ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

เส้นทางสู่มาบตาพุด เพื่อหยุดอนาคตโครงการขนาดใหญ่ที่เมืองคอน


ตอนขึ้นรถ ทุกคนต่างออกมาทยอยเล่าประสบการณ์การศึกษาดูงานครั้งนี้ เสียงที่ตรงกันของทุกคน คือ “เราเห็นภาพแล้ว ต้องไม่เกิดที่บ้านเราอย่างเด็ดขาด จะกลับไปบอกทุกคน โดยเริ่มต้นคนที่บ้านก่อน”

เส้นทางสู่มาบตาพุด

เพื่อหยุดอนาคตโครงการขนาดใหญ่ที่เมืองคอน

เรื่อง /ภาพ : ปูนา และยางกล้วย
ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2  15 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์  53
 
               เมื่อวันที่ ๔ – ๘ ก.พ ๕๓ พี่น้องนครศรีธรรมราช จากพื้นที่ อ.ท่าศาลา อ.สิชล กว่า ๕๐ ชีวิตมุ่งหน้าสู่มาบตาพุด เพื่อเรียนรู้ ดูงานจากพื้นที่จริง เป็นการเดินทางสู่อนาคต เพื่อกลับมาเปลี่ยนแปลงเมืองอนาคตของนครไม่ให้เป็นดั่งมาบตาพุด ตลอดเวลา ๔ วัน ทุกคนต้องมุ่งมั่น แลกเปลี่ยนดูปรากฏการณ์ การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง การเจริญก้าวหน้าที่เต็มไปด้วยโรงงานและเครื่องจักร แทบไม่มีเวลาให้มีการบันเทิง เป็นการดูงานที่ทุกคนบอกว่าครบเครื่อง และเข้มข้น ไม่มาเห็นกับตาจะไม่เชื่ออย่างเด็ดขาด
              ออกเดินทางตั้งแต่ตอนสายของวันที่ ๔ ก.พ. แวะจุดแรกและรับประทานอาหารเย็นที่ประจาบคีรีขันธ์  ที่บ้านพี่กระรอก ภรรยาคุณเจริญวัดอักษร ที่ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิต ก่อนทานอาหารเย็น ได้ตั้งวงแลกเปลี่ยน กับพี่หน่อย จินตนา แก้วขาว พี่กระรอก และทีมงานจากบางสะพาน บรรยากาศเป็นอย่างเป็นกันเอง เพราะหลายคนคุ้นเคยและเคยร่วมสู้กับทีมงานจังหวัดประจวบหลายครั้ง หาดทรายขาว เรียบสวย หน้าศาลาที่นั่งเรียนรู้ กับบรรยากาศสนทนาที่ออกรส กับปัญหาของพื้นที่จังหวัดนคร ที่แกนนำของพื้นที่ต่างๆ ช่วยกันเล่า ช่วยกันแลกเปลี่ยน พี่กระรอกและพี่หน่อยต่างเอาประสบการณ์ที่ยาวนานค่อยบอก ค่อยๆแนะนำประสบการณ์ จนหลายคนรู้สึกคึกคักและศรัทธาอย่างไม่รู้ตัว
                “การต่อสู้ การเรียกร้อง ต้องหมั่นศึกษา สรุปบทเรียน ไม่กลัว มวลชนเท่านั้นเป็นตัวชี้ขาดการพัฒนาขนาดใหญ่ เรามีมวลชนชัดเจน มีหลายกลุ่ม แต่มุ่งเน้นว่า งานไหนใครเป็นเจ้าภาพ เจ้าภาพรับเยอะหน่อย พื้นที่แนวร่วมกระจายกันไป เพราะที่ประจวบมีหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ” พี่หน่อย แลกเปลี่ยนการจัดตั้งมวลชนให้ฟัง
                “การชุมนุม การเรียกร้อง อย่างเดียวไม่ได้ ต้องนั่งประชุม ปรึกษาหารืออย่างต่อเนื่อง  แกนนำต้องมีเอกภาพทางความคิด อย่าไปกลัวว่าไปชุมนุมแล้วชาวบ้านจะลำบาก ขาดการทำมาหากิน การชุมนุมเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุดเป็นการปลุกสำนึกของพลัง และสร้างการตื่นตัวเสมอๆ วันนี้แม้ว่ากรณีของบ่อนอก-หินกรูด จะเงียบแต่เราไม่เคยหยุด แผนพัฒนามันจ้องอยู่เสมอ ๑๐ ปีแล้ว เราก็ยังสู้ มันสู้ได้แต่อย่าท้อ” พี่กระรอกถ่ายทอดประสบการณ์ อันเด็ดเดี่ยวให้ฟัง
                ทีมงานตั้งวงสนทนาเกือบ ๒ ชั่วโมงก่อนรับประทานอาหารร่วมกันกับพี่น้องประจวบฯ เป็นสัญลักษณ์ว่า กินข้าวหม้อเดียวกัน ย่อมเข้าใจปัญหาและจับมือต่อสู้ร่วมกันในอนาคต
                ก่อนนั่งรถต่อไปจังหวัดระยอง ถึงที่พักประมาณ ตีสอง แม้ที่พักจะคับแคบ แต่ทุกคนก็ไม่บ่น บางคนต้องนอนพื้น นอนแคร่ใต้ต้นไม้ด้านนอก บางคนต้องไปนอนที่เคาเตอร์รับลูกค้า แต่หลายคนก็บอกว่า แค่นี้ก็สบายแล้ว หลายๆคนยังนั่งจิบกาแฟ สนทนาอย่าง เล่าความหลังจนเกือบย่ำรุ่ง
                เช้าวันที่ ๕ ก.พ.  แม้ได้นอนคนละไม่กี่ชั่วโมง แต่แทบทุกคนตื่นแต่เช้าตรู่ บางคนออกไปเที่ยวชายทะเล บางคนนั่งมองบรรยากาศอึมครึม ครึมฟ้าครึ้มฝน ทั้งที่ไม่มีวี่แววฝนจะตก จนได้คำตอบจาก ลุงน้อย ใจตั้ง คนมาบตาพุดดั้งเดิม เล่าให้ฟังว่า “บรรยากาศระยองตอนนี้ มันไม่รู้เป็นอะไร เปลี่ยนแปลงไปหมด”
                เมื่อรับประทานอาหารเช้าเสร็จ แต่ละพื้นที่นั่งเล่าสถานการณ์ของบ้านตัวเอง เพราะแต่ละคนที่มา ล้วนเป็นเจ้าของปัญหาในพื้นที่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ท่าเรือเชฟรอน เขื่อนท่าทน โรงงานปาล์ม-ไฟฟ้าชีวมวล อุตสาหกรรม จนหลายคนบอกว่าชะตากรรมจังหวัดนครทำไมโครงการต่างๆเข้ามามากมาย
                ประมาณ ๑๐ โมง ลุงน้อย และพี่สุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเดินทางมาถึง ผลัดกันเล่าประสบการณ์และปัญหาของพื้นที่ “ตอนที่โรงงานเข้ามาครั้งแรก เขาบอกว่าจะสร้างโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ พื้นที่ ๑๐๐ ไร่ และเริ่มเวนคืนที่ดิน ลุงน้อยก็เวนคืนให้เขาด้วยไร่ละ ๔ หมื่นบาท เห็นว่าเป็นโรงงานปุ๋ย ไม่รู้อะไรเลยก็ให้เขา ย้ายมาอยู่อีกตำบลหนึ่ง แต่ไม่นานโรงงานก็ขยายตัวมาถึง” ลุงน้อยนั่งเล่าไปน้ำตาคลอเบ้า เล่าด้วยเสียงสั่นเครือ ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้า และลุงน้อยยังเล่าเรื่องญาติๆทยอยเสียชีวิต ภรรยาก็เป็นมะเร็ง สวนมะม่วงก็ไม่ออกลูกเหมือนแต่ก่อน จนหลายคนที่ไปดูงานครั้งนี้ พลอยน้ำตาไหลไปกับลุงน้อยด้วย
                จากนั้น สุทธิ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การต่อสู้ ตังแต่ปี ๒๕๔๘ ที่เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการขนาดใหญ่ จนขึ้นศาลปกครอง “การต่อสู้ครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ของพี่น้องภาคใต้เป็นอย่างมาก เพราะได้ใช้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๗ วรรค ๒  ครั้งแรกที่ต้องการฟ้องเรื่องนี้ หาทนายยากมากเพราะหลายคนบอกว่าสู้อย่างไรก็ไม่ชนะ แต่ชาวระยองก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำได้” สุทธิได้เล่าให้ฟังต่อว่าชาวนะยองมีรายได้ต่อหัวสูงมาก แต่ประชาชนยากจนทั้งจังหวัด เพราะเขาเอาคนรายมาเป็นตัวหารด้วย วันนี้ปัญหาจังหวัดระยองเยอะมาก ทั้งอาชญากรรม โรคติดต่อ โรคมะเร็ง ความยากจน ที่น่าเศร้าที่สุด คือ ในพื้นที่แทบไม่มีชาวระยองอยู่เลย ส่วนใหญ่เป็นคนงานต่างถิ่นแทบทั้งสิ้น และถามคำถามแบบคมคายและท้าทายว่า “ถ้าเป็นความเจริญแบบระยอง แบบมาบตาพุด คนนครจะเอาด้วยไหม”
            ช่วงบ่ายเข้าไปเยี่ยมพื้นที่การนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรม ได้นั่งพูดคุยกับ ผอ.การนิคมฯ ซึ่งบอกว่า “หลังจากนี้นิคมอุตสาหกรรมจะสร้างไม่ได้อีกแล้ว นอกจากสร้างเป็นโครงการเล็กๆ ทีละโครงการไปเรื่อย เพราะหากเป็นการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ชาวบ้านจะเกิดกระแสต่อต้านจนสร้างไม่ได้อย่างแน่นอน” พี่น้องนครได้ขึ้นหอคอยดูพื้นที่โครงการทั้งหมด ได้ลงเยี่ยมพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมที่ถมทะเลนับพันไร่ ออกจากพื้นที่เกือบเย็น วิ่งเลียบชายหาดโดยมีลุงน้อยเป็นไกด์เยี่ยมชมความหายนะเมืองระยอง ดูน้ำเน่าเสีย สีกาแฟบริเวณใกล้การนิคม ดูการกัดเซาะชายฝั่ง และดูบ้านๆรอบโรงงานที่เต็มไปด้วยป้าย บ้านว่างให้เช่า จนหลายคนบ่นว่า แม้แต่นกสักตัวก็ไม่มีให้เห็น (น่าจะเอานกพิราบ กทม.มาปล่อย จะได้สร้างสีสันให้เมือง ฮา)
                ช่วงค่ำทานข้าวเย็นเสร็จ ตั้งวงสนทนา ใครได้เห็น หรืออยากสะท้อนอะไร โดยมีผู้ดำเนินรายการ ๓ คู่ สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาจากทุกคนก็คือ “การนิคมพูดแต่เรื่องดีดี ต่างกับภาพที่เห็นด้วยตามาตลอดทั้งวัน อีกครั้งหลายคนบอกว่า เวียนหัวเหมือนจะเป็นไข้ แสบคอ แสบจมูก” ซึ่งตรงกับที่ สุทธิ บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า “ปกติแก๊สต่างๆ จะต้องให้มีกลิ่น เพราะจะได้รู้ว่ารั่ว แต่ในปัจจุบันเขาจะเอากลิ่นออก เข้าไปจึงไม่ได้กลิ่นอะไรเลย แต่อาการต่างๆยังเหมือนเดิม” หลายคนบอกว่าเครียดจนนอนไม่หลับ วงสนทนากาแฟจึงเกิดขึ้นเกือบตีสาม ส่วนคนที่เหน็ดเหนื่อยต่างๆค่อยทยอยไปนอนก่อนหน้านี้
                วันที่ ๖ ก.พ. ได้เข้าไปร่วมงานสมัชชาเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก งานนี้ได้คุยทั้งคณะกรรมการสิทธิ์ ผังเมือง การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จนหลายคนบอกว่า มาครั้งนี้คุ้มลงทุนแสนกว่า ได้มาเกือบล้านเพราะวิทยากร แต่ละคนระดับประเทศทั้งสิ้น อีกทั้งในเวที ยังพูดถึงชาวนครเป็นระยะๆ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ยังบอกว่า ทิศทางข้างหน้าต้องรุกพื้นที่จังหวัดนครอีกนับสิบๆ โครงการ งานนี้ชาวนครที่ไปยิ้มอย่างแก้มปริ เพราะวิทยากรทุกคนให้ความสำคัญและพร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้ชาวนครอย่างเต็มที่ จนเกือบขโมยซีนงานเจ้าภาพไปเสียทั้งหมด ตอนค่ำ ดร.เรณู สุวรรณพิมล ยังตามมาบรรยาย ผลกระทบมาบตาพุด การประเมินผลกระทบทางสุขภาพต่อ จนหลายคนบอกว่าคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม
                วันที่ ๗ ก.พ. ได้เข้าร่วมเวทีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ในพื้นที่จริงของบริษัทที่ลงมาดำเนินการในพื้นที่ ได้เห็นวิธีการ การซัก การตอบคำถาม เพื่อเป็นแนวทางเมื่อโครงการเข้ามาในพื้นที่จังหวัดนครจริงๆ ทุกคนที่ไปบอกว่า หากบริษัทลงมาบ้านเรา คราวนี้เสร็จเราแน่ๆ หลังจากนั้นไปรับประทานอาหารกวางวันที่แหลมรุ่งเรือง หมู่บ้านที่อยู่ใกล้โรงงานไฟฟ้ามากที่สุด แต่ไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานนัก เพราะหลายคนบอกว่าอึดอึด เหนียวตัว หายใจไม่ออก อากาศร้อน จนหลายคนวิ่งหนีขึ้นรถ หลังจากนั้น ก็เดินทางกลับบ้าน
                  ตอนขึ้นรถ ทุกคนต่างออกมาทยอยเล่าประสบการณ์การศึกษาดูงานครั้งนี้ เสียงที่ตรงกันของทุกคน คือ “เราเห็นภาพแล้ว ต้องไม่เกิดที่บ้านเราอย่างเด็ดขาด จะกลับไปบอกทุกคน โดยเริ่มต้นคนที่บ้านก่อน”
                 ถึงเวลาที่ชาวนคร จะต้องเปลี่ยนแปลงอนาคตที่รัฐบาลพยามยัดเยียดให้ ไม่ให้เป็นดั่งมาบตาพุด เพราะขณะนี้โครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานได้ทยอยลงมาแล้ว
                  
                สู้เขาต่อไป พี่น้อง
 
หมายเลขบันทึก: 355396เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท