ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

สมัชชาประมงพื้นบ้านไทย กับ๗ นวัตกรรมดีเด่นจากอธิบดีกรมประมง


สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ได้จัดงาน “เวทีสัมมนาสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน” ขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2553 ที่ ชายหาดบ้านท่าสูง ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในงานได้มีการนำเสนอแนวทางการจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชนประมงพื้นบ้านของไทย ทั้งในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน อันเป็นการสะท้อนปัญหา แนวทางการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนแนวคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง การจัดการชุมชน และการจัดการ “คน” อย่างไร

สมัชชาประมงพื้นบ้านไทย กับ๗ นวัตกรรมดีเด่นจากอธิบดีกรมประมง

ตัวตน ปัจจัยคุกคาม และนโยบายอนุรักษ์

เรื่อง/ภาพ  : วิโชคศักดิ์  รณรงค์ไพรี
ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน ปีที่ 1 ฉบับที่ 3  16 กุมภาพันธ์  – 31 มีนาคม  53

 

นวัตกรรมการจัดการทรัพยากรประมง
                สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ได้จัดงาน “เวทีสัมมนาสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน” ขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม  2553  ที่ ชายหาดบ้านท่าสูง  ตำบลท่าศาลา  อำเภอท่าศาลา  จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในงานได้มีการนำเสนอแนวทางการจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชนประมงพื้นบ้านของไทย ทั้งในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน  อันเป็นการสะท้อนปัญหา แนวทางการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนแนวคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง การจัดการชุมชน  และการจัดการ “คน” อย่างไร 
 
กลุ่มออมทรัพย์ เพื่อสวัสดิการชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในปัตตานี  : เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ประมงพื้นบ้าน 
                “…จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การทำงานขับเคลื่อนได้ยากในการรวมกลุ่ม โดยกลุ่มเป้าหมายคือชาวบ้านและรัฐ จากความสำเร็จที่ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดปัตตานีได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ โดยมีการรวมตัวระดมทุนรูปออมทรัพย์เป็น 4 กลุ่มดังนี้  ในพื้นที่อำเภอปานาเระ   กลุ่มออมทรัพย์บารอกัต  มีสมาชิก 70 คน กลุ่มสองออมทรัพย์นูรุลยากีน  มีสมาชิก 90 คน กลุ่มสามตำบลบ้านกลาง อำเภอปานาเระ มีทั้งหมด 42 คน กลุ่มสี่ อ.เมือง 100 คน  การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์จะมีการประชุมเครือข่ายตลอด ซึ่งจะวางรูปแบบต่างๆ ที่สำคัญทั้งนี้เพื่อให้เกิดการระดมทุนในชุมชน ไม่ให้ขัดหลักศาสนา ช่วยเหลือกันในชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สนับสนุนการรักษาทะเลและบนบก...”
            “…วันนี้กลุ่มออมทรัพย์ทั้งสี่กลุ่มได้ทำงานร่วมกัน คือสหกรณ์ลอยฟ้า ก็คือจะไม่มีร้าน ไม่มีที่ตั้ง โดยทางสมาชิกจะสามารถชื้อของได้ทุกอย่างภายในร้าน ซึ่งร้านค้าในพื้นที่เป็นแหล่งรวมสินค้าออมทรัพย์ โดยไม่ต้องมีคนดูแล ทำบัญชีจัดการ ในส่วนของการทำปั้มน้ำมันชุมชนก็ยังมีทำอยู่ แต่จะมีปัญหาเยอะ เพราะมีน้ำมันเข้าจากมาเลเซีย….”
             “…การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในตอนแรกจะยากมาก เพราะชาวบ้านไม่รู้วัตถุประสงค์ ไม่รู้ว่าเราจะทำอย่างไร และไม่รู้ว่าเราจะทำอย่างไรในการช่วยเหลือชาวบ้าน  หากการรวมกลุ่มโดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐมันค่อนข้างยุ่งยาก ในตอนแรกๆ คิดว่าจะเก็บเงินอย่างไร เราก็เริ่มต้นจากการเก็บเงินสมาชิกคนละสามสิบบาทและต่อมาเป็นห้าสิบบาท…”
 
แพชุมชนคูขุด การรวมหุ้นซื้อเองขายเองแบบชาวทะเลสาบสงขลา : สมาคมชาวประมง อ.สทิงพระ
               กลุ่มแพปลาชุมชนบ้านคูขุดมีแนวคิดจากสมาชิกลุ่มออมทรัพย์  ชาวประมง กลุ่มแกนนำชุมชน และกลุ่มประมงอาสา ที่เล็งเห็นว่าชุมชนประสบปัญหาทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงเป็นอย่างมาก และปัญหาถูกเอาเปรียบเรื่องราคาสัตว์น้ำจากพ่อค้าและนายทุน จึงรวมตัวกันตั้งกลุ่มแพปลาขึ้น
            “…วันนี้ปัญหาทรัพยากรส่งผลกระทบต่อชาวประมงที่ทะเลสาบ ในการทำงานกลุ่มออมทรัพย์ ทางเรามีกลุ่มออมทรัพย์มีการประชุมทุกสามเดือนเพื่อสรุปการทำงาน การดูแลเขตประมง ในประเด็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเราก็ต้องพยายามหาทางออก โดยเฉพาะปัญหาที่ชาวประมงนำสินค้าไปขายให้นายทุน และถูกกดราคา เราจึงมีแนวคิดว่าจะทำการระดมทุน มีการจัดซื้อ ทำบัญชี ถ้าใครใช้ตาอวนผิดจะไม่รับซื้อ เป็นกฎของสมาชิกที่เราตั้งกันขึ้นมาเอง สำหรับวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มเข็งด้านเศรษฐกิจกิจกรรมสร้างอาชีพให้ชุมชน …”
             “…กลุ่มเรามีเงินปันผลจะทำให้มีเงินคืนสมาชิก 70% พัฒนา 5%   เราทำแพชุมชนมีการศึกษาดูงานจากสตูลและที่ต่างๆ ตอนนี้ขยายเครือข่ายไปยังหมู่อื่น เพราะเขามาเห็นและพวกเขาถูกเอาเปรียบมาก เลยอยากสร้างเครือข่ายรอบทะเลสาบ เรามีการโฆษณาว่าซื้อสัตว์น้ำเป็นเพราะเรามีอ็อกซิเจนและเราสามารถระดมทุนให้ชาวประมงไปทำประมงในทะเล ซึ่งราคาจะไม่เหมือนกัน..."
 
เขตเลเสบ้านการบูรณาการการจัดการทรัพยากรทะเลและประมงแบบมีส่วนร่วม  : เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง
                 “…เริ่มตั้งแต่ปี 38 ช่วงนั้นดุเดือดมากกับนายทุน เขตเลสี่บ้านมาจากภูมิประเทศที่เป็นอ่าวในเขตสี่หมู่บ้าน เกาะมุกด์ น้ำราบ บ้านควนตุ้งกู บ้านฉางหลาง ซึ่งเป็นบริเวณหน้าเกาะมุกด์ ในตอนนั้นมีเรืออวนลากอวนรุนเป็นร้อย แต่ตอนนี้หายไป เพราะเราเฝ้าระวังตลอด ซึ่งเรามีความคิดร่วมกันทำ ในตอนแรกการรวมกลุ่มกันเป็นลักษณะของกลุ่มออมทรัพย์มาก่อน ต่อมาปัญหาจากเรืออวนลากอวนรุนเข้าจนรู้สึกว่าทรัพยากรหายไป เราจึงเริ่มคิดกันว่าจะทำอย่างไรในช่วงเวลาสั้นๆ โดยเราตกลงทำจะช่วยกัน แรกๆ ต่างคนต่างทำ ทำแบบโจร แม้ว่าจะเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง แต่ต้องทำ เพราะตอนนั้นมีปัญหามากมายกับนายทุน เราทำกันมาเกือบสิบปี ต่อมาเราคิดว่าหน่วยงานรัฐน่าเข้ามาร่วม จนกระทั่งเริ่มปลายปี 49 ทุกวันนี้เขตทะเลสี่บ้านทุกหน่วยงานหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันดีมาก ตอนนี้เราสามารถรักษาไว้ได้เต็มร้อย ...”
                “…มีพื้นที่สองพันกว่าไร่ ในพื้นที่ตรงนี้ดูแลกันโดยชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจทางทะเล หรือทีเรียกว่า ฉ.ก ของประมงพื้นบ้านได้รับการแต่งตั้งโดยจังหวัด จะมีหน่วยงานต่างๆ ทำงานร่วม เช่น ตำรวจภูธร ชุดกรมทรัพยากรทางทะเล จ.สตูล ใบไม้เขียว ฯลฯ หลังจากเปิดแนวเขตอย่างเป็นทางการได้ทำวิจัยตั้งแต่เดือน มิ.ย. 50 ...”
               “…วันนี้พวกเครื่องมือประมงผิดกฎหมายตอนนี้ไม่มี ความสำเร็จอยู่ที่พวกเรา พี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ออกมาดูแล ปกป้องทรัพยากรร่วมกัน หากพวกเราไม่ลงมือทำ ทางหน่วยงานรัฐก็ไม่ทำให้เรา เราจะต้องทำขึ้นมาก่อน ถึงจะเป็นไปได้ที่จะทำให้หน่วยงานรัฐหันมาสนับสนุน เห็นสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เรามองทรัพยากร ผู้ใช้ทรัพยากรจะต้องเป็นคนดูแลทรัพยากร...”
 
ข้อบัญญัติท้องถิ่น ข้อบัญญัติของประชาชน ต.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช : องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา  และเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา
                “…ข้อบัญญัติของท่าศาลาเป็นข้อบัญญัติของชาวบ้านจริงๆ ปัญหาเกิดจากนายทุน เมื่อชาวบ้านเดือดร้อนจึงร่วมกันระหว่างพี่น้องภาคประชาชน หัวใจของข้อบัญญัติคือ ข้อมูลทางวิชาการ สื่อสาธารณะ การมีส่วนร่วม…”
              “…การทำข้อบัญญัติจำเป็นจะต้องมีฝ่ายวิชาการรับรอง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือแผนที่ แผนที่ที่ต้องแนบ แผนที่จังหวัดนครฯ แผนที่ตำบลท่าศาลา แผนที่ประกาศจังหวัด เขตข้อบัญญัติท้องถิ่น ข้อบัญญัตินี้มีการบังคับใช้ เราจะได้รู้ว่าปัญหาว่ามีการรุกล้ำในการทำประมง เราเรียนรู้ปัญหาว่าอะไรเราต้องแก้  หลังจากนั้นชาวบ้านได้ใช้แกนหลักโดยการขับเคลื่อนโดยกลุ่มออมทรัพย์และคณะทำงานและยกร่างข้อบัญญัติ มีการศึกษารายละเอียด ขบวนการ การทำอะไรสักอย่างต้องมีวิชาการรองรับ…” หลังจากนั้นมีเวทีประชาคมระดับหมู่บ้านในการนำเสนอเรื่องเหล่านี้เข้าไป มีเวทีจังหวัดสองครั้งเพื่อบอกคนจังหวัดว่าท่าศาลาจะทำแบบนี้
             “…เราจะมีเวทีให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มารับรู้รับฟังว่าเราจะทำข้อบัญญัติ การเสนอมีสองแบบคือ ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ให้นายกเสนอเข้าสภา หลังจากนั้นภาคประชาชนทำแผนที่ ทำทุ่นแนวเขตข้อบัญญัติ เปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้คนทั่วไปรับรู้ว่าท่าศาลามีข้อบัญญัติใช้...”
              “…การทำข้อบัญญัติมาจากกติกาชุมชนร่วมกันก่อน จึงมาเป็นการใช้ข้อบัญญัติ ซึ่งนายทุนมักไม่เห็นด้วย แต่ท่าศาลานายทุนกับชุมชนมักเป็นญาติมิตรจึงไม่มีปัญหาเหมือนที่อื่น เพราะทุกกลุ่มเห็นปัญหาร่วมกัน จึงสามารถทำออกมาเป็นข้อบัญญัติได้...”
 
ธนาคารไข่กุ้ง การฟื้นฟูสัตว์น้ำด้วยวิถีธรรมชาติ : สมาคมชาวประมงทะเลสาบ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง
                  “ธนาคารไข่กุ้ง”  เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำโดยธรรมชาติ ลงทุนไม่สูง เพื่อให้ขยายในทะเลรอบนอก ทำเพื่อทดลองและมันก็ได้ผลดี บางคนก็มาบริจาค เพื่อเอาเงินมาสมทบทำกิจกรรม เพื่อขยายพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติ กุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อให้ชาวบ้านได้รวมตัวกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านช่วยกันดูแลดี เราเริ่มต้นที่พื้นที่เกาะหมากได้เริ่มต้นทำมาตั้งแต่ปี 2548 เราทำเล็กๆ มาก่อน ตอนนี้มีทั้งกุ้งก้ามกรามและปลามิหลัง โดยได้ทดลองซื้อพันธุ์แม่มาขัง ซึ่งก็ได้ผลดี เป็นการขยายพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ ไม่ต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เราดูว่าลูกปลาจะออกจากนอกกระชังได้ เพราะอวนเราตา 6 ซ.ม จะได้ออกไปสู่ทะเลสาบได้ เรื่องกะชังปลามิหลังได้ทำอนุบาลที่ตรังด้วย เพราะเป็นปลาเศรษฐกิจ กำลังอนุบาลอยู่ โดยได้ทางกลุ่มสมาคมฯ ร่วมกันกลุ่มออมทรัพย์ ถ้าได้ผลดีจะได้ขยายไปยังกลุ่มอื่น เราได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ หลักสูตรท้องถิ่นตำบลเกาะหมาก คือระดับมัธยม เพื่อให้เยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สัตว์ ซึ่งอยู่ในหลักสูตรโรงเรียนเกาะหมาก
                “…เรามีกลุ่มออมทรัพย์ช่องฟืนมาก่อนและนำเงินปันผลมา 3% มาทำกิจกรรม ตอนนี้สัตว์น้ำลดลงอย่างมาก ก็มีการเปลี่ยนอาชีพไปทำงานโรงงาน พวกเราคิดว่า หากเรามีเลอยู่หน้าบ้าน ไม่มีสัตว์น้ำให้จับ เราก็เลยมาคุยกัน ก็เลยทำเขตอนุรักษ์เขตปล่อยพันธ์สัตว์น้ำ ตอนแรกชาวบ้านไม่เข้าใจเท่าไหร่ มีเสียงคัดค้าน พอทำไประยะหนึ่งเขาไม่ต้องออกเรือไกล ทำให้เขาเห็นความสมบูรณ์ แนวเขตทำไม่เกินสองปีจะเห็นความสมบูรณ์...”
              “…เราพยายามสร้างความเข้าใจกับพี่น้องและเยาวชน เราทำกับโรงเรียนเพื่อให้บอกกับเยาวชนรู้รักบ้านเกิด อาชีพดั้งเดิมคืออะไร อย่าให้เขาทิ้งถิ่นฐาน ต้องสร้างคนรุ่นใหม่มาสืบต่อเจตนารมย์...”
 
สหกรณ์ชาวประมงพื้นบ้านสตูล การลดต้นทุนการทำประมงพื้นบ้าน : ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.สตูล
                  “…สภาพปัญหาคือปัญหาความยากจนบางทีก็ไม่มีที่ดิน  เครื่องมือไม่ทันสมัย สิ่งที่เราทำคือต่อสู้เพื่อให้เราไม่ยากจนไปกว่านี้ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ในการต่อสู้เราก็ต้องพัฒนาตนเอง คิดในหลายวิธีการ พัฒนาองค์ความรู้ เอามาใช้ ยุคนี้ใช้เทคโนยีสูง หากใครเครื่องมือดีก็ได้ไป ผมเชื่อว่าเราเจอปัญหา จากปัญหาแบบนี้ก็คิดว่าเราจะทำอย่างไร ทรัพยากรน้อย ความยากจน จะทำอย่างไรทรัพยากรให้มีเพิ่มมูลค่า เราพยายามศึกษา พัฒนาตนเอง ร่วมกันคิดว่าเพื่อนๆเขาทำอะไรไปบ้าง มีการรวมกลุ่มทำออมทรัพย์ เราพยายามปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนว่าอย่าฟุ่มเฟือย การใช้การจ่ายให้มองว่าอะไรสำคัญ เราต้องบอกว่าเราพยายามอดออม รักษา ...”
                “…เราจะพัฒนาองค์กรของเรามันก็ยากลำบาก เพราะเรายังยากจน เราพยายามหาวิธีการ เราต้องไปกู้เงินมาบริหารจัดการสมาชิก ตอนแรกใช้ต่อรองกับพ่อค้า การรวมกลุ่มจะเห็นการเปลี่ยนแปลง นี่คือผลจากการรวมกลุ่มของกลุ่มเล็กๆ ก็จะเห็นพลังขึ้นมาเรื่อยๆ หลังจากได้กองทุนสวัสดิการก็ยังเหลือไปตามหมู่บ้าน เราพยายามขยายผลทำกลุ่ม เช่น แพชุมชน เพื่อให้พี่น้องรวมทุนเพื่อผลักดันต่อทางเศรษฐกิจ …”
                      “…พยามยามให้ลดในเรื่องทุน มีการไปซื้อของในราคาที่ถูกลง มันจะไปเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากร เรามีกองทุนในการพัฒนาเพื่อเอาไปใช้ในเรื่องน้ำมัน หรือการเดินทางไปศึกษาดูงาน ซึ่งเรามีการตั้งไว้เป็นกองทุน และมีการปันผลให้กับสมาชิก ค่ารักษาพยาบาล อีกส่วนหนึ่งช่วยเหลือในด้านการศึกษา จะเน้นการกระจายผลประโยชน์ให้กับคนรอบข้างของเรา...”
              “…เครือข่ายด้านการจัดการเศรษฐกิจยังไม่สมบูรณ์แบบ เป็นการทดลองขายกับสมาชิกกลุ่ม ลองทำแพกลาง ปัญหายังคงต้องพัฒนาต่อ เราได้มีการสรุปบทเรียน ธันวาคม ที่ผ่านมา เราต้องให้เครือข่ายประมงรวมกันได้จริง แนวทางการพัฒนาจะมีการถอดบทเรียนทั้งคนและงานของแต่ละกลุ่ม เพื่อให้เห็นว่าเราติดตรงไหน และจะต้องทำกันต่อ…”
 
ธนาคารปูม้า  การฟื้นฟูสัตว์น้ำด้วยวิถีธรรมชาติ : กลุ่มรักษ์อ่าวประจวบ จ.ประจวบคีรีขันธ์
                 “…ที่หมู่บ้านก็มีปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร มีการใช้ลอบไซทับ ทำให้ทรัพยากรของเราลดลงจนกระทั่งปี 50 ปูม้าหมดไปจากทะเล เสียหายจากการวางลอบไซทับ ไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วย มีการคัดค้าน แต่ไม่มีพลังในการผลักดันและต่อรอง เราเลยตั้งกลุ่มรักษ์ประจวบขึ้น เพื่อให้พลังของเรามีประสิทธิภาพสามารถกำหนดเขตได้ และพวกเราจึงตั้งธนาคารปูม้าขึ้นมา เพื่อคืนทรัพยากรสู่ธรรมชาติ เพื่อให้ทรัพยากรมีใช้อย่างยั่งยืน สิ่งที่เราทำมาจากปี 51 จนถึงกลางปี 52 เรารู้สึกว่าทรัพยากรกลับคืนมา ปลายปี 52 เราได้ปูม้ามาขายต่อวัน 800 – 1,000 บาท ตอนนี้เพิ่มเป็น 1,000 – 3,000 บาท ทำให้เราได้ทรัพยากรคืนมา จึงอยากให้พี่น้องใช้ทรัพยากรอย่างมีการยั้งคิด...”
 
การจัดการอ่าวพังงาแบบมีส่วนร่วม
                   “…เรามีเรื่องของการต่อสู้กับระบบราชการ ระบบราชการทำให้เราอ่อนแอ เราตั้งกลุ่มขึ้นมา ท้ายที่สุดกลุ่มเราอ่อนแอ เรารวมกลุ่มแล้วต้องระวังสิ่งที่เข้ามา ตัวเงินทำให้เราหลงได้ บางทีองค์กรมาตั้งกลุ่ม คนที่อาสาดูเรื่องการอนุรักษ์ กลุ่มยาเสพติด ถ้าดูแลทุกเรื่อง เดี๋ยวคนโน้นมาคนนี้มา เราต้องมีแนวคิดที่ชัดเจน อย่าให้เขาดึงเรา สาเหตุที่ทำให้เราเสียคือ เวลา เพราะจะมีการประชุมเยอะมาก ส่งผลให้เราไม่ได้ทำกินจนต้องทำให้เราต้องทิ้งกลุ่ม แต่เราต้องกำหนดตัวเราเอง เราคิดสร้างเครือข่ายต้องคิดเอาเอง...”
                “…เราจำเป็นต้องมาเรียนรู้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง ถ้าเราตั้งใจจริงเราทำได้ ถ้าต้องการให้บ้านเมืองเจริญ เราต้องมาช่วยกัน เราต้องเรียกร้องสิทธิเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง สิทธิการจัดการทรัพยากร...”
                “…อ่าวพังงา เป็นพื้นที่สามจังหวัด ควบคุมกว้าง หลังจากสึนามึมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่สามจังหวัดนี้ ซึ่งอ่าวนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ปัญหาของอ่าวพังงาคือการประมงทำลายล้าง ที่ดินเรื่องท่าเรือมันสอดคล้องกับแผนพัฒนาของรัฐ การบุกรุกป่าชายเลน ต้นน้ำเป็นปัญหาที่ท้าทายของอ่าวพังงา ...”
               “…การแก้ปัญหาต้องให้ความเข้าใจกับชุมชน สร้างกระบวนการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอก ต้องทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชน ต้องมีการสร้างเครือข่ายให้มากขึ้น อนาคตต้องสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งกว่านี้…”
 
หมายเลขบันทึก: 355408เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท