การคิดเป็นสามารถสร้าง..เรียนรู้..ฝึกฝน..และพัฒนาได้


การศึกษาคือหัวใจของการดำรงอยู่ของมวลมนุษย์

ปัจจุบันสังคมไทยเกิดปัญหาว่า บุคคลมักหลงเชื่อง่ายๆ ถูกหลอกง่ายๆ คลั่งไคล้ลุ่มหลงง่ายๆ กับสิ่งที่เทคโนโลยี สมัยใหม่นำมาเสนอ หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือบางคน อาทิ ผู้อาวุโส นักวิชาการ นักการเมือง และหนังสือพิมพ์ที่นำมาเสนอ ซึ่งบางครั้งหลงเชื่อในเรื่องโชคชะตา หรือบางครั้งก็คิดไปเอง เป็นต้น ทั้งนี้เหตุเกิดเพราะบุคคลเหล่านั้นมักจะใช้การฟัง การอ่าน เพื่อรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ แล้วเกิดการลอกเลียนแบบ กระทำตามแบบอย่าง โดยขาดกระบวนการคิดเป็น ขาดความยั้งคิด ขาดการคิดอย่างพินิจพิจารณา และขาดการคิดอย่างไตร่ตรอง ว่าสิ่งที่กระทำหรือที่จะกระทำอยู่นั้น มีความเหมาะสม สมควรหรือไม่สมควรกระทำอย่างไร มีความเหมาะสมกับกาลเทศะและสถานการณ์ที่เป็นอยู่หรือไม่อย่างไร

การคิดเป็น หมายถึง ความสามารถในการรับมือและตอบสนองกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ในรูปแบบต่างๆ หรือการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งเร้าที่เกิดจากภายนอก การคิดเป็นนับเป็นทักษะพื้นฐานของมนุษย์ที่สามารถสร้าง เรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาได้โดยการคิดเป็นเป็นกระบวนการการทำงานของสมองซึ่งเป็นศูนย์กลางในการนำสัญญาณที่ได้รับรู้ จากประสาทสัมผัสทั้งห้า นำมาประมวลผล วิเคราะห์ แปลความ ตีความ และพินิจพิจารณา เพื่อดำเนินการตอบสนองและการตัดสินใจนั่นเองการคิดเป็น สำคัญสำหรับมนุษย์เพราะทำให้มนุษย์สามารถแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนมาจนทุกวันนี้ ในการสร้างกระบวนการคิดเป็นให้เกิดขึ้นกับบุคคลถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะการคิดเป็นสามารถทำให้บุคคลเกิดความตระหนักและไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะลงมือกระทำการใดๆ กระบวน

การคิดเป็น สามารถทำให้บุคคลเกิดความคิดต่อยอด ความคิดแตกฉานในเรื่องที่ผ่านเข้ามา การคิดเป็นช่วยให้ประชาชนสามารถเผชิญกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆสามารถพัฒนาทักษะการปรับตัวได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ การคิดเป็น เป็นเสมือนภูมิคุ้มกันในการป้องกันตนเองจากสิ่งที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายและทำ ให้บุคคลสามารถเลือกสรรสิ่งที่เหมาะสมให้กับตนเองได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน การคิดเป็นสามารถสร้างเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาได้ ด้วยบุคคลมีกระบวนการคิดที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างเหตุและผล สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่าได้ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรอย่างไร ทำให้บุคคลสามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นระบบการคิดที่ซับซ้อนและเป็นพื้นฐานการคิดขั้นสูงนั่นเอง ดังนั้น การพัฒนาให้บุคลากรในองค์กรประชาชนในประเทศ เยาวชนอันเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของชาติให้เกิดทักษะความชำนาญและเชี่ยวชาญในการคิดเป็น ดังนั้นนโยบายขององค์กร ของประเทศ และของชาตินั้นๆ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างบรรยากาศ สร้างกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการฝึกฝน และกระบวนการพัฒนาเพื่อให้เกิดการคิดเป็นด้วยการคิดทั้ง 10 มิติ ดังนี้

มิติการคิดเชิงวิพากษ์ คือ ทักษะการคิดอย่างตั้งใจที่จะพิจารณาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยการไม่เห็นคล้อยตามข้ออ้างๆ กลับตั้งคำถามที่ท้าทายหรือโต้แย้งข้ออ้างนั้นๆ เพื่อเปิดแนวทางความคิดใหม่ๆ ออกสู่ทางที่แตกต่าง อันนำไปสู่การแสวงหาคำตอบที่สมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น

มิติการคิดเชิงสังเคราะห์ คือ กระบวนการคิดเรียบเรียง จัดรวมเนื้อหาที่ได้จากการวิเคราะห์ และจากกระบวนการการใช้เหตุผลมาใช้เป็นหลักในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในการแก้ปัญหา หรือเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งเป็นความสามารถในการผสมผสาน

มิติการคิดเชิงวิเคราะห์ คือ ความสามารถในการจำแนกแจกแจงองค์ประกอบต่างๆ การหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล และการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการให้น้ำหนักในเรื่องความสามารถในการใช้เหตุผล การจำแนกแจกแจง การตีความข้อมูลที่ได้รับ

มิติการคิดเชิงเปรียบเทียบ คือ ความสามารถในการพิจารณาเทียบเคียงความเหมือนและความแตกต่างระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่นๆ รวมทั้งความสามารถในการเปรียบเปรยสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ ตอบสนองเป้าหมายที่ต้องการ

มิติความคิดเชิงมโนทัศน์ คือ ความคิดรวบยอด หรือการสร้างกรอบความคิดของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้ที่สามารถคิดเชิงมโนทัศน์ได้ดี จะเป็นผู้ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และสามารถนำแนวความคิดไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างดีอีกด้วย

การคิดเชิงสร้างสรรค์ คือ การขยายขอบเขตความคิดออกไปจากกรอบความคิดเดิมๆ สู่แนวความคิดใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน เพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น มิติการคิดเชิงประยุกต์ คือ ความสามารถในการนำเอาสิ่งที่มี อยู่เดิมไปปรับใช้ในบริบทใหม่ๆ ได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล แต่ยังคงหลักการของแนวทางเดิมไว้

มิติการคิดเชิงกลยุทธ์ คือ การคิดอย่างรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงปัจจัยทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้

อย่างดี หรือมีประสิทธิภาพสูงสุดในความจำกัดที่มีอยู่

มิติการคิดเชิงบูรณาการ คือ ความสามารถในการเชื่อมโยงแนวคิดที่แยกเป็นส่วนๆ ให้เข้ากับเรื่องที่เป็นแกนหลักได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เรื่องที่เป็นแกนหลักนั้นมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการมองภาพรวมและการใช้สหวิทยาการ หรือการใช้ศาสตร์แขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมในการคิดเพื่อทำให้เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด

มิติการคิดเชิงอนาคต คือความสามารถในการคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมีเหตุมีผล มีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมปัจจุบันโลกของเราแคบลงตลอดเวลา ดังนั้นบุคลากรขององค์กร ประชาชนของประเทศ และเยาวชนของชาติ ต้องพยายามเร่งปรับตัวเองให้ทันกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการปรับตัวที่ดี มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น คือ การพัฒนากระบวนการคิดเป็นของตนเอง จากหลักการคิดทั้ง 10 มิติข้างต้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสิ่งเร้าใหม่จากภายนอกที่จะเกิดขึ้นอย่างมีจุดยืน มีเหตุมีผล และเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีกลยุทธ์ และมีอนาคต ที่ได้มีการเตรียมการไว้อย่างรอบคอบและมีความสุขอย่างยั่งยืนสืบไป

หมายเหตุ ข้อมูลจาก นายศรดิษฐ ชื่นชูศักดิ์ แผนกสื่อประชาสัมพันธ์ กองประสานสื่อสารองค์การสายงานผลิตไฟฟ้า ฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 354496เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2010 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะคุณ นายรักษ์

การคิดเป็น เป็นสิ่งสำคัญ เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนา ในระดับเล็กๆถึงใหญ่

ก่อนอื่น ควรเปิดใจ ใคร่ครวญ คิดอย่างรอบคอบ รอบด้าน .. ก็ยังต้องฝึกค่ะ

แบบพูดง่าย แต่ทำต้องฝึกฝน ใช่ไหมคะ ... ขอบคุณบันทึกดีๆ จากใจจริงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท