ธรรมบำบัด : ดรรชนีมวลรวมสุขภาพแห่งชาติ


ธรรมบำบัด : ดรรชนีมวลรวมสุขภาพแห่งชาติ     


         

          ภาพข่าวการอบรม โครงการ “ธรรมะสุขภาพ” ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี (มติชน : 25/03/53) อันมาจากแนวคิดที่ว่า  ปัจจุบันปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่เกิดจากการมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องต้านการบริโภคและออกกำลังกาย  อีกทั้งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป  ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดในสมอง จากสถิติพบว่าคนไทยเจ็บป่วยจากโรคดังกล่าวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศเกือบ ๓๖ ล้านคน  และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง  วิธีการที่จะลดปัญหาการเจ็บป่วยลง  สาธารณสุขจังหวัดเล็งเห็นความสำคัญ จึงมุ่งการสร้างสุขภาพแบบองค์รวม  สร้างการแพทย์ทางเลือกคือให้ประชาชนพึ่งธรรมะ อันจะมีผลในองค์รวมทำให้สุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ 

                ในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าประชวร ได้นิมนต์พระสงฆ์สาธยายธรรมให้ฟัง  นัยหนึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตให้เข้มแข็ง นัยหนึ่งเป็นการถ่ายความรู้สึกจากโรคาพาธนั้นให้น้อมฟังธรรมประโลมจิตจากความเจ็บปวดนั้น  และอีกประการหนึ่งเป็นการยกเหตุผลแห่งธรรมมาเป็นเครื่องมองเห็นความจริงตามธรรมชาติของชีวิตความเจ็บป่วยทุเลาและหายไปในที่สุด ถึงไม่หายแต่ก็มีท่าที่ต่อความเจ็บป่วยอย่างเข้าใจ ดังนั้นหากคนไทยและชาวพุทธจะนำธรรมะมาเป็นเครื่องชโลมรักษาจิตอาจทำได้ และอาจก่อให้เกิดผล ซึ่งมีหลายวิธี คือ

                ๑.นำธรรมะมาเป็นเครื่องปลุกปลอบให้กำลังใจ ตามแนวธรรมะบำบัด เช่น การสวดมนต์ การฟังธรรม ศึกษาธรรม นั่งสมาธิ เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการสร้างความเข้าใจ ภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต (โพฌงคสูตร) ความทั้งลดความตึงเครียดในเรื่องต่าง ๆ อาทิ สุขภาพ ครอบครัว เศรษฐกิจ การเมือง เป็นต้น มีงานวิจัยว่า ผู้ฉุนเฉียว โกรธง่าย มีโอกาสตายพระโรคหัวใจมากกว่าคนปกติร้อยละ 29 ยิ่งคนที่ชอบวิตกกังวลด้วยแล้ว มีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า นักวิทยาศาสตร์สรุปข้อเท็จจริงนี้ว่า ความวิตกกังวล ความซึมเศร้า ฉุนเฉียว เป็นปัจจัยเสียงให้เกิดโรค ธรรมะจึงเป็นทางออกเพื่อป้องกันโรคด้วยเช่นกัน

                ๒. นำธรรมะมาเป็นเครื่องปรับเปลี่ยนทัศนะคติต่อความป่วยไข้ (คิริมานนทสูตร/องฺ.ทสก.24/60/128) โดยให้มองความเจ็บป่วยเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งของชีวิต เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามสภาพของการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ  ประหนึ่งให้มองว่ากายป่วยแต่ใจไม่ป่วย

                ๓. นำธรรมะมาเป็นเครื่องมือ เข้าใจต่อกระบวนความจริงตามธรรมชาติว่ามนุษย์มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนแปลงทุกเมื่อเชื่อวัน (ไตรลักษณ์) เอาความเจ็บป่วยมาส่วนหนึ่งของชีวิตมิให้เป็นส่วนเกินของชีวิตบริหารความสุขจากความทุกข์ ประหนึ่งปฏิบัติธรรมข้อ “เมตตา” ต่อร่างกายสุขภาพของตัวเอง แล้วหาวิธีการที่ดีในการบำบัดรักษาสุขภาพให้ตนเอง

                แนวทางพุทธวิธีนี้อาจเรียกว่า “ถนอมจิตเพื่อรักษากาย” ดังทัศนะพระไพศาล วิสาโล ว่า “ชีวิตของคนเรานั้นประกอบด้วยกายและใจ ชีวิตที่ดีงามจึงต้องอาศัยกายและใจที่เป็นสุข กายที่เป็นสุขนั้นไม่เพียงช่วยให้เราห่างไกลจากความทุกข์เท่านั้น หากยังเอื้อให้เราสามารถทำความดีและสร้างสรรค์ประโยชน์ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือใจที่เป็นสุข แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคมจะวุ่นวาย หากนำธรรมะมาขัดเกลาจิตใจให้ปลอดโปร่ง และสงบ รู้จักปล่อยวางทุกอย่าง เข้าใจความจริงตามธรรมชิต จะช่วยทำให้จิตใจดีขึ้น เราก็จะพ้นจากความทุกข์มีความสุขมากขึ้น

                ดั้งนั้นวิธีการที่จะให้มีผลในทางปฏิบัติ ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร ? ได้กำหนดเป็นนโยบายเพื่อเปิดช่องทางเลือก รณรงค์ให้คนไทยได้ใช้หลักการทางศาสนา (ที่ตนนับถือ) ในการบำบัดสุขภาพในองค์รวมอย่างเป็นระบบ เปิดสถานที่ให้คำแนะนำ บริการ อย่างเพียงพอต่อความต้องการ พร้อมทั้งมีการประเมินออกมาอย่างเป็นระบบวัดได้ในเชิงสถิติเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาให้เป็นแพทย์ทางเลือกได้อย่างแท้จริงต่อไป เชื่อได้เลยว่าสังคมไทยคงเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ดรรชนีมวลรวมด้านสุขภาพสูงขึ้น


หมายเลขบันทึก: 356075เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 19:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 08:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีค่ะ  คุณโมไนย พจน์
  • "ถนอมจิตเพื่อรักษากาย" หากคนเราปฏิบัติธรรมย่อมเกิดปัญญา
    เมื่อเกิดปัญญาย่อมมีสติในการดำเนินชีวิต  กิน อยู่ หลับ นอน อย่างผู้ฉลาด
    โรคภัยย่อมไม่เบียดเบียน...
  • ขอบพระคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท