กระจกเงา


กระจกเงา เงากระจก

     ผมได้ฟังการบรรยายเกี่ยวกับ "เซลล์ประสาทกระจกเงา (mirror nueron) โดยนายแพทย์อุดม เพชรสังหาร เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม แห่ง กรีนเนอรี รีสอร์ท เขาใหญ่ นครราชสีมา ตามโครงการสัมมนาอาจารย์ที่ปรึกษา ประจำปีการศึกษา 2553 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2553

     นายแพทย์บอกว่าวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์มี 3 แบบ คือ

1.Imitative Learning   เรียนโดยการเลียนแบบ

2.Constructive Learning เรียนโดยการลงมือทำ

3.Instructive Learning เรียนจากการแนะนำ

     การเรียนประเภทที่ 1 นั้น ได้มีการค้นพบว่ามีเซลล์ประสาทส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่เลียนแบบ ซึ่งการเลียนแบบในที่นี้ไม่ได้มีความหมายเพียงว่า "ทำตาม" เท่านั้น แต่หมายถึง การมีอารมณ์ร่วมหรือความรู้สึกร่วมกับสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้ม ได้สัมผัส ได้จินตนาการ ดังนั้น อาการบางอย่างจึงอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในทางที่สอดคล้องกัน เช่น ร้องไห้ เมื่อดูละครที่แสนเศร้า  ดีใจ เมื่อนักฟุตบอลแตะลูกเข้าประตู เป็นต้น

     ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า คลื่นสมองของผู้ดูละครกับผู้แสดงละครที่ร้องไห้ เป็นแบบเดียวกัน  คลื่นสมองของผู้ชมฟุตบอลและนักฟุดบอลที่แตะลูกเข้าประตูแล้วดีใจ เป็นแบบเดียวกัน จึงสามารถจะแสดงออกหรือทำสิ่งนั้น ๆ ได้เหมือนกัน

     ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า เราจะเป็นหนึ่งเดียวกันกับสิ้งที่เราประสบ คือเท่ากับว่าทุกคนเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพที่อยู่ต่อหน้ากระจกนั่นเอง

     จากหลักการข้างต้นนี้ ผมมีความรู้สึกเหมือน "ใช่เลย" ที่ผมมีความรู้สึกเช่นนี้เพราะหลักการนี้ทำให้ผมได้คำตอบที่ค้นหามาแสนนานตามหลักการของพระพุทธศาสนา 3 ประการ

     1.ประการที่ 1 หลักการข้างต้นแสดงความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นานมาแล้วว่า "คบคนเช่นใด ย่อมเป็นเช่นนั้น (ยัง เว เสวติ ตาทิโส)" ซึ่งตรงกับสำนวนไทยทีว่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

     ในเรื่องนี้อาจยกนิทานในธรรมบทมาเป็นอุทาหรณ์ได้ว่า ณ กาลครั้งหนึ่ง ในป่าใหญ่แห่งหนึ่งถูกลมพายุพัดกระหน่ำ ทำให้ลูกนกแขกเต้า 2 ตัว ถูกพัดไปคนละทิศ  เมื่อโตขึ้น นกตัวหนึ่งเจอใครเข้า จะร้องว่า "ฆ่ามัน ฆ่ามัน" ส่วนนกอีกตัวหนึ่งจะร้องว่า "เจริญพร เจริญพร" ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า นกตัวแรกไปตกในดงโจรถูกโจรเลี้ยงมาจึงเจรจาเยี่ยงโจร  ส่วนอีกตัวหนึ่งไปตกในที่อยู่ของฤาษี

     หลักการที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบกับหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบจึงเป็นอันเดียวกัน ที่ว่า คนจะเลียนแบบพฤติกรรมของบุคคลที่ตนประสบ (จะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความถี่)

     2.ประการที่ 2 หลักการข้อนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อเรารู้ตนอย่างถ่องแท้แล้ว เราก็จะรู้คนอื่นได้ด้วย เพราะไม่ว่าเขาหรือเรา เมื่ออยู่ในสถานการณ์เดียวกันหรือมีปฏิกิริยาต่อสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนกัน คลื่นสมองของเราและเขาทำงานอย่างเดียวกัน ดังนั้น เราจึงรู้ว่า ที่เขาแสดงกิริยาอย่างนั้น แสดงว่าเข้าอยู่ในภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเปรียบเทียบกับตัวเราเอง

     ข้อนี้สอดคล้องกับหลักการปฏิบัติสติปัฏฐานที่สอนให้กำหนดรู้กาย เวทนา จิต และธรรม ทั้งของตนเองและผู้อื่น ซึ่งแท้จริงเป็นอันเดียวกัน ดังนั้น เมื่อรู้แจ้งตนก็จะรู้แจ้งคนอื่นด้วย

     ผมไม่ได้สงสัยในความจริงข้อนี้ แต่ผมไม่รู้ว่าจะอธิบายให้เข้าใจได้อย่างไร บัดนี้ หลักการที่ค้นพบโดยวิทยาศาสตร์ได้ทำให้ผมมีหลักในการนำไปอธิบายหลักการที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบและแสดงไว้นานแล้ว

     3.ประการที่ 3 พระพุทธศาสนาไม่เพียงยอมรับความจริง 2 ข้อข้างต้น แต่ยังก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือ ขั้น "รู้" สิ่งหรือผู้ที่อยู่ต่อหน้ากระจกเงาและภาพที่ปรากฏในกระจกเงาด้วย คล้ายกับเป็นฝ่ายที่ 3 เห็นผู้ที่อยู่ต่อหน้ากระจกเงาและภาพสะท้อนที่อยู่ในกระจกเงา  ซึ่งข้อนี้เป็นการปฏิบัติการของสติ เป็นขั้นวิปัสสนา ที่ไม่หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอารมณ์ (ไม่ใช่ความหมายในภาษาไทย)

     การ "หลอมรวม" เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอารมณ์เป็นลักษณะสำคัญของ "ฌาน" แต่การ "รู้" การหลอมรวม สิ่งที่ถูกหลอมรวมเข้าหา และผู้หลอมรวมเข้าหา เป็น "ญาณ"

     ฌาน จะปิดบังไม่ให้เห็นไตรลักษณ์ ด้วยกำลังฌาน ผู้เข้าฌาน จะเป็นหนึ่งเดียวกันกับอารมณ์ฌาน ดำรงอยู่คงที่ เรียกง่าย ๆ ว่า "สมาธิ"

     ญาณ จะเปิดเผยไตรลักษณ์แสดงให้เห็นว่า ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา หามีตัวตนที่จะดำรงอยู่คงที่ไม่ เรียกง่าย  ๆ ว่า "ปัญญา"

     จิตธรรมดา  จะเป็นสมาธิได้ เพราะ สติ

     จิตที่เป็นสมาธิ  จะก้าวไปสู่ปัญญา เพราะสติ 

     ดังนั้น สติ จึงเป็นเครื่องมือเอกในการรู้แจ้งตน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในกระบวนการฝึกจิตตามหลักสติปัฏฐาน อันจะนำไปสู่การรู้แจ้งตน ซึ่งเป็นเบื้องต้นของอีคิว และรู้ผู้อื่น อันเป็นองค์ประกอบที่สองของอีคิว  รวมทั้งการแก้ไขปัญหาและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสันติสุข ซึ่งเป็นองค์ที่ 3 ของอีคิวด้วย

 

    

หมายเลขบันทึก: 356879เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท