สถานการณ์การเผายางรถยนต์ในกรุงเทพมหานครกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


ผมนั่งติดตามสถานการณ์ความวุ่นวายภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดอย่างใจจดใจจ่อ ผ่านหน้าจอโทรทัศน์อยู่หลายวันในช่วงที่รัฐบาลประกาศให้วันที่ 17-21 พฤษภาคม 2553 เป็นวันหยุดราชการที่ยาวนานที่สุดเท่าที่ผมจำความได้ ด้วยความที่เป็นอาจารย์นักสิ่งแวดล้อม ผมจึงนั่งลองคิดเล่นๆถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์สุดฮิต นั่นก็คือการเผายางรถยนต์ ให้เข้ากับศาสตร์ที่ผมดูจะเชี่ยวชาญนั่นก็คือสิ่งแวดล้อม บวกกับความคันไม้คันมืออยากเขียนถ่ายทอดอะไรให้คนไทยได้คลายจากสถานการณ์ตึงเครียดบ้าง (ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอ่านแล้วจะเครียดกว่าเดิมหรือเปล่านะครับ เอาเป็นว่าคิดตามไปเล่นๆก็แล้วกัน) บทความสั้นๆฉบับนี้จึงเกิดขึ้นอย่างเร่งรีบ และฉับพลัน ด้วยเพราะกลัวว่ามันจะ out หรือเชยไปเสียก่อน ผมนั่งจดมือบนคอมพิวเตอร์คู่ใจพร้อมกับเริ่มหาข้อมูลจากหนังสือ วารสารทางวิชาการ และไม่ลืมที่จะใช้บริการ Dr.Google ด้วยเช่นกัน

ประเด็นที่ผมใคร่ขอนำเสนอนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมของเราจากการเผายางรถยนต์เป็นจำนวนมากครับ คงต้องอธิบายก่อนครับว่ายางรถยนต์ที่เราใช้กันอยู่นี้นะ องค์ประกอบหลักของเขาก็คือเนื้อยางสังเคราะห์ (Synthetic rubber) ถามว่าแล้วยางสังเคราะห์นี่นะได้มาจากไหน ยางสังเคราะห์ชื่อก็บอกอยู่แล้วครับว่าได้มาจากการสังเคราะห์ วัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิตยางสังเคราะห์ก็ได้มาจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม พูดกันให้เข้าใจง่ายๆก็คือได้มาจากน้ำมันดิบนั่นเองครับ แน่นอนครับว่าน้ำมันดิบองค์ประกอบหลักของเขาก็คือไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) ดังนั้นถ้านำเอาสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอะไรก็แล้วแต่มาทำการเผา ถ้าเป็นการเผาไหม้แบบสมบูรณ์ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเผาไหม้ก็จะได้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide: CO2) กับน้ำครับ แต่ถ้าเผาแล้วมันไหม้ไม่สมบูรณ์แทนที่จะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เรากลับจะได้เป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide: CO) ซึ่งเป็นก๊าซที่อันตรายกับสุขภาพของมนุษย์แทนครับ

ทีนี้มาดูองค์ประกอบอื่นๆของยางรถยนต์บ้างครับว่าจะมีอะไรนอกเหนือจากองค์ประกอบหลักยางสังเคราะห์ องค์ประกอบอื่นๆที่ปัจจุบันผู้ผลิตยางมักจะเติมลงไปก็เช่น ยางธรรมชาติ (ซึ่งก็เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอีกนั่นแหละครับ เพียงแต่ในทางสิ่งแวดล้อมเห็นว่ายางธรรมชาตินะได้มาจากธรรมชาติ เพราะฉะนั้นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะน้อยกว่า) สารเติมแต่งต่างๆ เช่น สารประกอบซัลเฟอร์ (Sulfur) ผงคาร์บอน และอื่นๆ ตามสูตรของแต่ละบริษัท จะเห็นได้ว่ายางรถยนต์ 1 เส้นมีองค์ประกอบเยอะแยะไปหมดเลยใช่ไหมครับ แต่อย่าลืมครับว่าองค์ประกอบหลักนั้นเป็นยางสังเคราะห์ที่เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน

 เอาละครับตอนนี้มาพิจารณากันว่าการเผายางรถยนต์นั้นจะส่งผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง อย่างที่ผมเกริ่นข้างต้นแล้วว่าสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ถ้านำมาเผาแล้วเกิดแบบสมบูรณ์จะต้องได้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กับน้ำ ซึ่งเจ้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตัวนี่ละครับ ถูกจัดเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ผมจะลองแสดงการประเมินคร่าวๆให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพนะครับ จากข้อมูลที่ผมได้ลองหามาได้ พบว่าน้ำหนักเฉลี่ยของยางรถยนต์ 1 เส้นจะอยู่ที่ราวๆ 16-21 กิโลกรัม (ไม่นับยางรถบรรทุกที่น้ำหนักจะสูงกว่านะครับ) เอาค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 20 กิโลกรัมก็แล้วกัน เมื่อพิจารณาถึงค่าตัวคูณแฟกเตอร์การปลดปล่อยในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยาง ตามแหล่งข้อมูลอ้างอิงของ Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC 2007 แล้วมีค่าเท่ากับ 2.63 kg CO2/kg ซึ่งเมื่อลองคิดเล่นนะครับว่า ถ้ายางรถยนต์ที่ถูกนำมาเผาในเหตุการณ์นี้มามากถึง 30,000 เส้น ก็จะมีน้ำหนักสูงถึง 30,000 x 20 = 600,000 กิโลกรัม แล้วถ้านำเอาค่าแฟกเตอร์การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาคูณ พบว่าจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปลดปล่อยออกมาสูงถึง 600,000 x 2.63 = 1578,000 kg CO2 เลยทีเดียว ซึ่งปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวะโลกร้อนครับ โดยค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีค่าเท่ากับ 1 (อ้างอิงจาก IPCC) เมื่อคูณแล้วพบว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยจากการเผายางรถยนต์ดังกล่าวมีศักยภาพในการทำให้โลกร้อนได้ถึง 1578,000 หน่วยเลยทีเดียว ถามว่าตัวเลขนี้มากหรือน้อย ต้องมีตัวเปรียบเทียบครับ ผมให้ลองคิดดูง่ายๆก็แล้วกันนะครับ จากข้อมูลที่ผมลองค้นหาดูปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้สักอายุประมาณ 10 ปี จะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 7.9 ตัน/เฮกแตร์ ถ้ามีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาประมาณ 1578,000/1,000 = 1,578 ตัน ก็อาจจะต้องอาศัยพื้นที่ป่าไม้สักที่จะต้องดูดซับปริมาณคาร์บอนเหล่านี้ประมาณ 1,578/7.9 = 199.74 เฮกแตร์ หรือ 199.74 x 1,000 = 199,740 ตารางเมตร ลองดูเอาครับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนของเราไปแล้วมากน้อยเท่าไรภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน นี่ผมลองคิดเล่นๆดูนะครับ ยังไม่นับรวมถึงปัจจัยอื่นๆ อีกที่อาจจะเผาไหม้ไม่สมบูรณ์แล้วเกิดเป็นก๊าซพิษที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์เรา และยังไม่รวมถึงสารเติมแต่งอื่นๆที่มีอยู่ในยางรถยนต์อีก โดยเฉพาะสารประกอบซัลเฟอร์ที่เป็นตัวการหลักสำคัญของภาวะฝนกรด (ภาวะนี้ฝนจะมีฤทธิ์เป็นกรด ไม่สามารถใช้บริโภคอุปโภคได้ และมีฤทธิ์กัดกร่อนด้วยครับ) และที่สำคัญผมยังไม่ได้ประเมินถึงอาคาร สิ่งก่อสร้างอื่นๆที่ถูกเผาด้วย อ่านเสร็จแล้วลองประเมินในใจดูเล่นๆครับ เพราะทุกวันนี้เราก็บ่นกันจะแย่อยู่แล้วว่าประเทศเรามันร้อนขึ้นทุกปี                             

                                                          (ผมรักประเทศไทย ผมรักในหลวงครับ)

                                                                              ผศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต

                                                                                   พฤษภาคม 2553

หมายเลขบันทึก: 360450เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2010 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดเลยครับอาจารย์ เป็นบทความที่น่าสนใจมาก อยากให้ทุกคนใช้เหตุผล ข้อมูล มากกว่าใช้กำลังครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท