"กระผมได้สอบบรรจุเข้าทำงานใน ม.วลัยลักษณ์ ในตำแหน่งนายช่างเทคนิคประจำงานพาหนะ และเข้าทำงานเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 40 ในการปฏิบัติงานผมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่จัดรถให้กับบุคลากร ร่วมกับพี่น้อย ปัจจุบันลาออกไปแล้วเนื่องจากประสบปัญหาเดียวกับผม คือคนไม่มีความพอดี
จากการทำงานมีอยู่ครั้งหนึ่งผมต้องจัดรถให้กับอาจารย์สองท่าน ผมมีรถอยู่สองคัน คือรถเก่ง และรถปิ๊คอัพ อาจารย์ ก. จะไปขึ้นเครื่องบินที่ จ.ตรัง ส่วนอาจารย์ ข. จะไปเป็นวิทยากรที่ อ.ขนอม ผมเลยจัดรถกะบะไปขนอม รถเก๋งไปตรัง (เพราะเห็นว่าเดินทางไกลกว่า) พอรุ่งเช้าอีกวัน อาจารย์ ข. ก็เดินมาต่อว่าผมจัดรถไม่เหมาะสมเพราะไปเป็นวิทยากรต้องมีหน้าตามากกว่า
ผมคิดและไตร่ตรองอยู่นานเห็นว่างานนี้ไม่เหมาะกับผม จึงขอย้ายตัวเองไปอยู่โรงประปา เนื่องจากเคยไปดูงานแล้วประทับใจ หลังจากมีการมอบหมายบุคลากร 5 คน เพื่อรับงานต่อจากบริษัทผู้รับจ้าง ตอนบริษัทมาบรรยายขั้นตอนทุกคนพยักหน้าเหมือนว่าทำได้ ทั้งที่ทุกคนเป็นช่างยนต์ กล ไฟ(ฟ้า) ซึ่งไม่เกี่ยวกับน้ำเลยสักคน วันแรกที่เริ่มงานจริง เราก็เริ่มจากงานที่เราถนัด คือ กดปุ่ม ปรากฎว่า Output ที่เกิดขึ้น คือ น้ำประปาที่มาจากน้ำดิบที่ใสอยู่แล้ว ขาวหมดทั้งบ่อ ปัญหาเกิดขึ้นเพราะต้องจ่ายน้ำตลอดเวลา หากจะระบายทิ้งต้องใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมงเพื่อให้น้ำเต็มบ่อตกตะกอน ทุกคนต้องยอมทำงานหนักขึ้นเพื่อแก้ปัญหา ต้องลงไปหมุนประตูน้ำปิด-เปิด และดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อกัน ต่อมาเรามีโอกาสได้เดินทางมาแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการน้ำประปาของเทศบาลในเขตอำเภอเมือง และนำเอาเทคนิคไปปรับใช้ทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น และใช้มาจนปัจจุบันนี้"
เรื่องเล่าจากนายอพิรุณ บุษยากุล
นายช่างเทคนิคประจำโรงน้ำประปา ม.วลัยลักษณ์