เวทีภาคียุทธศาสตร์ ครั้งที่ ๒ : งานปฏิรูประบบการศึกษาไทย ตอนจบ


สิ่งที่ครูต้องการมากที่สุด คือ การพัฒนาจิตจากการทำงาน จิตนี้คือจิตที่ครูเป็นสุข เพราะขณะนี้ครูไทยเป็นทุกข์

ตอนที่ ๑, ตอนที่ ๒, ตอนที่ ๓

 

         นอกจากนั้น คุณศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล จาก มสส. ได้กล่าวถึงการดำเนินโครงการ “ครูเพื่อศิษย์” ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการกับแหล่งทุน โดยการทำงานของโครงการ “ครูเพื่อศิษย์” มียุทธศาสตร์ ๔ ด้าน คือ

         ๑.   ยุทธศาสตร์ “ปลุกยักษ์ให้ตื่น” มีเป้าหมายเพื่อค้นหา เชิดชูครูดี ครูเพื่อศิษย์ และสร้างความเข้มแข็งให้กับครูไทย

         ๒. ยุทธศาสตร์ “เขยื้อนภูผา ขยับการศึกษาไทย” มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ใหม่เพื่อสุขภาวะของครูและศิษย์

         ๓. ยุทธศาสตร์ “สื่อสารสาธารณะ” มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้เกิดกระแสการตื่นตัวของสังคมและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเครือข่าย “ครูเพื่อศิษย์”

         ๔.ยุทธศาสตร์ “กระบวนการสนับสนุนทางวิชาการ” เพื่อการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ใหม่เพื่อสุขภาวะ

         การทำงานโครงการ “ครูเพื่อศิษย์” มุ่งเป้าไปที่ตัวครู โดยชวนให้ครูมาตั้งวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ต้องการเห็นครู ซึ่งเป็นคนทำงานได้มารวมตัวกัน เพื่อก่อพลังการทำงานเพิ่มมากขึ้น

          คุณหมอสมศักดิ์ ได้กล่าวเสริมในประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า วิธีการรวมตัวของครู คือ การใช้กระบวนการเรียนรู้ เทคนิคการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่อยู่บนฐานความเท่าเทียม

          อ.เลขา ปิยะอัจฉริยะ ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินโครงการ “ครูเพื่อศิษย์” ไว้ว่า จากประสบการณ์การขับเคลื่อนการศึกษาที่มีมาอย่างยาวนาน พบว่า สิ่งที่ครูต้องการมากที่สุด คือ การพัฒนาจิตจากการทำงาน จิตนี้คือจิตที่ครูเป็นสุข เพราะขณะนี้ครูไทยเป็นทุกข์ เราต้องช่วยให้ครูคิดเชื่อมโยงได้ดี ต้องให้ครูหันกลับมามองเด็กนักเรียนแบบเอื้ออาทรและห่วงใย

          การประชุมในครั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ที่มีประสบการณ์การทำงานเรื่องของการปฏิรูปการเรียนรู้ของนักเรียนในรูปแบบและบริบทที่แตกต่างกัน ได้เล่าประสบการณ์สู่กันฟังว่า หน่วยงานของตนเองทำอะไรที่ช่วยผลักดันการปฏิรูปการศึกษาไทยบ้าง โดยในครั้งนี้ มีการทำงานด้านการปฏิรูปการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนไปถึงผู้ใหญ่คนทำงานเลยทีเดียว

         ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ได้ยินได้เห็นจากเวทีครั้งนี้อย่างมาก และก็คาดหวังว่า การทำงานปฏิรูปการเรียนรู้ของสังคมไทยซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งจากพื้นที่ย่อยๆ สร้างคุณค่าของการเป็น “ครูเพื่อศิษย์” จากหน่วยย่อย ให้มีจำนวนมาก ให้เต็มทั้งแผ่นดิน และค่อยๆ ผลักดันสู่ระดับนโยบาย รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงาน ต้องอาศัยการทำงานในรูปแบบเครือข่ายที่เสริมพลังซึ่งกันและกันเป็นสำคัญ จึงจะทำให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้อย่างยิ่งใหญ่ได้

หญิง สคส.

หมายเลขบันทึก: 356468เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2010 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท