Learning Organization : Conflict Mangement VS การปล่อยวางแบบ "ควาย..."


ในช่วงกลางปีของพุทธศักราช ๒๕๕๐ ผมมีโอกาสเดินทางไปพักที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองคาย

ก่อนเดินทางผมมีความตื่นเต้นและดีใจมากที่จะได้เดินทางไกล ๆ ไปเปิดหู เปิดตา แต่เมื่อได้เดินทางไปถึงแล้ว มีชีวิตอยู่ในวัดแห่งแล้วกลับไม่เป็นอย่างที่หวังและตั้งใจ

เพราะทุกย่างก้าวทุกผมอยู่ในวัดแห่งนั้น เดินไปที่ไหนใคร ๆ ก็คอยจะว่า คอยแต่จับผิด ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกันเลย ไม่เคยเห็นหน้าคร่าตากันมาก่อน เดินสวนกัน สายตาเขาก็จับจ้องดูเราว่าเราทำอะไรผิดบ้าง และที่สำคัญเขาก็หาเจอจนได้

ที่สำคัญกว่านั้น เขาไม่รีรอที่จะตักเตือนเรา ท่านทำอย่างนี้ผิด ท่านทำอย่างนี้ไม่ดี ต้องทำอย่างนี้ ถ้าดีต้องทำอย่างนั้น ในใจตอนนั้นเรารู้สึกเบื่อมากจนในใจต้องคิดสบถออกมาว่า "จะเอากันนักกันหนาวะเนี่ย"

ครั้งหนึ่งผมเคยเดินกับเพื่อนไปสามคน เรียงหน้ากระดานกันไปเลย พอเริ่มต้นสตาร์ทการเดินไปได้หน่อย เพื่อนคนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า "ครั้งนี้ใครจะซวย" คือ ใครจะโดนคนแถวนั้นด่าหรือตักเตือนบ้าง

ตอนนั้นผมคิดอย่างนั้นจริง ๆ ว่า "ซวยแท้" ทำไมต้องมาที่นี่ด้วย มีแต่คนคอยจับผิด กระดิกกระเดี้ยตัวอะไรก็ไม่ได้ แต่มาวันนี้ผมนึกย้อนกลับไปถึงสภาพบรรยากาศที่ผมดำรงชีวิตอยู่ในที่นั้นแม้นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ 2 คืน สาม 3 แต่เป็นคืนวันที่มีคุณค่าอย่างยิ่งของชีวิต เพราะก่อนที่จะไปไหน ก่อนที่จะทำอะไร ผมต้องสำรวจตัวเองทุกกระเบียดนิ้ว อันไหนไม่ถูก แก้ให้ถูก อันไหนผิดต้องรีบปรับปรุง...

สิ่งที่เขาตักเตือนทุกคำ ผมน้อมนำมาใช้ได้กับชีวิตกว่า 3 ปี สิ่งที่เคยไม่รู้ก็ได้รู้ ว่า อ้อ! ที่ถูกต้องมันเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ดีงามเขาทำกันเช่นนี้ สิ่งที่เขาบอกเขาเตือนเรานี้นั่นแหละคือคำนิยามของคำว่า "กัลยาณมิตร" ที่แท้จริง

กัลยาณมิตร คือ บุคคลผู้ประเสริฐ บริสุทธิ์และสิ้นสุดแห่งความเห็นแก่ตัว...

ผู้ที่บอกเตือนเราในวันนั้น เขาไม่เห็นแก่ตัวว่าถ้าเขาบอกหรือเตือนเราแล้ว เราจะเกลียดเขา ไม่ชอบขี้หน้าเขา เขาเพียงตั้งใจให้บริสุทธิ์ว่าเราเตือนกันฉันมิตร คนที่ไม่บอกไม่เตือนกันต่างหากที่ไม่ใช่เป็น "มิตรแท้"

และในช่วงนี้ ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๓ เป็นต้นมา เราก็ได้เห็นบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง บรรยากาศแบบ "ช่างหัวมัน" จะทำอะไรก็ทำ "เรื่องของมึง" ไม่มีการบอก การเตือนกัน ช่วงชีวิตกว่า ๔ เดือนนี้นั้นทำให้เรารู้ซึ้งของคำอีกคำหนึ่งที่ว่า "การปล่อยวางแบบควาย"

ปล่อยวางไปเรื่อย เห็นใครทำอะไรผิดก็เฉย ไม่บอก ไม่กล่าว ไม่ใช่ธุระ

ถ้าให้ผมเลือก ผมขอไปอยู่ในสภาพที่มีมิตรของตัก คอยเตือนกันดีกว่า เพราะการปล่อยชีวิตให้อยู่เฉย ๆ เรียบง่าย เรื่อยเปื่อย ไม่ใช่หนทางแห่งการพัฒนาตนเองเลย

อย่างเช่นที่ท่านอาจารย์หมอ JJ (รศ.นพ.จิตเจริญ ไชยาคำ) ได้เคยกล่าวไว้ในบันทึกนี้Learning Organization : Conflict Management. ว่า การบริหารความขัดแย้ง จะใช้ได้ต่อเมื่อ จิตใจคนนั้น บริสุทธิ์ หลุดจาก เรื่อง ส่วนตัว คนที่บอกและเตือนกันด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ย่อมเป็นคนที่บริหารความขัดแย้งให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

ในสังคมเราทุกวันนี้เราปล่อยวางกันเยอะ ไม่สนใจกัน ไม่สนใจใคร ใครจะเป็น ใครจะตายก็ "ช่างหัวมัน"

สังคมเราทุกวันนี้ขาดมิตรแท้ องค์กรหลายองค์กรขาดมิตรที่มีความเป็น "กัลยาณมิตร"  หลาย ๆ คนในองค์กรปล่อยวาง ปล่อยไหลเรื่อยไปตามน้ำ อะไรอะไรก็ดีหมด อย่าไปขวางเขา เรารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

ชีวิตของคนในองค์กรที่เรื่อยเปื่อย เฉื่อยแฉะไม่สามารถทำให้ชีวิตเขาแข็งแรงและมั่นคงได้ฉันใด องค์กรที่มีคนปล่อยวางมาก ๆ ก็ไม่สามารถเจริญและก้าวหน้าไปได้ไกลได้ฉันนั้น

องค์ใดมีบุคคลที่เสียสละสร้างและปั่นเกลียวความรู้จากพลังของความขัดแย้งได้มาก องค์กรนั้นจะสามารถเดินก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง สามารถยืนทะนงต่อสู้กับลมพายุจากทั่วสารทิศ

นักกีฬาฝึกซ้อมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายตัวเองฉันใด ความขัดแย้งย่อมสร้างความแข็งแกร่งให้กับจิตใจได้ฉันนั้น...

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

๒๖ เมษายน ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 354100เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2010 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท