แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1)


มาตรา 5 ให้ผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน แจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

ถ้าผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งมีหน้าที่แจ้งการครอบครองที่ดิน ไม่ แจ้งภายในระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในวรรคแรก ให้ถือว่าบุคคลนั้นเจตนาสละสิทธิ ครอบครองที่ดิน รัฐมีอำนาจจัดที่ดินดังกล่าวตามบทแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เว้นแต่ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้มีคำสั่งผ่อนผันให้เป็นการเฉพาะราย[1]  

การแจ้งการครอบครองตามความในมาตรานี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่ประการใด

บทบัญญัติมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 เป็นเรื่องให้เจ้าของที่ดินแจ้งการครอบครอง ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1. ต้องเป็นผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ คือ ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2497 ความหมายของคำว่า “ครอบครองและทำประโยชน์” คือ จะต้องเข้าครอบครองและทำประโยชน์ให้เห็นถึงกิจการที่ทำ เช่น เข้าครอบครองที่ดิน และทำสวน ทำนา ทำไร่ อันเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ กรณีที่บุคคลใดเข้ายึดถือที่ดินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน บุคคลนั้นย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 เช่น การเข้าครอบครองแสดงความเป็นเจ้าของ จัดทำอาณาบริเวณ ปักป้าย สร้างรั้ว แต่หากมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นเช่นนี้ก็เข้าข่ายที่จะต้องมาแจ้งการครอบครอง เพราะผู้ที่ต้องแจ้งการครอบครองนั้น ต้องเป็นผู้ที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นจริงๆ และต้องก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับและ “สิทธิครอบครอง” ในที่นี้มุ่งถึงการสิทธิในฐานะเป็นเจ้าของ หากมิใช่มีความเป็นเจ้าของ เช่น ลูกจ้างบริวาร ผู้อยู่อาศัย ผู้เช่า หรือในฐานะครอบครองแทน หรือเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น ก็ไม่เข้าข่ายที่จะแจ้งการครอบครองเพราะไม่ใช่ “เจ้าของ”

2. ที่ดินที่ครอบครองและทำประโยชน์นั้น ต้องเป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ คือหมายความว่า ที่ดินนั้นยังไม่มีโฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง หรือตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หมายความว่า ถ้าบุคคลใดครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยไม่มีหนังสือสำคัญชนิดใดชนิดหนึ่ง ใน 3 ชนิดนี้ ถึงแม้ว่าจะมีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินอย่างอื่น เช่น ตราจอง ใบเหยียบย่ำ เป็นต้น ก็มีหน้าที่ที่จะต้องมาแจ้งการครอบครอง

3. ผู้มีหน้าที่แจ้งการครอบครองจะต้องแจ้งการครอบครองต่อนายอำเภอหรือ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่

4. การแจ้งการครอบครองนั้น ต้องแจ้งภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ คือ นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2497 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2498 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ทางราชการจะรับแจ้งการ ครอบครองตามวรรคแรกของมาตรา 5 ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีหลักเกณฑ์คือการแจ้งการครอบครองที่ดิน (แบบ ส.ค. 1) ซึ่งมีแจกให้กับเจ้าของที่ดินและในการแจ้งนั้น ต้องให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่นั้น ๆ รับรองข้อความว่าถูกต้องตามความจริงด้วย

แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เป็นเพียงใบแจ้งที่พนักงานเจ้าหน้าที่ลงเลขไว้เป็นหลักฐานว่าได้รับแจ้งการครอบครองที่ดินแล้วเท่านั้น ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินแต่ประการใด

คำพิพากษาฎีกาที่ 890/2508 วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า การแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1) เป็นเอกสารที่ผู้ครอบครองที่ดินยื่นต่อเจ้าพนักงาน เพื่อแสดงว่ามีที่ดินอยู่ในความครอบครองของตนก่อนวันใช้บังคับประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ใช่เอกสารที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้น การที่เจ้าพนักงานลงเลขรับ ลงชื่อกำกับและประทับตราเป็นการแสดงให้เห็นเพียงว่าเอกสารนี้ผ่านเจ้าพนักงานแล้วเท่านั้น ไม่ทำให้หนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ผู้แจ้งทำกลายเป็นหนังสือที่เจ้าพนักงานทำไปได้และไม่มีข้อความหรือความหมายเป็นการรับรองหนังสือแจ้งการครอบที่ดินตามแบบแต่อย่างใด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แจ้งการครอบครองที่ดินตามแบบ ส.ค. 1 ต่อนายอำเภอท้องที่โดยมีกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านรับรองว่าข้อความถูกต้องตามความเป็นจริงนั้นเป็นเพียงประกาศแจ้งให้ผู้ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินก่อนวันใช้บังคับประมวลกฎหมายที่ดินไปแจ้งการครอบครองตามหลักเกณฑ์วิธีการให้ผู้แจ้งการครอบครองที่ดินปฏิบัติส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เป็นการประกาศกำหนดหน้าที่ของกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน การที่กำนันผู้ใหญ่บ้านเซ็นชื่อรับรองในหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ

 


[1] มาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ได้ถูกยกเลิกโดย ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2515 มีผลใช้บังคับวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2515. 

 

หมายเลขบันทึก: 354646เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2010 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณค่ะที่แบ่งปันสาระประโยชน์

สวัสดีค่ะ

  • หังจากไปแจ้งสิทธิการครอบครองแล้ว
  • ต่อไปเราต้องทำอย่างไรต่อไป
  • เพราะที่ทำการเขาบอกว่าหลังพฤษภาคม ต้องไปติดต่ออีกครั้ง
  • ที่ดินเป็นสค.1 ชื่อแม่แต่จะมอบให้หลานชาย (ลูกพี่ชาย)
  • เราสามารถเปลี่ยนชื่อตอนทำโฉนดได้เลยหรือเปล่าค่ะ?
  • ตอนนี้เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้แม่กับหลานชายอยู่
  • ตอบผิดบ้างถูกบ้าง  555555   ผิดได้เป็นครูค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีครับ

การขอออกโฉนดที่ดินหรือนส.3 ออกได้ สองวิธี คือ

1.เมื่อรัฐประกาศให้มีการออกโฉนดทั้งตำบล หรือโดยวิธีเดินสำรวจ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 58 , 58 ทวิ

2. ขอออกโฉนดเป็นการเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 59 , 59 ทวิ

สค.1 ออกเป็นชื่อแม่ ไม่สามารถเปลี่ยนทางทะเบียนชื่อในสค.1 ได้ แต่เมื่อนำสค. 1ไปขอออกโฉนดหรือนส.3 สามารถเปลี่ยนชื่อในโฉนดหรือนส.3 เป็นชื่อเจ้าของที่แท้จริงได้ (เป็นชื่อหลาน)

กรณีแม่ยกให้หลาน(ลูกพี่ชาย) (ตอนนี้เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้แม่กับหลานชายอยู่ ) แสดงว่าคุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ หลานได้รับโอนโดยวิธีส่งมอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377,1378 หลานเป็นผู้ครอบครองต่อเนื่อง ซึ่งสามารถขอออกโฉนดหรือนส.3 ได้ทั้งสองวิธี

ขอบคุณที่เขามาแลกเปลี่ยนครับ

สวัสดีค่ะพอดีมีเรื่องอยากจะถามเรื่องที่ดิน ส.ค1 ที่ใด้ซื้อต่อมาจากเจ้าของเดิมแต่ไม่ใด้จดสัญญาซื้อขาย และตอนนี้ก็ใช้ที่ดินนั้นตังเป็นสถานปฎิบัติธรรมมาสิบกว่าปีตอนนี้เเม่ชีอาศัยอยู่ในวัดจู่เจ้าของที่ดินมาไล่ให้ออกและจะแจ้งความจับแม่ชีว่าบุกลุกพื้นที่อย่างนี้อยากทราบว่าจะต้องทำอย่างไร

สวัสดีครับ แม่ผมมีปัญหาเรืองทีดิน ซึ่ง แม่เป็นลูกคนโต พ่อขอแม่เสียแล้ว ยกให้ทีดินทังสองคนแบงกันแต่ น้องของแม่ไปทำหนังสือที่ดิน ส ค๑ โดยไม่บอกแม่ หนังสือทีดินนั้นใช้ประโยชได้ไม่ครับ แต่ที่ดินนั้นเป็นของแม่ทำประโยช ปลูกต้นกลัวยอยู่ นานมาแล้ว ครับ

สวัสดีครับ แม่ผมมีปัญหาเรืองทีดิน ซึ่ง แม่เป็นลูกคนโต พ่อขอแม่เสียแล้ว ยกให้ทีดินทังสองคนแบงกันแต่ น้องของแม่ไปทำหนังสือที่ดิน ส ค๑ โดยไม่บอกแม่ หนังสือทีดินนั้นใช้ประโยชได้ไม่ครับ แต่ที่ดินนั้นเป็นของแม่ทำประโยช ปลูกต้นกลัวยอยู่ นานมาแล้ว ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท