6 วิธี แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ


ประเทศไทย นี้รักสงบ

ข่าวชุมนุมประท้วงทางการเมืองติดต่อกัน มานาน ทำให้มีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกันนี้ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างไรเป็นอีกคำถามหนึ่งที่หลายคนกำลังครุ่นคิด

 ภิกษุธรรมทูต หรือภิกษุฟับคำ จากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส กล่าวปาฐกถาธรรม "สู่สังคมอันสมดุล" ว่า เราสามารถนำความสงบสันติมาสู่สังคมได้ ด้วยการสร้างสันติภาวะในใจของเรา และนำหลักคำสอนของพุทธองค์เกี่ยวกับ 6 วิธีแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนสมานฉันท์มาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งยังนำมาปรับใช้ได้ ในครอบครัว ที่ทำงาน และสังคม 6 วิธีนั้นประกอบด้วย

 1.ตระหนักว่าเราอยู่ร่วมในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ภายใต้หลังคาเดียวกัน ในสังฆะแห่งการปฏิบัติ หรือพุทธบริษัท 4 ดังที่เห็นในสังฆะของหมู่บ้าน พลัมซึ่งมีพระจากหลายชาติ แต่ทั้งหมดก็มีวิถีชีวิตร่วมกันได้ เพราะอยู่ใต้หลังคาแห่งอุดมคติเดียวกัน ในปัจจุบันคนไทยทุกคนล้วนอยากให้ประเทศมีความสงบสันติ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ทุกคนรู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนฐานไฟร้อน และอยากให้สถานการณ์สงบเร็วที่สุด นี่คือความหมายที่หนึ่งของการมีสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน

 2. แลกเปลี่ยนสิ่งของ สิ่งที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน ในการดำรงชีวิตอยู่เราจำเป็นต้องมีปัจจัยสี่ ในขณะที่มีความแตกต่างทางฐานะกันอยู่มาก เราจึงไม่ควรแบ่งแยกคนรวยและคนจน แต่มองว่าทุกคนเป็นสมาชิกของสังคม ทุกคนควรได้รับปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้

3. เคารพกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน เพราะจะทำให้อยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย อาจเรียกสิ่งนี้ว่า ศีล หรือ วินัย นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะอาวุโสมากหรือน้อย เราควรปฏิบัติตามข้อบังคับนั้น

4 .การใช้วาจาแห่งความรักความเมตตา มีคำกล่าวว่า "คำพูดเป็นสิ่งที่ไม่ต้องซื้อหา เราต้องใช้คำพูดอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่เป็นการทำร้ายใคร" หลวงพี่แนะนำว่าก่อนที่จะพูด ขอให้ลองตามลมหายใจสามครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่ได้พูดขณะที่กำลังโกรธ ซึ่งหัวใจจะเต้นแรง ใบหน้าและหูของเราแดง ให้ตามลมหายใจจนหัวใจสงบลง และใบหน้าเป็นปกติ แล้วจึงค่อยพูดออกไป

5. การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อกันและกัน เมื่อมองไปในปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่ง คนสองคนอาจเห็นไม่เหมือนกัน การอยู่ร่วมกันในสังคมย่อมมีความคิดที่ต่างกัน ฉะนั้นการแลกเปลี่ยนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

6. การยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น ไม่บังคับข่มขู่ให้ผู้อื่นคิดตามเรา และมีการตัดสินใจร่วมกัน บางความเห็นสามารถพูดคุยในเวลาไม่นาน บางความเห็นจำเป็นต้องพูดคุยกันหลายเดือน เมื่อเราฟังความเห็น และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยน เมื่อมีการตัดสินใจเกิดขึ้น คนที่มีความคิดเห็นต่างออกไปย่อมมีความสุข เพราะเขาได้แสดงความคิดเห็นและรับฟังความเห็นของผู้อื่น

ด้วย 6 วิธีที่กล่าวมานั้น คงจะมีส่วนให้เราได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติต่อไปในสถานการณ์ปัจจุบัน อย่าลืมว่า "ความสงบสันติในตัวเรา คือ ความสงบสันติในโลก"

หมายเหตุ ข้อมูลจาก http://www.thairath.co.th/news

หมายเลขบันทึก: 354304เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2010 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท