ความทรงจำเก่าๆจาก paper บทความวิจัยของ อ.นฤมล ในวันวาน




            นอกจากสิ่งของ ภาพถ่ายแล้ว แม้แต่บทความที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ ก็เป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่งดงามกับวันวาน ในห้อง Wetlab  ชีววิทยาน้ำจืด ที่ตึก Bio มข.

            ปี 2542 เมื่อเปิดประตูเข้าไปในห้อง Wetlab ห้องปฏิบัติการที่ศึกษากลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะกลุ่มตัวอ่อนของแมลงน้ำ นอกจากจะเห็นนักศึกษานั่งทำ Lab แล้ว บางครั้งจะเห็นนักศึกษาเปิดตู้เก็บเอกสาร ค้นข้อมูล หาเอกสารบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างๆ ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งหยิบทั้งค้นเพื่อหาข้อมูลที่มีคนทำการศึกษา กลุ่มแมลงน้ำชนิดเดียวกับที่นักศึกษาคนนั้น สนใจศึกษา

            เมื่อค้นเจอแล้ว ก็จะเอาบทความนั้นไปถ่ายเอกสาร และนำต้นฉบับมาเก็บไว้ที่เดิม แล้วนำฉบับถ่ายเอกสารไปอ่าน, แปล, ทำความเข้าใจ, ถามอาจารย์

            มีเอกสาร บทความที่เก็บรวบรวมไว้ศึกษาเป็นจำนวนมาก ในช่วงหนึ่ง เมื่อ อ.นฤมล ให้ช่วยจัดเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ค้นเอกสารในห้อง Wetlab ได้ง่ายขึ้น ได้มีการบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ และบางฉบับได้ทำการสแกนเอกสารไว้

            บทความชิ้นหนึ่ง ที่สแกนไว้ และ Save เก็บไว้ลงใน CD คือ บทความวิจัยของ อ.นฤมล ที่ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ OIKOS 67 : 351-357. Copenhagen 1993  ชื่อบทความ คือ Predatory foraging behaviour and activity patterns of larvae of two species of limnephilid cased caddis

kku



            ต้นฉบับนี้ นักศึกษาหลายคน คงถ่ายเอกสารเก็บไว้บ้างแล้ว แต่นายบอน เลือกเก็บเป็นไฟล์คอมพิวเตอร์ เผื่อมีโอกาสได้ทำการศึกษาหัวข้อนี้บ้างในอนาคต

            เมื่อเวลาผ่านไป ก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษาอย่างที่ตั้งใจไว้เลย

            การเขียนบทความเพื่อส่งลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ เป็นเป้าหมายสำคัญของนักศึกษาปริญญาโท ซึ่งได้พบเห็นในช่วงปี 2542-2543  จากการขอทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมีเงื่อนไข จะต้องมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสาขานั้นๆ  ดูเหมือนเป็นสิ่งที่กดดัน เครียด ยาก ที่จะให้นักวิชาการ หรือ บรรณาธิการวารสารต่างประเทศยอมรับผลงาน แต่ อาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งมีประสบการณ์ส่งผลงานไปตีพิมพ์ ได้ช่วยตรวจสอบ เคี่ยวเข็ญ จนนักศึกษาปริญญาโท ทำสำเร็จ มีชื่อ -  ผลงานในวารสารต่างประเทศจนได้


            เมื่อมี paper ตีพิมพ์ ดูเหมือน แต่ละคนที่เคยเครียด จะหน้าบาน โล่งอก  ซึ่งใครๆก็สามารถนำผลงานที่ตีพิมพ์ไปใช้อ้างอิงในผลงานวิจัยของตนเองได้ Paper ที่ได้ลงตีพิมพฺ์ เหมือนกับนักกีฬาได้แชมป์จากการแข่งขันเลยทีเดียว

            ครั้งแรกในชีวิต เป็นสิ่งที่สำคัญ และจะอยู่ในความทรงจำไปยาวนาน การได้เห็นการทำงานตั้งแต่ เริ่มต้นคิด วางแผนการทดลอง การคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา จนถึงลงมือทำ กว่าจะเสร็จ ก็ต้องใช้เวลา ความอดทนพอสมควร กว่าที่ paper จะได้ตีพิมพ์ ก็ต้องลุ้นอีก เมื่อได้ตีพิมพ์แล้ว คราวนี้ สามารถนำไปเผยแพร่สู่วงกว้างได้ นักศึกษา นักวิจัยจากสถาบันอื่นๆ สามารถนำไปอ้างอิงในผลงานของตนได้


            พอได้เห็น Paper ของ อ.นฤมลนี้แล้ว มองเห็นถึงภาพการทำงานของท่าน ซึ่งต้องทำงานหนัก และละเอียดกว่า งานวิจัยของนักศึกษา แล้วอาจารย์มีทั้งงานสอนหนังสือ และงานอื่นๆด้วย ในช่วงปี 2541-2543 จึงได้เห็น อ.นฤมล มาทำงานตั้งแต่ 6-7 โมงเช้า แล้วกลับที่พักตอนค่ำๆ บางครั้งทำงานเพลิน กลับตอน 2-3 ทุ่มก็บ่อยครั้ง
   
            Paper ของอาจารย์ที่เห็นนี้ จึงเป็นเสมือนตัวแทนของผลงานที่ทำให้เห็นภาพบรรยากาศเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้ชัดเจนอีกครั้งในความทรงจำ























bio









หมายเลขบันทึก: 358802เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2010 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท