พูดดี...ดี มีแต่คนรัก


พูดดี...ดี มีแต่คนรัก 

          กุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีความสุขกับชีวิต ก็คือการที่เราเป็นที่ยอมรับ เป็นที่รักใคร่เป็นที่ศรัทธาเชื่อถือจากคนทุกคนที่เราสัมพันธ์ด้วย เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ วัยเด็กเราก็มีสังคมครอบครัว โตขึ้นก็มีเพื่อนร่วมเรียน ยิ่งวัยทำงานเราก็ต้องยิ่งพบเจอ ได้สัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายมากขึ้น ทั้งในเรื่องของวัยและความคิด ความรู้สึกดี ๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างขึ้น ต้องใช้ความพยายามและความสม่ำเสมอ กระจกสะท้อนว่าถ้าเรายิ้ม เราก็จะได้รับไมตรีตอบ ได้รับการช่วยเหลือ แต่ถ้าเราบึ้งตึงใส่ ข่มขู่ ก็ย่อมไม่มีใครอยากจะใกล้ชิด มันก็เหมือนกับการพูดจานั่นแหละ ถ้าเราพูดดี กระจกก็จะสะท้อนให้มีแต่คนอยากใกล้ชิดเราเช่นกัน

          การเปลี่ยนแปลงตัวเองจากที่เป็นอยู่ ไปสู่การมีบุคลิกดีที่ใคร ๆ ก็อยากคบค้าสมาคมนั้น หลาย ๆ คนมองว่าเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเราเข้าใจ การเป็นที่ยอมรับของผู้คนรอบข้าง ที่ใครต่อใครต่างชื่นชมนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า สามารถนำพาเราไปสู่โอกาสที่ดีของชีวิต สู่ความสำเร็จอีกระดับ การพูดจา การสนทนาเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เราเข้าถึงคนอื่น ซึ่งเราเองสมควรศึกษาและฝึกฝน เพื่อที่จะให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อเราเป็นที่ประทับใจ เราก็จะมีคะแนนนิยมทั้งในหน้าที่การงานและการดำเนินชีวิต ทักษะการสนทนาที่ดีช่วยให้การติดต่อสื่อสารดีขึ้น ทั้งในการทำธุรกิจและการเข้าสังคม การพูดคุยกับคนที่รู้จักใหม่ ๆ เราอาจรู้สึกประหม่า เคอะเขิน ที่จริงแล้วความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องธรรมดามาก ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า “เป้าหมายในการสนทนาคือการที่ทำให้คนฟังชอบเรา เราต้องการเชื่อความสัมพันธ์กับคนอื่นและโลก เพื่อไม่ให้รู้สึกถูกทอดทิ้งโดดเดี่ยวเวลาพบกับกลุ่มใหม่ ๆ ปกติเราจะมีกรอบของตัวเองในระดับหนึ่ง แต่ถ้าสามารถสื่อกับเขาได้ดี กรอบนั้นจะถูกทำลายลง และเราเองก็จะมีความรู้สึกดี อยากมีความสนิทสนมด้วย”  ถ้าคุณรู้สึกประหม่า ลองพยายามใช้เทคนิคที่ง่ายที่สุดและดีที่สุดก่อน นั่นก็คือการยิ้ม เพราะเมื่อคุณยิ้มคุณจะพบกับมิตรภาพและเป็นการบ่งบอกว่าคุณพร้อมและมีทัศนคติที่เปิดกว้าง เปิดใจรับการสนทนานั่นแน่ เทคนิคการพูดที่ดีนั้น มีหลายวิธี เช่น การส่งสารด้วยภาษากาย การทวนถ้อยคำพ่วงท้าย การหาโอกาสเปิดบทสนทนา การเข้าร่วมวงสนทนาแบบชิว ๆ หรือการเข้าร่วมวงสนทนากลางคันนั่นเอง น้ำเสียงของคุณเองก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะบางทีที่คุณรู้สึกเครียดคุณก็อาจขึ้นเสียงเอากับเขาโดยไม่รู้ตัว ชอบพูดรัวเร็วจนฟังไม่รู้เรื่อง หรือใช้เสียงแหลมปวดหู ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขและหัดควบคุมระดับเสียงของตัวเองให้ได้ ให้ใส่ใจกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่สนทนาด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่ค่อนข้างส่วนตัวหรือเป็นคำถามที่น่าอึดอัดก็ไม่ควรถาม และหากเรื่องที่คุยกันนั้นช่างน่าเบื่อ ก็สามารถเปลี่ยนหัวข้อสนทนาได้เสมอ พยายามค้นหาว่าคู่สนทนาของคุณนั้นสนใจเรื่องอะไรบ้าง ก็จะทำให้การสนทนาในครั้งนั้นผ่านไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น

          ถ้าสุดท้ายแล้วความพยายามของคุณที่ได้ทำมาทั้งหมดยังไม่เกิดผล ก็อย่าเพิ่งยอมแพ้เสียก่อน ให้ลองใหม่ดูอีกหลาย ๆ ครั้ง เพราะประสิทธิภาพและความสำเร็จของการสนทนานั้นจะขึ้นอยู่กับการตอบรับที่คุณได้ อย่าท้อ ถ้ายังไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ ให้คุณพยายามหากลวิธีอื่น ๆ (ที่จะไม่ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น) มาใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ แล้วผลลัพธ์จะคุ้มค่าสมกับการพยายามฝึกฝนของคุณแน่นอน

พูดดี...ดี มีแต่คนรัก 

โดย อรอุมา เพิร์ต

คำสำคัญ (Tags): #kmanw3
หมายเลขบันทึก: 357436เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท