สิ่งที่ค้นพบจากสมุดบันทึกเล่มเก่า - รำลึกถึงการสอบภาคสนามวิชา Ecology ที่น้ำหนาว เมื่อ 18 ก.ย.2537





            ท่ามกลางชีวิตที่วุ่นวายสับสน ณ เวลาปัจจุบัน เมื่อนายบอนไปรื้อตู้หนังสือ เจอสมุดบันทึกเล่มหนึ่ง the time dairy ที่ อ.ชุติมา ให้ไว้จดบันทึก และเริ่มเขียนบันทึกในช่วงที่อยู่ปี 2 ตามความประสงค์ของผู้ให้สมุดบันทึก แต่ก็บันทึกได้ช่วงหนึ่ง ก็เลิกเขียน เลิกเห่อ
   
            เหตุการณ์ที่เขียนบันทึกแรก คือ วันที่ไปสอบภาคสนามวิชา Ecology  ในช่วงที่เรียนปี 2 คณะวิทยาศาสตร์ซึ่งตอนนั้น ต้องไปค้างคืน 1 คืน ที่บ้านพักในอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว แบ่งกลุ่มกันทำงาน + สอบ วันเสาร์ เก็บข้อมูลภาคสนาม ตอนเย็น ก็นอนพักที่บ้าน 4 กับเพื่อนในกลุ่ม

            เช้าวันที่ 18 ก.ย.2537 ไอ้ส่งซึ่งตื่นก่อน ก็เข้ามาปลุก มาก่อกวน แล้วจัดการดึงผ้าห่มออกซะเลย จนนายบอนต้องตื่นขึ้นจนได้  ตอนเช้า ต้องมาเข้าแถวกินข้าวต้มที่บ้าน 4 เสร็จแล้ว ก็เดินมาที่หอประชุมศูนย์บริการ เพื่อ Present งาน จับฉลากก่อนว่า กลุ่มไหนจะได้สอบก่อน สอบหลัง กลุ่มของนายบอนได้ Present กลุ่มที่ 6 กลุ่มสุดท้ายเลย

            การได้มาเรียนวิชา Ecology ของภาควิชานิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อม ก่อนหน้านั้น อาจารย์ในภาควิชานี้ ยังรวมอยู่ในภาควิชาชีววิทยา แต่เพิ่งมาดำเนินการจัดตั้งเป็นภาควิชาสิ่งแวดล้อม ในช่วงนั้นเอง นักศึกษา Envi รุ่นที่ 1 ก็เป็นรุ่นเดียวกันกับ Bio21  แน่นอน การเรียนการสอนเป็นคนละแบบกับชีววิทยาเลย รู้สึกมัน ถึงใจดี ที่ได้เรียนนิเวศวิทยา

            บรรยากาศการสอบในวันนั้น แบ่งกลุ่ม 6 กลุ่ม กลุ่มแรก เรื่อง Ecotone  เนื้อหาเกี่ยวโยงกับระบบนิเวศ 2 แห่ง เลยถูกตั้งคำถามยากๆ นักศึกษาที่นั่งฟัง อาจารย์ก็สั่งให้ยกมือตั้งคำถาม ให้แนะนำตัวเองก่อนถาม ทุกอย่างจะเป็นคะแนน เป็น Bonus ไปหมด ให้นักศึกษาถามก่อนแล้วอาจารย์จะตั้งคำถาม มี อ.สำอางนี่แหละที่ตั้งคำถามโหดสุดๆ

            "รู้ได้อย่างไรว่า เป็น Ecotone"
            " อะไรคือปัจจัยจำกัด เพราะอะไร"


            ในช่วงที่เป็นนักศึกษา คำถามแบบนี้รู้สึกว่า มันยากมาก คงเพราะอ่านหนังสือมาน้อยไปหน่อย ตอบได้ก็รอดไป ตอบไม่ถูกก็โดนอาจารย์สับเละ ... ที่จริงอาจารย์พยายามจะช่วยแต่ฟังอาจารย์พูด ยิ่งงงหนักกว่าเดิม ช่วงเช้าสอบไปได้ 4 กลุ่ม พักเที่ยงมีลาบ+ไก่ กินกันแซบๆ

            ช่วงบ่าย มี 2 กลุ่มนำเสนอปิดท้ายรายการ กลุ่มที่ 6 เรื่องน้ำ ก็พูดนำเสนอได้ดี แต่ตอนตอบคำถาม ตอบไม่เข้าประเด็น อธิบายขยายความมากจนเกินไป จนมาเจอคำถามที่คนในกลุ่มสุดท้าย อึ้ง หาคำตอบไม่ได้

            "ทำไมถึงต้องวัดความยาวตามลำน้ำ 20 เมตร ทำไมไม่วัด 30 หรือ 40 ไปล่ะ แล้วสิ่งที่คุณทำ กับการที่กลุ่มอื่นทำ Species Area Curve มันได้ผลต่างกันยังไง ตรงไหนมั่ง"

            เจอคำถามแบบนี้ เพื่อนในกลุ่ม 6 ก็งมหาคำตอบ ตอบไปตามที่คิดออก ก็ไม่ถูกซักที จน อ.นฤมล ต้องช่วยเฉลย
            " เพราะระยะ 20 เมตร มีสภาพของลำน้ำ ต้นลำ กลางลำ ปลายลำครบ ถ้าขยายผลสำรวจพื้นที่ไปอีก ก็จะได้ข้อมูลที่ซ้ำๆสภาพเดิม...."

            ..ตอนนั้น ยังงงๆ นึกไม่ออก แต่ในวันนี้ นึกถึงช่วงที่ทำงานวิจัย ได้อ่านเอกสารมากขึ้น พบเห็นของจริงมากขึ้น ถึงเข้าใจคำตอบของคำถามเหล่านั้น

            หลังการสอบภาคสนามเสร็จ อ.โรจน์ชัย อ.เพ็ญประภ่  ก็มากล่าวปิดท้าย ให้ข้อคิดดีๆ กับการได้มาภาคสนามในครั้งนี้ ได้ทดสอบความรู้จริง - รู้แค่ไหน แล้วก็เก็บของ ขึ้นรถกลับตอน 15.40 น. ขึ้นรถของคณะวิทย์ที่หลายคนคุ้นเคย ชมวิว 2 ข้างทางที่มีหมอกลงต่ำ ดูเหมือนเมืองในหมอก สาวๆ Envi ก็สนุกสนาน ดิ้นกันยกใหญ่ ถึง มข.ตอน 17.30 น.

            ได้ไปสัมผัสบรรยากาศ การเรียนการสอนของภาค Envi จนชักติดใจ แล้วได้เห็นท่าน อ.นฤมล มาสอนเรื่องแหล่งน้ำ ที่ดูต่างกับตอนที่ท่านสอนวิชา Invertebrate Zoology จริงๆ ในช่วงต่อมา เมื่อรู้ว่า ท่านศึกษาวิจัยเรื่องปัญหาน้ำพอง จนได้มีโอกาสร่วมทำงานวิจัยในห้อง Wetlab ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต

            ทุกสิ่งทุกอย่าง มีที่มาที่ไป เมื่อเปิดสมุดบันทึกเล่มนี้ ที่มีตัวหนังสือเขียนอยู่ไม่กี่หน้า ประสบการณ์ในช่วงเรียนนั้น มีบันทึกเรื่องนี้ เยอะกว่าเรื่องอื่น ที่บันทึกเพียงแค่ไม่กี่บรรทัดเท่านั้น นอกนั้น เป็นบันทึกที่เขียนว่า ไปทำอะไรบ้าง

            ในตอนเป็นเด็ก มีคนบอกว่า การเขียนบันทึกมีประโยชน์มากนะ ฟังแล้ว ไม่รู้ว่า มันจะมีประโยชน์ยังไง แค่เขียนว่าแต่ละวัน พบเจออะไร ทำอะไรบ้าง แต่ในตอนนี้ ปี 2553 เมื่อได้เปิดบันทึกที่มีอยู่แค่ไม่กี่หน้า ก็มีเรื่องนี้ เรื่องการสอบภาคสนามวิชา Ecology  ที่เขียนรายละเอียดมากกว่าเรื่องอื่นๆ

            แสดงว่า มีความสนใจทางด้านนี้ เลยเขียนอย่างละเอิยด กว่าจะรู้ตัวว่า ชอบงานทางด้านนี้ ด้านสิ่งแวดล้อม  ก็เป็นช่วงที่เรียนจบแล้ว ยังมีโชคดีอยู่บ้าง ที่ อ.นฤมล ชักชวนให้มาช่วยทำงานด้วย ถ้าก่อนหน้านั้น สนใจไขว่คว้าหาความรู้ในเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนอยู่ปี 3 ชีวิตคงจะเปลี่ยนไป ได้ค้นพบคุณค่าของงานด้านชีววิทยาแหล่งน้ำไหลในตอนนั้น ไม่ใช่พึ่งมารู้คุณค่าในหลังจากที่เรียนจบไปแล้ว ...ความกระตือรือร้นน้อยกว่าช่วงที่กำลังเรียน ปี 3-4

            นายบอนมีโอกาสคุยกับเพื่อนสมัยเรียนมัธยมด้วยกัน เค้าก็พูดเหมือนกัน สมัยเรียนยังไม่รู้อะไรมากนัก แต่เมื่อเจอโลกกว้างมากขึ้น กว่าจะรู้ว่าตัวเองชอบทำงานแบบไหน ก็ต่อเมื่อได้เคยสัมผัสงานที่ชอบ และได้ทำงานอื่นๆมาหลายอย่าง  คิดเปรียบเทียบดูแล้ว ถึงรู้ว่า ตัวเราชอบอันไหน อันไหนเหมาะกับเรา ใช่ตัวเรามากที่สุด บางคนมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ชอบ บางคนก็ต้องทำงานในสิ่งที่เลือกสมัครไว้  แม้ไม่ชอบแต่ก็ทำได้

            แต่สิ่งที่พบเห็น ประสบการณ์ความรู้ที่มี ก็เป็นประโยชน์ เป็นแหล่งข้อมูลให้คนอื่น... รุ่นน้องได้เลือกเรียน เลือกทางเดินชีวิตได้ตรงกับที่เค้าต้องการมากขึ้น อย่างน้อย...นายบอนและเพื่อนเก่าคนนั้น ได้เป็นคนที่ช่วยแนะนำ ผลักดันรุ่นน้อง ให้เรียนด้านสิ่งแวดล้อมได้ 2-3คน

            บางประเด็นที่น่าคิด
            1. แต่ละสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เป็นสิ่งที่บอกอะไรบางอย่างได้ หากทบทวนให้ดีจะมองเห็นบางอย่าง
            2. คนเรามักลืมที่จะทบทวน สรุปบทเรียนในชีวิตประจำวันในแต่ละวันที่ผ่านไป หลายคนจึงมักทำอะไรผิดซ้ำๆ
            3. ไม่ว่าจะนานแค่ไหน หากได้ทบทวนอดีต จนรู้-มองเห็นข้อมูลบางอย่าง  ก็ยังดีกว่า ไม่รู้สัญญาณอะไรเลย



หมายเลขบันทึก: 355993เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท