบ่งแยกความแตกต่างในการนำเสนอเนื้อหา โดยแสดงผลด้วยเส้นวงกลม สี่เหลี่ยม และแสงเงา ที่อธิบายความหมายหรือแสดงองค์ประกอบของวัตถุได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
              3. รูปภาพ (Images) ได้แก่ภาพนิ่ง ภาพถ่ายขาวดำ ภาพถ่ายสี หรือภาพจากเอกสารสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ เพื่อสื่อความหมายและจัดประสบการณ์แก่ผู้เรียน
              4. เสียง (Audio) ได้แก่เสียงธรรมชาติ เสียงประดิษฐ์ เสียงดนตรี รวมทั้งเสียงประเภทอื่นๆ ใช้เพื่อกระตุ้นความสนใจ และอธิบายข้อเท็จจริงแก่ผู้เรียนผ่านทางประสาทรับสัมผัสทางการได้ยิน
              5. ดิจิทัลวีดิทัศน์ (Digital video) ใช้เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงของภาพเหตุการณ์ที่ต่อเนื่อง
              การเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะมีลักษณะเช่นเดียวกับบทเรียนโปรแกรมคือต่างคนต่างเรียนไม่เกี่ยวข้องกัน อิสระต่อกัน (Stand alone Based) ซึ่งสื่อที่ใช้ในการเรียนรู้อาศัยการถ่ายทอดด้วยแผ่นดิสต์ (diskette) แผ่นซีดีรอม (CD-ROM) แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบการถ่ายทอดด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ซึ่งในช่วงแรกก็พยายามนำสื่อการเรียนรู้เดิมมาเปลี่ยนรูปแบบให้ถ่ายทอดด้วยอินเทอร์เน็ตเช่น นำสื่อการเรียนที่พัฒนาด้วย Author ware ซึ่งเดิมทำงานบนแผ่นดิสต์ (diskette) แผ่นซีดีรอม (CD-ROM) มาเก็บไว้ในเครื่องบริการเว็บ (Web server) เพื่อให้ผู้เรียนเรียกดูผ่านโปรแกรมบราวเซอร์ (Web browser) ทำให้เกิดคำว่า CAI Online
              CAI Online เป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างสื่อการเรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มา ช่วยในการพัฒนา และถ่ายทอด โดยเป็นการถ่ายทอดความรู้ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นหลักบทเรียนคอมพิวเตอร์ แบบออนไลน์พบว่าเกิดปัญหาในการนำมาใช้งานหลายประเด็นโดยเฉพาะด้านความเร็วใน การแสดงผล เมื่อมีการร้องขอจากผู้เรียนที่อยู่ปลายทาง เนื่องจากปัญหาของระบบโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารหลักของประเทศ (สายโทรศัพท์) ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการเรียกดูข้อมูลขนาดใหญ่ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ทำให้ปัจจุบัน CAI Online ได้ลดบทบาทและความน่าสนใจลงไปมาก

การเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web Based Instruction)
          
เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาถึงยุคไร้พรมแดนด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การเรียนการสอนก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างมาก โดยมีการนำเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะบริการเวิลด์ไวด์เว็บ (WWW : World Wild Web) มาพัฒนาเป็นสื่อถ่ายทอดวิชาการความรู้สาขาต่างๆ เข้าสู่ระบบ เพิ่มช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ด้วยระบบการติดต่อทางไปรษณีย์อีเล็กทรอนิกส์ (e-mail : Electronics Mail) การสนทนาด้วยช่องทาง IRC (Internet Relay Chat) เป็นต้น เป็นการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนๆ ผู้สอน หรือบุคคลอื่นที่สนใจ และผู้เชี่ยวชาญโดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน เข้าโรงเรียน เพราะถือว่าเว็บไซต์เป็นเสมือนห้องเรียน หรือโรงเรียน หนังสือเนื้อหาการเรียนถูกแทนที่ด้วยเนื้อหาดิจิทัลลักษณะต่างๆ ทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง และวีดิทัศน์ ตามแต่ลักษณะของเว็บไซต์ ส่งผลให้สื่อการสอนผ่านเว็บสามารถเผยแพร่ได้รวดเร็ว และกว้างไกลกว่าสื่อ CAI ปกติ สื่อเรียนรู้ออนไลน์ได้พัฒนารูปแบบไปมาก มีการนำเทคโนโลยีเว็บเพจ (Web technology) มาช่วยสร้างสื่อการเรียนรู้ และพบว่าได้ผลเป็นอย่างดี

WBI: Web Based Instruction จะประกอบด้วย
              1. สื่อสำหรับนำเสนอ (Presentation media) ซึ่งเป็นตัวบทเรียนที่นำเสนอผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้
แก่ ข้อความ (Texts),ภาพนิ่ง (Still images),กราฟิก (Graphics),ภาพเคลื่อนไหว (Animation),วีดิทัศน์ (Video) และเสียง (Sound)
              2. การปฏิสัมพันธ์ (Interactivity) เป็นการโต้ตอบที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เรียนกับบทเรียน
              3. การจัดการฐานข้อมูล (Database Management) เป็นส่วนการจัดการบทเรียน ตั้งแต่การลงทะเบียนจนถึงการประเมินผล
              4. การสนับสนุนการเรียนการสอน (Course support) เป็นบริการต่างๆ ที่มีอยู่ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนซึ่งจำแนกเป็น
                  Asynchronous เป็นส่วนสนับสนุนการเรียนการสอนที่ใช้งานในลักษณะ Off-lineสำหรับติดต่อสื่อสาร
ได้แก่ e-mail, Web board, Newsgroup
                  Synchronous เป็นส่วนสนับสนุนการเรียนการสอนที่ใช้งานในลักษณะ On-line สำหรับติดต่อสื่อสาร
ได้แก่ การประชุมทางไกล (Conferencing) การสนทนาผ่านเครือข่าย (Chat) การสอนสด (Live lecture) และอื่นๆ
              สื่อการเรียนรู้ WBI ที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีเว็บมีราคาถูก เนื่องจากพัฒนาด้วยภาษา HTML (Hypertext Mark up Language) ซึ่งสามารถสร้างได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง วีดิทัศน์พร้อมๆกับรูปภาพ เสียง ไฟล์วีดิทัศน์ดิจิทัล ซึ่งได้รับการออกแบบให้เหมาะสมต่อการนำเสนอผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และแสดงผลได้อย่างรวดเร็ว

E-Learning
          
สื่อ การเรียนรู้ในรูปแบบ E-Learning สามารถกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก WBI โดยมีจุดเริ่มต้นจากแผนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาของชาติสหรัฐอเมริกา (The National Educational Technology Plan' 1996) ของกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐอเมริกาที่ต้องการพัฒนารูปแบบการเรียนของนักเรียน ให้เข้ากับศตวรรษที่ 21 การพัฒนาระบบการเรียนรู้จึงมีการกำหนดเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต มาช่วยเสริมอย่างเป็นจริงเป็นจัง
              ดร.สุรสิทธิ์ วรรณไกรโรจน์ ผู้อำนวยการโครงการเรียนรู้แบบออนไลน์แห่งสวทช. ได้ให้คำจำกัดความของ E-Learning ดังนี้ " E-Learning การศึกษาเรียนรู้ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต (Internet) หรืออินทราเน็ต (Intranet) เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนจะได้เรียนตามความสามารถและความสนใจของตน โดยเนื้อหาของบทเรียนซึ่งประกอบด้วยข้อความ รูปภาพ เสียง วีดิทัศน์ และมัลติมีเดียอื่นๆ จะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่าน Web browser โดยผู้เรียนผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคน สามารถติดต่อปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ โดยอาศัยเครื่องมือการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย จึงเป็นการเรียนสำหรับทุกคนเรียนได้ทุกเวลา และทุกสถานที่ (Learn for all : anyone, anywhere and anytime)

รูปแบบการพัฒนาระบบการเรียนการสอนผ่านเว็บ
         
ไม่ว่าจะเป็น WBI หรือ E- Learning ต่างก็เป็นการสร้างสื่อการเรียนการสอนผ่านเว็บ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มตามลักษณะของเนื้อหาที่นำเสนอได้ 3 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ
              1. Text Online เป็นลักษณะของเว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาด้วยข้อความที่อยู่ในรูปของ Text หรือเอกสาร PDF
(Portable Document File) เพื่อให้ดาวน์โหลดข้อมูลไปเรียกดู
              2. Low Cost System & Multimedia Online เป็นลักษณะของเว็บไซต์ที่นำเสนอด้วยสื่อต่างๆ ทั้งรูปภาพและ
ภาพเคลื่อนไหว ตลอดจนสื่อมัลติมีเดียระบบ Flash แต่ไม่มีระบบสมาชิก ระบบจัดการและบริการหลักสูตรและติดตามผลการเรียน (CMS/LMS)
              3. Full System & Multimedia Online จัดเป็นระบบที่เป็นการนำ Web programming มาควบคุมการนำ
เสนอ เช่น ระบบสมาชิก ระบบทดสอบ และรายงานผล รวมทั้งระบบติดตามตรวจสอบและรายงานผลการใช้งาน และบริหารจัดการเนื้อหา (Course / Learning Management System : CMS/LMS)
อะไรคือข้อแตกต่างระหว่าง WBI กับ E- Learning
          
ถ้าพิจารณาให้ชัดเจนก็จะพบว่าทั้ง WBI กับ E- Learning ก็จะมีลักษณะเหมือนกัน เพียง แต่ E- Learning ได้นำเอาระบบการจัดการมาใช้ในการบริหารที่ชัดเจนขึ้นอันได้แก่
             1. ระบบจัดการด้านการเรียนรู้ (Learning Management System : LMS) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการ
ระบบของ E- Learning จะประกอบด้วยการบริหารจัดการบทเรียน ระบบสมาชิก การจัดการด้านเวลา การรายงานการเรียน การวิเคราะห์ความต้องการของผู้เรียน การจัดตารางเวลาเรียน การวางแผนด้านทรัพยากร ตลอดจนด้านการรับรองผล การให้ใบรับรองผ่านการเรียน
              2. ระบบจัดการด้านเนื้อหา (Content Management System : CMS) จะประกอบด้วยการเตรียมวางแผนบทเรียน (Preplanning) การจัดการเนื้อหาของบทเรียน (Organization Management) และการจัดการด้านองค์ความรู้ (Knowledge Management)
              3. ระบบจัดการด้านการนำส่ง (Delivery Management System : DMS) จะอยู่ในลักษณะ Asynchronous
(Off-line) การติดต่อสื่อสารได้แก่ e-Mail, Web board, Newsgroup และในลักษณะ Synchronous ( On-line) การติดต่อสื่อสารได้แก่ การประชุมทางไกล (Conferencing) การสนทนาผ่านเครือข่าย (Chat) การสอนสด (Live lecture) และอื่นๆ
        
   4. ระบบจัดการด้านการทดสอบ (Test Management System : TMS) การเตรียมการทดสอบ การประเมินผล และการรายงานผลการใช้งาน

บทสรุป
         
แม้ว่าการเรียนแบบอกัตบุคคลในยุค E- learning ได้รับการพัฒนาจนถึงขีดความสามารถในการจัดการเรียนการสอนในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ว่าจะเป็น CAI,WBI หรือ E- learning ต่างก็มีหลักการพื้นฐานการเรียนแบบเอกัตบุคคล ในลักษณะของบทเรียนโปรแกรม(Program Instruction) เช่นเดียวกัน เพียงแต่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะทางด้านอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีของเว็บ เป็นการเริ่มศตวรรษใหม่ในการเรียนรู้ และยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ในยุคอนาคต ซึ่งจะเข้าสู่ยุคของการเรียนแบบ M- learning (Mobile learning) การเรียนผ่านโทรศัพท์มือถือ ก็จะเข้ามาแทนที่ E- learning ซึ่งกำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ และยุคของ C- Learning (Collaborative learning) ซึ่งคงจะได้มาพูดกันอีกในโอกาสต่อไป ถึงแนวโน้มและความเป็นไปได้

เอกสารอ้างอิง
กิดานันท์ มลิทอง. เทคโนโลยีการศึกษาและนวัตกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.
บุญเกื้อ ควรหาเวช. นวัตกรรมการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543.
วุฒิชัย ประสารสอย. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน : นวัตกรรมเพื่อการศึกษา. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดวี.เจ.พริ้นติ้ง, 2543.
วาสนา ชาวหา. เทคโนโลยีการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดกราฟิกอาร์ต, 2525.
Alessi,M. &Trollip,S. Computer-Based Instruction.2nd ed. New Jersey : Prentice Hall,1989.Khan,Badrul H. Web-Based Instruction. New Jersey : Educational Technology Publication, 1997.
ชุณหพงศ์ ไทยอุปถัมภ์. eLearning [online] Available : http://www.thaicai.com/articles/elearning5.html. Accessed [25/05/2010].
ดิเรก ธีระภูธร. การใช้คอมพิวเตอร์ในวงการศึกษา [online] Available : http://www.edu.nu.ac.th/wbi/366514/index.htm. Accessed [25/05/2010].

หมายเลขบันทึก: 361774เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2010 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้ามาอ่านแล้วได้ความรู้เยอะเลยครับอาจารย์

ขอบคุณครับที่เป็นสมาชิกเครือข่าย km ของคณะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท