บริการสุขภาพ บทบาท Purchaser- provider อย่างไร...จึงจะพอดี (ฉบับชาวบ้าน)


ไอ้ที่สั่งอย่างโน้น เอาอย่างนี้ คงไม่ถือว่าคนซื้อ ไปก้าวก่ายคนขายนะครับ บางคนบอกว่า "ไม่ก้าวก่าย" แน่นอน เพราะไม่ได้ไปแย่งเขาลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว คือไม่ได้ไปยุ่งในวิธีการของเขา

บริการสุขภาพ

บทบาท Purchaser- provider อย่างไร...จึงจะพอดี (ฉบับชาวบ้าน)

 

          สังคมทุกวันนี้ หายากที่ใครจะทำอะไรเองได้ทุกเรื่อง ส่วนใหญ่ก็อาศัยคนอื่น อาจขอฟรีๆ(เดี๋ยวนี้ หายาก) หรือ ซื้อหาจ้างทำ ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนหนึ่งเป็นคนซื้อหรือจ้าง อีกคนหนึ่งเป็นคนขายของหรือขายบริการก็แล้วแต่

          ในระบบราชการ ต้องมีเจ้าของงบประมาณ มีการจัดงบประมาณให้หน่วยงานต่างๆรับไปดำเนินการ ในระบบบริการสุขภาพก็เช่นกัน มีข้อถกเถียงกันว่าผู้ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการงบประมาณ ควรทำบทบาทหน้าที่มากน้อยเพียงใดในการบริหารจัดการงบประมาณ ที่ไม่น้อยเกินไปหรือมากเกินไปจนถูกหาว่า “ก้าวก่าย” ผู้ให้บริการ

           ผมคงไม่มุ่งหาคำตอบให้ชัดว่า อย่างไร..จึงพอดี.เพราะคงไม่มีอะไรผิดหรือถูกร้อยเปอร์เซ็น..แต่ขอลองยกเรื่องที่เป็นรูปธรรม ที่เกี่ยวข้องกับคนทั่วไปครับ

           ส่วนใหญ่เราเป็นผู้บริโภค ก็คือ "ผู้ซื้อ" ส่วนใหญ่เราไม่ทำอาหารกินเอง เราจะ "ซื้อ" พูดให้ดูทันสมัยหน่อยว่า purchase น่ะ แต่เวลาเราสั่งก๋วยเตี๋ยวกิน เราต้องorderตามที่เราอยากกิน ไม่ได้ยกการตัดสินใจให้คนขายใช่มั้ยครับ เราก็จะบอก "เล็ก ไม่งอก" หรือ "ใหญ่ไม่ชู" ไมใส่ผงชูรส เอาชามปกติ หรือ พิเศษ....บางคนก็เพิ่มน้ำตก ต้มยำ...โอ๊ย..เรื่องมาก

....ไม่เห็นมีใคร..สั่งคนขายว่า...."เฮีย...อยากทำอะไรก็ทำมา...ผมกินได้ทั้งนั้นตามใจเฮีย....จะคิดตังส์เท่าไหร่ก็ได้นะ ตามใจเฮีย..."

           ไอ้ที่สั่งอย่างโน้น เอาอย่างนี้ คงไม่ถือว่าคนซื้อ ไปก้าวก่ายคนขายนะครับ บางคนบอกว่า "ไม่ก้าวก่าย" แน่นอน เพราะไม่ได้ไปแย่งเขาลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว คือไม่ได้ไปยุ่งในวิธีการของเขา

            เวลาเราจะสร้างบ้านหรือสร้างตึก เราเรื่องมาก ขั้นตอนออกแบบก็แก้แล้วแก้อีก....พอขั้นตอนก่อสร้าง เราก็ว่าจ้างผู้รับเหมา ต้องคุยกันให้รู้เรื่องเข้าใจกัน ทำสัญญา อย่างนี้ ไม่ว่าจะเรียกความสัมพันธ์แบบนี้ว่าเป็น purchaser-provider split หรือ เป็น commissioning ก็ต้องทำกันแบบนี้แหละ แล้วพอตอนลงมือสร้าง เราก็ตรวจสอบตลอด แถมกำชับอีกว่า ของต้องเป็นไปตามสเป๊กนะ ต้องเกรดเอเท่านั้น..... ติโน่นตินีี่ บางทีก็ติว่าทำไม่ตรงแบบบ้าง งานไม่เรียบร้อยบ้าง บางทีก็เปลี่ยนโน่นปรับนี่ เพี้ยนจากแบบที่วางไว้ อย่างนี้เขาเรียกว่า เจ้าของเงิน ไปก้าวก่ายหน้าที่ของผู้ให้บริการ รึเปล่าครับ แล้วเจ้าของเงินควรปล่อยให้ผู้รับเหมาบรรเลงไปเรื่อยจนเสร็จแล้วเราจ่ายตังส์โดยไม่กำกับ ไม่ตรวจสอบมั้ยครับ

          ชิ้นงานบางชิ้น อธิบายผู้รับเหมายังไงก็นึกไม่ออก เราต้องออกแรงพาไปดูตัวอย่างที่โน่นที่นี่...เรียกว่า "ศึกษาดูงาน" จะได้เข้าใจชัดเจนสร้างบ้านที่ถูกใจเรา บางจุดบางงานที่เราเน้นเป็นพิเศษก็ต้องใช้ทีมช่างมือเซียนจริงๆบางทีต้องยอมจ่ายแพงเขาจะได้รีบมาทำให้ คือเราก็ต้อง บริหารจัดการอ่ะ.."พูดให้สวย ก็...ต้อง Manage ถ้าเราไม่ออกแรง...เมื่อไหร่จะได้งานอย่างใจปรารถนา...คงต้องรอกันจนเหงือกแห้ง..ครับ

          ของบางอย่าง เราก็หามาเอง...เช่น  ปาร์เก้ไม้มะค่าเกรดเออย่างดี(ซื้อเองเพราะกลัวผู้รับเหมามั่วซื้อไม้ไม่ดีมา)...เราซื้อมาเองแล้วให้เขาคิดค่าแรงในการปู...ก็ไม่เห็นว่าผู้รับเหมาจะเกี่ยงงอน(ยกเว้นว่าแถวบ้านเรามีผู้รับเหมาอยู่รายเดียว...เลยไม่ง้อลูกค้า..อ้าว..อย่างนี้เราต้องง้อผู้รับเหมาแทน)  บางเรื่องที่เราทำเองได้ประหยัดกว่า เราก็ทำเอง อย่างเช่น ซื้อรูปสวยๆมาติดผนัง หรือซื้อต้นไม้มาปลูกและจัดสวนเอง(คือเอาประหยัดและทำเองได้ถูกใจเราน่ะ) ที่เราทำก็ไม่เห็นมีใครบอกว่า "เฮ้ย! คุณกำลังก้าวก่ายหน้าที่ผู้รับเหมาแล้ว....คุณมีหน้าที่จ่ายเงินอย่างเดียวเท่านั้น

            บางจุดแก้ไขเล็กน้อยผู้รับเหมาก็หยวนทำให้ไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่บางจุดหากงานเพิ่มมากหรือยากขึ้น ผู้รับเหมาก็มักงอแง หรือคิดเพิ่ม อย่างนี้ก็ต้องเจรจากัน

          ถึงจุดนี้ บางท่านคงพอมองอกว่า ถ้าไม่อยากให้ต้องไปก้าวก่ายละก้อ ต้องออกสเป็กกำหนดความต้องการให้ชัด พูดคุยกันให้เข้าใจตรงกันแต่แรกว่า “ผลงาน”ที่ต้องการน่ะ เป็นยังไง และหากเลือกได้อย่าลืมที่จะเลือก “ผู้รับงานที่ไว้ใจได้” ล่ะครับ จะได้ไม่ปวดหัวทีหลัง

         เรื่องสบายๆ ไม่ซีเรียส ยังไม่ปล่อยให้ผู้รับจ้างไปละเลงตามใจชอบเลย....แล้วเรื่องความเจ็บไข้ ความเป็นความตายนี่คงไม่ต้องถามว่าควรทำยังไงนะ...ว่าแต่ว่า คุยกันดีๆก็แล้วกันครับ....

------------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 358009เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ที่บอกมาก็ใช่อยู่ครับ แต่ประเภทที่ว่า ถ้าใส่ลูกชิ้นเพิ่มอีกลูกจะจ่ายเพิ่มอีก ห้าสิบตังค์(โดยเจ้าของร้ายไม่มีโอกาสตั้งราคาเอง) หรือประเภทที่ว่าถ้าเส้นที่ลวกมายาวไม่เท่ากันจะจ่ายแค่ครึ่งนึง..อย่างนี้มีที่ไหนครับ....แต่ว่าก็ว่าเถอะ ผมก็เซ็งบริษัทรับเหมารายใหญ่รายเดียวนี้เต็มทน นี่แหละครับเขาเรียกว่าระบบผูกขาด และควรระวังเรื่องการฮั้วกันระหว่าผู้รับเหมากับผู้ควบคุมหรือตรวจรับงานนะครับ...กลัว

เป็นข้อคิดเห็นที่ดีมากครับ ในระบบใดๆก็แล้วแต่ต้องสมดุลย์ ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และที่สำคัญคือธรรมมาภิบาล ไม่มีการฮั้ว ไม่มีการยักเอาประโยชน์ส่วนรวมไปเข้ากระเป๋า พูดคุยกันตรงไปตรงมา

แม้แต่ร้านก๋วยเตี๋ยว หรือผู้รับเหมา เวลารับงานหรือรับออร์เดอร์ลูกค้าแล้ว จ่ายงานให้ลูกน้องในร้านก็ต้องตามกำกับ มีระบบควบคุมคุณภาพ ไม่อย่างนั้นบางที่เราบอก " โต๊ะ๓...เล็ก ไม่งอก" กุ๊กดันทำ "ใหญ่ ไม่ ชู" หรือบางทีทำถูกแล้วแต่เด็กเสร์ฟดันเอาไปส่ง โต๊ะอื่น นี่ก็น่าปวดหัว เรียกว่าต้องเซ็ตระบบ "ประกันคุณภาพก๋วยเตียว" ที่ส่งมอบให้ลูกค้า...

ที่เกาหลี เขามีการเจรจากันเป็นปีๆไประหว่างสมาคมวิชาชีพกับสปสช.เกาหลีว่าจะคิดราคากันอย่างไร และอาจมีกลไกอื่นๆเข้ามาอีกเพื่อให้เกิดความพอดีครับ....ประเทศอื่นๆเป็นอย่างๆไร หากใครมีความรู้ เอามาแชร์กันก็ดีนะครับ ถ้าผมรู้อะไรมา จะนำมาแลกเปลี่ยนกันอีก

ไม่แน่ใจว่าระบบสุขภาพที่เป็นบริการทีต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายจัดการสุขภาพจะเปรียบเทียบได้กับการทำธุรกิจที่ต้องการกำไรแบบโดยพ่อค้าคนขาย และการควบคุมกำกับโดยลูกค้าหรือไม่ เครือข่ายสุขภาพนั้นที่จริงไม่ต้องการกำไรแต่ต้องการโอกาสและปัจจัยการพัฒนาที่จำเป็นต้องแตกต่างหลากหลายๆไปตามพื้นที่ การควบคุมกำกับโดยมุ่งแต่ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณเป็นเรื่องที่น่าทบทวนว่ามาถูกทางหรือไม่ แล้วบริการสาธารณะที่กำลังพัฒนาแต่ไม่คุ้มค่าเงินของท่านท่านจะไม่จ่ายใช่หรือไม่

แต่ถ้ามองให้ลึกพอทุกวันนี้จะบอกว่ากองทุนเป็นผู้ซื้อ ก็ชักไม่แน่ใจ ดูเหมือนว่าท่านจะเป็นผู้ขาย"เงิน" ที่มีอำนาจกำหนดราคา ผู้จัดบริการเป็นเสมือนซื้อ"เงิน" ด้วยแรงงาน เพราะดูเหมือนสินค้าที่ว่านี้แทนจะเป็นสุขภาพ กลับเป็นตัวเงินเป็นหลักเสียแล้ว

ดังนั้นสุขภาพ จึงไม่น่าจะเป็นสินค้าเหมือนก้วยเตี๋ยวเด็ดขาด มันมีความหมายซับซ้อนเชิงสังคมของมนุษย์โลกที่จะต้องมองในมุมหลากหลายมากกว่ามุมมองเชิงธุรกิจแลกเปลี่ยนด้วย "มวลเงิน"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท