การสังเกตุแบบมีส่วนร่วม ระยะแรกของการวิจัยชุมชน


ในช่วงที่เราได้ไปพักอยู่ที่โรงเรียนหลวงพัฒนาบ้านขุนวาง 2 วัน 2 คืน โดยโรงเรียนนั้นตั้งอยู่กับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง Khunwang Royal Project Development Center ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 12 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เราได้มีโอกาสเดินเข้าไปเยี่ยมชมภายในศูนย์นั้นหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นเช้า กลางวัน หรือเย็น

การเดินเข้าไปภายในศูนย์ฯ แต่ละครั้ง เราก็ได้พบกับบรรยากาศการทำงานของพี่น้องสมาชิกครอบครัวโครงการหลวงในแต่ละแบบ แต่ละบรรยากาศ

ครั้งแรกเราเดินเข้าไปตอนเย็น "เหม็นมาก" เพราะเขากำลังฉีดยาให้กับดอกเบญมาศ เดินเข้าไปแป๊บเดียว ไม่ไหว ต้องถอยก่อน

ตอนเช้าเดินเข้าไปรับอาหารบิณฑบาต ก็ได้เห็นบรรยากาศพี่น้องแบกดอกไม้มาส่ง ยิ้มแย้ม แจ่มใส เห็นพนักงานกำลังเดินมาทำงาน บรรยากาศยามเช้าแสนสดชื่น แตกต่างกับตอนเย็นที่มีกลิ่นยามาก ตอนบ่าย ๆ มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมบรรยากาศก็เป็นอีกอย่าง

แต่ละเวลาของวัน แต่ละวันของสัปดาห์ แต่ละสัปดาห์ของเดือน แต่ละเดือนของปี บริบทของวิถีชีวิตในชุมชนก็แปรเปลี่ยนไปตามกาลและเวลา

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันที่ต้องเดินขึ้นไปบนผาแง่ม ก็ได้มีโอกาสเดินผ่านแปลงปลูกหอม ปลูกผัก แปลงปลูกดอกเบญมาศนั้นก็ได้ฉุกคิดขึ้นมาว่า การที่นักวิจัยจะเขียนโครงร่างการวิจัยเพื่อไปขอทุนตามแหล่งทุนต่าง ๆ นั้นน่าจะมีโอกาสเข้ามาสัมผัสชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวให้รู้จักปัญหาที่แท้จริงเสียก่อน ก่อนที่จะวางแผนที่จะแก้ไขหรือพัฒนา

เมื่อก่อนการเขียนโครงการงานวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งไม่ว่าจะเป็น PRA (Paticipatory Rural Appraisal) หรือว่าจะเป็น PAR (Participatory Action Research) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งการทำงานออกเป็นของเฟดหรือสองระยะ คือ 1 ระยะที่ใช้เพื่อการศึกษาบริบทชุมชน และ 2 ระยะการแก้ไขและพัฒนา

แต่ทว่าการเขียนโครงร่างเพื่อพัฒนาทั้งสองระยะนั้นส่วนใหญ่จะใช้ "การนั่งเทียน" เขียนบนโต๊ะในสำนักงาน อาจจะเป็นด้วยว่าภาระงานที่ล้นมือ รวมถึงกำหนดระยะเวลาที่จะต้องส่งโครงร่างงานวิจัยจึงต้องทำให้ต้อง "จินตนาการ" ว่าชุมชนนั้นเป็นอย่างไร มีปัญหาอย่างไรและควรที่จะแก้ไขปัญหาอย่างไร

ซึ่งในช่วงระหว่างที่เดินอยู่ซึ่งเส้นทางรายล้อมด้วยวิถีชีวิตของชุมชนนั้น จึง "ปิ๊ง" ขึ้นมาว่า ก่อนที่นักวิจัยคนใดจะเขียนโครงร่างฉบับจริงส่งเพื่อขอทุนแหล่งใดก็ตาม น่าจะต้องมีการเข้ามา "ร่วมใช้ชีวิต" อยู่ในชุมชนนั้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ที่จริงแล้ว ตามหลักการก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แหล่งทุนต่าง ๆ หรือหลักการตามที่ร่ำที่เรียนกันมาก็ต้องทำแบบนั้น แต่ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่แล้วจะทำไม่ได้

วิธีการแก้ไขปัญหาที่ผมคิดออก (ความคิดเห็นส่วนตัว) ควรจะแบ่งการให้ทุนเป็น 3 ระยะ โดยให้ค่าใช้จ่ายติดปลายนวมเพื่อให้นักวิจัยที่สนใจจะทำงานกับชุมชนใด ๆ เข้าไปในชุมชนเพื่อที่จะได้พบปัญหาที่แท้จริงก่อนที่จะเขียนโครงร่างฉบับจริงส่งเพื่อขอทุนก้อนใหญ่

ในทางปฏิบัติของการขอทุนปัจจุบัน เราจะทำงานในชุมชนจะต้องเขียนเพื่อขอทุนให้ได้ก่อนจึงจะลงไป หรือไม่ก็จะมีการขับรถไปพูดไปคุยสักแป๊บหนึ่ง บางครั้งก็แค่โทรไปคุย จากนั้นนักวิชาการก็มานั่งจินตนาการสร้างโครงร่างกันเอง

แหล่งทุนน่าจะมีการออกกฎเชิงบังคับพร้อมทั้งมีค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่จะให้นักวิจัยเข้าไปชุมชนบ่อย ๆ ก่อนที่จะมีเขียนโครงร่างตัวจริง

คนเราไปไหนก็ต้องกินข้าว ล้อจะเลื่อนได้ก็ต้องใช้น้ำมัน

ถ้าอยากจะให้โครงร่างการวิจัยที่ดี แหล่งทุนก็ควรที่จะตั้งงบเล็ก ๆ สำหรับนักวิจัยที่มีแวว หรือหัวที่จะเป็นไปได้มีงบประมาณให้สักเล็กน้อยเพื่อไปสัมผัสวิถีชีวิตในพื้นที่นั้น ๆ

ซึ่งเฟดแรกของการทำ PRA หรือ PAR ควรจะตั้งใช้หลักการหรือทฤษฎีที่ว่า "การสังเกตุแบบมีส่วนร่วม" ต้องเข้าไปสังเกตุ ไปมีส่วนร่วม ไปร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมใช้ชีวิตอยู่กับชุชนสักระยะหนึ่ง เพื่อที่จะมีทุนในการเขียนโครงร่างการวิจัย

การเข้าไปสังเกตุแบบมีส่วนร่วมนั้น ควรจะต้องไปติดต่อกันเป็นวัน เป็นคืน หรือหลายวัน หลายคืนก็ยิ่งดี

เพราะการเข้าไปช่วงแรก ๆ ต่างคนก็ต่างสวมหน้ากากเข้าหากัน มีอะไรไม่ค่อยบอกกัน ถ้าเจอคนปากหวาน ทุกอย่างก็หวานหมด ถ้าเจอคนมีอคติ เขาก็ปฏิเสธทุกอย่าง

แต่คนเราเมื่อรู้จักกันสักพักหนึ่ง หน้ากาก หัวโขน หรือ "ผักชี" ต่าง ๆ ที่โรยฉาบหน้าให้คนแปลกหน้าดูนั้นจะเริ่มหายไป

ถ้านักวิจัยเข้าไปชุมชนบ่อย ๆ อยู่ในชุมชนนาน ๆ โครงร่างการวิจัยจะไม่มีกลิ่นผักชี โครงร่างการวิจัยจะมีแต่เนื้อ ไร้หนามและไม่เป็น "เกาหลา"

การโทรศัพท์ไปพูดคุย หรือการโฉบไปโฉบมาในชุมชน ข้อมูลที่นำมาเขียนจะเป็นข้อมูลหน้ากาก ข้อมูลผักชี โครงร่างการวิจัยที่ดีจะต้องเรียนรู้ด้วยชีวิต ชีวิตที่สมบูรณ์ด้วยรอบช่วงของเวลา เช้า กลาง วัน เย็น จันทร์-ศุกร์ ต้นเดือนถึงปลายเดือน มกรา-ธันวาคม

โครงร่างการวิจัยที่ดีจะมีได้ด้วยการที่แหล่งทุนจ่ายงบประมาณเพื่อเข้าไปสังเกตุแบบมีส่วนร่วมก่อนสักก้อนหนึ่ง ถ้าไม่งบส่วนแรกนี้ย่อมไม่ได้โครงร่างการวิจัยที่ดี โครงร่างเป็นอย่างไร แผนงานก็ต้องเป็นอย่างนั้น เนื่องจากถูกบีบด้วยกรอบของแผนงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลทางการบัญชี

ก้าวแรกเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าก้าวแรกอยู่ในชุมชน โครงการวิจัยที่นั้นก็ทำโดยชุมชนเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 358287เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2010 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท