ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

ฐานทุนชีวิตของชุมชน ตำบลกลาย ด้วยการประเมินผลกระทบทางสุขภาพด้วยชุมชน


กิจกรรมการประเมินผลกระทบสุขภาพระดับชุมชนไม่ได้จัดทำข้อมูลและข้อเสนอที่เพียบพร้อมด้วยหลักการทางวิชาการ แต่เป็นกระบวนการเก็บข้อมูลของชุมชนร่วมกับที่ปรึกษาทางวิชาการ โดยมุ่งหวังให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของตัวเอง เนื้อหาสาระของกิจกรรมการประเมินผลกระทบสุขภาพจึงเป็นเพียงเครื่องมือของการเรียนรู้ของชุมชน

ฐานทุนชีวิตของชุมชน ตำบลกลาย ด้วยการประเมินผลกระทบทางสุขภาพด้วยชุมชน

Community Health Impacc Aassesment (CHIA)

 

เรื่อง/ภาพ : เรือนลืมยศถา
ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2  15 มกราคม – 15 มีนาคม  53

 

      เมื่อไม่นานมานี้....ชาวกลายได้ร่วมกับภาคีทำงานที่สำคัญชิ้นหนึ่งเพื่อตอบคำถามให้กับตัวเองว่ากลายควรพัฒนาไปในรูปแบบใดท่ามกลางโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังลงมาสู่ชุมชนเรียกการทำงานชิ้นนี้เป็นตัวย่อภาษาอังกฤษว่าCHIAหรือการประเมินสุขภาพระดับชุมชน
      CHIA คืออะไร???.....เป็นปฏิบัติการเพื่อค้นหาศักยภาพของชุมชน ในการที่จะตอบคำถามว่าพื้นที่ชุมชนกลายควรจะมีการพัฒนารูปแบบใดจึงจะนำไปสู่เส้นทางที่ทุกคนร่วมเดินคือทุกคนร่วมรับประโยชน์จากการพัฒนาที่เกิดขึ้นและการพัฒนานั้นไม่นำไปสู่การทำลายสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างสุขภาพของคนทั้งตำบล ในอีกทางหนึ่งการประเมินผลกระทบสุขภาพระดับชุมชนคือเครื่องมือที่จะนำไปสู่การสร้างจุดยืนในการพัฒนาของชุมชน ในขณะที่มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เข้ามาก่อสร้างในพื้นที่
       กิจกรรมการประเมินผลกระทบสุขภาพระดับชุมชนไม่ได้จัดทำข้อมูลและข้อเสนอที่เพียบพร้อมด้วยหลักการทางวิชาการ แต่เป็นกระบวนการเก็บข้อมูลของชุมชนร่วมกับที่ปรึกษาทางวิชาการ โดยมุ่งหวังให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของตัวเอง เนื้อหาสาระของกิจกรรมการประเมินผลกระทบสุขภาพจึงเป็นเพียงเครื่องมือของการเรียนรู้ของชุมชน
       ยังจำบรรยากาศช่วงนั้นได้ดีว่าเราเริ่มต้นทำเรื่องนี้กันที่ใต้ถุนสถานีอนามัย...บรรยากาศโต๊ะกลมแบบวงน้ำชาคือสถานที่เริ่มบทสนทนาใต้ถุนสถานีอนามัยบ้านตลาดอาทิตย์ คณะทำงานสนับสนุนกิจกรรมประเมินผลกระทบสุขภาพระดับชุมชน เล่าถึงเรื่องราวกิจกรรมการประเมินผลกระทบสุขภาพระดับชุมชน ทั้งที่มา หลักคิด กระบวนการทำงานคร่าวๆเพื่อให้แกนนำเกิดความเข้าใจ และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
      ประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันหลังจากที่คณะทำงานบอกเล่าคือCHIA จะมาทำอะไร จะสร้างความแตกแยกให้กับชุมชนหรือเปล่า คำถามนี้เป็นประเด็นที่แกนนำชุมชนให้ความสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากว่าชุมชนตำบลกลายกำลังเกิดเหตุการณ์การพัฒนาจากโครงการขนาดใหญ่ซึ่งเข้ามาในพื้นที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ของตำบลกลาย เพราะมีการเช่าที่ดินจำนวน300ไร่สำหรับ และมีการย้ายชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้นออกนอกพื้นที่ พร้อมทั้งมีการสำรวจพื้นที่สำหรับการก่อสร้างทางและท่าเรือ
      ชาวชุมชนตำบลกลายส่วนหนึ่งเป็นห่วงเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในตำบล แต่ผู้นำชุมชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับโครงการ ทำให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในชุมชนไม่กล้าแสดงความเห็นในที่สาธารณะ  เพราะไม่ต้องการเผชิญกับอิทธิพลของผู้นำในท้องถิ่น การดำเนินกิจกรรมประเมินผลกระทบสุขภาพระดับชุมชน แกนนำจึงเกิดความวิตกว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ จะกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างความขัดแย้งให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้น....สุดท้ายเวลาผ่านไปเกือบ 9 เดือนเราเรียนรู้และได้คำตอบคร่าวว่าศักยภาพของตำบลกลายคือการเกษตรและพบว่าหากจะพัฒนาตำบลกลายจะต้อง....พัฒนาภายใต้ศักยภาพของชาวกลาย.....
     การพัฒนาภายใต้ศักยภาพเดิมของชาวกลายคือการพัฒนาที่ต่อเนื่องจากอาชีพเดิม  ภายใต้การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดมุ่งหมายสู่สังคมกลายอยู่เย็นเป็นสุข  การพัฒนาภายใต้ศักยภาพจะต้องเป็นการพัฒนาที่เพิ่มมูลค่าหรือคุณค่าของการผลิตและจะต้องไม่ทำลายปัจจัยการผลิตจนสูญเสียความสามารถในการผลิตเดิมที่มีอยู่ ซึ่งนั่นหมายความว่าคนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะต้องได้รับประโยชน์จากการพัฒนาภายใต้อาชีพเดิม
       อาชีพเดิมของชาวกลายคือการทำเกษตรเป็นหลัก จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่า ราษฎรประมาณ 70% ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม โดยเรียงลำดับดังนี้ การทำนา ทำสวนมะพร้าว ทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้ และปลูกพืชผัก รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้างและค้าขาย การปศุสัตว์ ราษฎรส่วนใหญ่เลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริมเกือบทุกครัวเรือน โดยเลี้ยงไว้สำหรับบริโภคและจำหน่าย เช่น โคพันธุ์พื้นเมือง สุกร ไก่พันธุ์เนื้อและพันธุ์พื้นเมือง
      สำหรับการประมง ราษฎรที่อยู่ติดกับชายฝั่ง  จะทำการประกอบอาชีพการประมงและมีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำและปลาน้ำจืด  ซึ่งสามารถทำรายได้ให้กับราษฎรเป็นอย่างดี
      จากข้อมูลจะพบว่าทั้งอาชีพหลักและอาชีพรองของชาวกลายเป็นอาชีพด้านการเกษตรทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนั่นหมายความว่าจะต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ หากสูญเสียปัจจัยการผลิตหรือปัจจัยการผลิตเหล่านั้นเสื่อมประสิทธิภาพลงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของสมาชิกในชุมชน ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ ปัญหาครอบครัวและความสัมพันธ์ทางสังคมตามมา 
       การพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตขั้นต้นจะไม่ทำลายของเดิม... เป็นการเพิ่มศักยภาพปัจจัยการผลิตและแปรรูปผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการเกษตรเพื่อนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต  และที่สำคัญคือการพัฒนาดังกล่าวคนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของตำบลกลายจะได้รับประโยชน์ การพัฒนาปัจจัยการผลิตให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นการเพิ่มผลลิตเบื้องต้น หลังจากนั้นหากจะมีการพัฒนาต่อต้องดำเนินการภายใต้การพัฒนาที่คนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์
        การพัฒนาดังกล่าวจึงหมายถึงการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร  ประมง เป็นหลัก ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจะต้องเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตที่เกิดขึ้น  ซึ่งหมายถึงคนส่วนใหญ่ในตำบลกลายจะได้รับประโยชน์  โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม
ทางเลือกการพัฒนาตามศักยภาพของท้องถิ่นจึงของชาวกลายจึงควร....
    ๑.เป็นทางเลือกที่ไม่ทำลายศักยภาพของปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรซึ่งเป็นฐานอาชีพของคนส่วนใหญ่     
    ๒.เป็นการพัฒนาที่เพิ่มมูลค่าการเกษตรซึ่งทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการผลิตของตัวเอง
    ๓.สามารถออกแบบให้เป็นการพัฒนาภายใต้การรักษาสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน 
         ถึงวันนี้เราก็ไม่รู้ว่าวิธีของชาวบ้านยังจะมีเสียงขึ้นมาบ้างหรือเปล่า...เพียงแต่ทุกคนยืนหยัดเพื่อบ้านเกิดไม่ถอยและที่สำคัญชาวบ้านมีความพยายามแล้วที่จะทำตามกระบวนการทางวิชาการและกฎหมาย...บริษัทละ??????
 
หมายเลขบันทึก: 355372เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท