ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

เคล็ดวิชา ฟ้าประทาน สายตา เรดาห์ และปลาทู


วิถีชีวิตที่ทุกคนฝากปากท้องไว้ เริ่มเข้าใจลึกซึ้งถึงเคล็ดวิชา และทำไมคนเหล่านี้ถึงปกป้องทะเลอย่างสุดชีวิต เพราะมันต้องอาศัยภูมิปัญญาและความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลในการเลี้ยงชีพ แล้วอย่างนี้พวกนายทุนทั้งหลายจะเข้าใจหรือเปล่า ว่าชาวประมงทำไมถึงไปทำอาชีพอื่นไม่ได้ เพราะมันเป็นวิชาที่รัก และตกทอดทางจิตวิญญาณ

เคล็ดวิชา ฟ้าประทาน สายตา เรดาห์ และปลาทู

เรื่อง/ภาพ ฉลามดำอ่าวท่าศาลา
ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน ปีที่ 1 ฉบับที่ 3  16 กุมภาพันธ์  – 31 มีนาคม  53
 
                การหาปลาของชาวประมง แม้จะเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป แต่เคล็ดวิชา และภูมิปัญญาท้องทะเลใช่ว่าจะมีเหมือนกันทุกคน   ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า โลกนี้ยังมีคนหาปลา โดยใช้ตาแทนเรดาห์ ในการหาฝูงปลาเพื่อล้อมอวนปลาทู
                กว่าสามปี ที่ผมเหยียบย่ำบนชายฝั่งทะเลในจังหวัดนครศรีธรรมราช พบเห็นภูมิปัญญาที่ใช้วิชา และความสามารถทางร่างกาย ในการหาปลาเลี้ยงชีพ ไม่ว่า จะเป็นการใช้หู ฟังเสียงปลา ใช้มือเปล่างมจับปลาดุก และอีกหลากหลายวิชาฟ้าประทาน ที่ไม่สามารถเขียนเป็นตำรา ยกเว้นประสบการณ์และความชำนาญที่ตกจากรุ่นสู่รุ่นเท่านั้น
                ช่วงบ่ายวันหนึ่ง ผมลงไปบ้านสระบัว ได้สนทนากับปราชญ์ชาวประมง “บังหยา” หยะหยา เจ๊ะเตบ ชาวประมงที่ใช้ตาหาปลา และได้พูดคุยกันในเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้สนใจมากนัก วันนี้เนื่องจากอยากจะเขียนบทความ “หากอยากรู้ หากอยากเห็น บอกไม่ได้ ลงเรือไปกับบังเลย”   ผมฟังแล้วอยากปฏิเสธ เพราะไม่ค่อยว่างนักช่วงนี้ แต่ความอยากรู้มันมีพลังมากกว่า ว่าแล้วก็กระโดดลงเรือไปด้วย
                ยามเย็น ลูกเรือชาวประมงรุ่นหนุ่ม ๖ คน นายท้าย ๑ คน และ บังหยาเข้าประจำที่แป้นนั่งดูปลาหัวเรือ ส่วนผมในฐานะนายหัว (ฮ่า ฮ่า) นั่งหัวเรือ  กว่าเรือจะออกจากท่าได้ ค่อนข้างทุลักทุเล เพราะต้องใช้ใบจักรฟันดินเลนออกไป
                “พี่ อวนล้อมปลาทู เป็นอวนพระเอก เสร็จแล้วเสร็จเลย อวนสะอาด ได้ไม่ได้ทีเดียวรู้เรื่อง บางคืนวางทีเดียวเข้าบ้านได้เลย บางครั้งก็สองที ร้อยสองร้อยโล เอาเสีย ไม่เหมือนที่พี่เคยบอกอวนปู กว่าจะเสร็จ ไปวาง ไปสาว แล้วต้องมาเก็บริมฝั่งอีกที”   บังกีม ชะเง้อคอมานั่งคุยกับผมที่หัวเรือ  สร้างแรงจูงใจให้ผมอีกมากโข
                เรือหลายลำทยอยออกจากฝั่ง แต่เรือที่หากินโดยการล้อมปลาทูที่บ้านสระบัว มีอยู่ ๒ -๓ ลำ รวมแล้วทั้งตำบลท่าศาลาไม่ถึง ๑๐ ลำ เนื่องจาก เรือต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร และคนเรือต้องมีความชำนาญ  “บังหยา เคยพลาดเหมือน วางโดนฝูงปลาขี้ตัง ปลดแค่ตาย ลูกน้องมันบ่นกันทั้งคืน”  บังหยาบอกพร้อมหัวเราะ “ออกตัวจัง พอผมออกมาด้วย กลัวไม่ได้ไช่ไหมบัง” ผมพูดสวนหัวเราะตอบไป
                ผ่านไป ๓ ชั่วโมง จากที่ผมยืน กลับนั่ง และนอนคว่ำหน้าที่หัวเรือ เสียงโหวกเหวกระหว่างบังหยา นายท้าย และลูกน้องเรือ ชี้ให้ดูฝูงปลา กับภาพของบังหยา ที่ยื่นมือด้านซ้ายที ขวาที  เดี๋ยวให้วิ่งวน เดี๋ยวให้เลี้ยว เดี๋ยวให้ไปตรงๆ ผมนอนดูพยายามจับสัญญาณว่าเขาทำอะไร “พี่ๆ เห็นไหม เจอฝูงปลาเต็มไปหมด แล้วชี้ให้ผมดูที่ข้างเรือ” ลูกน้องชาวประมงเข้ามาสะกิด สงสัยกลัวผมหลับและหล่นลงไปในน้ำ ผมพยายามมองแล้วมองอีก เห็นแต่น้ำที่แหวกหัวเรือ เป็นพรายน้ำเขียว นอกนั้นไม่เห็นอะไรเลย ส่วนหลายคนชี้ให้ดู ฝูงปลา เดี่ยวฝูงโน่นเดี๋ยวฝูงนี้ หันมาถามผมว่าเห็นไหม “เห็นแต่น้ำ กับไฟเรือเพื่อน” ผมตอบไปแบบกวนๆ ก็มองไม่เห็นจริงๆนี่
                บังหยาอดไม่ได้ เลยบอกให้ผมมองจุดที่เป็นพรายน้ำขาวๆ สะท้อนแสง วับๆแวมๆ ผมลองตั้งใจอีกครั้ง ไม่นานผมก็จดจำและสังเกตออก แต่สิบจุดจะเห็นสักครั้ง หรือบางทีเรือวิ่งผ่านฝูงปลา และปลาพยายามวิ่งแข่งกับเรือ เหมือบกับจานสะท้อนแสงในน้ำ เป็นภาพที่สวยมาก บังหยาบอกให้เรือผ่านไปฝูงแล้วฝูงเล่า “หย่อมเล็กๆ วางแล้วไม่คุ้ม อย่างดีก็ร้อยโล วันนี้อวนลากอวนรุนทำฝูงปลาแตกหมด ไม่รวมฝูงเลย” บังหยาบ่น และสั่งให้เรือแล่นไปเรื่อยๆ
                พริบตาเดียว ผมนอนขนานไปกับเรือเห็นฝูงปลาฝูงใหญ่ พยามอวดรู้ ชี้ให้ดู น้องที่อยู่ในเรือมานั่งข้างผม “ผมว่าฝูงนี้บังหยาวางแน่ๆ ฝูงใหญ่ ไม่เชื่อคอยดู” ลูกน้องในเรือหันมาบอกผม บังหยาโบกให้เรือวิ่งช้าๆ ผมมองไปข้างเรือ ฝูงปลาวิ่งกระจายออก มองไปเหมือนใครเอาปลาใส่เข่งแล้วสาดลงไปในน้ำ จากนั้น บังหยาบอกไปให้เรือวิ่งผ่านไป  “อ้าว น้องไหนว่า วังนี้วางแน่” หันไปอีกทีน้องเขาหายไปด้านหลังแล้ว “เป็นฝูงปลาหลังเขียว รวมฝูงกับปลาทู ถ้ามองไม่ดี ไม่เข้าใจ วางไปก็ได้สักเข่ง”  บังหยาตะโกนบอกมาให้ผมหายข้องใจ ผมถึงบางอ้อทันทีว่าวิชานี้ มองเห็นปลาอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องเข้าใจฝูงปลา และชนิดปลาด้วย
              ประมาณสี่ทุ่ม ผมครึ่งหลับครึ่งตื่น เพราะนอนมองฝูงปลาผ่านไปฝูงแล้วฝูงเล่า ไม่ปล่อยอวนสักที  “เตรียมๆ เตรียม” เสียงบังหยาตะโกนบอกลูกน้องเรือที่ครึ่งหลับครึ่งตื่นเหมือนผม จากนั้นจุดบุหรี่กลางสายลมทันที “ต้องใช้ไฟสูบยา (บุหรี่) นายท้ายได้เห็นว่าชี้ไปทางไหนได้วิ่งถูก” บังหยาบอกพร้อมกับยกมือให้เรือวิ่งไปด้านซ้าย ไฟจากบุหรี่วาบๆ  ผมมองเห็นฝูงปลาหลายๆ ฝูงที่เรือพยายามวิ่งวนรอบๆ หลังจากคำสั่งให้วาง ลูกน้องพยายามปล่อยอวน อย่างรวดเร็ว เรือก็วิ่งวนด้านซ้ายไปเรื่อยๆ  “อย่าตีเรือออกห่าง เดี๋ยวล้อมไม่หมด หักเรือไปด้านซ้ายเหลย”  บังหยาตะโกนสั่ง เพราะทิศทางจะวางอวนกับนายท้ายเรือเหมือนจะไม่ไปด้วยกัน หลังจากวางอวนเกือบหมด บังหยาหันมาถามจำนวนอวนที่เหลือเป็นระยะ และพยามวิ่งให้หัวอวนกับท้ายอวนปิดล้อมกันพอดี “ตอนนี้แหละสำคัญ วางต้องให้ล้อมฝูงปลาให้หมด บางทีล้อมก็ไม่โดนฝูงปลาเหมือนกัน บางทีเป็นฝูงปลาซีก คืนนี้เป็นคืนแรก สงสัยนายท้ายหลับ บอกให้ให้ท้ายให้หมด อวนตีออกห่างไป ครอบฝูงปลาไม่หมด” บังหยาออกตัวเป็นครั้งที่สองของคืนนี้ หันไปด้านท้ายเห็นลุกน้องตื่นหมดแล้ว บางคนเตรียมลังน้ำแข็ง บางคนเอาไม้กระทุ้งน้ำ แล้วใช้เรือวิ่งวนด้านในประมาณ ๓ รอบ จากนั้นการกู้อวนก็เกิดขึ้น การสาวอวนพร้อมกับปลดปลาและวางอวนในตำแหน่งเดิมเหมือนที่กู้ขึ้นมา เป็นภาพที่น่าดูมากผ่านไปประมาณ ๒ ชั่วโมงก็เสร็จ “ได้ไม่มาก ล้อมฝูงปลาไม่หมด อวนก็ไม่รอบ”  บังหยาบอก จากนั้นลูกน้องเรือคนหนึ่งก็เตรียมหุงข้าว ต้มปลาที่หาได้ ข้าวมันปลาทู คืนนี้ผมรู้สึกว่าอะไรก็งดงามไปหมด ปลาสดๆ ต้มส้มมะขามเปียก อร่อยจริงๆ  จากนั้น ตอนตีสี่ ก็วางอีกครั้งหนึ่ง ที่ผมรู้แน่ๆ คืนนี้น้ำแข็งที่จะแช่ปลาไม่พอ
                เข้าเรือประมาณ ๗โมงเช้า  เจ้าของเรือที่แท้จริง ภรรยาบังหยามาเตรียมขายปลาที่ฝั่ง ภารกิจของชาวประมง และนายหัวเรืออย่างผม (เพราะนั่งหัวเรือ) ก็เสร็จสิ้น เพราะภารกิจก่อนเริ่มออกเรือ อาหารการกินในเรือ น้ำแข็ง และหลังออกเรือ ภารกิจการซื้อขายการปันเงิน เป็นหน้าที่ของแม่บ้านทั้งสิ้น
                ผมกลับมาบนฝั่งอีกครั้ง มองไปในท้องทะเล วิถีชีวิตที่ทุกคนฝากปากท้องไว้ เริ่มเข้าใจลึกซึ้งถึงเคล็ดวิชา และทำไมคนเหล่านี้ถึงปกป้องทะเลอย่างสุดชีวิต เพราะมันต้องอาศัยภูมิปัญญาและความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลในการเลี้ยงชีพ แล้วอย่างนี้พวกนายทุนทั้งหลายจะเข้าใจหรือเปล่า ว่าชาวประมงทำไมถึงไปทำอาชีพอื่นไม่ได้ เพราะมันเป็นวิชาที่รัก และตกทอดทางจิตวิญญาณ อย่างน้อยใครไม่เข้าใจ ผมและลูกน้องเรือบังหยาเข้าใจดี
                แล้วพบกันใหม่ กับการไปออกเรือดำน้ำฟังเสียงปลา
 
หมายเลขบันทึก: 355415เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2012 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท