เด็กไทยเกิดใหม่เป็นโรคธาลัสซีเมีย


ธาลัสซีเมีย

สาธารณสุขระบุคนไทยมียีนทางพันธุกรรมที่เป็นพาหะโรคธาลัสซีเมียสูงถึงร้อยละ 30-40 หรือประมาณ 18-24 ล้านคน มีคนไทยทั่วประเทศป่วยที่ จำเป็นต้องถ่ายเลือด 600,000 ราย และมีเด็กเกิดใหม่เป็นโรคนี้เพิ่มวันละ 34 คน รัฐต้องสูญเสียค่ารักษาปีละกว่า 5,000 ล้านบาท แนะ การป้องกันดีที่สุดคือให้คู่สามีภรรยาตรวจเลือดก่อนมีลูก

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดสัมมนาวิชาการเรื่องโรคธาลัส ซีเมียแห่งชาติประจำปี 2547 มีกุมารแพทย์ แพทย์ทั่วไปทุกสาขา ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และนักวิชาการสาธารณสุขกว่า 400 คนร่วมประชุม เพื่อเป็นเวทีนำเสนอ ความรู้ใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย และนำเสนอผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียนำไปประยุกต์ใช้ในงานบริการต่อไป โดยนายอนุทิน กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปรกติของยีนที่เกี่ยวข้องในการสังเคราะห์ฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง และสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปถึงลูกได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีคนป่วยเป็นโรคดังกล่าวประมาณ 600,000 ราย จำเป็นต้องรับเลือดและกินยาขับเลือดเป็นประจำทุกเดือน ทำให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี จากการสำรวจของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง พบว่า มีผู้ที่มียีนผิดปรกติที่เป็นพาหะของโรค ซึ่งสามารถถ่ายทอดโรคสู่บุตรหลานได้ มีอัตราสูงถึงร้อยละ 30-40 ของประชากรไทยคือประมาณ 18-24 ล้านคน โดยการตั้งครรภ์ 5 ใน 100 คน เป็นการตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมีย คิดเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ที่เสี่ยง ปีละ 50,000 ครรภ์ ในจำนวนนี้ประมาณ 1 ใน 4 ของทารกจะเป็นโรคธาลัสซีเมีย ทั้งนี้แต่ละปีประเทศไทยจะมีทารก เกิดใหม่เป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ 12,125 คน หรือวันละ 34 คน ส่วนใหญ่จะพบในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า การแก้ไขปัญหาโรค ธาลัสซีเมีย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำยุทธศาสตร์แก้ไข โดยระดมความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนได้จัดทำแผนงานธาลัสซีเมียแห่งชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 4 แผน ได้แก่ 1. จัดระบบการส่งเสริม ป้องกัน ควบคุมโรค และการดูแลรักษา รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายธนาคารเลือดเพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาระบบการจัดการให้ครอบครัวหลีกเลี่ยงการมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย มอบให้กรมการแพทย์และกรมอนามัยดำเนินการ  2. พัฒนา ห้องปฏิบัติการด้านการตรวจวินิจฉัยโรคให้มีความแม่นยำ รวดเร็ว และครบวงจร มอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการ 3. การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโน โลยี เพื่อเป็นการสนับสนุน ป้องกัน และควบคุมโรค มอบ ให้กรมการแพทย์ร่วมกับโรงเรียนแพทย์ 4. การประเมินผลเพื่อสร้างความรู้ในการพัฒนางานให้เกิดประสิทธิภาพ มอบให้กรมอนามัย กรมการแพทย์ และกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ดำเนินการร่วมกัน 

ทั้งนี้ โรคธาลัสซีเมียป้องกันได้โดยการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนปรกติทั่วไป แต่ถ้าแต่งงานกับผู้ที่เป็นพาหะด้วยกันจะเสี่ยงต่อการมีลูกเป็นโรคนี้ แต่ถ้าแต่งงานกับคนปรกติจะไม่มีลูกเป็นโรคนี้ ดังนั้น จึงแนะนำให้คู่สมรสเตรียมความพร้อมก่อนมีลูก โดยตรวจเลือดเพื่อ ดูความผิดปรกติก่อน เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการมีลูกต่อไป

 

            แหล่งอ้างอิง สรรพสารวงการแพทย์

            http://www.thaihealth.or.th/news.php?id=1325
หมายเลขบันทึก: 35452เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2006 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท