เลข 4 กับหลักธรรมมงคลทางพระพุทธศาสนา


เลข 4 กับหลักธรรมมงคลทางพระพุทธศาสนา

เลข 4 กับหลักธรรมมงคลทางพระพุทธศาสนา

อริยสัจ 4   คือ ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นพระอริยะ เป็นผู้ประเสริฐได้ อริยสัจ 4 ประกอบด้วย
                1. ทุกข์ ( ธรรมที่ควรรู้ ) หมายถึง ความรู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเศร้าโศกเสียใจ เป็นสภาพบีบคั้นจิตใจและร่างกายให้ทนได้ยาก เมื่อทุกข์เกิดขึ้น บุคคลจะไม่สามารถละหรือคลายทุกข์ได้ ทุกข์จึงเป็นสภาวะที่จะต้องกำหนดรู้เพียงอย่างเดียวว่า นี้คือความทุกข์หรือปัญหาและต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเป็นธรรมดาของสัตว์โลกต้องปล่อยวางจึงจะทำให้ทุกข์บางเบาลงได้
                2. สมุทัย (ธรรมที่ควรละ ) หมายถึง ต้นเหตุที่ให้เกิดทุกข์หรือปัญหา ซึ่งได้แก่ ความต้องการหรือที่เรียกว่าตัณหา มี 3 ประกายคือ กามตัณหา คือความปรารถนาในกามไม่หยุดหย่อน ภวตัณหา คือความอยากมีอยากเป็นไม่เพียงพอ และวิภวตัณหา คือความไม่อยากมีไม่อยากเป็นจนทุกข์
                3. นิโรธ ( ธรรมที่ควรบรรลุ ) หมายถึง สภาวะที่ทุกข์หมดสิ้นไป สภาพที่ปราศจากทุกข์ มีแต่ความสงบร่มเย็น สภาวะที่จัดเป็นนิโรธนี้ถือเป็นที่สูงสุดในการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ เป็นยอดปรารถนาของคนทั่วไปคือความดับทุกข์
                4. มรรค ( ธรรมที่ควรเจริญ ) หมายถึง ข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการมีสัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบ เป็นต้น โดยมรรคทั้ง 8 ประการนี้บุคคลจะต้องปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในตนครบทั้ง 8 ประการจึงสามารถถึงความดับทุกข์ได้
คุณค่าของอริยสัจ 4
                อริยสัจ 4 ไม่เพียงแต่เป็นหลักความจริงอันประเสริฐ เป็นหลักแห่งเหตุและผล แต่ยังถือว่าเป็นหลักการสำคัญในการแก้ปัญหาชีวิตอีกด้วย เช่น นิกรเสียใจเพราะสอบวิชา
คณิตศาสตร์ไม่ผ่าน เมื่อนำหลักการแก้ปัญหาแบบอริยสัจมาแก้ปัญหาดังกล่าวก็ได้ดังนี้
เมื่อเกิดความเสียใจเพราะสอบไม่ผ่าน (ทุกข์) ก็จะต้องพิจารณาว่าเกิดจากสาเหตุใดซึ่งในที่นี้ได้แก่ ความอยากสอบผ่าน (ตัณหา) หากต้องการหายจาก

 

อิทธิบาท4   เป็นธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย
                1. ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ
                2. วิริยะ หมายถึง ความเพียร
                3. จิตตะ หมายถึง ความเอาใจใส่
                4. วิมังสา หมายถึง ความไตร่ตรองตามเหตุผล

 

พรหมวิหาร 4   ธรรมสำหรับผู้ปกครอง

                พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่

                1. เมตตา หมายถึง ความปราถนาให้ผู้อื่นได้รับความสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ ความสุขของคฤหัสถ์4 อันได้แก่ ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้

และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น

                2. กรุณา หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

                                2.1 ทุกข์ประจำหรือทุกข์โดยสภาวะ เป็นสิ่งที่มีชีวิตจะต้องประสบ อันเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ อันได้แก่ การเกิด ความแก่และความตาย สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์

                                2.2 ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์

                3. มุทิตา หมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น ไม่มีจิตใจอิจฉาริษยา

                4. อุเบกขา หมายถึง การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ตามกฎแห่งกรรม ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

สังคหวัตถุ 4   หลักธรรม 4 ประการที่ใช้ในการผูกมิตร ประกอบด้วย
                1. ทาน หมายถึง การให้
                2. ปิยะวาจะ หมายถึง การพูดจาไพเราะอ่อนหวาน
                3. อัตถจริยา หมายถึง การกระทำตนให้เป็นประโยชน์
                4. สมานัตตตา หมายถึง การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย

 

ทิฏฐธัมมิกัตถะ4 หลักธรรม 4 ประการที่นำไปใช้แล้วได้ประโยชน์ในปัจจุบัน ประกอบด้วย
                1. อุฏฐานสัมปทา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น
                2. อารักขสัมปทา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยการรักษา
                3. กัลยาณมิตตตา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยการมีมิตรดี
                4. สมชีวิตา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ดี

 

กุลจิรัฏฐิติธรรม 4    หลักธรรม 4 ประการที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่ง ประกอบด้วย
                1. ของหายของหมดต้องแสวงหา
                2. ของเก่าชำรุดต้องบูรณซ่อมแซม
                3. รู้จักประมาณในการใช้จ่าย
                4. ตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน

 

จักร 4     หลักธรรม 4 ประการที่นำบุคคลไปสู่ความเจริญ ประกอบด้วย
                1. ปฏิรูปเทสวาสะ หมายถึง การอยู่ในประเทศอันเหมาะสม
                2. สัปปุริสูปสังเสวะ หมายถึง การคบสัตบุรุษ การเข้าไปคบกับคนดี ผู้มีสัปปุริสธรรม7
                3. อัตตสัมมาปณิธิ หมายถึง การตั้งตนไว้ชอบ ตั้งอยู่ในสุจริต 3 ได้แก่ กายสุจริต วจีสุจริต    

                    มโนสุจริต
            4. ปุพเพกตปุญญตา หมายถึง ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน

ฆราวาสธรรม 4 

                ประกอบด้วย 2 คำ "ฆราวาส" แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตในทางโลก, ผู้ครองเรือน และ "ธรรม" แปลว่า ความถูกต้อง, ความดีงาม, นิสัยที่ดีงาม, คุณสมบัติ, ข้อปฏิบัติ

                ฆราวาสธรรม แปลว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ

  1. สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้
  2. ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ
  3. ขันติ แปลว่า อดทน
  4. จาคะ แปลว่า เสียสละ

                ความสำคัญของหลักธรรม 4 ประการ ที่มีต่อการสร้างตัวนี้ พระพุทธองค์ถึงกับท้าให้ไปถามผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่า มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศให้คนเราได้เท่ากับการมี "สัจจะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี "ทมะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี "ขันติ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี "จาคะ" หรือไม่

                การที่พระพุทธองค์ทรงท้าให้ไปถามผู้รู้อื่นๆ อย่างนี้ก็หมายความว่า ไม่มีธรรมะใดๆ ที่จะใช้สร้างตัวให้ประสบความสำเร็จได้ยิ่งกว่าการสร้างสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะให้เกิดขึ้นในตนอีกแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คนที่จะยืนหยัดผ่านอุปสรรคต่างๆ ในโลกนี้ไปจนกระทั่งพบความสำเร็จได้นั้น เขาต้องสร้าง "ฆราวาสธรรม" ให้เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานประจำตนก่อนนั่นเอง เพราะฉะนั้น ความหมายที่แท้จริงของ ฆราวาสธรรม คือ คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสร้างเกียรติยศ สร้างปัญญา สร้างทรัพย์สมบัติ และสร้างหมู่ญาติมิตรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จด้วยกำลังความเพียรของตน

                ทั้งหมดนี้คือเลข 4 กับความเป็นมงคลทางพระพุทธศาสนา อาจมีหลักธรรมอื่นที่มี 4 ข้ออีกหลายหลักธรรมที่ยังไม่ได้แสดง แต่ละหลักธรรมมีคุณค่าในการนำไปใช้ในการดำรงชีวิตในสภาพปัจจุบัน อย่างน้อยยึดถือไว้ 1-2 หลักธรรม ประกอบกับศีล 5 จะทำให้เป็นมนุษย์ที่มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พูนสุขขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #โคราช12
หมายเลขบันทึก: 359719เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2010 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท