กองทุนสวัสดิการชุมชนและระบบความสัมพันธ์การจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ


กองทุนสวัสดิการชุมชนและระบบความสัมพันธ์การจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ

  

ภาพรวมผลการดำเนินการสวัสดิการชุมชนและนโยบายสำคัญ

                    ผลการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนโดยเครือข่ายสวัสดิการชุมชนช่วงที่ผานมา  สามารถรวบรวมข้อมูลรายชื่อรายชื่อกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีการจัดตั้งแล้ว 3,154 กองทุน โดยแบ่งเป็นกองทุนที่มีข้อมูลชัดเจนแล้วทั้งสิ้น 2,990 กองทุน  ครอบคลุม 21,795 หมู่บ้าน  การกระจายตัวกองทุนส่วนใหญ่อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 974 กองทุน หรือร้อยละ 32.6  รองมาคือภาคเหนือ 619 กองทุน หรือร้อยละ 20.7 ภาคใต้ 512 กองทุน หรือร้อยละ 17.12 แต่เมื่อเทียบจากฐานสมาชิกแล้ว จำนวนสมาชิกภาคใต้มีความใกล้เคียงกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนสมาชิกกองทุนจากทุกภาครวม 1,044,318 ราย  เงินกองทุนที่เป็นเงินทุนชุมชนรวม 617.72 ล้านบาท โดยรวมถือเป็นร้อยละ 73 ส่วนเงินสมทบที่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน 163.67 ล้านบาท หรือร้อยละ 20 เงินสมทบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 35.77 ล้านบาท หรือร้อยละ 4 และเงินจากแหล่งอื่นๆ          23.17 ล้านบาท หรือร้อยละ 3 สมาชิกที่ได้รับสวัสดิการโดยตรงแล้ว 17,331 ราย เป็นสมาชิกทั้วไป 14,863 ราย เด็กคนชราและผู้พิการ/ผู้ด้อยโอกาส 2,468 ราย (ข้อมูลสมาชิก เงินกองทุน และผู้รับสวัสดิการบางกลุ่มยังไม่ได้ปรับให้เป็นปัจจุบัน)[1]

            โดยการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนนับเป็นจุดสำคัญของการพัฒนาจากฐานราก ดังนโยบายที่ปรากฏเด่นชัด ในปี พ.ศ. 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์         (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) ได้จัดตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นระดับชาติ คณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นระดับจังหวัดทุกจังหวัด และรัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนขยายการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล และสมทบงบประมาณในการจัดสวัสดิการชุมชน ทำให้เกิดกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลขึ้นประมาณ 3,000 ตำบล การดำเนินการของกองทุนมีการจัดสวัสดิการสำหรับสมาชิกและผู้ยากลำบากในชุมชน ครอบคลุมตั้งแต่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยให้เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันและความพร้อมของแต่ละกองทุน ซึ่งคุณค่าสำคัญที่ได้จากการจัดสวัสดิการชุมชนคือการทำให้เกิดความรัก ความสมานฉันท์ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน ฟื้นฟูระบบคุณค่าเดิมของสังคมไทย การทำงานร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น เกิดเป็นเครือข่ายสวัสดิการชุมชนในระดับจังหวัดและระดับชาติที่มีบทบาทสำคัญในการขยายการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ใหม่และพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่เดิม

        นอกจากนี้ในรัฐบาลปัจจุบัน ขบวนองค์กรชุมชนได้เสนอการจัดสวัสดิการชุมชนต่อนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2552 ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและยืนยันนโยบายสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน โดยจะพิจารณางบประมาณสนับสนุนในปี พ.ศ. 2553 ในหลักการสมทบ 1:1:1 (ชุมชน : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : รัฐบาล) และได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนภายใต้คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนาโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน ซึ่งในเวลาต่อมาผลของการจัดสัมมนาขบวนองค์กรสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศที่จังหวัดสงขลา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในปี พ.ศ. 2553 สนับสนุนจำนวน 727.3 ล้านบาท และแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาการจัดสวัสดิการชุมชนในระดับชาติโดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้เกิดกลไกการทำงานสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนขึ้น โดยในระดับจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนเป็นประธานคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัด และให้ผู้นำองค์กรสวัสดิการชุมชนเป็นรองประธาน ผู้นำสวัสดิการชุมชนเป็นเลขานุการร่วมกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ในการเอื้ออำนวยและประสานการทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถดำเนินการจัดสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ได้อย่างคลอบคลุมและมีคุณภาพ รวมถึงสามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริงภายใต้การทำงานร่วมกันในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนา 

ดังนั้นกระบวนการจัดสวัสดิการสังคม และนโยบายของรัฐบาลจึงมีความสัมพันธ์ในเชิงหลักการคือ  การให้ชุมชนฐานรากเป็นผู้ดำเนินการ  และภาครัฐและองค์กรภาคีอื่นเป็นผู้หนุนเสริมในพื้นที่ เพื่อเกิดกระบวนการพัฒนาการของกองทุน  รวมถึงความยั่งยืนที่เกิดขึ้น


[1] พรรณทิพย์ เพชรมากและ คณะ เอกสารประกอบงาน “สวัสดิการชุมชนรากฐานการพัฒนาที่ยังยืน” เป็นการประมวลภาพรวมเชิงความสัมพันธ์การเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนและข้อมูลผู้รับผลประโยชน์จากกองทุนสวัสดิการชุมชน

 

สวัสดิการชุมชนและผู้รับผลประโยชน์เชิงระบบ 

                    จากข้อมูลรายงานภาพรวมกองทุนสวัสดิการชุมชน ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พบว่า สมาชิกที่ได้รับสวัสดิการโดยตรงแล้ว 17,331 ราย เป็นสมาชิกทั้วไป 14,863 ราย เด็กคนชราและผู้พิการ/ผู้ด้อยโอกาส 2,468 ราย หรือแยกมาเฉพาะผู้ชราภาพ คือ 1,261 ราย จากศึกษาการศึกษาโดยวิธีการการสัมภาษณ์ ผลที่ปรากฏคือ กองทุนสวัสดิการชุมชนโดยทั่วไปมีรูปแบบการกำหนดเรื่องเรื่องชราภาพเป็นหมวดหนึ่งในกระบวนการจัดสวัสดิการชุมชน ดังกรณีศึกษา กระบวนการจัดสวัสดิการชุมชนบ้านดอนไชย ตำบลล้อมแรด อำเถอเถิน จังหวัดลำปาง ที่มีการแบ่งเงินจากกองทุนสวัสดิการมาเพื่อจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุในชุมชน โดยมีรูปแบบการจัดสวัสดิการดังนี้

“สมาชิกขององค์กรจะร่วมกันระดมทุนโดยการลดรายจ่ายเพียงวันละ 1 บาท แล้วนำมาสมทบกันอย่างสม่ำเสมอ และจัดตั้งเป็นกองทุนฯ สวัสดิการชุมชน ซึ่งทุนในที่นี้อาจหมายถึงแรงงาน ภูมิปัญญา ทรัพยากร หรือเงินก็ได้ ซึ่งจะใช้มูลค่าเพียงวันละ 1 บาทเมื่อรวมกันแล้วจะมีกลไกลการทำงานและการบริหารการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อดูแลให้สวัสดิการกับสมาชิกด้าน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ตลอดจนใช้เป็นทุนในการพัฒนาชุมชนทุกรูปแบบ เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างทันท่วงที สำหรับกองทุนสวัสดิการชุมชนจะมีการออมสมทบอยู่ 3 อย่างด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย

        1. เงินค่าธรรมเนียมแรกเข้า คนละ 50 บาท

        2. เงินสมทบรายปี 50 บาท ต่อคน ต่อปี

        3. เงินออมวันละ 1 บาท

       โดยในจำนวนเงินที่กำหนดนี้ได้แบ่งตามสัดส่วนและมีหน้าที่ของแต่ละกองทุนแบ่งได้อยู่ 6 กองทุน คือ

        1. กองทุนทดแทน (ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและเงินสมทบรายปี)

        2. กองทุนคนทำงาน (ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและเงินสมทบรายปี)

        3. กองทุนครบวงจรชีวิต 50% (เงินออมวันละ 1 บาท)

        4. กองทุนวิสาหกิจชุมชน 30% (เงินออมวันละ 1 บาท)

        5. กองทุนกลาง 10% (เงินออมวันละ 1 บาท)

        6. กองทุนชราภาพ/การศึกษา 10% (เงินออมวันละ 1 บาท)[1]

 

ดังนั้นในภาพรวมกระบวนการจัดสวัสดิการชุมชนจึงเป็นภาพใหญ่ภาพหนึ่งที่จัดระบบให้คนอย่างครบวงจรตั้งแต่เกิดจนตาย และสวัสดิการเองไม่ได้เป็นเพียงแค่รูปแบบการจัดสวัสดิการให้คนมาออมเงินเพื่อรับผลประโยชน์เท่านั้น ยังเกี่ยวเนื่องระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ในการมาร่วมกันให้เป็นที่กลางในการพบปะแลกเปลี่ยนความสุขและทุกข์  หรือ ในบางกรณีสวัสดิการถือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนโดยเป็นการประสานทำให้เกิดผู้นำชุมชนที่มีจิตอาสาออกมาเพื่อการพัฒนาเป็นต้น

 


[1] สัมภาษณ์ ยุพิน  เถาเปี้ยปลูก ผู้ประสานงานกองทุนสวัสดิการ บ้านดอนไชย ตำบลล้อมแรก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง  วันที่ 19 เมษายน 2553

 

สวัสดิการชุมชนและการเชื่อมประสานดูแลผู้สูงอายุ 

 

                    จากสถาการณ์การขยายประกันสังคมในประเทศไทย ผลการศึกษาร่วมระหว่างสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ปี พศ. 2548 จนมาถึงปัจจุบันก็ดี พบปรากฏการณ์หนึ่งก็คือ จำนวนประชากรผู้สูงอายุ ที่ยังไม่มีการคุ้มครองสิทธิทั้งในเรื่องการรักษาพยาบาลหรือ เรื่องสวัสดิการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้เห็นช่องทางว่า “ทำไมสวัสดิการชุมชนจึงเป็นวิธีการหนึ่งในหลายๆวิธีการ ในการสร้างหลักประกันทางสังคมและผู้สูงอายุได้

จากรูปแบบสวัสดิการชุมชนจึงเป็นเรื่องของชุมชนที่เข้ามาดำเนินการเพื่อแก้ไขจัดระบบภายในชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากการประมวลผลการศึกษาได้พบข้อค้นพบในเบื้องต้นคือ ทำให้เห็นกระบวนการหนึ่งที่ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุในพื้นทีได้ โดยจำแนกออกเป็น 3 ประเด็น หรือ กระบวนการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุในชุมชน

  1. การจัดระบบสวัสดิการเรื่องผู้สูงอายุชุมชนที่มีการจัดทำกองทุนสวัสดิการระดับตำบล เป็นวิธีการหนึ่งที่ชุมชนสามารถตอบโจทย์เรื่องของการสร้างหลักประกันให้ผู้สูงอายุในชุมชนได้ ทั้งในเรื่องของเมื่อยามป่วย มีเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าเยี่ยมไข้ส่วนหนึ่งแม้ไม่มากนักก็ถือเป็นหลักประกัน  หรือ บำนาญที่ชุมชนเป็นผู้จัด หรือเป็นรากฐานที่ชุมชนเองเป็นผู้สร้างให้เกิดความยั่งยืนเกิดขึ้น
  2. การเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนพบปะเพื่อการดูแลทางสังคม ในกิจกรรมกองทุนสวัสดิการชุมชน การจัดสวัสดิการจะมีการประชุมหารือแลกเปลี่ยนของคณะกรรมการกองทุน คนในหมู่บ้าน และสมาชิกกองทุน กระบวนการดังกล่าวนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนดูแลกัน ถือได้ว่าเป็น “พื้นที่ทางสังคม” (Social Space)  ที่คนได้มาพบปะและมาดูแลกัน หนึ่งในกลุ่มที่มาย่อมเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ สิ่งที่ตามมาคือ ผู้สูงอายุไม่รู้สึกโดดเดี่ยวโดนทอดทิ้งจากชุมชน และในที่ประชุมผู้สูงอายุยังมีบทบาทในการเป็นผู้ให้คำปรึกษาอีกด้วย
  3. กระแสวัฒนธรรมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในชุมชนการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชน (Community based care) กองทุนสวัสดิการนอกจากได้มาซึ่งตัวเงินแล้ว ซึ่งที่ได้มาอีกประการหนึ่งก็คือ การได้มาซึ่งการให้และความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เมื่อในชุมชนเกิดความสัมพันธ์ที่แนบแน่น วัฒนธรรมการให้ที่มีต่อกัน กระบวนการหนึ่งที่ตามมาคือ การดูแลกันเป็นเครือข่ายทางสังคม (Social Safety Net)  หรือ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ็บไข้ป่วย หรือ ตาย เป็นต้น ดังนั้นการนำวิธีการกองทุนสวัสดิการชุมชนมาเป็นกลวิธีการสร้างการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนจึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่สามารถนำมาทำได้ในเชิงปฏิบัติการ

 

 (หมายเหตุ วันนี้ขอเอาบทความวิชาการตัวเองมาลงบ้างครับ เพราะท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลง ใครจะรู้บ้างพี่น้องชุมชนกำลังยากลำบากเพียงไร)

หมายเลขบันทึก: 354070เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2010 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท