การสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญด้วยการปฏิบัติจริง


การสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญด้วยการปฏิบัติจริง

สุบินทร์  สุขศรีเพ็ง *

        ในการจัดการเรียนการสอนนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมุ่งหวังให้ผู้เรียนได้พัฒนาอย่างมีคุณภาพทุกๆด้าน ทั้งด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่จะเป็นไปตามมาตรฐานของสถานศึกษาและด้านพฤติกรรมต่างๆ เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด แต่ในทางปฏิบัตินั้น ในการจัดการเรียนการสอนมักจะไม่สามารถจัดให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาเป็นไปตามมาตรฐานและสถานศึกษากำหนดเสมอไปครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือพัฒนาการเรียนการสอนโดยวิธีต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่เสมอ แต่ในปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่เน้นการปฏิบัติจริงของผู้เรียนจะทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะ เกิดประสบการณ์ เกิดความชำนาญ มีจิตใจรักการทำงาน มีความรับผิดชอบ และนำไปสู่ความเข้าใจของผู้เรียน ผู้เรียนสามารถจดจำในเรื่องนั้นๆ ได้ การปฏิบัติงานในชีวิตประจำวันของเราทุกอาชีพ โดยทั่วไปแล้วจะต้องมีกระบวนการที่เป็นระบบโดยเริ่มจากการวางแผนลงมือปฏิบัติงานตรวจสอบผลงานและการปรับปรุงแก้ไขเพื่อที่จะได้ผลงานที่ดี โดยเฉพาะกระบวนการในการผลิตชิ้นงานซึ่งจะต้องอาศัยความชำนาญ ประสบการณ์ ความละเอียดรอบคอบผลงานที่ออกมาเป็นชิ้นแต่ละชิ้นต้องผ่านกระบวนการในการผลิตที่มีขั้นตอน ซึ่งการทำงานแต่ละตอนนั้นจะต้องประสบกับอุปสรรคและจะต้องแก้ไขดังนั้น จะเห็นได้ว่ากระบวนการปฏิบัติงานเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อความสำเร็จของงานและความเกี่ยวข้องกับงานทุกแขนงอาชีพ รวมทั้งงานฝีมือด้านงานด้วย

        แนวคิดของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ Carl R.Rogers เป็นผู้คิดค้นและใช้คำว่า “เด็กเป็นศูนย์กลาง” (Child-Centered)  เป็นครั้งแรกซึ่งมีแนวคิดจากปรัชญา Constructivism ที่เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในผู้เรียน ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้จากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พบเห็น ความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิมเป็นปรัชญาที่มีข้อสันนิษฐานว่า ความรู้ไม่สามารถแยกจากความอยากรู้ ความรู้ได้มาจากการสร้างเพื่ออธิบาย แนวของ Constructivism เน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้โดยผ่านกระบวนการคิดด้วยตนเอง ผู้สอนไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญา (Cognitive structure ) ของผู้เรียน แต่ผู้สอนสามารถช่วยผู้เรียนปรับโครงสร้างทางปัญญาได้ โดยส่งเสริมความคิดของผู้เรียน และอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันผู้เรียนได้สร้างความรู้ใหม่ตามศักยภาพของตน

        การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หมายถึงการจัดการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ใหม่ และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ โดยใช้กระบวนการทางปัญญา(กระบวนการคิด) กระบวนการสังคม(กระบวนการกลุ่ม) และให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์มีส่วนร่วมในการเรียน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ โดยครูมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญต้องจัดให้สอดคล้องกับความสนใจ ความสามารถและความถนัด เน้นบูรณาการความรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ใช้หลากหลายวิธีการสอนหลากหลายแหล่งเรียนรู้ สามารถพัฒนาปัญญาอย่างหลากหลาย เป็นการพัฒนาแบบพหุปัญญา รวมทั้งเน้นการใช้วิธีการวัดผลที่หลากหลาย (พิมพันธ์  เดชะคุปต์2544:23) และนั้นหมายถึง การจัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นประการสำคัญ ใครก็ตามที่เป็นคนสำคัญของเรา เราย่อมมีความรักความปรารถนาดีให้แก่เขา จะคิดจะทำอะไรก็มักจะคิดถึงเขาก่อนคนอื่น และคิดถึงประโยชน์ที่เขาควรจะได้รับ

        การจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางคืออะไร แนวคิดนี้มีที่มาจากแนวคิดทางการศึกษาของ จอห์น  ดิวอี้ (John Dewey) ซึ่งเป็นต้นคิดในเรื่องของ “การเรียนรู้โดยการกระทำ” หรือ “Learning by Doing” (Dewey ,1963) อันเป็นแนวคิดที่แพร่หลายและได้รับการยอมรับทั่วโลกมานานแล้ว การจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติจัดกระทำนี้นับว่าเป็นการเปลี่ยนบทบาทในการเรียนรู้ของผู้เรียนจากการเป็น “ผู้รับ” มาเป็น “ผู้เรียน” และเปลี่ยนบทบาทของครูจาก “ผู้สอน” หรือ “ผู้ถ่ายทอดข้อมูลความรู้” มาเป็น “ผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้” ให้ผู้เรียน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงบทบาทนี้ เท่ากับเป็นการเปลี่ยนจุดเน้นของการเรียนรู้ว่าอยู่ที่ผู้เรียนมากกว่าอยู่ที่ผู้สอนดังนั้นผู้เรียนจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอนเพราะบทบาทในการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ   

        หลังจากแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้น ต่อมาได้มีผู้พัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นจำนวนมากซึ่งล้วนแต่สนับสนุนแนวคิดพื้นฐานของดิวอี้ทั้งสิ้น แนวคิดใหม่ๆ เหล่านี้ต่างช่วยส่งเสริมแนวคิดหลักของดิวอี้ ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น กว้างและหลากหลายยิ่งขึ้น น่าสนใจ และได้ผลมากยิ่งขึ้น

        การจัดการเรียนโดยใช้แบบซิปปา (CIPPA) ดังกล่าว ได้มาจากตัวย่อของคำสำคัญซึ่งใช้เป็นแนวคิดหลักในการจัดทำกิจกรรมการเรียนรู้ ในระยะแรก ๆ ที่ผู้เขียนได้พัฒนาแนวคิดนี้ขึ้น ไม่ได้เรียกชื่อนี้ และไม่ได้เรียงลำดับตามนี้ แต่ต่อมาเมื่อนำแนวคิดดังกล่าวมาสอนนิสิต ผู้เขียนเห็นว่า ควรหาทางให้ผู้เรียนจำหลักนี้ได้ง่าย และไม่ลืม จึงได้ลองวิเคราะห์แนวคิดดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง และได้พบว่า สามารถนำคำสำคัญมาเข้ารหัสได้เป็น “CIPPA” ซึ่งเห็นว่าน่าจะเหมาะสม เพราะผู้เรียนคุ้นเคยกับ “CIPP” ซึ่งเป็นโมเดลทางการประเมินผล ดังนั้น หากจะใช้ “CIPPA” เป็นโมเดลทางความคิดในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ก็น่าจะไปด้วยกันด้วยดี และจะทำให้ง่ายแก่ผู้เรียนและครูในการจดจำและสื่อความหมาย อย่างไรก็ตามหากจะใช้ชื่อตามภาษาไทย ชื่อที่น่าจะเหมาะสมก็คือ “การจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแบบประสาน 5 แนวคิดหลัก” เพราะมีความหมายที่ตรงที่สุด

        แนวคิดหลัก 5 แนวคิดที่เป็นพื้นฐานของการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแบบซิปปาหรือแบบประสาน คือ
                         1.  แนวคิดการสรรค์สร้างความรู้ (Constructivism)
                         2.  แนวคิดเรื่องกระบวนการกลุ่มและการเรียนแบบร่วมมือ (Group Process and Cooperative Learning)
                         3.  แนวคิดเกี่ยวกับความพร้อมในการเรียนรู้ (Learning Readiness)
                         4.  แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้กระบวนการ (Process Learning)
                         5.  แนวคิดเกี่ยวกับการถ่ายโอนการเรียนรู้ (Transfer of Learning)

        การใช้แนวคิดหลักทั้ง 5 ดังกล่าวข้างต้นใช้บนพื้นฐานของทฤษฎีสำคัญ 2 ทฤษฎี คือ
                         1.  ทฤษฎีพัฒนาการมนุษย์ (Human Development)
                         2.  ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning)

การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลาง
        การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ครูสามารถเลือกใช้ได้ แต่ควรให้เหมาะกับสถานการณ์ การที่การสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลางเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ก็เนื่องจากครูมักใช้เป็นประจำอยู่แนวทางเดียวต่อเนื่องไปตลอด จึงทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ เนื่องจากแนวการสอนเพียงแนวเดียว ไม่สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ครบทุกด้านเสมอไป

        การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลาง เป็นการจัดกลุ่มของลักษณะ   การสอนโดยยึดความสำคัญของบทบาทที่มีผลต่อการเรียนการเรียนรู้ของผู้เรียนและการใช้เวลาเรียน (learning time) เป็นเกณฑ์ ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลางหมายถึง ลักษณะของการจัดการเรียนการสอนที่ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญหรือมีส่วนร่วมอย่างตื่นตัว (active participation) ในกิจกรรมการเรียนการสอนมากกว่าผู้เรียน ครูทำหน้าที่ดำเนินการต่างๆ เช่น บรรยาย อธิบายให้ผู้เรียนฟัง สาธิตให้ผู้เรียนดู เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการที่ครูดำเนินการเช่นนั้นครูกำลังมี “active  participation” ครูต้องมีการเคลื่อนไหวทางด้านร่างกาย ต้องพูด ต้องแสดงท่าทางต้องเดินไปมา ต้องหยิบโน่นทำนี่ ครูมีการตื่นตัวทางสติปัญญา เพราะต้องคิดว่าจะพูดอะไร อย่างไร จะต้องเรียบเรียงคำพูดคิดหาวิธีอธิบาย คิดถามคำถามหรือตอบคำถาม เป็นต้น ครูมีการตื่นตัวทางสังคม เพราะต้องคอยสังเกตผู้เรียนถามผู้เรียน นอกจากนั้นครูยังมีการตื่นตัวทางอารมณ์ เช่น หากผู้เรียนให้ความสนใจเรียนครูก็พอใจ หากผู้เรียนไม่สนใจครูอาจไม่พอใจและเกิดความ รู้สึกท้อแท้หรือเบื่อหน่ายได้ จากที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงว่า ขณะที่ครูสอน ครูเป็นผู้มีบทบาทที่ตื่นตัวมาก หรือมีส่วนร่วมอย่างตื่นตัวในกิจกรรมการเรียนการสอนมากในขณะที่ผู้เรียนซึ่งก็มี บทบาทและมีส่วนร่วมในกิจกรรมเช่นกัน คือเป็นผู้ฟัง ผู้จด ผู้ตอบคำถาม แต่การมีส่วนร่วมนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างตื่นตัวครบทุกด้าน  เช่น  ถ้านั่งฟังนาน ๆ อาจเกิดอาการง่วงนอนถ้าฟังแล้วไม่ได้คิดตามไม่ช้าก็จะไปคิดเรื่องอื่น หากสิ่งที่ฟังไม่ก่อให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกพึงพอใจหรือเข้าใจหรือเห็นประโยชน์สิ่งที่เรียนรู้นั้นก็อาจไม่มีความหมาย แต่ในทางตรงกันข้าม หากการบรรยาย อธิบาย สาธิตดังกล่าวครูสามารถทำได้ดีมากจนผู้เรียนเกิดความตื่นตัวตั้งใจฟังใช้ความคิดถามคำถามด้วยความสนใจและผู้เรียนเกิดความเข้าใจก็ถือได้ว่า ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมอย่างตื่นตัวด้วยเหมือนกัน แม้ว่าการเรียนการสอนนั้นจะยึดครูเป็นศูนย์กลางเพราะครูมีบทบาทมากกว่าผู้เรียนโดยทั่วไป การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลางนั้นมีความเหมาะสมกับการเรียนรู้เนื้อหาสาระที่ผู้เรียนไม่สามารถหาอ่านได้จากหนังสือหรือตำรา หรือกับเนื้อหาสาระที่มีความซับซ้อนซึ่งผู้เรียนไม่สามารถทำความเข้าใจได้ด้วยตนเองต้องอาศัยคำอธิบายจากครูหรือเป็นความรู้จากประสบการณ์ของผู้สอนซึ่งผู้สอนสามารถถ่ายทอดได้ดีเนื่องจากเป็นผู้ที่ได้ประสบมาด้วยตนเองเนื้อหาสาระใดที่ผู้เรียนสามารถอ่านและทำความเข้าใจด้วยตนเองได้ก็ไม่จำเป็นที่ครูจะต้องบรรยาย บอก  เล่า  แต่ครูจำเป็นต้องมีการตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียน

        จะเห็นได้ว่า การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลางเป็นแนวการจัดการเรียนการสอนโดยครูมีบทบาทมากกว่าผู้เรียนครูเป็นผู้ “active” และเป็นผู้ใช้เวลาส่วนใหญ่ของการเรียนการสอน แต่การที่ครูจะสอนอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ครูต้องแสวงหา  ซึ่งหากครูคิดถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญและมีความสามารถสูง ครูก็อาจแสวงหาวิธีการสอนที่เหมาะสมและดำเนินการสอนโดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสอน แต่ด้วยความสามารถและวิธีการที่เหมาะสม ครูก็อาจช่วยให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุด คือ เกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายได้ดี

        ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลางนั้นไม่ได้เป็นรูปแบบการสอนหรือวิธีสอนแต่เป็นการจัดกลุ่มของการสอนโดยยึดเอาบทบาทและการใช้เวลาในการเรียนการสอนเป็นเกณฑ์ หากครูเป็นผู้มีบทบาทที่ตื่นตัว (active  role) มากกว่าผู้เรียนและใช้เวลาของการเรียนการสอนเป็นส่วนใหญ่ก็ถือว่าการจัดการเรียนการสอนนั้นยึดครูเป็นสำคัญ แต่ในการสอนครูจำเป็นต้องหารูปแบบหรือวิธีการต่าง ๆ มาใช้  ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการบางวิธีที่มีลักษณะเอื้อต่อลักษณะการสอนที่เน้นครูเป็นศูนย์กลางหากครูสามารถนำมาใช้และทำได้ดี ก็อาจเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนได้ คือช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี

        ที่กล่าวมาเป็นการวิเคราะห์ให้เห็นถึงลักษณะทีแท้จริงตามความหมายของคำหรือศัพท์ แต่ ในการสื่อความหมายกันโดยทั่วไป  คนมักกล่าวถึงการสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลาง โดยหมายถึงวิธีสอนด้วย เช่น หมายถึงการสอนโดยครูใช้การบรรยายถ่ายทอดความรู้ เนื่องจาก “วิธีการบรรยาย” เป็นวิธีการที่เน้นความสำคัญของผู้บรรยาย คือ ครู ซึ่งการสื่อความหมายกัน ในลักษณะนี้ นับเป็นการตีตราวิธีการสอนแบบบรรยายว่าเป็นวิธีการสำหรับการสอนที่ยึดครูเป็นศูนย์กลางไปเลย  จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันโดยทั่วไปว่า วิธีสอนแบบบรรยายใช้กับการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไม่ได้ หากใช้จะกลายเป็นการสอนที่เน้นครูเป็นศูนย์กลางไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางครูสามารถใช้วิธีสอนแบบบรรยายควบคู่ไปกับวิธีการอื่น ๆ ได้  โดยในภาพรวมแล้ว  ผู้เรียนยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้ใช้เวลาในการเรียนการสอนมากกว่าครู ในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนเป็นการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ครูเป็นผู้คอยแนะนำ และคอยช่วยเหลือ

*ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวังวิเศษ อ.วังวิเศษ จังหวัดตรัง

บรรณานุกรม

พิมพันธ์  เดชะคุปต์. 2521. แนวคิดและแนวทางของการจัดการเรียนการสอนที่

       เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง. กรุงเทพมหานคร : โรงเรียนหอวัง (อัดสำเนา).

       ที่มา. จาก  May 12, 2010, http://www.nsdv.go.th  /innovation/cippa.htm 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 359328เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2010 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท