การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470


ข้อสังเกต การเข้าประเทศไทยหรือสยามในยุคนี้ คนต่างด้าวนั้นไม่ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐเจ้าของดินแดนให้เข้าเมือง กล่าวคือ ไม่ต้องขออนุญาตเข้าเมือง ไม่ต้องมีการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือไม่ต้องขอ VISA และถ้าหากว่าเป็นคนที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน รัฐไทยหรือสยามก็ยังสมารถที่จะออกเอกสารพิสูจน์ตนให้ด้วย คือ ใบสำคัญแสดงรูปพรรณ์ ดังนั้น หากคนเข้าเมืองแม้ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน หรือไม่มีหนังสือเดินทาง ซึ่งรัฐไทยก็จะออกใบสำคัญแสดงรูปพรรณ์ให้ และแม้ไม่ขออนุญาตเข้าเมือง แต่ยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ ครบตามที่กฎหมายกำหนด หรือไม่มีลักษณะต้องห้าม ก็ยังเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้

การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470[1]

 

            สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยหรือสยามในช่วงนี้ เป็นช่วงที่มีการพัฒนาประเทศมากมาย อิทธิพลสังคมตะวันตกเริ่มเข้ามาบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น เริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับรัฐสมัยใหม่ และอำนาจอธิปไตย อันทำให้ประเทศไทย หรือสยามจะต้องมีการพัฒนา และปรับปรุงในหลาย ๆ ด้าน หนึ่งในนั้นก็คือ การปรับปรุงกฎหมาย[2]  

            นอกจากนี้ การอพยพเข้ามาของชาวจีนเป็นจำนวนมาก และเริ่มมีอิทธิพลและบทบาทในสังคมไทย อีกทั้งไม่มีการควบคุมคนเข้าเมือง[3] จึงเริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับการจำกัด และการตรวจตราการเข้าเมืองของคนต่างด้าว ทำให้รัชกาลที่ 7 ทรงมีแนวคิดที่จะตรากฎหมายเพื่อจัดการประชากรคนเข้าเมืองของประเทศสยาม[4]

            ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระบรมราชโองการให้มีการจัดวางระเบียบกำกับตรวจตราคนต่างด้าว เข้าเมืองมาประเทศไทย จึงได้ตราพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470[5] โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2470[6] มีทั้งหมด 18 มาตรา และต่อมาก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติอีก 3 ครั้ง โดย พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2474 , พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2475 และ พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477

            กฎหมายฉบับนี้ใช้กับคนต่างด้าวเข้าเมืองมาเท่านั้น และได้มีการบัญญัตินิยามคำว่าคนต่างด้าวหมายถึงใครบ้างไว้ในมาตรา 3 (1) ว่า คนต่างด้าว หมายความว่า บุคคลที่ไม่มีสัญชาติเป็นไทย ดังที่บรรยายไว้ในพระราชบัญญัติสัญชาติ พุทธศักราช 2456

            สำหรับสิทธิการเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470[7] นั้น มี 2 กรณี แบ่งออกได้เป็น 4 วิธี ดังนี้

  1. การเข้าเมืองกรณีทั่วไป
  2. การเข้าเมืองกรณีพิเศษเฉพาะราย

 

            1. การเข้าเมืองกรณีทั่วไป

 

            พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 กำหนดให้คนต่างด้าวจะต้องมีคุณสมบัติตามตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ดังนั้น คนต่างด้าวที่เข้าเมืองตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ภายใต้กฎหมายนี้ จึงตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย หากมีลักษณะต้องห้าม หรือมีคุณสมบัติที่ไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด[8] ดังนี้

            กรณีนี้ใช้กับบุคคลทั่วไปที่ต้องการเข้ามายังประเทศไทย หรือสยาม ซึ่งเงื่อนไขต่าง ๆ นั้นได้กำหนดไว้ในมาตรา 6 วรรค 1[9] ดังนี้

            เงื่อนไข

 

            (1) คนต่างด้าวนั้นจะต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนต่างด้าวนั้น

            มาตรา 6 (1) ได้กำหนดไว้ว่า คนต่างด้าวที่จะสามารถเข้ามาในประเทศสยามนั้นจะต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลผู้นั้น กล่าวคือ คนต่างด้าวผู้นั้นจะต้องมีหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญแสดงสัญชาติอันถูกต้องที่ออกให้โดยรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลสยามได้รับรองแล้ว

            แต่ถ้าหากว่าบุคคลผู้นั้นไม่มีหนังสือเดินทาง หรือใบแสดงสัญชาติตามที่ (1) บัญญัติไว้ในวรรค 2[10] ของมาตรานี้ก็ยังให้สิทธิเข้าเมืองได้ โดยให้เจ้าพนักงาน[11] ออกใบสำคัญแสดงรูปพรรณ์ แล้วอนุญาตให้บุคคลนั้นเข้ามาในประเทศสยามก็ได้ ส่วนใบสำคัญแสดงรูปพรรณ์นั้นเสนาบดีกระทรวงหมาดไทยจะกำหนดรายละเอียด และข้อความต่าง ๆ และอาจจะคิดค่าธรรมเนียมพอสมควรสำหรับใบสำคัญแสดงรูปพรรณนั้นก็ได้

 

            (2) คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจของรัฐเจ้าของดินแดน

            บุคคลที่จะเข้ามาราชอาณาจักรสยามภายใต้พระราชบัญญัตคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 นั้น มาตรา 6 (4)[12] จะต้อง มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง หรือไม่ไร้อุปกระจากผู้อื่น และไม่เป็นบุคคลซึ่งพนักงานแพทย์ได้ตรวจลงความเห็นว่ามีร่างกายพิการ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นเป็นโรคซึ่งทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถที่จะประกอบการหาเลี้ยงชีพได้ เพราะว่าเป็นการป้องกันมิให้คนต่างด้าวเข้ามาแล้วเป็นภาระทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ และมีอาชีพขอทาน หรือเข้ามาแย่งงานคนชาติทำ และตามมาตรา 7[13] นั้นก็ยังให้อำนาจเสนาบดี ตามความเห็นชอบของเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม จะออกคำสั่งกำหนดจำนวนเงินซึ่งคนต่างด้าวคนหนึ่ง ๆ ที่เข้ามาในประเทศสยามจะต้องมีเงินติดตัวมาก็ได้ ซึ่งต่อมาภายหลังมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2470 ได้ถูกยกเลิกโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2474[14] แต่ก็ยังได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องของความสามรถของคนต่างด้าวในการที่จะเสียเงินค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือในกฎเสนาบดีซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ไว้ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 โดยเพิ่มอนุมาตรา (6)[15] ขึ้นมา ภายหลังจากนั้นก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 และมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2474 อีกครั้ง โดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2475[16] ซึ่งให้เพิ่มเติมอนุมาตรา 7 และ 8 ดังนี้    

                   (7) บุคคลอายุต่ำว่ายี่สิบปีที่มิได้มากับบิดาหรือมารดา เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยอยู่ก่อนแล้ว

                   (8) บุคคลที่มีอายุสิบสองปีหรือกว่านั้นขึ้นไป ที่อ่านและเขียนหนังสือไทยหรือหนังสือภาษาของตนไม่ได้”

            อนุมาตราที่เพิ่มเติมมานั้นสามารถอนุมานได้ว่า เนื่องจากบุคคลทั้ง 2 ประเภทนี้อาจจะเป็นผู้ที่ขาดไร้อุปการะ หรือมิอาจที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพได้ และจะต้องเป็นภาระของประเทศในการที่จะจัดสรรงบประมาณในการเลี้ยงดู

 

            (3) คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางสาธารณสุขของรัฐเจ้าของดินแดน

            กรณีนี้ได้กำหนดไว้ใน มาตรา 6 (2) และ(3) ได้บัญญัติไว้ถึงลักษณะต้องห้ามของคนเข้าเมืองสยามไว้ ดังนี้ 

                    (2) บุคคลมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นที่เสนาบดีจะได้ระบุและประกาศในราชกิจจานุเบกษา[17] เพื่อความประสงค์แห่งมาตรานี้

                   (3) บุคคลซึ่งยังมิได้ปลูกฝีป้องกันทรพิษ และไม่ยอมให้ปลูกฝีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

           เหตุผลก็คือว่ารัฐไทยมีความหวาดกลัวการเสี่ยงภัยต่อโรคภัยและโรคติดต่อที่อาจะเข้ามาในประเทศโดยมีคนต่างด้าวเป็นพาหะนำโรค อันจะส่งผลเป็นอันตรายต่อคนในประเทศ และไม่ต้องการที่จะรับภาระเมื่อคนต่างด้าวเจ็บป่วย

            (4) คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคมของรัฐเจ้าของดินแดน

            ตามมาตรา 6 (5)[18] ได้กำหนดลักษณะบุคคลที่สามารถมีสิทธิเข้าเมืองสยามได้นั้นจะต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งเป็นคนอันธพาล หรือเป็นคนน่าจะก่อเหตุร้าย หรืออันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชน หรือภัยต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรสยาม

 

             (5) คนต่างด้าวนั้นจะต้องเข้ามาในอัตราตามที่รัฐมนตรีกำหนดจำนวนไว้

             เมื่อพิจารณาตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470[19] แล้วนั้น ในมาตรานี้ได้บัญญัติให้อำนาจเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่จะออกคำสั่งกำหนดว่าคนต่างด้าวสัญชาติใด หรือนต่างด้าวจำพวกใด ซึ่งจะให้เข้ามาในราชอาณาจักรในปีหนึ่ง ๆ นั้นเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ โดยความเห็นชอบของเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และเสนาบดีกระทรวงคมนาคม ซึ่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจะต้องนำคำสั่งที่ออกมานั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างน้อยสามเดือนก่อนต้นปีซึ่งจะได้เริ่มใช้คำสั่งนั้น

            เมื่อเสนาบดีมีคำสั่งดั่งกล่าวกำหนดจำนวนคนต่างด้าวเข้าเมืองแล้ว ก็ไม่ให้คนต่างด้าวเข้ามาในพระราชอาณาจักรเกินจำนวนทีได้กำหนดไว้ในคำสั่งนั้น

            แต่ถ้าคนต่างด้าวผู้ใดมิได้มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง เช่น ไม่ได้มีสัญชาติตามที่เสนาบดีกำหนดจำนวนคนเข้าเมืองไว้ ก็จะไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับเงื่อนไขตามมาตรานี้

           

            มีข้อสังเกตว่า การเข้าประเทศไทยหรือสยามในยุคนี้ คนต่างด้าวนั้นไม่ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐเจ้าของดินแดนให้เข้าเมือง กล่าวคือ ไม่ต้องขออนุญาตเข้าเมือง ไม่ต้องมีการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือไม่ต้องขอ VISA ดังนั้น หากคนเข้าเมืองแม้ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน หรือไม่มีหนังสือเดินทาง ซึ่งรัฐไทยก็จะออกใบสำคัญแสดงรูปพรรณ์ให้ และแม้ไม่ขออนุญาตเข้าเมือง แต่ยังมีคุณสมบัติครบตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีลักษณะต้องห้ามก็ยังเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้

 

            2. การเข้าเมืองกรณีพิเศษเฉพาะราย

 

            กฎหมายได้รับรองให้คนต่างด้าวบางประเภทสามารถเข้าเมืองสยามได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์คุณสมบัติบางประการตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 เนื่องจากมีสถานภาพพิเศษ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วิธี คือ

 

            2.1 การเข้าเมืองของคนต่างด้าวที่มีสถานภาพพิเศษเนื่องจากมีเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

บุคคลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง

(1)   พนักงานทูตต่างประเทศซึ่งอยู่ในประเทศสยาม

(2)   พนักงานกงสุลต่างประเทศซึ่งอยู่ในประเทศสยาม

(3) ครอบครัวของพนักงานทูตต่างประเทศซึ่งอยู่ในประเทศสยาม

(4) ครอบครัวของพนักงานกงสุลต่างประเทศซึ่งอยู่ในประเทศสยาม

(5) บุคคลซึ่งรัฐบาลต่างประเทศได้แจ้งแก่รัฐบาลสยามตามระเบียบแล้ว ว่าบุคคลนั้น ๆ มาในราชการของรัฐบาลต่างประเทศ

 

            เงื่อนไข

            บุคคลกลุ่มนี้จะได้รับเอกสิทธิ์ และความคุ้มกันทางการทูตตามกฎหมายระหว่างประเทศ และได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 6 (1) ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนต่างด้าวนั้น ไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญแสดงสัญชาติ ซึ่งเป็นตามที่บัญญัติยกเว้นไว้ในมาตรา 6 วรรค 3[20] แต่ว่ายังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตาม (2), (3), (4) และ(5) กล่าวคือ คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางสาธารณสุข อีกทั้งจะต้องไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคม และไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจของรัฐเจ้าของดินแดน

            สำหรับในเรื่องของภาระทางเศรษฐกิจนั้น ในมาตรา 9[21] วรรค 1 ได้กำหนดยกเว้นไว้ไม่ให้ใช้มาตรา 7 ที่บัญญัติในเรื่องของการให้อำนาจเสนาบดี โดยความเห็นชอบของเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ที่จะกำหนดจำนวนเงินติดตัวของคนต่างด้าวกับบุคคลกลุ่มนี้ แต่เนื่องจากว่ามิได้มีมาตราใดที่กำหนดยกเว้นให้กับคนกลุ่มนี้ในเรื่องของการที่มีรายได้ หรือการมีความสามารถในการประกอบอาชีพ ดังนั้น บุคคลในกลุ่มนี้ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 6 (4) อยู่นั่นเอง[22]

            2.2 การเข้าเมืองของคนต่างด้าวที่มีสถานภาพพิเศษเนื่องจากเป็นบุคคลผู้โดยสารพาหนะผ่านแดนหรือผู้ที่เข้าออกประเทศเป็นประจำ

 

บุคคลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง

(1)   ลูกเรือของลูกเรือต่างประเทศที่แวะเข้ามายังท่าหรืออ่าวแห่งประเทศสยาม

(2) คนโดยสารรถไฟหลวงถือตั๋วทอดเดียวตลอด เพียงแต่ผ่านอาณาเขตประเทศสยามไปนอกพระราชอาณาเขตเท่านั้น

(3) บุคคลซึ่งยู่ในประเทศใกล้เคียงติดต่อกันเดินทางข้ามพรมแดนอันเป็นการผ่านไปมาชั่วคราวเท่านั้น

(4) คนประจำอากาศยานที่แวะเข้ามายังสถานีท่าอากาศยานแห่งประเทศสยาม[23]

 

            เงื่อนไข

            เนื่องจากว่าบุคคลกลุ่มนี้นั้นจะมีการเดินทางเข้าออกเป็นประจำ มีการข้ามพรมแดนไปมาชั่วคราว หรือไม่ก็เป็นกรณีของการเพียงแค่การเดินทางผ่านแดนประเทศสยามแล้วก็ออกไปนอกประเทศ ไม่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ถาวร ซึ่งตามมาตรา 6 วรรค 3[24] วรรค 4[25] ได้บัญญัติไว้ให้บุคคลกลุ่มนี้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 6 (1) ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนต่างด้าวนั้น ไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญแสดงสัญชาติ แต่ว่ายังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามอนุมตรา (2), (3), (4) และ(5) กล่าวคือ คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางสาธารณสุข อีกทั้งจะต้องไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคม และไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจของรัฐเจ้าของดินแดน

           สำหรับในเรื่องของภาระทางเศรษฐกิจนั้น ในมาตรา 9[26] ได้กำหนดยกเว้นไว้ไม่ให้ใช้มาตรา 7 ที่บัญญัติในเรื่องของการให้อำนาจเสนาบดี ตามความเห็นชอบของเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ที่จะออกคำสั่งกำหนดจำนวนเงินซึ่งคนต่างด้าวคนหนึ่ง ๆ ที่เข้ามาในประเทศสยามจะต้องมีเงินติดตัวมา กับบุคคลกลุ่มนี้ตามมาตรา 9 อนุมาตรา (2) โดยมีเงื่อนไขว่าคนต่างด้าวผู้นั้นแสดงให้เป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงานว่า เดินทางเข้ามาประเทศสยามเพียงชั่วคราว หรือเพื่อความประสงค์จะผ่านไปเท่านั้น และไม่มีความประสงค์ที่จะตั้งเคหะสถานเป็นหลักแหล่ง หรือตั้งทำการงาน การค้าขาย หรือการอุตสาหะกรรมใด ๆ อันเป็นปรกติกิจ[27]

 

            2.3 การเข้าเมืองกรณีพิเศษโดยการอนุญาตจากเสนาบดี

 

บุคคลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง

คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยได้รับการอนุญาตจากเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

 

               เงื่อนไข

               กรณีนี้เป็นไปตามมาตรา 10[28] แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนี้

               (1) เสนาบดีจะเป็นผู้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้คนต่างด้าวคนหนึ่งคนใดเข้ามาในพระราชอาณาจักร

               การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามมาตรา 10 นี้เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้เป็นอำนาจดุลยพินิจของเสนาบดีแต่เพียงผู้เดียว ที่เป็นผู้ที่สามารถที่จะอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้หนึ่งผู้ใดเข้าเมืองมาหรือเข้ามาในประเทศสยามได้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมาย

              สำหรับเสนาบดีตามมาตรานี้นั้น ในมาตรา 3 (3) หมายถึง เสนาบดีผู้มีหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งตามมาตรา 18[29] บัญญัติให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น เสนาบดีผู้ที่จะทำหน้าที่ในการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าเมืองมาเป็นกรณีพิเศษนั้นจะต้องเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

              (2) คนต่างด้าวผู้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่เสนาบดีกำหนด

              สำหรับการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การเข้าเมืองตามมาตรานี้นั้น เสนาบดีจะกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ใด ๆ ก็ได้ตามแต่เสนาบดีเห็นสมควร หรือจะยกเว้นให้คนต่างด้าวผู้นั้นไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการเข้าเมืองแบบคนต่างด้าวทั่วไปที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 (1) หรือไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใด ๆ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ได้

           

            ข้อสังเกต การเข้าประเทศไทยหรือสยามในยุคนี้ คนต่างด้าวนั้นไม่ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐเจ้าของดินแดนให้เข้าเมือง กล่าวคือ ไม่ต้องขออนุญาตเข้าเมือง ไม่ต้องมีการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือไม่ต้องขอ VISA และถ้าหากว่าเป็นคนที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน รัฐไทยหรือสยามก็ยังสมารถที่จะออกเอกสารพิสูจน์ตนให้ด้วย คือ ใบสำคัญแสดงรูปพรรณ์ ดังนั้น หากคนเข้าเมืองแม้ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน หรือไม่มีหนังสือเดินทาง ซึ่งรัฐไทยก็จะออกใบสำคัญแสดงรูปพรรณ์ให้ และแม้ไม่ขออนุญาตเข้าเมือง แต่ยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ ครบตามที่กฎหมายกำหนด หรือไม่มีลักษณะต้องห้าม ก็ยังเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้

 

 

 

 

 

 


[1] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 44 หน้า 79 วันที่  17 กรกฎาคม 2470

[2]

[3] เนื่องจากว่าก่อนที่จะมีกฎหมายคนเข้าเมืองที่เป็นลายลักษณ์อักษรในรูปแบบพระราชบัญญัตินั้น สิทธิในการเข้าเมืองของคนต่างด้าวจึงตกอยู่ภายใต้กฎหมายจารีตประเพณี ซึ่งจะต้องตระหนักว่า พระเจ้าแผ่นดินของประเทศสยามนั้นไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ และคุณสมบัติของคนเข้าเมืองเอาไว้ และไม่ต้องขออนุญาตเข้าเมืองไทย ดังนั้น การเข้าเมืองของคนต่างด้าวก่อนวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 จึงเป็นการเข้าเมืองที่ชอบด้วยกฎหมายแม้ไม่มีเอกสารแสดงการให้อนุญาต หรือไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดก็ตาม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าไม่มีคนเข้าเมือง และไม่มีคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

[4]

[5] อารัมภบทพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470

[6] มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470

[7] ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชับญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 โดยพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2474 และพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477

[8] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร “สิทธิเข้ามาในประเทศไทยของคนต่างด้าว” เอกสารประกอบการสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล น. 491 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2547

[9] มาตรา 6 คนต่างด้าวเช่นที่จะกล่าวต่อไปนี้ ห้ามมิให้เข้ามาในประเทศสยาม คือ

 (1) บุคคลซึ่งไม่มีหนังสือเดิรทางฤๅใบสำคัญแสดงสัญชาติอันถูกต้องที่ออกให้โดยรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลสยามได้รับรองแล้ว

           (2) บุคคลมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นที่เสนาบดีจะได้ระบุและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อความประสงค์แห่งมาตรานี้

 (3) บุคคลซึ่งยังมิได้ปลูกฝีป้องกันทรพิษ และไม่ยอมให้ปลูกฝีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

           (4) บุคคลซึ่งไม่มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง ฤๅไร้อุปการะจากผู้อื่นและเปนบุคคลซึ่งพนักงานแพทย์ได้ตรวจลงความเห็นว่ามีร่างกายพิการฤๅจิตร์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ฤๅเปนโรคซึ่งทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถที่จะประกอบการหาเลี้ยงชีพได้

 (5) บุคคลซึ่งเปนคนอันธพาล ฤๅเปนคนน่าจะก่อเหตุร้าย ฤๅอันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชน ฤๅพระราชอาณาจักร์สยาม 

[10] มาตรา 6 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 บัญญัติไว้ว่า

  บุคคลใดไม่มีหนังสือเดิรทางฤๅใบสำคัญแสดงสัญชาติตามที่บังคับไว้ในอนุมาตรา (๑) แห่งมาตรานี้เจ้าพนักงานจะออกใบสำคัญแสดงรูปพรรณ์แล้วอนุญาตให้บุคคลนั้นเข้ามาในประเทศสยามก็ได้ ใบสำคัญแสดงรูปพรรณ์ที่กล่าวนี้ให้มีข้อความตามที่เสนบดีจะกำหนด และจะคิดค่าธรรมเนียมพอสมควรสำหรับใบสำคัญแสดงรูปพรรณ์นั้นก็ได้

[11] มาตรา 3 (4) คำว่า “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า เจ้าพนักงานใด ๆ ที่ได้แต่งตั้งขึ้นตามกฎเสนาบดีเพื่อให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

[12] (4) บุคคลซึ่งไม่มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง ฤๅไร้อุปการะจากผู้อื่นและเปนบุคคลซึ่งพนักงานแพทย์ได้ตรวจลงความเห็นว่ามีร่างกายพิการฤๅจิตร์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ฤๅเปนโรคซึ่งทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถที่จะประกอบการหาเลี้ยงชีพได้

[13] มาตรา 7 ด้วยความเห็นชอบของเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เสนาบดีมีอำนาจที่จะออกคำสั่งกำหนดจำนวนเงินซึ่งคนต่างด้าวคนหนึ่ง ๆ ที่เข้ามาในประเทศสยามจะต้องมีประจำตัวมา คำสั่งนี้มิให้ใช้แก่เด็กอายุต่ำกว่าสิบห้า (๑๕) ปีมากับบิดามารดา คำสั่งที่ได้ออกดังกล่าวนี้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา และอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงฤๅเพิกถอนเสียได้โดยอำนาจและวิธีการอย่างเดียวกับที่ออกคำสั่งนั้น

เมื่อพ้นกำหนดสามเดือนล่วงแล้วนับแต่วันที่ได้ออกประกาศคำสั่งดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในพระราชอาณาจักร์ เว้นแต่คนต่างด้าวนั้นจะมีเงินประจำตัวมาตามจำนวนที่ได้กำหนดไว้ในคำสั่ง

[14]  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 48 หน้า 177 วันที่ 16 สิงหาคม 2474

[15] มาตรา 3 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2474 บัญญัติว่า

             ให้ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช 2470 และใช้ความต่อไปนี้แทน

             “มาตรา 6 คนต่างด้าวเช่นที่จะกล่าวต่อไปนี้ ห้ามมิให้เข้ามาในประเทศสยาม คือ

   (1) บุคคลซึ่งไม่มีหนังสือเดิรทางหรือใบสำคัญแสดงสัญชาติอันถูกต้องที่ออกให้โดยรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลสยามได้รับรองแล้ว

   (2) บุคคลมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นที่เสนาบดีจะได้ระบุและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อความประสงค์แห่งมาตรานี้

   (3) บุคคลซึ่งยังมิได้ปลูกฝีป้องกันทรพิษ และไม่ยอมให้ปลูกฝีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

   (4) บุคคลซึ่งไม่มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง หรือไร้อุปการะจากผู้อื่นและเป็นบุคคลซึ่งพนักงานแพทย์ได้ตรวจลงความเห็นว่ามีร่างกายพิการ หรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคซึ่งทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถที่จะประกอบการหาเลี้ยงชีพได้

   (5) บุคคลซึ่งเป็นคนอันธพาล หรือเป็นคนน่าจะก่อเหตุร้ายหรืออันตราย ต่อความปลอดภัยของประชาชนหรือพระราชอาณาจักรสยาม

             (6) บุคคลซึ่งไม่สามารถเสียเงินค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือในกฎเสนาบดีซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัตินี้

[16]  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 หน้า 608 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2475

[17] ประกาศกระทรวงมหาดไทย ตามความในมาตรา ๖ ข้อ ๒ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยคนเข้าเมือง พุทธศักราช ๒๔๗๐ เรื่อง ห้ามมิให้บุคคลที่มีโรคเรื้อน ริดสีดวงตา วัณโรค กามโรค เข้ามาในประเทศสยาม

[18] (5) บุคคลซึ่งเปนคนอันธพาล ฤๅเปนคนน่าจะก่อเหตุร้าย ฤๅอันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชน ฤๅพระราชอาณาจักร์สยาม

[19] มาตรา 8 ด้วยความเห็นชอบของเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เสนาบดีมีอำนาจที่จะออกคำสั่งกำหนดว่าคนต่างด้าวสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง ฤๅจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ซึ่งจะยอมให้เข้ามาในราชอาณาจักร์ในปีหนึ่ง ๆ นั้นเปนจำนวนเท่าใด คำสั่งที่ได้ออกดังกล่าวนี้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างน้อยสามเดือน ก่อนต้นปีซึ่งจะได้เริ่มใช้คำสั่งนั้น อนึ่งคำสั่งเช่นนี้จะเพิกถอนเสียได้ โดยอำนาจอย่างเดียวกับที่ออกคำสั่งนั้น และให้ประกาศโฆษณาการถอนคำสั่งในราชกิจจานุเบกษา

          เมื่อคำสั่งดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ได้ใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในพระราชอาณาจักร์เกินจำนวนทีได้กำหนดไว้ในคำสั่งนั้น

[20] มาตรา 6 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 บัญญัติว่า

    บทบัญญัติแห่งอนุมาตรา (๑) ว่าด้วยหนังสือเดิรทางและใบสำคัญแสดงสัญชาตินั้น มิให้ใช้แก่พนักงานทูต ฤๅพนักงานกงสุลต่างประเทศซึ่งอยู่ในประเทศสยาม ฤๅแก่ครอบครัวของบุคคลจำพวกนั้น ๆ ฤๅแก่บุคคลซึ่งรัฐบาลต่างประเทศได้แจ้งแก่รัฐบาลสยามตามระเบียบแล้ว ว่าบุคคลนั้น ๆ มาในราชการของรัฐบาลต่างประเทศ ฤๅแก่ลูกเรือของเรือต่างประเทศที่แวะเข้ามายังท่าฤๅอ่าวแห่งประเทศสยาม

[21] มาตรา 9 บทบัญญัติแห่งมาตรา 7 และมาตรา 8 ฤๅคำสั่งที่ได้ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งมาตราทั้งสองนั้น มิให้ใช้แก่บุคคลที่จะกล่าวต่อไปนี้

   (1) คนต่างด้าวเข้ามาในประเทศสยามในการทูต ฤๅการกงสุล ฤๅในราชการของรัฐบาล

   (2) คนต่างด้าวเดิรทางซึ่งแสดงให้เปนที่พอใจของเจ้าพนักงานว่า ตนเข้ามาสู่ประเทศสยามแต่เพียงชั่วคราวฤๅเพื่อความประสงค์จะผ่านไปเท่านั้น และไม่มีความประสงค์ที่จะตั้งเคหะสถานเปนหลักแหล่ง ฤๅตั้งทำการงาร การค้าขาย ฤๅการอุตสาหะกรรมใด ๆ อันเป็นปรกติกิจ

[22] ภายหลังได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 โดยพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2474 นั้นซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 โดยเพิ่มอนุมาตรา (6) ซึ่งเป็นเรื่องของการกำหนดความสามารถของคนต่างด้าวในการเสียเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อต้องการที่จะยกเว้นมิให้บุคคลในกลุ่มนี้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 6

หมายเลขบันทึก: 359154เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2010 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เชิงอรรถที่ 2 และ ที่ 4 คืออะไรครับ ?

ถ้าเป็นไปได้ผมอยากอ่านเรื่องของจารีตประเพณีของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการขออนุญาตออกจากประเทศหนึ่ง ต้องได้รับอนุญาตจากประเทศนั้นด้วย เช่นคนต่างด้าวออกจากประเทศไทยต้องได้รับอนุญาตจากประเทศไทยด้วยจึงจะออกจากประเทศได้เป็นต้น

หรือเป็นพวกกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท