การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480


ต่อมาอีก 10 ปีก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง เนื่องจากเห็นว่าสภาพการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก และกฎหมายก็ไม่ทันสมัย พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการลงมติโดยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งรงกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2480 จนถึง 24 มกราคม พ.ศ. 2494 มีทั้งหมด 48 มาตรา และต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉะบับที่ 2) พ.ศ. 2482 พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการนิยามความหายของคนต่างด้าวไว้ในมาตรา 4 (1) ว่า คนต่างด้าวหมายถึง บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ สำหรับสิทธิการเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 นั้น มี 2 กรณี แบ่งออกได้เป็น 4 วิธี ดังนี้ 1. เข้าเมืองกรณีทั่วไป 2. การเข้าเมืองกรณีพิเศษเฉพาะราย ….. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 กำหนดให้คนต่างด้าวจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ซึ่งมาตราหลักอยู่ที่มาตรา 11 ดังนั้น คนต่างด้าวที่เข้าเมืองตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2480 ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จึงตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย หากมิได้ขออนุญาตเข้าเมือง และมีลักษณะต้องห้าม หรือมีคุณสมบัติที่ไม่ครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้......... ----ข้อสังเกต 1. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 มีประตูเข้าเมือง 4 ประตู ดังทีได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว 2. พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เริ่มต้นมีการให้ตรวจลงตรา หรือขออนุญาตเข้าเมือง 3. พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการออกใบสำคัญแสดงรูปพรรณให้ พร้อมกับการอนุญาตให้เข้าเมืองแก่คนต่างด้าวที่ไม่มีหนังสือเดินทาง หรือมีแต่ไม่สมบูรณ์ 4. มีบทบัญญัติในการอนุญาตโดยรัฐมนตรีให้เข้าเมืองเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องตามมาตรา 30 ซึ่ง เป็นการอนุญาตและการกำหนดเงื่อนไขโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ยังให้อำนาจรัฐมนตรีในการให้สิทธิอาศัยแก่คนต่างด้าวกลุ่มนี้ได้อีกด้วย

การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480[1]

 

            ต่อมาอีก 10 ปีก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง เนื่องจากเห็นว่าสภาพการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก และกฎหมายก็ไม่ทันสมัย พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการลงมติโดยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งรงกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2480 จนถึง 24 มกราคม พ.ศ. 2494 มีทั้งหมด 48 มาตรา และต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉะบับที่ 2) พ.ศ. 2482[2]

            พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการนิยามความหมายของคนต่างด้าวไว้ในมาตรา 4 ว่า “คนต่างด้าวหมายความถึง บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ”

           สำหรับสิทธิการเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 นั้น มี 2 กรณี แบ่งออกได้เป็น 4 วิธี ดังนี้

  1. เข้าเมืองกรณีทั่วไป
  2. การเข้าเมืองกรณีพิเศษเฉพาะราย

 

  1. การเข้าเมืองกรณีทั่วไป

 

            พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 กำหนดให้คนต่างด้าวจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ซึ่งมาตราหลักอยู่ที่มาตรา 11[3] ดังนั้น คนต่างด้าวที่เข้าเมืองตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2480 ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จึงตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย หากมิได้ขออนุญาตเข้าเมือง และมีลักษณะต้องห้าม หรือมีคุณสมบัติที่ไม่ครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนี้U  

 

            (1) คนต่างด้าวนั้นจะต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนต่างด้าวนั้น

มาตรา 11 อนุมาตรา 1 ได้กำหนดไว้ว่า คนต่างด้าวที่จะสามารถเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม[4]นั้นจะต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลผู้นั้น กล่าวคือ คนต่างด้าวผู้นั้นจะต้องมีหนังสือเดินทางอันถูกต้องที่ออกให้โดยรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลสยามได้รับรองแล้ว และหนังสือเดินทางนั้นจะต้องยังมีอายุใช้ได้อยู่ และต้องได้รับการตรวจลงตราจากสถานทูตหรือสถานกงสุลสยามในต่างประเทศแล้วจึงสมบูรณ์ เว้นแต่ประเทศนั้น ๆ ได้มีข้อตกลงไว้กับรัฐบาลสยามเป็นอย่างอื่น[5]

            แต่ถ้าหากว่าบุคคลต่างด้าวผู้นั้นไม่มีหนังสือเดินทางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 อนุมตรา 1 หรือมีหนังสือเดินทางที่ไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 12 นั้นในมาตรา 13 ได้บัญญัติให้บุคคลต่างด้าวผู้นั้นแสดงให้เป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงาน ว่าเป็นบุคคลที่สมควรจะให้เข้ามาในราชอาณาจักรสยาม แล้วเจ้าพนักงานจะออกใบสำคัญแสดงรูปพรรณให้ และอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรสยามได้       

            (2) คนต่างด้าวนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐเจ้าของดินแดนให้เข้าเมือง

            พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เพิ่มกฎเกณฑ์การเข้าเมืองกรณีธรรมดาขึ้นมาอีก กล่าวคือ คนต่างด้าวที่จะเข้าเมืองไทยมาได้นั้น จะต้องขออนุญาตเข้าเมือง และได้รับความยินยอมจากรัฐไทยในการให้เข้าเมือง กล่าวคือ หนังสือเดินทางนั้นจะต้องได้รับการตรวจลงตราจากสถานทูตหรือสถานกงสุลสยามในต่างประเทศ ตามที่ปรากฎไว้ในมาตรา 12 แต่มีข้อยกเว้นที่คนต่างด้าวไม่ต้องขออนุญาตเข้าเมือง ก็คือ ถ้าหากว่าคนต่างด้าวผู้นั้น เป็นคนของประเทศที่ทำมีความตกลงกับรัฐบาลสยาม ยกเว้นการขออนุญาตในการเข้าเมืองไว้ และข้อยกเว้นตามมาตรา 13[6] ที่ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้เข้าเมืองได้ถ้าหากคนต่างด้าวผู้นั้นได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงานว่าเป็นบุคคลที่สมควรจะให้เข้ามาในราชอาณาจักรสยาม

 

            (3) คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจของรัฐเจ้าของดินแดน

            บุคคลที่จะเข้ามาราชอาณาจักรสยามภายใต้พระราชบัญญัตคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 นั้น มาตรา 11 อนุมาตรา 2. อนุมาตรา 3. อนุมาตรา 5. กล่าวคือ จะต้อง มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง หรือไม่ไร้อุปกระจากผู้อื่น สามารถเสียเงินค่าธรรมเนียมตามที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ หรือกฎกระทรวงกำหนด และต้องไม่เป็นบุคคลที่พนักงานแพทย์ได้ตรวจลงความเห็นแล้วว่าซึ่งมีร่างกายพิการ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคที่ทำให้ไม่สามารถประกอบการหาเลี้ยงชีพได้  มีร่างกายพิการ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคซึ่งทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถที่จะประกอบการหาเลี้ยงชีพได้ เพราะว่าเป็นการป้องกันมิให้คนต่างด้าวเข้ามาแล้วเป็นภาระทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ และมีอาชีพขอทาน หรือเข้ามาแย่งงานคนชาติทำ และตามมาตรา 20[7] นั้นก็ยังให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้คนต่างด้าวคนหนึ่ง ๆ มีเงินประจำตัวมาตามจำนวนที่กำหนดไว้ในประกาศ และถ้าหากว่าไม่มีเงินจำนวนตามที่กำหนด ก็ห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม

 

            (4) คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางสาธารณสุขของรัฐเจ้าของดินแดน

            กรณีนี้ได้กำหนดไว้ใน มาตรา 11 อนุมาตรา 4. และอนุมาตรา 6. ซึ่งได้บัญญัติไว้ถึงลักษณะต้องห้ามของคนเข้าเมืองไว้ ดังนี้

                        อนุมาตรา 4. มีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกำหนดไว้ในกฏกระทรวง[8]    

                        อนุมาตรา 6. ยังมิได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ หรือฉีดวัคซีนป้องกันโรค และไม่ยอมให้กระทำการเช่นว่านี้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ 

เหตุผลก็คือว่ารัฐไทยมีความหวาดกลัวการเสี่ยงภัยต่อโรคภัยและโรคติดต่อที่อาจะเข้ามาในประเทศโดยมีคนต่างด้าวเป็นพาหะนำโรค อันจะส่งผลเป็นอันตรายต่อคนในประเทศ และไม่ต้องการที่จะรับภาระเมื่อคนต่างด้าวเจ็บป่วย

                                           

            (5) คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคมของรัฐเจ้าของดินแดน

            ตามมาตรา 11 อนุมาตรา 7. ได้กำหนดลักษณะบุคคลที่สามารถมีสิทธิเข้าเมืองได้นั้นจะต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งเป็นคนอันธพาล หรือเป็นคนน่าจะก่อเหตุร้าย หรืออันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชน หรือภัยต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรสยาม และในมาตรา 18 ก็ยังได้บัญญัติไว้ว่าให้อำนาจรัฐมนตรีในการเพิกถอนใบสำคัญ และใบอนุญาตต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยออกให้กับคนต่างด้าว ถ้าหากว่ารัฐมนตรีเห็นว่าบุคคลต่างด้าวผู้นั้นเป็นผู้มีอันตรายต่อสันติภาพหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน และให้ส่งตัวออกไปนอกราชอาณาจักร

 

            (6) คนต่างด้าวนั้นจะต้องเข้ามาในอัตราตามที่รัฐมนตรีกำหนดจำนวนไว้[9]

            เมื่อพิจารณาจากมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 นั้น ในมาตรานี้ได้บัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศในราชกิจานุเบกษาในการกำหนดจำนวนคนต่างด้าวสัญชาติใด หรือจำพวกใด ที่จะให้เข้ามาในราชอาณาจักรสยาม ในระยะเวลาใดเป็นจำนวนชายหญิงเท่าใดก็ได้ ซึ่งถ้าหากว่าได้มีการประกาศกำหนดแล้ว ห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรสยามเกินจำนวนที่ได้กำหนดไว้ในประกาศนั้น

            ในเงื่อนไขนี้ไม่ได้กำหนดจำนวนคนเข้าเมืองที่เป็นตัวเลขที่แน่นอน และให้ใช้มาตรานี้บังคับกับคนต่างด้าวเข้าเมืองเป็นการทั่วไป ไม่ได้จำแนกให้ใช้บังคับเฉพาะคนเข้าเมืองที่มีสิทธิอาศัยถาวรเท่านั้น

 

2. การเข้าเมืองกรณีพิเศษเฉพาะราย

 

            กฎหมายได้รับรองให้คนต่างด้าวบางประเภทสามารถเข้ามาในราชอาณาจักรสยามได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์คุณสมบัติบางประการตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 เนื่องจากมีสถานภาพพิเศษ ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 วิธี คือ

 

            2.1 การเข้าเมืองของคนต่างด้าวที่มีสถานภาพพิเศษเนื่องจากมีเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

บุคคลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง

(1)   คนต่างด้าวซึ่งเป็นข้าราชการของรัฐบาลสยาม

(2) บุคคลซึ่งรัฐบาลต่างประเทศได้แจ้งแก่รัฐบาลสยามตามระเบียบ ว่าบุคคลนั้น ๆ มาในราชการของรัฐบาล

(3) ครอบครัวของคนต่างด้าวซึ่งเป็นข้าราชการของรัฐบาลสยาม

(4) ครอบครัวของบุคคลซึ่งรัฐบาลต่างประเทศได้แจ้งแก่รัฐบาลสยามตามระเบียบ ว่าบุคคล   นั้น ๆ มาในราชการของรัฐบาล

 

            เงื่อนไข

            บุคคลกลุ่มนี้จะได้รับเอกสิทธิ์ และความคุ้มกันทางการทูตตามกฎหมายระหว่างประเทศ และในมาตรา 22[10] ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 20 และมาตรา 21 ซึ่งคนกลุ่มนี้จะถูกยกเว้นในการถูกกำหนดจำนวนเงินประจำตัวมาตามมาตรา 20 และไม่ตกอยู่ในการประกาศราชกิจจานุเบกษากำหนดจำนวนคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยรัฐมนตรีตามมาตรา 21 และยกเว้นการรับใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามมาตรา 15

           แต่เมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 แล้วนั้น มิได้ยกเว้นหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้เข้าเมืองแบบกรณีทั่วไปในมาตรา 11 กล่าวคือ เมื่อมิได้มีบทบัญญัติยกเว้นไว้ ก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทั่วไป แต่ว่าจะมีข้อยกเว้นบางประการดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งบุคคลในกลุ่มนี้จะต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนต่างด้าวนั้น มีหนังสือเดินทางอันถูกต้องที่ออกให้โดยรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลสยามได้รับรองแล้ว แต่ว่าไม่ต้องมีการขออนุญาตเข้าเมือง เพราะว่าเป็นบุคคลที่มาในราชการของรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งต้องมีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นกับรัฐบาลสยามตามมาตรา 12 อย่างแน่นอน และคนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางสาธารณสุข อีกทั้งจะต้องไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจ และไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคมของรัฐเจ้าของดินแดน

 

            2.2 การเข้าเมืองของคนต่างด้าวที่มีสถานภาพพิเศษเนื่องจากเป็นบุคคลผู้โดยสารพาหนะผ่านแดนหรือผู้ที่เข้าออกประเทศเป็นประจำ

 

บุคคลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง

(1)   ผู้ควบคุมยานพาหนะซึ่งเพียงแต่แวะมายังท่าหรือสถานีแห่งราชอาณาจักรแล้วจะกลับออกไป

(2) คนประจำยานพาหนะซึ่งเพียงแต่แวะมายังท่าหรือสถานีแห่งราชอาณาจักรแล้วจะกลับออกไป

(3) คนต่างด้าวซึ่งอยู่ในประเทศใกล้เคียงติดต่อกันเดินทางข้ามพรมแดนอันเป็นการผ่านไปมาชั่วคราวเท่านั้น

 

            เงื่อนไข

            เนื่องจากว่าบุคคลกลุ่มนี้นั้นจะมีการเดินทางเข้าออกเป็นประจำ มีการข้ามพรมแดนไปมาชั่วคราวแล้วกลับออกไป หรือไม่ก็เป็นกรณีของการเพียงแค่การเดินทางผ่านแดนประเทศสยามแล้วก็ออกไปนอกประเทศ ไม่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ถาวร ซึ่งตามมาตรา 14[11] ได้บัญญัติไว้ให้บุคคลกลุ่มนี้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 11 อนุมาตรา 1 ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนต่างด้าวนั้น ไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง หรือสำคัญแสดงรูปพรรณตามมาตรา 13 และไม่ต้องขออนุญาตเข้าเมืองตามมาตรา 12 นอกจากนี้ยังได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 20 และมาตรา 22  ซึ่งคนกลุ่มนี้จะถูกยกเว้นในการถูกกำหนดจำนวนเงินประจำตัวมาตามมาตรา 20 และไม่ตกอยู่ในการประกาศราชกิจจานุเบกษากำหนดจำนวนคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยรัฐมนตรีตามมาตรา 21 และยกเว้นการรับใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามมาตรา 15

            แต่ว่ายังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามอนุมตรา 2, 3, 4, 5, 6 และ7 กล่าวคือ คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางสาธารณสุข อีกทั้งจะต้องไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคม และไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจของรัฐเจ้าของดินแดน

 

             2.3 การเข้าเมืองกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องโดยการอนุญาตจากรัฐมนตรี

 

บุคคลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง

คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง

 

             เงื่อนไข

             กรณีนี้เป็นไปตามมาตรา 30[12] แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนี้

             (1) รัฐมนตรีเป็นผู้อนุญาตให้คนต่างด้าวคนหนึ่งคนใดเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง

             การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามมาตรา 30 นี้เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้เป็นอำนาจดุลยพินิจของรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว ที่จะอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้หนึ่งผู้ใดมีสิทธิเข้าเมืองมาในราชอาณาจักรสยามได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง ซึ่งเป็นการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมาย

             สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรานี้นั้น ในมาตรา 4 หมายความถึง รัฐมนตรีผู้มีหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งตามมาตรา 48[13] บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น รัฐมนตรีผู้ที่จะทำหน้าที่ในการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าเมืองมาเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องนั้นจะต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

             (2) คนต่างด้าวผู้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด

             สำหรับการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การเข้าเมืองตามมาตรานี้นั้น รัฐมนตรีจะเป็นผู้อนุญาตโดยกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของคนเข้าเมืองใด ๆ ก็ได้ตามแต่รัฐมนตรีจะเห็นสมควร หรือจะยกเว้นให้คนต่างด้าวผู้นั้นไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการเข้าเมืองแบบกรณีคนต่างด้าวทั่วไปที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ได้ หรือในเขตใดรัฐมนตรีจะยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าเมือง หรือยกเว้นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ได้ และยังให้อำนาจรัฐมนตรีในการให้สิทธิอาศัยแก่คนต่างด้าวกลุ่มนี้ได้อีกด้วย

             (3) การอนุญาตของรัฐมนตรีให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

             เมื่อรัฐมนตรีมีคำสั่งอนุญาตเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องแล้ว และได้กำหนคุณสมบัติหรือเงื่อนไขใด ๆ ไว้ หรือได้ยกเว้นคุณสมบัติหรือเงื่อนไขบางประการไว้แล้ว ก็ให้รัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศการอนุญาตและเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งในมาตรา 30 วรรค 2 นั้นได้ให้อำนาจรัฐมนตรีที่จะเพิกถอนประกาศราชกิจจานุเบกษาสำหรับกรณีนี้ได้ โดยการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

           

            ข้อสังเกต

  1. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 มีประตูเข้าเมือง 4 ประตู ดังทีได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว  
  2. พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เริ่มต้นมีการให้ตรวจลงตรา หรือขออนุญาตเข้าเมือง
  3. พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการออกใบสำคัญแสดงรูปพรรณให้ พร้อมกับการอนุญาตให้เข้าเมืองแก่คนต่างด้าวที่ไม่มีหนังสือเดินทาง หรือมีแต่ไม่สมบูรณ์ 
  4. มีบทบัญญัติในการอนุญาตโดยรัฐมนตรีให้เข้าเมืองเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องตามมาตรา 30 ซึ่ง เป็นการอนุญาตและการกำหนดเงื่อนไขโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ยังให้อำนาจรัฐมนตรีในการให้สิทธิอาศัยแก่คนต่างด้าวกลุ่มนี้ได้อีกด้วย

 

 

 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเว้นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแก่คนที่เดินทางผ่านแดนระหว่างประเทศไทยและอินโดจีนฝรั่งเศส



[1] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 54 หน้า 1101 วันที่ 20 กันยายน 2480

[2] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 873 วันที่ 25 กันยายน 2482

  ; ซึ่งมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติเข้าเมือง (ฉะบับที่ 2) พ.ศ. 2482 ได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 เฉพาะในมาตรา 36 เรื่องเกี่ยวกับใบสำคัญต่าง ๆ ในมาตรา 35

[3] มาตรา 11 คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรสยาม คือ

  1. ไม่มีหนังสือเดินทางอันถูกต้องที่ออกให้โดยรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลสยามได้รับรองแล้ว

  2. ไม่มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง และไร้อุปการะจากผู้อื่น

  3. ไม่สามารถเสียเงินค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้  หรือตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัตินี้

  4. มีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกำหนดไว้ในกำกระทรวง

  5. มีร่างกายพิการหรือจิตต์ ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคซึ่งทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถประกอบการหาเลี้ยงชีพได้ ซึ่งเจ้าพนักงานแพทย์ ได้ตรวจลงความเห็นแล้ว

  6. ยังมิได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ หรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคและไม่ยอมให้กระทำการเช่นว่านี้ตามกฎหมายบัญญัติไว้

  7. เป็นคนอันธพาลหรือเป็นคนน่าจะก่อเหตุร้าย หรืออันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชน หรือราชอาณาจักรสยาม

[4] พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้คำว่า “ราชอาณาจักรสยาม” ซึ่งแตกต่างจากพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 ซึ่งใช้คำว่า “ประเทศสยาม”

[5] มาตรา 12 หนังสือเดินทางตามที่บังคับไว้ในมาตรา 11 อนุมาตรา 1 ต้องเป็นหนังสือเดินทางที่ยังมีอายุใช้ได้อยู่ และต้องได้รับการตรวจลงตราจากสถานทูตหรือสถานกงสุลสยามในต่างประเทศแล้วจึงสมบูรณ์ เว้นแต่ประเทศนั้น ๆ ได้มีข้อตกลงไว้กับรัฐบาลสยามเป็นอย่างอื่น

[6] มาตรา 13 คนต่างด้าวใดไม่มีหนังสือเดินทางตามที่บังคับไว้ในมาตรา 11 อนุมาตรา 1 หรือมีหนังสือเดินทางที่ไม่สมบูรณ์ตามบทบัญญัติมาตรา 12 เมื่อแสดงให้เป็นที่พอใจของเจ้าพนักงานว่าเป็นบุคคลที่สมควรจะเข้ามาในราชอาณาจักรสยามได้แล้ว เจ้าพนักงานจะออกใบสำคัญแสดงรูปพรรณให้ แล้วอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรสยามก็ได้

[7] มาตรา 20 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้คนต่างด้าวคนหนึ่ง ๆ ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรสยามมีเงินประจำตัวมาในราชอาณาจักรสยามมีเงินประจำตัวมา คนต่างด้าวผู้ใดไม่มีเงินประจำตัวมา คนต่างด้าวผู้ใดไม่มีเงินประจำตัวมาตามจำนวนที่ได้กำหนดไว้ในประกาศนั้น ห้ามมิให้คนต่างด้าวผู้นั้นเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม

          ประกาศนี้รัฐมนตรีจะเพิกถอนเปลี่ยนแปลงได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

[8] กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช ๒๔๘๐

[9] มาตรา 21 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดจำนวนคนต่างด้าวสัญชาติใด หรือจำพวกใด ซึ่งจะให้เข้ามาในราชอาณาจักรสยาม ในระยะเวลาใดเป็นจำนวนชายหญิงเท่าใด เมื่อได้ประกาศแล้วห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรสยามเกินจำนวนที่ได้กำหนดไว้ในประกาศนั้น

 ประกาศนี้รัฐมนตรีจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

[10] มาตรา 22 บทบัญญัติในมาตรา 20 และมาตรา 21 มิให้ใช้บังคับแก่

  1. คนต่างด้างซึ่งคนต่างด้าวซึ่งเป็นข้าราชการของรัฐบาลสยามหรือบุคคลซึ่งรัฐบาลต่างประเทศได้แจ้งแก่รัฐบาลสยามตามระเบียบว่าบุคคลนั้น ๆ มาในราชการของรัฐบาลและครอบครัวของบุคคลที่กล่าวนี้ 

  2. คนต่างด้าวเดินทาง ซึ่งแสดงให้เป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงานว่าเข้ามาสู่ราชอาณาจักรสยามแต่เพียงชั่วคราวไม่เกินสามสิบวัน หรือเพื่อประสงค์จะเดินทางผ่านออกไปจากราชอาณาจักรสยามเท่านั้น

  3. คนต่างด้าวซึ่งมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบอนุญาตให้กลับ และใบสำคัญนั้น ๆ ยังสมบูรณ์อยู่

[11] มาตรา 14 บทบัญญัติแห่งมาตรา 11 อนุมาตรา 1 มาตรา 12 และมาตรา 13 นั้น มิให้ใช้บังคับแก่

  1. ผู้ควบคุมยานพาหนะและคนประจำยานพาหนะซึ่งเพียงแต่แวะเข้ามายังท่าหรือสถานีแห่งราชอาณาจักรสยามแล้วจะกลับออกไป

  2. คนต่างด้าวซึ่งอยู่ในประเทศใกล้เคียงติดต่อกันเดินทางข้ามพรมแดนอันเป็นการผ่านไปมาชั่วคราวเท่านั้น

[12] มาตรา 30 ในกรณีพิเศษฉะเพาะเรื่อง รัฐมนตรีจะอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรสยามภายในเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้ตามแต่จะเห็นควร

          ในเขตต์ใดซึ่งรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรที่จะยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าเมือง หรือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ในกรณีใด ให้รัฐมนตรีมีอำนาจที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ยกเว้นได้

          ประกาศนี้รัฐมนตรีจะเพิกถอนเสียได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

[13] มาตรา 48 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามบทพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจที่จะออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได

หมายเลขบันทึก: 359156เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2010 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท