พัฒนาคนให้เหมาะสมกับงาน (Human resource development for the right job...)


เมื่อก่อนตอนที่ผมรู้จักทฤษฎีการจัดคนให้เหมาสมกับงาน (Put the right man in the right job) ตามหลักการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management) ของบิดาทางการบริหารจัดการซึ่งเป็นชาวตะวันตกนั้น ผมก็คิดว่าทฤษฎีนั้นเจ๋งแล้ว ดีแล้ว แต่กว่าสามปีที่ผมได้มาอยู่ที่นี่ ผมได้เจอทฤษฎีที่ดีกว่า ล้ำหน้ากว่า เป็นหลักการ "พัฒนาคนเพื่อพัฒนางาน..."

หลักการ Put right man in the right job มีหลักการง่าย ๆ ว่า เขามีความสามารถอะไรก็ใส่เขาให้ทำงานตามความสามารถนั้น แต่หลักการ "พัฒนาคนเพื่อพัฒนางาน" ที่ผมกล่าวนี้คือ คนสักคนหนึ่งซึ่งไม่เคยมีสามารถกับงานนั้นมาก่อน แต่มีศักยภาพอยู่ภายใน ผู้บริหารที่เฉียบแหลมและทรงปัญญา สามารถพัฒนาศักยภาพที่ซ่อนอยู่นั้นให้สามารถพัฒนางานได้อย่างแท้จริง

เช่นเดียวที่ผมกล่าวไว้ในบันทึก AAR : วิชาชีวิต ที่ผมลองนึกย้อนกลับไปแล้วตั้งคำถามในใจแบบตรง ๆ ว่า "กูทำไปได้อย่างไงวะเนี่ย" คน ๆ หนึ่งที่ไม่เคยทำอะไรอย่างนี้เลย ไม่เคยเป็นกรรมกร ไม่เคยเป็นสัปเหร่อ แล้วอยู่ดี ๆ ถูกพัฒนาให้สามารถมาทำงานนี้ได้อย่างไร...?

ทฤษฎีเดิม คน ๆ นั้นจะต้องไปพัฒนาตัวเองมาก่อน แล้วโชว์ศักยภาพให้กับองค์กรหรือผู้บริหารเห็นไม่ว่าจะใน Portfolio ในใบปริญญา หรือแสดงให้เห็นในระหว่างการทดลองงาน เมื่อผู้บริหารเห็นศักยภาพแล้วจึงจัดคน ๆ นั้นให้เหมาะสมกับความถนัดดังกล่าว

แต่ต่างกับผม ที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย ทำงานก่อสร้างก็ไม่เป็น อยู่ดี ๆ ถูกจับมาพัฒนาให้คุมงาน ให้เป็นกรรมกรจนสามารถพัฒนางานตามศักยภาพที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้น ผมจึงรู้สึกว่าการพัฒนาคนแบบนี้ "เจ๋งกว่า"

การมีคนที่มีศักยภาพ 10 แต้ม ให้ไปทำงานที่มีคุณค่า 10 แต้ม อย่างนี้ถือว่าธรรมดา แต่การพัฒนาคนที่มีศักยภาพ 10 แต้มให้ไปทำงานใหม่ที่มีคุณค่า 20 แต้ม หรือ 30 แต้ม อันนี้ถือว่า "ไม่ธรรมดา"

มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก (Tacit Knowledge) ที่ผมกลับมานั่งย้อนคิดคำถามเดิม ๆ ว่า "เรา (กู) ทำไปได้อย่างไร...?" เกิดมาไม่เคยคิดว่าจะทำได้ กลัวผีก็กลัว สำอางค์ก็สำอางค์ อิฐ หิน ปูน ทราย อี๊ "สกปรก" แล้วไหงกลับมาเป็นอย่างนี้ได้วะเนี่ย...

อารมณ์นี้เป็นอารมณ์งง ๆ เมื่อได้ย้อนกลับไปดูย่างก้าวของตนเองที่สองเท้าและสองมือได้กระทำ สิ่งที่ไม่เคยคิด ไม่เคยฝันว่าจะทำได้ แต่มีบุคคลที่เหนือกว่า "ปุถุชน" พัฒนาเราให้ทำงานในสิ่งที่ไม่เคยคาดฝันให้ทำได้

สิ่งสำคัญอยู่ที่เราจะเปิดใจยอมรับการพัฒนานั้นหรือไม่...

บางคนปิดปั้นตัวเอง คิดว่าตัวเองเก่งแล้วบ้าง ติไม่ได้บ้าง อันนี้เป็นการปิดหนทางความก้าวหน้า

หรือในอีกทางหนึ่ง ก็คิดแต่ว่าตนเองโง่ ไร้ความสามารถ ไม่รู้อีกกี่ชาติจะทำได้ อันนี้ชีวิตก็ก้าวไปไม่ถึงไหนอีกทางหนึ่ง

แต่สำหรับผมไม่ได้คิดอะไร ท่านให้ทำอะไรผมก็ทำ ทำไปอย่างนั้นแหละ ท่านสั่งซ้ายก็ซ้าย ขวาก็ขวา ให้การบ้านมาก็ทำ ทำไปเรื่อย ท่านสั่งให้คิดก็คิด สั่งให้หยุดก็หยุด เมื่อนึกย้อนไปดี ๆ ทุกก้าวที่เดินหรือหยุดนั้นคือแนวทางการพัฒนาตนเองให้ก้าวมาได้ถึงวันนี้

คนหนึ่งคนทำอะไรเป็นแล้วจับให้ไปทำงานนั้นผู้บริหารก็มีความสามารถระดับหนึ่ง แต่คนที่ทำงานนั้นไม่เป็น ผู้บริหารสามารถพัฒนาเขาจนสามารถพัฒนางานได้สิ่งนี้ถือว่าเป็นการพัฒนาที่แท้จริง...

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

๒๗ เมษายน ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 354501เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2010 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ มาเรียนรู้การพัฒนาคนจาก 10 แต้ม เป็น 20 แต้ม...เจ๋งจริงๆ ค่ะ

ปล.  เห็นภาพตอนก่อสร้างวัดด้วยค่ะ   น้าอึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนมีแต่ต้นไม้ และพื้นดิน แต่ตอนนี้ สะอาดสวยงามเลยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ แนวคิดการพัฒนาคนเพื่อพัฒนางาน เมื่องานได้ผลคนก็เป็นสุข คนทำงาน องค์การ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายก็ได้ประโยชน์ แต่ปัญหาที่สำคัญของเรื่องนี้ คือ เราจะเปิดใจให้คนทำงานยอมรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ได้โดยง่าย และมีทัศนคติที่ดีกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ถ้าองค์การใดจัดการกับสิ่งนี้ได้ ถือว่าเป็นองค์การที่เจ๋งจริงค่ะ

มะลิค่ะ

น่าปลื้มใจ (แม้จะไม่รู้ที่มาที่ไปก็ตาม) ผ่านข้อความที่อาจารย์เขียนประกอบรูปภาพ

เรื่องของการพัฒนาตนนั้น ผู้ที่จะพัฒนาคนต้องเข้าใจวิถีชีวิตแห่งความเป็นคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจริตนิสัยของแต่ละคน

คนเราเดี๋ยวนี้มักเข้าใจคนว่าทุก ๆ คนนั้นเหมือนกัน บางคนไปร่ำไปเรียนมาสูง จบปริญญาเอก จบ ดร. ก็เข้าใจว่าสิ่งที่เรียนมานั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสุ่ม การทดลองจากคน ๆ หนึ่ง หรือเป็น Tacit Knowledge ของคน ๆ หนึ่งที่เผอิญได้รับประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อม ณ ตรงนั้น แล้วนำมาเขียนหนังสือ เขียนบทความ ทำเป็นบทความวิชาการเพื่อ "พัฒนาคน"

นักวิชาการรุ่นต่อ ๆ มาเมื่อไปอ่านเจอ ก็คิดว่า อื่ม!!! นี้แหละ หลักการพัฒนาคน จึงลอกเอามาใช้ทั้งดุ้น แต่ขาดความยืดหยุ่น (Flexibility) ที่จะปรับใช้ให้ "เหมาะสม" กับจริตนิสัยของแต่ละคน

เรื่องที่จะนำหลักการใดไปใช้กับคนใดนี้ คนที่จะนำไปพัฒนาจะต้องเข้าใจจริตนิสัยของคนอย่างแท้จริง

คนเราเดี๋ยวนี้มักเข้าใจว่าถ้าเราจะสามารถเข้าใจนิสัยคนได้นั้นก็ต้องไปศึกษาให้มาก ศึกษาคนให้เยอะ แต่ที่จริงแล้วการศึกษาจิตใจคนนั้นก็เปรียบเสมือนการศึกษา "ใบไม้ในกำมือ" นี้แหละ ถ้าเราสามารถศึกษาและเข้าใจจิตใจของตนเองได้ เราก็สามารถเข้าใจถึงความเป็นมาและเป็นไปในจิตใจของผู้อื่นได้

นักวิชาการเดี๋ยวนี้มองออกไปข้างนอกมาก แต่หลงลืมการมองกลับมาที่จิตใจของตนเอง เข้ามาศึกษาจิตใจของตนเองอย่างถ่องแท้

ดังนั้นหลักการของคนที่คิดว่าจะไปพัฒนาคนอื่นนั้น ก็คือต้องพัฒนาตนเองให้ได้ ต้องศึกษา วิเคราะห์ และจัดการกับจิตใจและวิถีชีวิตของตนเองให้ได้ก่อน ถ้าศึกษาจิตใจของตนเองอย่างถ่องแท้แล้ว จัดการกับจิตใจของตนเองได้แล้วอย่างอยู่หมัด เราจะได้หลักการที่เด่นชัดในการที่จะนำไปใช้กับทุก ๆ คน...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท