สาธิตแม่ไม้มวยไทย


มวยไทย
ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
แม่ไม้มวยไทย หมายถึง ท่าของการผสมผสานการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก เพื่อการรุกหรือรับในการต่อสู้ด้วยมวยไทย การจะใช้ศิลปะไม้มวยไทยได้อย่างชำนาญ จะต้องผ่านการฝึกเบื้องต้นในการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก แต่ละอย่างให้คล่องแคล่วก่อน จากนั้นจึงจะหัดใช้ผสมผสานกันไปทั้งหมัด เท้า เข่า ศอกและศิลปะการหลบหลีก ซึ่งขึ้นอยู่กับครูมวยที่จะคิดดัดแปลงพลิกแพลงเพื่อนำไปใช้ให้ได้ผลแล้วตั้งขื่อท่ามวยนั้นๆ ตามลักษณะท่าทางให้จดจำได้ง่าย เมื่อมีท่ามวยมากขึ้นจึงจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ หรือตั้งชื่อให้เรียกขานคล้องจองกันเพื่อลูกศิษย์จะได้ท่องจำและไม่ลืมง่าย ในอดีตมวยไทยไม่ได้ใส่นวมจะชกกันด้วยมือเปล่า หรือใช้ผ้าดิบพันมือจึงสามารถใช้มือจับคู่ต่อสู้เพื่อทุ่ม หัก หรือบิดได้ นักมวยจึงใช้ชั้นเชิงในการต่อสู้มากกว่าการใช้พละกำลังจึงเกิดท่ามวยมากมาย ต่อมามีการกำหนดให้นักมวยไทยใส่นวมในขณะขึ้นชกแข่งขันเช่นเดียวกับมวยสากล และมีการออกกฎกติกาต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่นักมวย และง่ายต่อการตัดสินท่ามวยที่มีมาแต่อดีตบางท่าจึงไม่สามารถนำมาใช้ในการแข่งขันได้ ถือว่าผิดกติกา และบางท่านักมวยก็ไม่สามารถใช้ได้ถนัดเนื่องจากมีเครื่องป้องกันร่างกายมาก ท่ามวยบางท่าจึงถูกลืมเลือนไปในที่สุด

โบราณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิได้แบ่งประเภทของไม้มวยไทยไว้ต่างกัน ขึ้นอยู่กับครูมวยแต่ละท่าน แม้บางท่าจะมีชื่อเรียกต่างกันก็ตาม ไม้มวยไทยที่มีการกล่าวถึงในตำรามวยหลายตำรา และแบ่งลักษณะไว้ชัดเจน คือแบ่งตามลักษณะการแก้ทางมวยและการจู่โจม เรียกชื่อว่า กลมวย แบ่งตามลักษณะการใช้ หมัด เท้า เข่า ศอก เรียกว่าเชิงมวย บางตำราแบ่งเป็นแม่ไม้ลูกไม้ หรือแบ่งเป็นไม้ครู ไม้เกร็ด ซึ่งไม้ครูหมายถึงไม้สำคัญเป็นไม้หลักที่ครูมวยเน้นให้ลูกศิษย์ทุกคนต้องทำให้ได้ ทำให้ดี และทำให้ชำนาญ เพราะเมื่อรู้และชำนาญเรื่องไม้ครูแล้ว จะสามารถแตกไม้ครูแต่ละแบบออกเป็นไม้เกร็ดอีกมากมาย

แม่ไม้มวยไทย
แม่ไม้มวยไทย หมายถึงท่าของการใช้ศิลปะมวยไทยที่สำคัญที่สุด อันเป็นพื้นฐานของการใช้ไม้มวยไทย ซึ่งผู้ฝึกมวยไทยจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติให้ได้ก่อนที่จะฝึกลูกไม้ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ไม้มวยไทยที่ละเอียดขึ้น
โบราณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิได้จัดแบ่งแม่ไม้มวยไทยเป็น 15 ไม้ ดังนี้

แม่ไม้ 15 ไม้
1. สลับฟันปลา
2. ปักษาแหวกรัง
3. ชวาซัดหอก
4. อิเหนาแทงกริช
5. ยอเขาพระสุเมรุ
6. ตาเถรค้ำฝัก
7. มอญยันหลัก
8. ปักลูกทอย
9. จระเข้ฟาดหาง
10. หักงวงไอยรา
11. นาคาบิดหาง
12. วิรุฬหกกลับ
13. ดับชวาลา
14. ขุนยักษ์จับลิง
15. หักคอเอราวัณ







รูปภาพ : สลับฟันปลา


1. สลับฟันปลา (รับวงนอก)
แม่ไม้นี้ เป็นไม้หลักหรือไม้ครูเบื้องต้น ใช้รับและหมัดตรงของคู่ต่อสู้ที่จะชกนำ โดยหลบออกนอกลำแขนของคู่ต่อสู้ทำให้หมัดเลยหน้าไป

ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายตรงที่หมายใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า
ฝ่ายรับ ก้าวเท้าขวาหลบไปทางกึ่งขวา 1 ก้าว พร้อมทั้งโน้มตัวเอนไปทางขวาประมาณ 60 องศา น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าขวา ขาขวางอเล็กน้อยศีรษะและตัวหลบออกวงนอกของหมัดฝ่ายรุก ใช้มือขวาจับคว่ำมือที่แขนท่อนบนของฝ่ายรุก มือซ้ายจับกำหงายที่ข้อมือของฝ่ายรุก (ท่าคล้ายจับหักแขน)




2. ปักษาแหวกรัง (รับวงใน)

แม่ไม้นี้เป็นไม้ครูของการเข้าสู่วงในเพื่อใช้ลูกไม้อื่นต่อไป

ฝ่ายรุก
ชกด้วยหมัดซ้ายตรงที่หน้าฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า
ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าสืบไปข้างหน้าเฉียงไปทางกึ่งซ้ายเล็กน้อยภายในแขนซ้ายของฝ่ายรุก ตัวเอนประมาณ 30 องศา น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าซ้ายพร้อมกับงอแขนทั้ง 2 ขึ้นปะทะแขนท่อนบนและแขนท่อนล่างของฝ่ายรุกไว้โดยเร็ว หมัดของฝ่ายรับทั้งคู่ชิดกัน (คล้ายท่าพนมมือ) ศอกกางประมาณ 1 คืบ ศีรษะและใบหน้ากำบังอยู่ระหว่างแขนทั้งสอง ตาคอยชำเลืองดูหมัดขวาของฝ่ายรุก


รูปภาพ :
ปักษาแหวกรัง




รูปภาพ : ชวาซัดหอก



3. ชวาซัดหอก (ศอกวงใน)

แม่ไม้นี้ใช้เป็นหลักสำหรับหลบหมัดตรงออกทางวงนอกแล้วโต้ตอบด้วยศอก

ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายตรงบริเวณที่ใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า
ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าเอนตัวไปทางกึ่งขวา ตัวเอนประมาณ 30 องศา น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าขวา พร้อมงอแขนซ้ายใช้ศอกกระแทกชายโครงใต้แขนของฝ่ายรุก



4. อิเหนาแทงกริช (ศอกวงใน)
แม่ไม้นี้เป็นหลักในการรับหมัดตรง และใช้ศอกเข้ารุกวงใน

ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดขวาตรงบริเวณหน้าฝ่ายรับ
ฝ่ายรับ ใช้มือซ้ายปัดหมัดขวาของคู่ต่อสู้ให้เลยพ้นไปแล้ว รีก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าตัวเอียงไปทางซ้ายเล็กน้อย ตัวเอนประมาณ 60 องศา น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าขวา งอศอกขวาขนานกับพื้น ตีระดับชายโครงฝ่ายรุก




รูปภาพ : อิเหนาแทงกริช




รูปภาพ : ยอเขาพระสุเมรุ


5. ยอเขาพระสุเมรุ (ชกคางหมัดต่ำก้มตัว 45 องศา)
แม่ไม้นี้ ใช้รับหมัดตรงในลักษณะก้มตัวเข้าวงในให้หมัดผ่านศีรษะไปแล้วชกเสยคาง

ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายตรงที่หมายใบหน้าฝ่ายรับ พร้อมก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า
ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าขวาพร้อมกับย่อตัวต่ำเข้าหาฝ่ายรุก งอเข่าขวาแขนซ้ายตึงย่อตัวต่ำเอนไปข้างหน้าประมาณ 45 องศา น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าขวาแล้วให้ยืดเท้าขวายกตัวขึ้นพร้อมกับพุ่งชกหมัดขวาเสยใต้คางของฝ่ายรุก หน้าเงยดูคางของฝ่ายรุก แขนซ้ายกำบังอยู่ตรงหน้าเสมอคาง



รูปภาพ : ตาเถรค้ำฝัก

6. ตาเถรค้ำฝัก (ชกคางหมัดสูงก้มตัว 60 องศา)
แม่ไม้นี้ เป็นหลักเบื้องต้นในการป้องกันหมัดโดยใช้แขนปัดหมัดที่ชกมาขึ้นข้างบน

ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายตรงที่บริเวณใบหน้าฝ่ายรับ
ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้าทางกึ่งขวาเข้าวงในของฝ่ายรุก แล้วใช้แขนขวา งอป้องหมัดซ้ายที่ชกมาปัด ขึ้นให้พ้นตัวงอเข่าซ้ายเล็กน้อยใช้หมัดซ้ายชกใต้คางของฝ่ายรุก




รูปภาพ : มอญยันหลัก



7. มอญยันหลัก (รับหมัดด้วยถีบ)
แม่ไม้นี้ เป็นหลักสำคัญในการรับหมัดด้วยการใช้เท้าถีบยอดอก หรือท้อง

ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายตรงพร้อมกับก้าวท้าวซ้ายไปข้างหน้า
ฝ่ายรับ โยกตัวเอนไปทางขวาเอนตัวหนีฝ่ายรุกประมาณ 45 องศา ยืนบนเท้าขวา แขนทั้งสองยกงอป้องตรงหน้า พร้อมกับยกเท้าซ้ายถีบที่ยอดอกหรือท้องของฝ่ายรุกให้กระเด็นห่างออกไป



8. ปักลูกทอย (รับเตะด้วยศอก)
แม่ไม้นี้ใช้เป็นหลักในการรับ การเตะกราดโดยใช้ศอกกระแทรกที่หน้าแข้ง

ฝ่ายรุก ยืนตรงหน้าพอได้ระยะเตะ ยกเท้าขวาเตะกราดไปยังบริเวณชายโครงของฝ่ายรับจากขวาไปซ้าย โน้มตัวเล็กน้อย งอแขนทั้งสองป้องกันหน้า
ฝ่ายรับ รีบโยกตัวไปทางซ้ายพร้อมกับก้าวเท้าซ้ายฉากไปข้างหลังใช้แขนขวางอศอกขึ้นรับเท้าของฝ่ายรุกที่เตะมา แขนซ้ายงอป้องกันอยู่ตรงหน้าสูงกว่าแขนขวาเพื่อป้องกันพลาดถูกใบหน้า




รูปภาพ : ปักลูกทอย




รูปภาพ : จระเข้ฟาดหาง


9. จระเข้ฟาดหาง (รับหมัดด้วยเตะ)
แม่ไม้นี้ใช้ส้นเท้าฟาดไปทางข้างหลัง
เมื่อคู่ต่อสู้ชกพลาดแล้วถลันเสียหลักจึงหมุนตัวเตะด้วยลูกเหวี่ยงส้นเท้า

ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับสืบท้าวซ้ายไปข้างหน้า
ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าขวากระโดดไปทางกึ่งขวาให้พ้นหมัดฝ่ายรุก แขนงอกำบังตรงหน้าแล้วใช้เท้าซ้ายเป็นหลักหมุนตัว เตะด้วยส้นเท้าขวาบริเวณท้องหรือคอ




10. หักงวงไอยรา (ศอกโคนขา)
แม่ไม้นี้ใช้แก้การเตะโดยตัดกำลังขา ด้วยการใช้ศอกกระทุ้งที่โคนขา

ฝ่ายรุก ยกเท้าขวาเตะกราดไปยังบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ งอแขนทั้งสองบังอยู่ตรงหน้า
ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าขวาเข้าหาฝ่ายรุกตรงหน้าเกือบประชิดตัว หันข้างตัวไปทางซ้ายเข่าขวางอ เท้าซ้ายเหยียดตรงพร้อมกับใช้มือซ้ายจับเท้าขวาของฝ่ายรุกให้สูง ศอกขวากระแทรกที่โคนขาของฝ่ายรุก ยกเท้าขวาฝ่ายรุกให้สูงขึ้น เพื่อให้เสียหลักป้องกันฝ่ายรุกใช้ศอกกระแทรกศีรษะ


รูปภาพ : หักงวงไอยรา




รูปภาพ : นาคาบิดหาง


11. นาคาบิดหาง (บิดขาจับตีเข่าที่น่องหรือข้อต่อเข่า)
แม่ไม้นี้ใช้รับการเตะโดยใช้มือทั้งสองจับปลายเท้าบิดพร้อมกับใช้เข่ากระแทกขา

ฝ่ายรุก ยกเท้าขวาเตะกราดไปยังบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ แขนทั้งสองงออยู่ตรงหน้า
ฝ่ายรับ รีบโยกตัวไปทางซ้ายยืนบนเท้าซ้าย มือซ้ายจับส้นเท้าของฝ่ายรุก มือขวาจับที่ปลายเท้าบิดออกนอก
ตัว พร้อมกับยกเข่าขวาตีที่น่องหรือข้อต่อเข่าของฝ่ายรุก




12. วิรุฬหกกลับ (รับเตะด้วยถีบ)
แม่ไม้นี้ใช้รับการเตะโดยใช้ส้นเท้ากระแทกที่บริเวณโคนขา

ฝ่ายรุก ยกเท้าซ้ายเตะกลางลำตัวบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ
ฝ่ายรับรีบยกเท้าซ้ายถีบไปที่บริเวณโคนขาซ้ายของฝ่ายรุกพร้อมยกแขนทั้ง
สองกันด้านหน้า การถีบนั้นต้องถีบให้เร็วและแรงถึงขนาดฝ่ายรุกหมุนกลับเสียหลัก





รูปภาพ : วิรุฬหกกลับ




รูปภาพ :
ดับชวาลา

 

13. ดับชวาลา (ปัดหมัดชกตอบ)
แม่ไม้นี้ใช้แก้การชกด้วยหมัดตรงโดยชกสวนที่ใบหน้า

ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายไปยังบริเวณใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าแขน คุมบริเวณปลายคาง
ฝ่ายรับ ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้ากึ่งขวาหลบอยู่นอกหหมัดซ้ายของ
ฝ่ายรุกเอี้ยวตัวไปทางขวา ปัดและกดแขนซ้ายของฝ่ายรุกที่ชกมาให้ต่ำลง พร้อมกับใช้หมัดซ้ายชกบริเวณหน้าแล้วพุ่งตัวกระโดดไปทางกึ่งขวา

 



ขุนยักษ์จับลิง

14. ขุนยักษ์จับลิง(รับ-หมัด-เตะ-ศอก)
แม่ไม้นี้เป็นไม้สำคัญมากใช้ป้องกันคู่ต่อสู้ที่ไว้ในการชก เตะ และศอกติดพันกัน การฝึกแบ่งออกเป็น 3 ตอน

ตอนที่ 1

ฝ่ายรุก ชกหมัดซ้ายตรงไปยังใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า
ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าซ้ายสืบเท้าเข้าหาตัวฝ่ายรุกตรงหน้า แขนขวาปัดแขนซ้ายฝ่ายรับให้พ้นจากตัว


ตอนที่ 2

ฝ่ายรุก ยกเท้าขวาเตะกราดบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ
ฝ่ายรับ รีบโยกตัวถอยเท้าซ้ายไปข้างหลังราวกึ่งซ้าย ย่อตัวใช้ศอกขวา กระแทกที่ขาขวาท่อนบนของฝ่ายรุก


ตอนที่ 3

ฝ่ายรุก งอแขนขวาโน้มตัวกระแทกศอกที่ศีรษะของฝ่ายรับ
ฝ่ายรับรีบงอแขนขึ้นรับปะทะใต้ศอกของฝ่ายรุกแล้วรีบโยกตัว
ก้าวเท้าขวาถอยไปทางหลังประมาณครึ่งก้าว





รูปภาพ : หักคอเอราวัณ


15. หักคอเอราวัณ(โน้มคอตีเข่า)

ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายตรงพร้อมกับสืบเท้าซ้ายไปข้างหน้า หมัดขวาคุมอยู่บริเวณคาง
ฝ่ายรับ ก้าวเท้าซ้ายสืบไปตรงหน้าฝ่ายรุกอย่างรวดเร็ว พร้อมกับยกแขนขวาสอดปัดแขนซ้ายของฝ่ายรุก แล้วกระโดดเข้าจับคอของฝ่ายรุกโน้มลงมาโดยแรงแล้วตีด้วยเข่าบริเวณใบหน้า

หมายเลขบันทึก: 358031เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท