พนมรุ้งมรดกโลก


มารู้จัก ร่วมรักษามรดกโลกของไทย ร่วมกันเถอะ
อุทยานประวัติศาสตร์ (มรดกโลก)

 



ปราสาทพนมรุ้ง

1. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
ตั้งอยู่ที่บ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ ประมาณ 77 กิโลเมตร การเดินทางจากนางรอง ใช้ทางหลวงหมายเลข 24 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก จากนั้นมีทางแยกขวามือเป็นถนนลาดยาง ไปจนถึงบ้านตาเป๊กจะพบทางแยกซ้ายมือ ขึ้นสู่เขาพนมรุ้ง ระยะทาง 12 กิโลเมตรปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีอายุการก่อสร้างและใช้เป็นเทวสถานต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 17 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม หันมานับถือศาสนาพุทธ ศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้ จึงคงได้รับการดัดแปลงเป็นพุทธศาสนาลัทธิมหายานในช่วงนั้น การเดินทางไปปราสาทหินพนมรุ้ง ในกรณีที่ท่านมิได้นำรถยนต์ไปเอง ต้องใช้บริการขนส่งจำกัด รถโดยสารประจำทางสายบุรีรัมย์ – นางรอง แล้วลงที่อำเภอนางรองจะมีรถสองแถวและ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเหมาขึ้นปราสาทพนมรุ้ง หรือจะเหมารถ มอเตอร์ไซค์รับจ้างจากแยกบ้านตะโก ปราสาทหินพนมรุ้ง - ปราสาทเมืองต่ำก็ได้

   จะมีรถสองแถวและรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างเหมาขึ้นปราสาทพนมรุ้ง หรือจะเหมารถมอเตอร์ไซต์รับจ้างจากทางแยกบ้านตะโก ปราสาทพนมรุ้ง - ปราสาทเมืองต่ำก็ได้ ราคาค่าโดยสารแล้วแต่ตกลงกัน อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00 น. – 18.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทยคนละ 10 บาท และชาวต่างประเทศคนละ 40 บาท หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตู้ ป.ณ. 3 ปท. นางรอง 31110 โทร. 0 4463 1711
   ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว คำว่า พนมรุ้ง ซึ่งเป็นนามเรียกขานภูเขาไฟและตัวปราสาทนี้เป็นนาม ที่มีมานานแล้ว ปรากฎครั้งแรกพร้อมกับการสร้างปราสาทหลังแรกๆ บนภูเขาแห่งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแป ความหมายของคำว่า พนมรุ้ง ไว้ในวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต เรื่อง จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง เมื่อ พ.ศ. 2521 ความว่า พนมรุ้ง หรือ
วนํ รุง เป็นภาษาเขมร แปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่ ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับภูเขาอื่น ๆ บริเวณใกล้เคียงอันได้แก่ ภูเขาอังคาร ภูเขาหลุบ ภูเขาคอก ภูเขาไปรบัด พนมรุ้งเป็นภูเขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด สอดคล้องกับพระวินิจฉัยนั้น
   ด้วยความเหมะสมของภูมิที่ตั้งซึ่งเป็นภูเขาไฟบวกกับความโอฬารของปราสาท และการประดับตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลักที่วิจิตรบรรจง ทำให้ ปราสาทพรมรุ้งมีความอลังการโดดเด่นเป็นสง่าดังทิพยพิมานแห่งเทพบนเขาพระสุเมรุตามที่ได้รจนาไว้ในคัมภีร์ของศาสนาฮินดู
   ปราสาทพนมรุ้งเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นโดยกำหนดให้หันหน้าสู่ทิศตะวันออก อันเป็นทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น ด้วยถือกันว่าเป็นทิศแห่งความเจริญรุ่ง เรืองและแสงอาทิตย์ยามเช้าที่สาดส่องมากระทบกับศิวลึงค์ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์แทนองค์พระศิวะเกิดเป็นรัศมีเหลืองอร่ามดุจดังทอง ก็ถือกันว่าเป็น การเพิ่มพลังให้แก่องค์พระศิวะชั่วกัลปาวสาน
   ประวัติความเป็นมา
    
ปราสาทพนมรุ้งเป็นเทวสถานที่สร้าขึ้น เป็นที่ประทับของพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และเพื่อเป็นเครื่องส่งเสริม ค้ำจุนสถานภาพของชนชั้นปกครอง พร้อม ๆ กับใช้ประโยชน์ในฐานะศาสนสถาน คือ ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามประเพณีของศาสนาฮินดู
   สำหรับความเป็นมา และลำดับสมัยแห่งการก่อสร้างปราสาทนี้ เมื่อศึกษาจากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมตามแนวทางของวิชาประวัติ ศาสตร์ศิลป์ประกอบกับ การศึกษา วิเคราะห์ ตีความ ข้อความที่ปรากฎในศิลาจารึกซึ่งพบบริเวณปราสาทพนมรุ้ง ในเบื้องต้นพบว่า บรรดาสิ่งก่อสร้าง ที่ปรากฏเรียงรายอยู่บนเขาพนมรุ้ง มิได้สร้างขึ้นในสมัยเดียวกันทั้งหมด และ จากรูปแบบลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม อาจกำหนดอายุ ปราสาท สิ่งก่อสร้างหลักแรกได้ว่า อยู่ในราว กลางพุทธศตวรรษที่ 15 แต่ไม่ว่าปราสาทหลังใหญ่บนเขาพนมรุ้ง่จะมีการวางรากฐานหรือริเริ่มก่อ สร้างในสมัยก่อนหน้านี้หรือไม่ก็ตาม ส่วนสำคัญ ๆ ของปราสาทหรือการสร้างปราสาทให้สมบูรณ์พอที่จะสถาปานาขึ้นเป็นเทวสถานได้นั้น น่าจะอยู่ ในสมัยของนเรนทราทิตย์แห่งราชวงศ์มิธรปุระ ผู้เป็นที่รักนับถือในหมู่ชนและวงศ์ญาติ นเรนทราทิตย์ผู้นี้เป็นโอรสของภูปตีนทรลักษมี เชื้อสายของ ราชสกุลมหิธรปุระ ได้ครอบครองดินแดนที่มีเทวสถานไศวนิกายบนเขาพนมรุ้งมาแต่เดิม นเรนทราทิตย์เป็นผู้มีความสามารถในการยุทธเหนือบุคคล ธรรมดา หลังการศึกสงครามคงได้รับความดีความชอบ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองเมืองซึ่งเป็นดินแดนในอำนาจของราชวงศ์มหินธรปุระ เมื่อได้ ขึ้นครองเมืองแล้วได้ดำเนินการสร้าปราสาทหินหลังใหญ่ เพื่อประดิษฐานรูปตัวเองเตรียมไว้สำหรับการเข้าไปรวมกับเทพเจ้าเมื่อสิ้นชีพไปแล้ว
ตามความเชื่อที่ถือปฎิบัติกันมาแต่โบราณในกลุ่มชนชั้นผู้นำ ตลอดจนได้สร้างรูปเคารพและภาพแกะสลักต่าง ๆ ไว้ด้วย ภายหลังแม้นนเรนทราทิตย์ ่จะสละเพศฆราวาสมาเป็นนักพรด ก็ยังคงได้รับการยกย่องเป็นสมมติเทพ เพราะเชื่อกันว่าได้บรรลุโมกษธรรมและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์พระศิวะ แล้วนอกจากนเรนทราทิตย์แล้ว หิรัญยะ ผู้เป็นบุตรและศิษย์ของนเรนทราทิตย์ ยังเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลการก่อสร้างปราสาท พนมรุ้ง ภายหลังกลายเป็นนักพรตคนสำคัญ เป็นผู้นำทางศาสนาที่พนมรุ้งในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดนี้ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ก่อนหน้าที่ลัทธิไศวนิกาย จะเสื่อมสลายจากดินแดนแถบนี้ในราวพุทธศตวรรษที่ 18
   

ปราสาทเมืองต่ำ

2. ปราสาทหินเมืองต่ำ
  ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทาง ทิศใต้เป็นระยะทางประมาณ 64 กิโลเมตร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานใน
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และได้เข้ามาทำการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2531 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2539 ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2540 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิด
  ปราสาทเมืองต่ำเป็นกลุ่มปราสาทอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนศิลาแลงอันเดียวกัน การวางผังปราสาทเมืองต่ำ ค่อนข้างแตกต่างจากปราสาทแห่งอื่น ๆที่มีจำนวนองค์ปรางค์เท่ากัน ซึ่งนิยมสร้างองค์ปรางค์ประธานไว้ ตรงกลาง ส่วนองค์ปรางค์บริวารที่เหลืออีก 4 องค์ นั้นจะสร้างไว้ที่มุมของทิศทั้งสี่ เช่น ปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น แต่ที่ปราสาทเมืองต่ำจะวางตำแหน่งของปรางค์อิฐทั้ง 5 องค์ เป็น 2 แถวตามแนว ทิศเหนือใต้ แถวแรกจะมีองค์ปรางค์จำนวน 3 องค์ ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าปรางค์อื่น ๆ

สันนิษฐานว่าปรางค์องค์กลางนี้ คือ ปรางค์องค์ประธานของปราสาทเมืองต่ำ ส่วนแถวหลังมีปรางค์อิฐจำนวน 2 องค์ วางตำแหน่งให้อยู่ระหว่างช่อง ของปรางค์ 3 องค์ ในแถวแรก ทำให้สามารถมองเห็นปรางค์ทั้ง 5 องค์ พร้อมกันโดยไม่มีองค์หนึ่งมาบดบัง จากแผนผังของปราสาทดังกล่าวแสดง ให้เห็นถึงความชาญฉลาดของสถาปนิกสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งปรางค์แต่ละองค์และองค์ประกอบอื่น ๆที่ยังคงสภาพเหลืออยู่ในปัจจุบันมีรายละเอียด ดังนี้
   ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงกลางของแถวหน้า มีขนาดใหญ่กว่างปรางค์บริวารองค์อื่น ๆ มีสภาพให้เห็นเฉพาะฐานเท่านั้น โดยมีผนังเป็นรูป สี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมขนาด 7 x 7 เมตร แม้องค์ประธานจะมีสภาพพังทลายลงเหลือเฉพาะส่วนฐานก็ตาม แต่ลักษณะโครงสร้าง โดยรวมนั้นมีลักษณะ เหมือนกับปรางค์บริวารทั้ง 4 องค์ จะต่างกันก็เพียงแต่ปรางค์ประธานมีมุขหน้า ส่วนปรางค์บริวารไม่มี ปรางค์ประธานจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และเป็นด้านที่มีประตูเข้าสู่ภายในองค์ปรางค์เพียงด้านเดียว ส่วนที่เหลืออีก 3 ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกนั้น ทำเป็นรูปประตูหลอก เปิดปิดเข้าสู่ภายในองค์ปรางค์ไม่ได้ ทั้งนี้เป็นเหตุผลทางด้านความมั่นคงแข็งแรงขององค์ปรางค์ ทำให้สามารถรองรับน้ำหนักของวัสดุก่อสร้างที่กดทับลงมาจากส่วนยอดหรือ ชั้นเชิงบาตร
   จากการขุดค้นเพื่อทำการบูรณะปราสาทเมืองต่ำของกรมศิลปากร ได้ขุดพบหน้าบันและทับหลังของมุขปราสาทปรางค์ประธานทำจากหินทราย หน้าบันจำหลักเป็นรูปพระอินทร์ประทับนั่งในท่ามหาราชลีลาสนะ คือ นั่งชันเข่าขวาขึ้น ขาซ้ายพับ เหนือข้างเอราวัณสามเศียรในซุ้มเรือนแก้วอยู่บน หน้ากาล ลักษณะของซุ้มหน้าบันนี้ เป็นศิลปะเขมรแบบาปวน มีอายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16
   ปรางค์บริวารแถวหน้า ตั้งอยู่สองข้างของปรางค์ประธาน มีขนาดเท่ากัน คือ กว้างและยาวประมาณ 5 เมตร เหนือส่วนฐานขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ หรือตัวอาคาร ก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูทางเข้าออกทางเดียวที่ด้านทิศตะวันออก ส่วนด้านอื่น ๆ ทำเป็นประตูหลอกเหนือเรือนธาตุขึ้นไป เป็น ส่วนหลังคาหรือส่วนยอด ทำเป็นรูปเรือนธาตุวางซ้อนขึ้นไปเป็นชั้น ขนาดลดหลั่นกันไปรวม 5 ชั้น แต่พังทลายลงเหลือเพียงสองชั้น ที่ยอดบนสุดของ ปรางค์แต่ละองค์จะประดับด้วยหินทรายแกะสลักเป็นรูปบัวกลุ่มซึ่งปัจจุบันพังทลายลงมากองอยู่บริเวณพื้นด้านล่าง
  ปรางค์บริวารแถวหลัง ปรางค์บริวารแถวหลังของปราสาทเมืองต่ำเป็นปรางค์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 4 x 4 เมตร ลักษณะโดยรวมของปราค์ เหมือนกับปรางค์ประธานและปรางค์บริวารแถวหน้า ทับหลังปรางค์บริวารองค์ด้านทิศเหนือจำหลักเป็นภาพพระกฤษณะและโควรรธนะ พระกฤษณะ นี้ในคัมภีร์ศาสนาฮินดูกล่าวว่า เป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ผู้ทรงเป็นเทพเจ้าสูงสุด 1 ใน 3 องค์ ของศาสนาฮินดู กล่าวกันว่าพระกฤษณะได้ ระงับวิธีบูชาพระอินทร์ของเหล่าคนเลี้ยงโค ทำให้พระอินทร์พิโรธบันดาลให้พายุกรวดทรายตกลงมาใส่หมู่บ้านคนเลี้ยงโค พระกฤษณะจึงยกเขา โควรรธนะขึ้นป้องกัน โดยข้างกายพระองค์จำหลักเป็นภาพคนเลี้ยงโคและโคเข้าหลบกำบังพายุ ข้างใต้ลงไปเป็นรูปหน้ากาลจับพวงมาลัยมีอุบะแบ่ง เสี้ยวแถบบนทับหลังมีแถวกรอบรูปสามเหลี่ยมคล้ายกลีบบัวจำนวน 8 กลีบ ส่วนทับหลังปรางค์บริวารด้านทิศใต้ จำหลักเป็นภาพพระวรุณเทพเจ้า แห่งฝนฟ้า และเทพรักษาทิศตะวันตก ประทับนั่งท่ามมหาราชลีลาสนะบนหงส์สามตัวแบกอยู่เหนือกาล มือหน้ากาลจับท่อนพวงมาลัยทีมีอุบะแบ่ง เสี้ยว แถบบนทับหลังสลักเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายกลีบบัวจำนวน 13 กลีบ
   บรรณาลัย บรรณาลัย หรืออาคารหลังเล็ก ๆ ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทอยู่ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หันหน้า เข้าสู่กลุ่มปราสาท คือ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก สร้างด้วยอิฐบนฐานศิลาแลง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ทับหลังของอาคารทั้งสองสลักภาพอย่าง เดียวกัน คือ สลักภาพตรงกลางเหนือหน้ากาลเป็นรูปเทพประทับนั่งในท่ามมหาราชสีลาสนะ หัตถ์ขวาถือวัตถุลักษณะ น่าจะเป็นกระบองหรือคทา อยู่บนแท่นภายในซุ้มเหนือหน้ากาลที่คาบท่อนพวงมาลัย ไม่มีอุบะเสี้ยว ตามแบบศิลปะเขมรแบบบาปวน ในครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16
   ระเบียงคด เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะเป็นห้องยาว ๆ ล้อมรอบกลุ่มปราสาทอิฐและบรรณาลัย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยผืนผ้า ก่อด้วยหินทรายเป็น ห้องแคบ ๆขนาดกว้างประมาณ 2 เมตร ต่อกันโดยรอบ ปูพื้นด้วยศิลาแลงผนังของระเบียงคดทั้งด้านนอกและด้านนอกและด้านใน มีหน้าต่างเป็น ระยะ ๆ ผนังด้านในเป็นหน้าต่างโล่ง ส่วนผนังด้านนอกเป็นลูกกรงทำด้วยหินทรายกลึง เรียกว่า ลูกมะหวด ช่องละ 7 ต้น
   สระน้ำและลานปราสาทระหว่างกำแพงคดกับระเบียงแก้ว ถัดจากระเบียงคดออกไปทั้ง 4 ด้าน มีลานกว้างคั่นอยู่ และที่มุมลานทั้ง 4 มี สระน้ำเป็นรูปหักมุมตามแนวกำแพงที่ว่างระหว่างสระทั้ง 4 ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก เป็นทางเดินเชื่อมระหว่างซุ้มประตูทางเข้า ทั้ง 4 ทิศของระเบียงคด
   กำแพงแก้วและซุ้มประตู กำแพงแก้วปราสาทเมืองต่ำนี้ก่อสร้างด้วยศิลาแลงสูงประมาณ 2.70 เมตร มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ 120 เมตร ยาวประมาณ 127 เมตร บนสันกำแพงแก้วตกแต่งด้วยบราสีหินทราย บริเวณกึ่งกลางของกำแพงแก้วทั้ง 4 ทิศ มีซุ้มประตูทางเข้า ก่อด้วย ศิลาทรายมุงกระเบื้อง เครื่องไม้ซุ้มประตูกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน มีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย คือ ซุ้มประตูทางด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก จะ ชักปีกจากห้องกลางทั้ง 2 ข้าง มีประตูและบันไดขึ้นลงทั้งห้องกลางและห้องปีก ส่วนที่ซุ้มประตูด้านทิศเหนือและทิศใต้ชักปีกออกไปทั้งสองข้างเช่น กัน มีแต่บันไดให้ขึ้นลงเฉพาะห้องกลางเท่านั้น
   บาราย บารายเป็นแหล่งน้ำที่ขุดสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและการชลประทานของชุมชน ปัจจุบันเรียกกันว่า ทะเลเมืองต่ำ ตั้งอยู่ทาง ทิศเหนือของปราสาทเมืองต่ำ มีขนาดกว้างประมาณ 510 เมตร ยาว 1,090 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร ก่อขอบสระด้วยศิลาแลง 36 ชั้น บนขอบสระ ด้านทิศเหนือและทิศใต้มีท่าน้ำเป็นชานกว้าง ประมาณ 6.90 เมตร ยาว 17 เมตร ปูด้วยศิลาแลงลาดไปยังฝั่งน้ำซึ่งก่อบันไดท่าน้ำเป็นทางลาดลงสระ จำนวน 5 ขั้น บารายนี้น่าจะมีทางรับน้ำด้านทิศตะวันตกจากภูเขาไปรบัด และภูเขาพนมรุ้งและระบายน้ำออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทาง ทิศตะวันออกเฉียงใต้

คำสำคัญ (Tags): #โคราช12
หมายเลขบันทึก: 359124เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2010 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 10:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท