มนต์สะกดของ Lab กริ๊ง - ชีววิทยา




            การเรียนในสายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ โดยเฉพาะในสาขาชีววิทยา จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตทั้งพืช - สัตว์ เรียนรู้ถึงชนิดของสิ่งมีชีวิต ทั้งภายนอก ภายใน เชื่อมโยงไปจนถึงความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจึงได้ทำการศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงระดับเซลล์เลยทีเดียว

            นักศึกษาจึงต้องเข้าห้องปฏิบัติการหรือห้อง Lab เพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด เนื้อชิ้นเล็กๆในถาดแก้ว เมื่อนำไปส่องดูในกล้องจุลทรรศน์ ได้เห็นเนื้อเยื่อ เห็นระบบกล้ามเนื้อชั้นต่างๆ หรือ ใบไม้ 1 ใบ ก็ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาทำสไลด์ ส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อศึกษาถึงระบบท่อลำเลียง และเซลล์ต่างๆภายในเนื้อเยื่อพืช

            เมื่อถึงเวลาสอบเก็บคะแนน การสอบ Lab ในบางวิชา ก็ต้องส่องกล้องจุลทรรศน์ดูเนื้อเยื่อเหล่านั้น ถ้าเป็นสไลด์ อาจารย์ผู้สอนมักทำสัญลักษณ์ให้สังเกต เช่น ให้ดูเข็มที่ชี้เนื้อเยื่อในกล้องจุลทรรศน์ จุดนั้น คือ เนื้อเยื่ออะไร ทำหน้าที่อะไร

            บางวิชา ถ้าเรื่องที่ศึกษา เป็นอวัยวะภายนอก จะนำส่วนของอวัยวะที่ศึกษามาวางในถาดแล้วตั้งคำถาม อาจใช้เข็มหมุดปักตรงจุดที่ต้องการจะถาม เช่น ตัดมาเฉพาะส่วนหัวของปลา แล้วปักเข็มหมุดที่แผงเหงือก แล้วมีกระดาษติดคำถามไว้ข้างๆ ว่า ที่เข็มหมุดสีแดง เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่อะไร เข็มหมุดสีเขียว อวัยวะนั้นชื่ออะไร


            การสอน Lab กริ้ง จะมีการจัดโต๊ะ แล้ววางโจทย์คำถาม พร้อมสไลด์หรือชิ้นเนื้อ, ชิ้นส่วนอวัยวะ ที่ศึกษาในชั่วโมงเรียน แล้วให้นักศึกษาตอบ  คำถามมี 20 ข้อ ก็วางคำถาม พร้อมตัวอย่างชั้นส่วนสิ่งมีชีวิตไว้บนโต๊ะ ให้นักศึกษาดูคำถามแล้วดูอวัยวะแล้วตอบคำถาม อึดใจใหญ่ อาจารยฺ์ผู้คุมสอบจะกดกริ่ง "กริ๊งงงงงงงงงง" หมดเวลาสำหรับข้อนั้น ให้เดินไปที่ข้อต่อไปแล้วตอบคำถาม


            การสอบ Lab กริ้ง เป็นสีสันอย่างหนึ่งของการสอบเลยทีเดียว เป็นการสอบที่เร็วที่สุด เข้าสอบพร้อมกัน และเสร็จพร้อมกัน ใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง ถ้าใครขยันเรียน จำเนื้อหาได้ พอเข้าสอบ เห็นตัวอย่างชิ้นส่วนสิ่งมีชีวิต ดูคำถามแล้ว ก็เขียนคำตอบลงไปทันที  "กริ๊ง" ดังขึ้น ก็เดินตามลูกศรไปข้อต่อไป ดูปุ๊บ..นึกออกแล้ว ก็เขียนคำตอบ ปั๊บ....

photo from sc.mahidol.ac.th
            แต่ Lab กริ้ง ก็เป็นการสอบที่ปราบเซียนบางคน เพราะสิ่งมีชีวิตที่นำมาศึกษา ก็รู้จักคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ถ้าเป็นปลาน้ำจืด ก็แทบจะเคยกินทั้งตัวมาแล้ว จะพูดถึงกล้ามเนื้อส่วนไหน นึกออกได้หมด จะให้บอกถึงรสชาติของเนื้อปลาส่วนนั้น ก็สามารถที่จะบอกได้เลย ถ้าเป็นพืช ก็เห็นมาตั้งแต่เล็กๆ หลับตานึกก็ยังได้

            พอใครบางคนเข้าสอบ Lab กริ๊ง  นายบอนเหลือบไปมองหน้านิดนึง เค้าดูโจทย์คำถามแล้วดูตัวอย่างสิ่งมีชีวิต  แล้วทำหน้ายิ้ม ทำหน้านึก... มาฟอร์มนี้ คงหมูๆ เพราะตัวอย่างที่เอามาถามในการสอบ Lab กริ๊ง ก็เป็นตัวสำคัญๆ จุดสำคัญๆ ที่อาจารย์ก็พยายามเน้นตอนสอน lecture ทุกครั้ง จนสอบ Lab กริ๊งเสร็จ แต่ละคนถือกระดาษคำตอบไปส่งอาจารย์คุมสอบ ......พอหันไปมองที่เพื่อนคนนั้น.. อ้าว หน้าซีด ดูเหมือนเหงื่อตก จน อ.นฤมล ทักว่า "ไม่อยากส่งเหรอคะ"

       
            เพื่อนเราก้มหน้า  ยื่นส่งกระดาษคำตอบแล้วเดินออกมา บอกว่า ไม่ได้เลยว่ะ เขียนไม่ทัน

            "เฮ๊ย อาจารย์ให้เวลาข้อนึง เกือบนาที คำถามก็ไม่ยาก ถามตรงๆว่า ที่ชี้ให้ดูน่ะ คืออะไร นึกได้ก็เขียนตอบเลย แสดงว่า นายไม่รู้เลยเหรอ ก็เห็นเข้าเรียนทุกครั้งนี่นา..."

            "กูรู้ทุกข้อแหละ พอดูแล้ว กำลังจะเขียน กำลังนึกชื่ออยู่ อาจารย์ก็กดกริ๊งแล้ว เดินมาข้อต่อไป ก็มาเขียนคำตอบของข้อที่แล้ว พอกำลังจะนึกคำตอบของข้อที่กำลังดูอยู่ อ้าว.....กริ๊งซะแล้ว เลยต้องเดินไปข้อต่อไป ..เขียนก็ไม่ทันข้อ  กริ๊งๆๆๆๆๆ บ่อยๆ เลยมั่วไปหมด"

            ดูท่าทางจะตกใจเสียงกริ๊ง ในขณะที่กำลังใช้สมาธินึกคำตอบที่จะเขียนลงไป เช่น เขียนชื่ออวัยวะนั้นเป็นภาษาอังกฤษ บางที ใกล้จะนึกออกแล้ว ติดอยู่ที่ปาก ก็กริ๊งซะแล้ว นึกอะไรได้ ก็รีบเขียนลงไปก่อน

            การสอบ Lab กริ๊ง มีเพื่อนบางคนบอกว่า เหมือนกับการดวลปืนจริงๆ จะต้องยิงให้เข้าเป้าทันที คือ ต้องตอบให้ถูก แล้วจะได้คะแนนข้อนั้นไปเลย ถ้าไม่แน่จริง  คิดไม่ทัน คิดช้า แต่รู้คำตอบอยู่แล้ว ก็ไม่ได้คะแนน

            ปี 1-2 สอบ Lab กริ๊ง ในห้องเรียนที่มีนักเรียนลงทะเบียนเรียนกันเยอะ เลยต้องแบ่งเป็นการสอบหลายกลุ่ม ซึ่งมีเวลาไม่มากนัก เมื่อเรียนวิชาของภาควิชา นักศึกษามีน้อยลง อาจารย์ก็ใจดี ให้เวลาคิดนานขึ้น กว่าจะกด "กริ๊ง" นักศึกษาที่คิดช้า ก็สามารถเขียนตอบทัน เสร็จทันเวลาพอดี

            .... เพื่อนคนหนึ่งขับรถเข้าไปใน มข. ผ่านตึกคณะวิทยาศาสตร์ เห็นน้องๆนักศึกษากำลังทำ Lab ก็นึกถึงตอนสอบ Lab กริ๊งขึ้นมา เขาบอกว่า Lab กริ๊ง เป็นการสอบที่ตื่นเต้น และเสร็จเร็วที่สุด รูปแบบการสอบลักษณะนี้ถือเป็นที่สุดในช่วงที่เรียนปริญญาตรี....


            .. เป็นการเรียนและการสอบที่บอกให้เรารู้ตัวว่า เรารู้จริงแค่ไหน ถูกต้องแม่นยำแค่ไหน

            "กริ๊ง...หมดเวลาค่ะ"




หมายเลขบันทึก: 358508เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2010 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท