เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

ทำไมพระต้องถือตาลปัตร?


       เมื่อเราไปทำบุญที่วัดหรือนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีกรรมต่างๆไม่ว่าที่บ้าน ที่ทำงานหรือที่ใด เรามักจะเห็น “ ตาลปัตร ” อยู่คู่กับการสวดของพระอยู่เสมอ ซึ่งส่วนใหญ่คงจะเคยชิน แต่คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่า เหตุใดพระสงฆ์จึงต้องใช้ตาลปัตรปิดหน้าเวลาสวด ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเรื่องของตาลปัตรมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้ ดังนี้

                 คำว่า “ ตาลปัตร ” หรือ ตาลิปัตร เป็นคำภาษาไทยที่นำมาจากภาษาบาลีว่า ตาล ปตฺต แปลว่า ใบตาล ซึ่งใบตาลนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วไปใช้บังแดดและใช้พัดลมมาตั้งแต่โบราณ และเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็นอย่างหนึ่งในประเทศเมืองร้อน ดังนั้น ตาลปัตร จึงหมายถึง พัดที่ทำจากใบตาลนั่นเอง โดยคำว่า “ พัด ” ที่ภาษาบาลีเรียกว่า “ วิชนี ” นี้ มีความหมายว่า เครื่องโบกหรือเครื่องกระพือลม และไทยได้นำมาแปลงเป็น “ พัชนี ” ต่อมาคงเรียกกร่อนคำให้สั้นลงเหลือเพียง “ พัช ” ออกเสียงว่า “ พัด ” แล้วก็คงใช้เรียกและเขียนกันจนลืมต้นศัพท์ไป

                 “ ตาลปัตร ” หรือบางแห่งก็ใช้คำว่า “ วาลวิชนี ” (ที่เดิมหมายถึง เครื่องพัดโบกสำหรับผู้สูงศักดิ์)นี้ ดั่งเดิมคงหมายถึง สิ่งที่ใช้พัดวีเช่นเดียวกัน จะต่างกันก็ตรงวัสดุที่ใช้ คือ ตาลปัตรทำด้วยใบตาล แต่ วาลวิชนีอาจจะทำด้วยวัสดุอื่นๆ เช่น ผ้าแพร ขนนก ขนหางสัตว์ เป็นต้น ซึ่งสมัยก่อน “ พัด ” ที่พระถือกันอยู่สมัยแรกทำด้วยใบตาลจึงเรียกว่า “ ตาลปัตร ” ต่อมาแม้จะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเป็นวัสดุอื่นหรือตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดารอย่างไร ก็ยังเรียก “ ตาลปัตร ” อยู่เช่นเดิม และถือเป็นสมณบริขารอย่างหนึ่งของพระสงฆ์

                 สำหรับ สาเหตุที่พระสงฆ์นำ “ ตาลปัตร ” มาใช้ นั้น ได้มีผู้ให้ความเห็นต่างๆกันไป บางท่านก็ว่า การใช้ตาลปัตรครั้งแรกดั่งเดิมนั้น มิใช่เพื่อบังหน้าเวลาเทศน์ แต่ใช้ เพื่อกันกลิ่นเหม็นของศพที่เน่าเปื่อย เนื่องจาก พระสงฆ์ในสมัยโบราณจะต้องบังสุกุลผ้าห่อศพไปทำจีวร ดังนั้น ท่านจึงต้องใช้ใบตาลขนาดเล็กมาบังจมูกกันกลิ่น จากนั้นต่อมาก็เลยกลายเป็นประเพณีของสงฆ์ที่จะถือตาลปัตรไปทำพิธีต่างๆโดยเฉพาะในพิธีปลงศพ บางท่านก็ว่าการที่พระถือตาลปัตรในระหว่างการแสดงธรรมเทศนาหรือสวดพระปริตร ก็ เพราะพระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตรเมื่อเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดา คือพระเจ้าสุทโธทนะ พระสงฆ์จึงได้ปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังมีผู้สันนิษฐานว่า เกิดจากเนื่องจาก สภาพจิตใจของผู้ฟังธรรมมีหลายระดับ จึงต้องมีการป้องกันไว้ก่อน ดังเรื่องเล่าที่ว่า พระสังกัจจายน์ พระสาวกที่สำคัญรูปหนึ่ง ท่านมีรูปงามหรือพูดง่ายๆว่าหล่อมาก ขณะที่แสดงธรรมโปรดอุบาสก อุบาสิกาอยู่นั้น ทำให้สตรีบางคนหลงรักท่านอย่างมาก และด้วยภาวะจิตที่ไม่บริสุทธิ์ของสตรีเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดบาปขึ้น เมื่อท่านรู้ด้วยญาณ จึงได้อธิษฐานจิตให้ตัวท่านมีรูปร่างอ้วนใหญ่พุงพลุ้ยกลายเป็นไม่งามอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน และเป็นเหตุให้พระสงฆ์ต้องหาเครื่องกำบังหน้าเวลาเทศน์ หรือประกอบพิธี เพราะ ต้องการให้ผู้ฟัง ได้ฟังแต่ธรรมจากท่านเท่านั้น มิใช่มัวแต่มองหน้าหลงรูป

                 อย่างไรก็ดี แม้ว่าต้นกำเนิดของการที่พระสงฆ์ต้องถือตาลปัตร จะยังไม่แน่ชัดว่าแท้จริงเป็นมาอย่างไร แต่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงประทานความเห็นไว้ว่า ความคิดที่ให้พระสงฆ์ถือตาลปัตรคงมาจากลังกา เพราะมีพุทธประวัติปรากฏใน “ ปฐมสมโพธิ ” ซึ่งต้นฉบับเขียนขึ้นในลังกาโดยพระพุทธรักขิตาจารย์ กล่าวถึงเทพบริวารสององค์ที่ขนาบองค์พระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ คือ สันดุสิตเทวราชจะถือพัด ที่เรียกว่า วิชนี ที่มีรูปร่างคล้ายพัดใบตาลอยู่เบื้องขวา และสยามะเทวราชทรงถือจามร (แส้)อยู่เบื้องซ้ายเพื่ออยู่งาน และอาจเป็นเครื่องแสดงดุจเป็นเครื่องสูงที่ใช้ถวายพระสมณศักดิ์แห่งพระพุทธองค์ด้วย และเมื่อลัทธิลังกาวงศ์ได้แพร่หลายและเป็นที่เลื่อมใสกันในยุคนั้นทั้งในประเทศพม่า ลาว กัมพูชาและไทย จนเป็นที่เชื่อกันว่าพระสงฆ์ที่ได้บวชเรียนในลัทธิลังกาวงศ์จะต้องมีความรู้ทางพระศาสนาลึกซึ้งมากกว่าพระสงฆ์ที่บวชในลัทธิอื่นที่มีมาแต่เดิม ดังนั้น พุทธศาสนิกชนในไทยที่เลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนาจากลังกาวงศ์ก็ย่อมรับเอาพิธีกรรมและประเพณีต่างๆที่เกี่ยวกับสังฆพิธีมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถือตาลปัตรหรือการตั้งสมณศักดิ์ เพราะท่านว่าจากตรวจสอบศึกษาศิลปะอินเดียโบราณสมัยต่างๆ โดยเฉพาะจากประติมากรรม ยังไม่พบรูปพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ หรือพระสมณะถือตาลปัตรเลย ดังนั้น การที่พระสงฆ์ถือตาลปัตรจึงไม่น่าจะเป็นคติดั่งเดิมจากอินเดีย แต่น่าจะมาจากลังกาตามหลักฐานที่ว่าข้างต้น ส่วนนักบวชที่มิได้เป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็ปรากฏว่ามีการถือตาลปัตรด้วยเช่นกัน ดังจิตรกรรมฝาผนังที่วัดช่องนนทรี อันเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย เขียนเป็นภาพทศชาติตอนชาดก เรื่อง พรหมนารถ ก็มีภาพพระเจ้าอังคติกำลังสนทนากับเดียรถีย์ ซึ่งแสดงตนเป็นบรรชิตนั่งอยู่เหนือพระองค์ เดียรถีย์ในภาพจะถือพัดขนาดเล็กรูปร่างคล้ายตาลปัตร จึงทำให้ สันนิษฐานได้ว่า ตาลปัตรสมัยโบราณอาจจะเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นนักบวชก็ได้ เพราะแม้แต่ฤษีก็ยังถือพัด ซึ่งบางครั้งก็มีรูปร่างคล้ายวาลวิชนี และบางครั้งก็คล้ายพัดขนนกซึ่งพระสงฆ์ไทยก็เคยใช้เป็นตาลปัตรอยู่ระยะหนึ่งเช่นกัน

                 และจากความศรัทธาที่ฆราวาสถือว่า ตาลปัตร เป็นของใช้อย่างหนึ่งของพระสงฆ์ จึงได้เกิดความคิดนำไปถวายพระ โดยชั้นแรกคงเป็นใบตาลตามคติเดิม ต่อมาใบตาลอาจจะเสื่อมความนิยมเพราะเป็นของพื้นบ้านหาง่าย ไม่เหมาะจะถวายพระ เลยอาจนำพัดของตนที่ทำด้วยไม้ไผ่สาน หรือขนนกไปถวายให้พระใช้แทนใบตาล โดยอาจจะถวายด้วยตนเอง หรือให้ทายาทนำพัดของบิดามารดาผู้ล่วงลับไปถวายเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดาของตนก็ได้ จึงทำให้ตาลปัตรมีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ และมีพัฒนาการเช่นเดียวกับศิลปกรรมประเภทอื่นๆ ดังจะได้เห็นว่านอกจากทำจากใบตาลเดิมแล้ว ยังทำจากวัสดุอื่นที่คิดว่างามและหายาก เช่น ไม้ไผ่สาน งาสาน ผ้าแพรอย่างดี ขนนก หรือมีการปักดิ้นเงินดิ้นทอง หรือประดับด้วยอัญมณีต่างๆสุดแต่กำลังศรัทธาที่จะถวาย ซึ่งตาลปัตรนี้ถือว่าเป็นของมงคลอย่างหนึ่งใน ๑๐๘ มงคลที่ปรากฏในรอยพระพุทธบาทด้วย

                 โดยทั่วๆไป เมื่อพูดถึง ตาลปัตร ในความหมายของพระสงฆ์จะเรียกว่า “ พัดรอง ” คือ พัดที่เราเห็นพระใช้กันอยู่ในงานกุศลพิธีทั่วไป มักทำเป็น พัดหน้านาง คือ พัดที่มีลักษณะรูปไข่ คล้ายเค้าหน้าสตรี มีด้ามยาวตรงกลาง ยาวประมาณ ๗๐ ซม. ส่วนพัดที่มีลักษณะพิเศษที่เรียกว่า “ พัดยศ ” นั้นเป็นพัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระสงฆ์พร้อมกับพระราชทานสมณศักดิ์ เพื่อเป็นสิ่งประกาศเกียรติคุณหรือบอกชั้นยศที่พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานนั้นว่า เป็นชั้นอะไร คล้ายๆกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ข้าราชการหรือประชาชนได้รับ ซึ่งพัดยศที่เราเห็นจะมี ๔ ลักษณะ คือ

                 ๑.พัดหน้านาง มีลักษณะอย่างที่กล่าวข้างต้น เป็นพัดยศสมณศักดิ์ระดับพระครูฐานานุกรมขึ้นไป รวมทั้งเป็นพัดยศเปรียญด้วย ๒.พัดพุดตาน มีลักษณะเป็นวงกลม รอบนอกหยักเป็นแฉกคล้ายกลีบบัว เป็นพัดยศสมณศักดิ์ตั้งแต่ระดับพระปลัด พระครูปลัด ขึ้นไปจนถึงชั้นพระครูสัญญาบัตร ๓.พัดแฉกเปลวเพลิง ใบพัดจะมีลักษณะทรงพุ่มเข้าบิณฑ์ มีแฉกคล้ายเปลวเพลิง เป็นพัดยศสมณศักดิ์ระดับพระครูเจ้าคณะจังหวัด และพระครูเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ๔.พัดแฉก ใบพัดมีลักษณะเป็นแฉกทรงพุ่มเข้าบิณฑ์ มีกลีบอย่างน้อย ๕-๙ กลีบ เป็นพัดยศตั้งแต่ระดับพระราชาคณะถึงสมเด็จพระราชาคณะ สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะหรือราชาคณะ เมื่อได้รับพระราชทาน “ ตาลปัตรแฉก ” เป็นพัดยศ เมื่อได้รับนิมนต์ให้เข้าไปถวายพระธรรมเทศนาในงานพระราชพิธีต่างๆ จะต้องนำพัดเข้าไป ๒ เล่ม คือ “ พัดยศ ” ประกอบสมณศักดิ์เล่มหนึ่ง และ “ พัดรอง ” อีกเล่ม เมื่อขึ้นธรรมาสน์ถวายศีลนั้น กำหนดให้ใช้พัดรอง ครั้งจบพระธรรมเทศนาแล้ว เมื่อจะถวายอนุโมทนาและถวายอดิเรกจึงจะใช้พัดยศ

                 สำหรับ “ ตาลปัตร ” ที่เราทำถวายพระไม่ว่าจะเนื่องใตวันเกิด วันสถาปนาหน่วยงาน หรือในพิธีการต่างๆ ส่วนใหญ่ก็คือ “ พัดรอง ” ที่กล่าวถึงข้างต้นนั่นเอง


ที่มา :สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

หมายเลขบันทึก: 359282เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2010 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท