ชาครธมโม
นาย สมชาย ชาครธมโม ชินวานิชย์เจริญ

บ้านหลังเรียน แหล่งเรียนรู้เพื่อเด็กอยากรู้


“ถ้าเราไม่ทำ ไม่รู้ใครจะทำ”

บ้านหลังเรียน แหล่งเรียนรู้เพื่อเด็กอยากรู้

                ผมได้รับคำชักชวนจากพี่อึ่ง (คุณสำรวย โยธาวิจิตร) ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่วีรพล ซึ่งเป็นผู้ประสานงานสมาคมประชาสังคมจังหวัดเลย   อารมณ์ความรู้สึกแรกที่ได้รับการชักชวน ผมตั้งโจทย์กับตัวเองว่า “ถ้าชมรมศิษย์เก่ามอขอที่เป็นคนอุดร จะมาร่วมกันทำประโยชน์ให้สังคมคนอุดรธานีแล้วเราจะทำอะไรกันดี”  นั่นคือแวบความคิดแรก  เรานัดขึ้นรถที่ ม.ราชภัฏ ในเช้าวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 ผมได้รู้จักกับคุณวิชัย คลังไม้ไทยลาว พ่อน้องเอิร์ธ ไพโรจน์ค้าไม้ อาจารย์ประยูร (พี่ยูร พยาบาลหญิงแกร่ง) เฮียโอฬาร (รุ่น 24 วิศว) ทำงานคลังน้ำมันศรีพลัง  และน้องนิ  เราไปถึงศูนย์ประสานงานซึ่งอยู่ในตัวอำเภอเมือง จังหวัดเลย ใกล้ๆวัดศรีภูมิ มีเด็ก ๆ มาต้อนรับพร้อมกับพี่วีรพล และพี่อัญจนา เจ้าหน้าที่ของพัฒนาสังคม ฯ ในมุมมองของสถานที่เป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ด้านซ้ายถ้าหันหน้าเข้าตึกจะมีกรงสุนัขอยู่ด้นหน้าบริเวณทางเดินเท้า ภายในอาคารมีชั้นหนังสือ และสื่อ เพื่อใช้ในงานของวิทยุชุมชน พร้อมทั้งห้องส่งวิทยุ ส่วนด้านขวามีพื้นที่ประมาณ 2*3 ตารางเมตร ถัดจากนั้นเป็นห้องน้ำและบันได แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ที่นี่มีชีวิตชีวา  ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่เรื่องราวของกิจกรรมที่ได้รับรู้หลังจากนี้ไปอีก เกือบ 2 ชั่วโมงที่คณะเราและคณะของทางเมืองเลยได้พูดคุยกัน ผ่านการรับรู้และโดยส่วนตัวผมเองรู้สึกประหลาดใจ ประทับใจในการเป็นนักตั้งคำถามกับชุมชน และไม่ใช่เพียงตั้งคำถามอย่างเดียวยังลงมือทำด้วยของพี่วีรพลและน้อง ๆ พี่วีรพลแม้เป็นคนนครนายกแต่ก็มาอยู่และพัฒนาสังคมเมืองเลยได้มากทีเดียว

                “ถ้าเราไม่ทำ ไม่รู้ใครจะทำ” “ทำใมปล่อยให้ไฟไหม้ป่า” “ใครจะมารับลูกต่อ” หรือ “ถ้าพ่อแม่ทำใจได้ ที่นี่ (บ้านหลังเรียน) มีพื้นที่ให้เด็กคิดต่อ”  เหล่านี้เป็นโจทย์ที่พี่วีรพลถามกับชุมชน ถามกับคนรอบข้าง จนก่อตัวขึ้นมาเป็นเครือข่ายคนทำงานมีน้องป้อง (อรญา) เป็นผู้ช่วยอีกคนหนึ่งที่ผมได้ไปรู้จักในวันนั้น  ผมคิดว่าปัจจัยความสำเร็จสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งของเมืองเลย มาช่วยเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้นผ่านกลไกที่เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมกันลงมือทำเลย  ผ่านการบ่มเพาะทางความคิดโดยคนในวัยเดียวกัน โดยมีผู้ชี้แนะอย่างพี่วีรพลที่มีปูมหลังเป็นทหารสื่อสาร กลไกที่ว่าได้แก่ บ้านหลังเรียน , กิจกรรมลานบ้านลานเมือง , การทำแม๊ปปิ้งคนดี , การทำสารคดีคนเก่ง ซึ่งแต่ละกิจกรรมค่อย ๆทยอยมาเหมือนคลื่นลูกแล้วลูกเล่า ทำให้เด็ก ที่พี่วีรพลรักเหมือนลูกได้ทำงานร่วมกัน ได้ฝึกคิด ฝึกวางแผน ถ้าเป็นเรื่องสารคดี เด็กๆ ที่อยากรู้อยากเห็นพวกเครื่องมือต่าง ๆ ก็ได้ฝึกใช้จริงๆ แต่ก่อนจะออกภาคสนามได้ ต้องมีฐานความรู้ในการไปทำงานก่อน เช่นถ้าจะทำสารคดี ก็ต้องผ่านการอบรมการถ่ายภาพ แล้วก็เอาภาพมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันโดยมีผู้ใหญ่และเพื่อน ๆ ช่วยกันวิจารณ์ เป็นการฝึกฝนไปในตัว หรือกิจกรรมลานบ้านลานเมือง เป็นเหมือนโจทย์ใหญ่ที่ฝึกให้คนทำงานซึ่งเป็นเด็กได้ทำ ได้เรียนรู้ร่วมกัน ได้รู้จักกัน หรือ “ไหนลองไปทำแผนที่ร้านเกมส์มาดูซิ” ทำให้เด็ก ๆ ตระหนักรับรู้ว่ามันมีเพื่อนเด็กๆ เข้าไปในร้านเกมส์มากขนาดไหน หรือ “บ้านหลังเรียน” เป็นพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้มาพบปะกันเหมือนเป็นศูนย์กลาง ถูกจริตใครก็อยู่นาน ไม่ถูกจริตก็มาแล้วไป แต่อย่างน้อยเด็ก ๆ ก็จะได้ผ่านมาดู ยิ่งในช่วงเตรียมงานใหญ่ ๆ เด็ก ๆ จากต่างอำเภอจะเข้ามาพบปะเพื่อเตรียมงาน เหล่านี้เป็นพื้นที่ให้เด็กๆสอนงานกัน ฝึกการทำงานเป็นทีม ผ่านสายตาของพี่วีรพล เหมือนคำที่ผมได้ยินว่า “ที่นี่ทำหน้าที่ร้อยคนดีมารวมกันเพื่อเมืองเลย”

                ประเด็นคือถ้าคนอุดรจะทำเรื่องดี ๆ ผมเชื่อว่าคนดีในอุดรมีเยอะเพียงแต่การร้อยกันยังไม่เกิด  ผมเห็นว่า คำว่า “ที่นี่ทำหน้าที่ร้อยคนดีมารวมกัน” นั้นใช้กลไกการทำสื่อ การทำสารคดีแล้วเรื่องราวถูกถ่ายทอดผ่านวิทยุชุมชน ถึงแม้จะไม่เกิน 2 กม.แต่ก็ทำให้เด็กมีกิจกรรมได้ทำจริง ๆ แล้วทีนี้กลุ่มนี้ก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นคนกลางที่ทำหน้าที่สื่อสารสาธารณะให้แก่ชุมชน เป็นเสมือนโทรโข่ง  คนอุดรเองก็น่าจะเริ่มต้นมองหาว่าเรื่องอะไรที่กลุ่มสนใจจะทำ แล้วใครจะมาทำ  ใครจะมาเป็นคนหนุน ใครจะมาเป็นคนนำ ใครจะมาเป็นคนทำ   ส่วนตัวเองทำเรื่องเครือข่ายหมอพื้นบ้านกับพ่อใหญ่ทางบ้านดุง เพ็ญ ทุ่งฝน หนองแสง กุมภวาปี  หลักใหญ่ ๆ ก็อยู่ที่บ้านดุง อย่างตอนนี้เขากำลังจะเคลื่อนงานเรื่องกลุ่มออมทรัพย์  ก็เป็นลักษณะของกิจกรรมสำหรับผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะแล้วและสร้างสังคมภายใต้ความสนใจเดียวกันคือเรื่องหมอพื้นบ้าน โดยใช้การออมทรัพย์เป็นกลไกการสร้างสัมพันธ์ ถ้าเราจะสร้างกลไกการสืบทอดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็อาจใช้เวทีเดินป่าศึกษาสมุนไพร หรือศูนย์ศึกษาและพัฒนาสมุนไพรพื้นบ้านของแต่ละพื้นที่ และให้มีพื้นที่กลางเป็นแหล่งประมวลรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ร่วมกัน

เราอาจจะเริ่มต้นจากกลุ่มคนกลุ่มไม่ใหญ่มากเป็นผลึกแรกของความคิดดี ๆ เรามีเมนูตัวอย่างของกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบ้านหลังเรียน  กิจกรรมลานบ้านลานเมือง  และสุดท้ายคือ “ทำเลย”

 

คำสำคัญ (Tags): #เครือข่ายเด็ก
หมายเลขบันทึก: 357718เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2010 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท