หลักเหตุผล(กาลามสูตร) :ทางเลือก (เพื่อยุติความรุนแรง) สู่ทางรอดของสังคมไทย


หลักเหตุผล(กาลามสูตร) : ทางเลือก (เพื่อยุติความรุนแรง) สู่ทางรอดของสังคมไทย


 

          ความขัดแย้งกันทางความเชื่อ ศรัทธา ของชาวกาลามะในครั้งพุทธกาล (องฺ.ทุก.20/66/255) นัยหนึ่งเป็นการปะทะกันทางความคิด ศรัทธาความเชื่อ นัยหนึ่งเป็นการโต้แย้ง ย้อนแย้ง และวิวาทกันอยู่ในที มีผลให้สังคมเกิดความระส่ำระสายขาดความมั่นคงในคุณภาพชีวิตและการอยู่ร่วมกัน  กลับมาที่สังคมไทยกำลังเกิดเหตุการณ์วิกฤติสี(เดลินิวส์: 10/03/53) มีนัยยะของการปะทะกันทางความคิด ความเชื่อและมีผลเป็นพฤติกรรมที่รุนแรง เริ่มตั้งแต่ระดับบ้าน พี่ น้อง ภรรยา สามี เกิดความเห็นต่าง ชุมชน ภูมิภาคเกิดความแตกแยก ดังนั้นหากนำแนวคิดของพระพุทธเจ้าที่ใช้แก้วิกฤติแก่ชาวกาลามะในครั้งกระนั้น มาเป็นกรอบในการแก้และยุติปัญหาในสังคม(ไทย) โดยมุ่งหวังเป็นชุดความคิดใหม่ ให้มีผลเป็นความรู้ ส่งผลเป็นความเชื่อที่สมเหตุสมผล มีนัยยะเป็นการเปลี่ยนแปลงต่อการแสดงออกตามเฉดสีอย่างมีสติ และเหตุผลในสังคมปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นก็คาดหวังว่าจะมีผลเป็นยุติ โดยชุดความคิดที่ใช้แก้วิกฤติของชาวกาลามะในครั้งกระนั้น คือ   

          ก.ใช้หลักเหตุผล (ตรรกะ-กาลามะสูตร) พระพุทธเจ้าแนะนำชาวกาลามะ ให้ใช้หลักเหตุผล ตรรกยุคนั้นคนเยอะเจ้าลัทธิมากแนวปฏิบัติเยอะ ศูนย์กลางความเชื่อมาก เทียบกับปัจจุบันข้อมูล ข่าวสาร มีจำนวนมาก ทั้งจริงและเท็จ การคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏในแต่ละวัน ด้วยวุฒิภาวะ สติปัญญา เหตุผล แล้วเชื่อและปฏิบัติตาม จึงเป็นความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอดีต ดังนั้นหลักเหตุผล เพื่อรู้ เข้าใจด้วยปัญญา จึงจำเป็นทั้งอดีตและปัจจุบัน

          ข.ให้พิจารณาตามหลักการเปลี่ยนแปลง (ไตรลักษณ์) ให้มองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ ของช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เมื่อถึงที่สุดก็จะผ่านไป เพียงแต่พิจารณาให้จิตให้ไม่ยินดียินร้ายต่อความเปลี่ยนแปลง มีสติ ที่ประกอบด้วยปัญญา และมองปรากฏการณ์นั้นว่าเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นช้าเร็วที่สุดก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยของตัวมันเอง โดยใช้ปัญญาพิจารณาย้อนแย้งตามหลักแห่งเหตุผล “ตรรกะ” ไม่ใช้อารมณ์ ความโกรธ และความไม่รู้ให้อยู่เหนือเหตุผล

          ค.ใช้หลักศรัทธาที่ต้องประกอบด้วยปัญญา (ศรัทธา-ปัญญา) ในหลักกาลามสูตรพระพุทธเจ้าให้ใช้ปัญญามาเป็นเครื่องกำกับศรัทธา ประหนึ่งเมื่อจะเชื่อสิ่งใด สิ่งสำคัญเลยคือการคัดกรองข้อมูลอย่างเป็นระบบ อย่างเพียงพอและก่อให้เกิดประโยชน์แล้วจึงใคร่เชื่อศรัทธา โดยมีปัญญากำกับอย่างสมเหตุสมผล ง่าย ๆ คือ ปัญญากับความเชื่อต้องคู่กัน ทำงานร่วมกัน

          ง.ให้พิจารณาตามหลักประโยชน์ (อัตถะ 3) ให้มองเป็นประโยชน์ส่วนตนก่อน  แล้วพัฒนาไปเป็นประโยชน์สังคมส่วนรวม ถ้าการกระทำใดได้เฉพาะประโยชน์ตน พวกพร้อง กลุ่มตน แล้วชุมชน สังคม ประเทศชาติ ได้รับความเสียหาย ความเชื่อต่อประโยชน์นั้นถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักประโยชน์แนวพุทธ  ต้องพัฒนาให้เป็นผลประโยชน์ในองค์รวม ที่หมายถึงสังคม ประเทศชาติด้วย ความเชื่อต่อหลักประโยชน์จะมีผลต่อสังคมในองค์รวม ถ้าเชื่อผิดสังคมจะได้รับผลกระทบ  ถ้าเชื่อถูก สันติ อยู่ร่วมกันอย่างสงบก็จะเกิดขึ้น

          ดังนั้นเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าใช้ในการให้สติกับสังคมชาวกาลมะที่เคยขัดแย้ง ทางความคิดและความเชื่อ ให้เป็นเครื่องมือในสภาพ “วิกฤติข้อมูลข่าวสาร” ด้วยชุด “ตรรกะ-เหตุผล” และมีผลเป็นการยุติความรุนแรงอันไม่พึงประสงค์ในสังคมครั้งกระนั้น จึงฝากและวอนผู้เกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่สร้าง “ข้อมูลข่าวสาร” ต้องรู้รักจรรยาบรรณ และวอนผู้ “รับสาร” ได้ใช้หลักเหตุผล สติ ปัญญาตรองตรึก อย่างเป็นระบบ  เห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการก้าวไปข้างหน้าของสังคมไทย ย่อมจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้นการยุติการสื่อสารที่คลาดคลื่น (เช่นเจ้าสำนักความเชื่อในกาลามะนิคม) ศรัทธาที่พร่องพลาดจนกลายเป็นความรุนแรงก้าวร้าวทางสังคม การมี“เหตุผล สติ ปัญญา และประโยชน์มหาชน” จึงเป็นชุดความคิดอันหนึ่งที่เคยใช้แก้วิกฤติทางสังคมในครั้งพุทธกาลได้ และหวังว่าจะแก้วิกฤติทางความชื่อ ศรัทธา จนเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ด้วยเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 356073เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท