PDCA เรื่องเดิม ๆ ที่ถูกมองข้าม


"ตนเตือนตนให้พ้นผิด ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือนตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน ตนแฉเฉือนใครจะเตือนก็ป่วยการ"

      เชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่านหูผ่านตากับ หลักและทฤษฎีทางการศึกษามามากมาย ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยจวบจนเป็นครูมีวิทยฐานะต่าง ๆ การทำงานวิจัยต่าง ๆ ก็มักจะมีการหยิบยก หลักและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเพื่อมาสนับสนุนแนวความคิดของงานวิจัยนั้น ๆ แต่มีอยู่ทฤษฎีหรือหลักการอยู่อย่างหนึ่ง ที่เมื่อแวะเวียนไปโรงเรียนไหน ๆ ก็มักจะมีรูปภาพหรือหลักการนี้ติดอยู่เสมอ ซึ่งรูปแบบที่เห็นบ่อยที่สุดคือ PDCA ที่ย่อมากจาก Planning Doing Checking และAction

     Planning หรือ การวางแผน  โรงเรียนในปัจจุบันทุกแห่งต่างก็ต้องจัดทำแผนในระยะต่าง ๆ ที่เป็นแผนระยะยาวสมัยก่อนเป็นแผน 5 ปีนั้นก็ใช้คำว่า ธรรมนูญโรงเรียน  ต่อมาก็ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับยุคสมัยก็กลายเป็น แผนยุทธศาสตร์การศึกษา (3 ปี)  ซึ่งเมื่อได้แผนใหญ่มาแล้ว โรงเรียนก็จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี หรือที่เรียกว่าแผนปีบ้าง แผนขอเงินบ้าง สุดแล้วแต่ความคุ้นเคย  แผนที่ดีนั้นควรจะเป็นการระดมความคิดเห็นที่เกิดจากการศึกษาสภาพปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดต่าง ๆที่โรงเรียนประสบในอดีตที่ผ่านมา หากการวางแผนมาจากผู้บริหารเพียงคนเดียว แผนนั้นย่อมไม่ครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน ผลก็คือ แก้ไม่ถูกที่  ทำไม่ถูกเวลา   ปัญหาก็มีไม่รู้จบ

     Doing  หรือ การปฏิบัติ   มีการวางแผนแล้ว ขั้นต่อไปคือการนำไปปฏิบัติ ปัญหาที่พบบ่อยในการปฏิบัติคือ  ผู้ปฏิบัติไม่ได้มีส่วนร่วมในการวางแผน ผลคือการทำตามหน้าที่อย่างเคร่งครัดคือมีหน้าทำฉันก็ทำแค่นั้นพอ ไม่สนใจว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่  และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร  ฉะนันแค่ทำในที่นี้คงไม่เพียงพอ  ก่อนทำนั้นผู้บริหารต้องสร้างการมีส่วนร่วม และความเข้าใจในวิสัยทัศน์ขององค์กรว่าเราจะไปในทิศทางใด 

     Checking หรือ การตรวจสอบ  พอวงจรที่ 1 และ 2 ดำเนินมาได้สักระยะ ก็จะเข้าสู่การตรวจสอบ ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนที่เรามักมองข้าม  เพราะเชื่อว่าหากกำลังทำงานอยู่แล้วมีคนมาบอกว่า จะมีคนมาตรวจสอบการทำงานของเราก็ย่อมรู้สึกไม่ดีแน่ ๆ บางครั้งนอกจากรู้สึกไม่ดีแล้วยังรู้สึก โกรธหรือเกลียดหน่วยงานหรือคนที่มาตรวจสอบซะอีก ทั้งที่การตรวจสอบบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ทราบกันดีก่อนอยู่แล้วตั้งแต่แรกว่าจะมีการตรวจเมื่อไหร่ อย่างไร  มองโลกในแง่ดีการตรวจสอบด้วยความเป็นกลางไม่มีอคติมีแต่ผลดีต่อผู้ถูกตรวจหรือผู้ปฏิบัติงาน เพราะจะได้รู้ว่าเรานั้นควรต้องปรับปรุงแก้ไข อะไรเพิ่มเติม อย่างไร  เวลาถูกตรวจคนเรามักอยากจะให้ผู้ตรวจชมหรือบอกข้อดี  ทั้ง ๆ ที่การรับฟังข้อดีนั้นอาจจะไม่ได้ประโยชน์เท่ากับการฟังข้อเสียเลย การตรวจสอบเองก็ควรทำเป็นระยะสม่ำเสมอ มีความชัดเจน และมีการแจ้งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบ  เกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบไม่ควรอ้างอิงจากที่อื่นมาทั้งหมด อาจมีการปรับให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมของโรงเรียน โดยให้ผู้ถูกตรวจสอบได้มีส่วนร่วมในการสร้างเกณฑ์การตรวจสอบก็จะช่วยสร้างการยอมรับได้มากขึ้น

     Action หากจะแปลตามตัวก็คงมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ออกอาการ  ซึ่งอาการในที่นี้ก็คือ ออกอาการทำอะไรสักอย่างในการแก้ไขปรับปรุงหลังจากที่มีการตรวจสอบมาแล้ว จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ข้อนี้เป็นข้อที่ทำน้อยที่สุด หรือบางแห่งอาจจะไม่ทำเลย (แต่บอกกับคนอื่นว่าทำบ้าง) ปัญหาที่พบก็คือ ครูก็จะบอกว่าจะทำได้อย่างไรละในเมื่อผู้บริหารไม่ได้สั่งหรือพูดอะไรเลย  ถ้าอยู่เฉย ๆ ไป บอกกับผู้บริหารว่าเราควรแก้ไขตรงนี้นะควรทำอันนี้นะ เพราะตรวจสอบแล้วโรงเรียนเราบกพร่อง มีหวังอนาคตครูคนนั้น(อาจ)เศร้าหมองก็ได้ 

      PDCA หรือ บางคนก็เรียกว่า Deming Circle สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับตัวเองก็ได้  ทั้งนี้อาจไม่ได้ทำเป็นกลุ่มเป็นคณะ  แต่ใช้เพื่อตรวจสอบการทำงานของตนเองว่าเป็นอย่างไร ควรปรับปรุงแก้ไขอะไร ผมเชื่อว่าการนำทฤษฎีระบบมาใช้กับตัวเองจะช่วยแบ่งเบางานไม่ให้เป็นดินพอกหางหมู  แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็คงต้องอยู่ที่ตัวเราแล้วละครับ เหมือนกลอนบทหนึ่งที่ว่า     "ตนเตือนตนให้พ้นผิด    ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน  ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน    ตนแฉเฉือนใครจะเตือนก็ป่วยการ"

หมายเลขบันทึก: 361272เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2010 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบของเก่าเหมือนกันค่ะ

สิ่งดีเก็บไว้ ดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท